สาระ+ภาพ: ทำอะไรแล้วผิด ม.112 ได้บ้าง

 
จากสถิติของ iLaw หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อหาด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานภาพ หรือ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ถึง 54 ราย แบ่งเป็นการกระทำผิดบนระบบคอมพิวเตอร์ถึง 38 ราย และ กระทำความผิดนอกระบบคอมพิวเตอร์ 13 ราย และอีกสามคดียังไม่มีข้อมูล ส่วนคดีก่อนรัฐประหาร (รวบรวมตั้งแต่ ม.ค. 2550- 22 พ.ค. 2557) มีผู้ถูกกล่าวโทษ/ดำเนินคดีรวมอย่างน้อย 74 คน แบ่งเป็นผู้ถูกกล่าวโทษจากการกระทำผิดออนไลน์ 27 คน และออฟไลน์ 47 คน 
 
นอกเหนือจากการ “หมิ่น” ออนไลน์ ด้วยการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก หรือเว็บบอร์ดต่างๆ แล้วที่เราได้ยินบ่อยๆ แล้ว ประชาไทจัดทำอินโฟกราฟฟิค เพื่อพาผู้อ่านไปดูว่า มีการกระทำแบบไหนบ้าง โดยเฉพาะการกระทำนอกโลกออนไลน์ ที่นำไปสู่โทษจำคุกในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งบางอย่างอาจเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว 
 
 

1 เขียนผนังห้องน้ำ 

คุก 1 ปี 6 เดือน
 
โอภาส วัย 68 ปี ถูกศาลทหารตัดสินว่าผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานภาพ ด้วยการเขียนผนังห้องน้ำที่ห้างซีคอนแสควร์ สองคดี ในเดือน ต.ค.2557  ทำให้มีโทษจำคุกรวมกัน 3 ปี (อ่านรายละเอียด)

 

2 แสดงละคร

คุก 2 ปี 6 เดือน
 
ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ถูกตัดสินว่าผิดมาตรา 112 ด้วยการมีส่วนร่วม (ปติวัฒน์แสดงเป็นพราหมณ์ ในขณะที่ภรณ์ทิพย์เป็นผู้เขียนบทและผู้กำกับ) ในละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ซึ่งแสดงในงานครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา ในเดือน ต.ค. 2556 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาลอาญาตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี  6 เดือน ไม่รอลงอาญา ทั้งคู่ไม่ยื่นอุทธรณ์และคาดว่าจะขอพระราชทานอภัยโทษ (อ่านรายละเอียด)

 

3 ชี้นิ้วขึ้นฟ้า 

คุก 2 ปี
 
ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา จากการปราศรัยบนเวที นปช. เชิงสะพานมัฆวาน ในเดือน มี.ค. 2553 โดยเขาได้กล่าวปราศรัยทางการเมืองและไม่ได้พาดพิงใครแต่มีการชี้นิ้วขึ้นด้านบน (อ่านรายละเอียด)

 

4 ตีพิมพ์บทความของคนอื่น 

คุก 10 ปี
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า มีความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความของนักเขียนที่ใช้นามแฝงว่า จิตร พลจันทร์ ในเดือน มี.ค. 2553 ซึ่งบทความนี้ถูกตัดสินว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลพิพากษาให้สมยศรับโทษจำคุก 10 ปี สมยศกำลังสู้คดีในชั้นศาลฎีกา (อ่านรายละเอียด

 

5 คุยการเมืองบนแท็กซี่ 

คุก 2 ปี 6 เดือน
 
ยุทธศักดิ์ เป็นคนขับรถแท็กซี่ธรรมดาๆ คนหนึ่ง วันหนึ่งในเดือน ม.ค. 2557 เขารับผู้โดยสารคนหนึ่งและคุยกับผู้โดยสารเรื่องการเมือง จนมีการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ผู้โดยสารคงดังกล่าวนำคลิปเสียงบทสนทนาระหว่างเธอกับยุทธศักดิ์ไปแจ้งความดำเนินคดี ยุทธศักดิ์ถูกศาลพิพากษาในว่ามีความผิดตามมาตรา 112 และถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน (อ่านรายละเอียด)

 

6 ไม่ยืนในโรงหนัง 

คุก 2 ปี 
 
กรณีของคดีมาตรา 112 ที่เกี่ยวกับการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ กรณีของ โชติศักดิ์และเพื่อน ซึ่งอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่มีอีกอย่างน้อยสองคดี ในลักษณะคล้ายกัน ที่ศาลมีคำสั่งพิพากษาลงโทษ ซึ่งคือกรณีของ อนุชิต ซึ่งกระทำผิดในปี 2521 และ รัชพิณ ซึ่งกระทำความผิดในปี 2551 
 
อนุชิตถูกฟ้องมาตรา 112 เนื่องจากขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” และจำเลยมิได้ยืนตรงเช่นประชาชนคนอื่น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ศาลฎีกาพิพากษาให้อนุชิตรับโทษจำคุก 2 ปี 
 
ส่วนกรณีของรัชพิณนั้น เกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. 2551 จำคุก 1 ปี 6 เดือน ศาลพิพากษาระบุว่า ขณะเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ จำเลยไม่ลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ และได้ยกเท้าทั้งสองข้างพาดเก้าอี้ไปทางจอพอภาพยนตร์ พอเพลงจบก็ยังมีการตะโกนถ้อยคำหยาบคายออกมา อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีการรอลงอาญาไว้ 2 ปีเนื่องจากมีเหตุว่า จำเลยมีประวัติมีอาการทางจิตและเคยผ่านการรักษาจากโรงพยาบาลจิตเวช (อ่านรายละเอียด)

 

7 อัพโหลดไฟล์ในเว็บฝากไฟล์

คุก 2 ปี 6 เดือน
 
เฉลียว อายุ 56 ปีเป็นช่างตัดเสื้อที่ใช้เวลาว่างฟังคลิปเสียงการเมืองต่างๆ เขาได้อัพโหลดไฟล์ เพลง และรายการการเมืองต่างๆ เพื่อไว้ฟังทีหลังทางเว็บไซต์ฝากไฟล์ 4share.com หนึ่งในนั้นคือคลิปของ “บรรพต” หลังรัฐประหาร 2557 เฉลียวถูกคสช. เรียกตัว และถูกสอบสวนหลายครั้งว่า เป็นบรรพตหรือไม่ ต่อมาเฉลียวถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เตอร์ มาตรา 14 ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าการฝากไฟล์นั้นเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ (อ่านรายละเอียด)

 

8 ส่ง SMS

คุก 20 ปี 
 
อำพล ตั้งนพคุณ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “อากง SMS” เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่า กระทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นเจ้านวนสี่ข้อความถึนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  ต่อมาในเดือน พ.ค.2555 อำพลเสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์หลังป่วยมานานและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลไม่กี่วัน ในวัย 61 ปี (อ่านรายละเอียด)
 

9 ฉีกรูป 

คุก 5 ปี
 
สมัคร ชาวนาชาวเชีนงรายเป็นผู้มีอาการทางจิต ถูกศาลทหารเชียงรายตัดสินว่ากระทำผิดมาตรา 112 เพราะทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ที่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อเดือน ก.ค. 2557 และให้รับโทษจำคุก 5 ปี (อ่านรายละเอียด)
 

10 ขายซีดี 

คุก 2 ปี 8 เดือน 
 
เอกชัย ถูกศาลฏีกาตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน เพราะขายซีดีสารคดีเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การสืบราชสมบัติของสถาบันกษัตริย์ไทย ซึ่งผลิตและเผยแพร่โดย สำนักข่าว ABC ของประเทศออสเตรเลีย ในที่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือน มี.ค. 2556 เขาจะมีกำหนดครบโทษในเดือน พ.ย. 57 นี้ (อ่านรายละเอียด)
 

11 เหยียบรูป 

คุก 1 ปี
 
ฐิตินันท์ อายุ 65 ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการเหยียบรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบริเวณศาลรัฐธรรมนูญ ในเดือน ก.ค. 2555 และให้ลงโทษจำคุก 1 ปี แต่เนื่องจากระหว่างกระทำผิด ฐิตินันท์มีอาการป่วยทางจิต จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี และให้รายงานความคืบหน้าของการรักษาจากแพทย์ทุกหกเดือนมีกำหนด 2 ปี (อ่านรายละเอียด)     
 

12 แปลหนังสือ 

คุก 2 ปี 6 เดือน
 
โจ กอร์ดอน ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ใช้นามปากกา  นายสิน แซ่จิ้ว แปลหนังสือ The King Never Smiles และเผยแพร่ลงเว็บไซต์ ไทยทีเคเอ็นเอสยูเอสเอ ระหว่างปี 2550-2554 (อ่านรายละเอียด)
 

13 แจกใบปลิว 

คุก 4 ปี
 
นักเขียนและนักแปลอาวุโสซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม สมอลล์ บัณฑิต อานียา ถูกศาลฎีกาพิพากษาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการแจกใบปลิวหมิ่นสถาบันในงานเสวนาแห่งหนึ่งในปี 2556 และถูกพิพากษาจำคุก 4 ปี แต่ให้รอลงอาญา 3 ปี เพราะบัณฑิตมีอาการทางจิต (อ่านร่ายละเอียด)
 

14 โพสต์เฟซบุ๊ก

คุก 60 ปี (6 กรรม, สารภาพลดโทษเหลือ 30 ปี), คุก 56 ปี (7 กรรม, สารภาพลดโทษเหลือ 28 ปี), จนถึงรอลงอาญา 3 ปี  เป็นต้น

อย่างที่กล่าวไว้ข้องต้นกรณีการโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กนั้นมีหลายคดีและบทลงโทษที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น เมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลทหารพิพากษาจำคุก พงษ์ศักดิ์ หรือผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก Sam Parr เป็นเวลา 60 ปีจากกรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก 6 ข้อความ (6 กรรม) ตามความผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (3) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง เหลือ 30 ปี ซึ่งถือเป็นโทษที่สูงที่สุดที่เคยมีมา(อ่านรายละเอียด)

วันเดียวกัน (7 ส.ค.58) ศาลทหารเชียงใหม่ พิพากษาจำคุกศศิวิมล ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ในชื่อ ‘รุ่งนภา คำภิชัย’ จำนวนเจ็ดข้อความ ในช่วงระหว่างเดือน ก.ย. 2557 กรรมละ 8 ปี รวมเป็นจำคุก 56 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 28 ปี (อ่านรายละเอียด)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลทหารกรุงเทพ พิพากษา คดีที่ กฤษณ์  หรือ เนส จำเลยในความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีถูกกล่าวหาเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังซึ่งเป็นของปลอมลงในเฟซบุ๊ก โดยศาลพิพากษาลงโทษ จำคุก 5 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ไว้ 2 ปี 6 เดือน ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญา เป็นเวลา 3 ปี (อ่านรายละเอียด)

เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท