นิธิ เอียวศรีวงศ์: 14 ตุลาเชิงเปรียบเทียบ (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันที่เขียนบทความนี้คือวันที่ 14 ตุลาคม ตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่ใกล้กับ 14 ตุลาคมของปีนี้ มีผู้นำเอาสถานการณ์ใน พ.ศ.2516 มาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบันกันอยู่บ่อยๆ

ผมก็อยากเปรียบเทียบบ้าง แต่ด้วยความรู้และความคิดที่จำกัดกว่าอีกหลายท่านที่ได้เคยเปรียบเทียบไปแล้ว เพราะผมคิดว่าผมมีมุมมองที่ต่างออกไป โดยสรุปก็คือการกดขี่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะด้านการแสดงความคิดเห็นนั้น จะนำไปสู่การลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการของประชาชนหรือไม่ ผมคิดว่าปัจจัยสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชน แม้เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญก็ตาม

ผมอยากเริ่มพูดถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2510-2516 ที่ทำให้ระบอบถนอม-ประภาสสั่งสมศัตรูขึ้นจำนวนมาก จนทำให้ 14 ตุลาเป็นคำตอบให้แก่หลายฝ่ายในเมืองไทย

ทศวรรษ 2510 เป็นทศวรรษแห่งความผันผวนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย ราคาพืชผลการเกษตรเริ่มตกต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนาน ต้องไม่ลืมด้วยว่าระยะแรกของการพัฒนานั้น รัฐอาศัยรายได้ที่เกิดจากภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะพืชไร่ เพื่อลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก รายได้จำนวนนี้จึงเริ่มหยุดขยายตัว เมื่อหยุดขยายตัวก็ทำให้การบุกเบิกตลาดภายในให้กว้างขึ้นทำไม่ได้ หรือทำได้ช้าลง เช่น เพียงแค่ขยายสายส่งไฟฟ้าไปให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ก็ทำให้ขายทีวี, วิทยุ, พัดลมเพิ่มขึ้นไปอีกไม่รู้จะเท่าไรแล้ว แต่รัฐถนอม-ประภาสก็ไม่มีกำลังจะทำอย่างนั้นได้

อุตสาหกรรมไทยเริ่มต้นด้วยนโยบายอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า จึงต้องอาศัยตลาดภายในเป็นหลัก ตราบเท่าที่ตลาดภายในขยายตัวได้ทันกับการขยายตัวของการผลิตด้านอุตสาหกรรม ทุกฝ่ายก็แฮปปี้ (นายทุนได้กำไรมากขึ้น จ้างงานมากขึ้น มีคนใช้เงินมากขึ้น แรงงานนอกระบบหายใจคล่องขึ้น ผู้ประกอบการรายเล็กมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น ข้าราชการ "ขายบริการ" ได้สะดวกขึ้น ฯลฯ) เมื่อไรที่ตลาดภายในหยุดขยายตัว หรือขยายตัวไม่ทันกับการเติบโตของเศรษฐกิจภาคเมือง ทุกฝ่ายก็อันแฮปปี้กันไปหมด

ในช่วงนี้เป็นต้นไป นายทุนอุตสาหกรรมบางรายพยายามผลักดันรัฐบาลทหารให้เปลี่ยนนโยบายหันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เหตุผลที่ไม่สำเร็จ (และยังไม่สำเร็จสืบมาจนหลัง 14 ตุลา) ก็เพราะกลุ่มชนชั้นนำมีผลประโยชน์ปลูกฝังอยู่ในระบบอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าจนถอนตัวได้ยาก นายพลจำนวนมากเรียกเก็บหัวคิวจากการส่งออกพืชไร่และการปกป้องตลาดภายในจากการแข่งขัน แม้แต่นายทุนด้วยกันเองอีกหลายราย ก็ไม่พร้อมจะออกไปแข่งขันนอกบ้าน

ดังนั้น ระบอบถนอม-ประภาสจึงไม่เป็นที่พอใจของนายทุนกลุ่มหนึ่งแล้ว ในขณะที่กลุ่มอื่นก็ไม่ได้นึกอยากปกป้องระบอบนี้นัก อย่างน้อยก็เพราะไม่อยากเสียค่าหัวคิวแก่นายพล

ทางด้านเกษตรกรเอง ชาวไร่ที่ทำพืชเศรษฐกิจทั้งหลายอยู่ได้ท่ามกลางหนี้สินรุงรัง ก็เพราะการผลิตภาคเกษตรกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ทำให้กู้หนี้มาต่อหนี้ได้ง่ายขึ้น แต่ราคาพืชผลตกต่ำและทรัพยากรการผลิต เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ ฯลฯ กำลังหมดสิ้นลงแล้ว อนาคตภายใต้เผด็จการทหารจึงดูจะมืดมนมากขึ้น คนกลุ่มนี้อาจไม่ได้สนใจการเมืองส่วนกลางมากนัก แต่ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรหากระบอบถนอม-ประภาสจะพังพินาศลง แต่ที่สำคัญกว่าตัวเขาเองก็คือ ส.ส.ซึ่งเขาได้เลือกเข้าสภาตามรัฐธรรมนูญ 2511 ย่อมไม่กระตือรือร้นที่จะปกป้องระบอบถนอม-ประภาสด้วย (ไม่ว่าจะสังกัดพรรคสหประชาไทยหรือไม่) ก็เราจะมี "ผู้แทน" ทำไมเล่าครับ ถ้าแค่นี้ยังจับอารมณ์ผู้ที่ต้อง "แทน" ไม่ได้

จึงไม่แปลกใช่ไหมครับที่ระบอบถนอม-ประภาสไม่มีพันธมิตรที่ไว้ใจได้เป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้งแม้แต่นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง ก็คงไม่กระตือรือร้นที่จะปกป้องนัก เพราะอยู่ใกล้กับศูนย์อำนาจมากจนน่าจะได้กลิ่นทะแม่งๆ ของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังคืบคลานเข้ามา วางตนอยู่ในที่ซึ่งอาจโผไปเกาะเรือลำใหม่ได้ไม่ดีกว่าหรือ

ในกองทัพเองก็เกิดความแตกร้าวอย่างหนัก ขนาดที่ถนอม กิตติขจร ต้องแนะนำประภาส จารุเสถียร ให้ยอมคายตำแหน่ง ผบ.ทบ. หลีกทางให้กฤษณ์ สีวะรา ขึ้นเป็นแทน เพราะรู้ถึงความเครียดในกองทัพ แม้กระนั้น อำนาจเด็ดขาดของถนอม-ประภาสที่ได้มาจากการทำรัฐประหารตัวเองใน 2514 ก็ทำให้นายทหารในกองทัพไม่แน่ใจว่าจะถูกกำราบเมื่อไร ยิ่งความเด่นดังและบารมีของพันเอก ณรงค์ กิตติขจร ถูกผลักดันในกองทัพมากเท่าไร ความหวั่นไหวของนายพลทั้งหลายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ร่องรอยหลักฐานที่พอมีให้เห็นในเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้ค่อนข้างแน่ใจว่า มีนายทหารและนายตำรวจ และหน่วยทหารและตำรวจ ที่แทรกเข้ามาทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ทั้งการลอบยิงผู้ชุมนุม ไปจนถึงการปะทะกับขบวนนักศึกษาซึ่งกำลังจะกลับบ้านเพราะเหตุการณ์คลี่คลายลงแล้ว
 

การรัฐประหารตนเองใน 2514 ของถนอม-ประภาสทำลายความชอบธรรมที่มีน้อยอยู่แล้วของเผด็จการทหารไปโดยสิ้นเชิง ต้องไม่ลืมด้วยว่ารัฐบาลที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนับจาก 2512 เป็นต้นมา ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม เช่น การนัดหยุดงานของกรรมกรไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะกฎหมายห้ามการนัดหยุดงานก็ยังอยู่ หากจะมีความวุ่นวายคือความวุ่นวายทางการเมืองของผู้บริหาร ซึ่งควรมีหน้าที่จัดการกันไปเองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (เช่น มีวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทั้งหมด และมีอำนาจบทบาทใกล้เคียงกับสภาที่มาจากการเลือกตั้ง) ดังนั้น การระงับกระบวนการรัฐธรรมนูญจึงหาความชอบธรรมในสังคมไม่ได้ กลับทำให้เกิดฉันทามติในสังคมว่า ระบอบถนอม-ประภาสไม่ควรดำรงอยู่ต่อไปแล้ว

พูดด้วยสำนวนของกรัมชี่ รัฐประหาร 2514 ทำให้ระบอบถนอม-ประภาสหมดอำนาจนำ (hegemony) ไปโดยสิ้นเชิง ที่เหลืออยู่คืออำนาจครอบงำ (domination) เท่านั้น ดังนั้นอำนาจนำซึ่งเคยมีบทบาทในสังคมไทย แม้ภายใต้เผด็จการทหารจึงรับไม่ได้ เพราะเท่ากับลดหรือลบบทบาทของตนในสังคมไทยตลอดไป จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง เป็นเพียงฟองขาวยอดคลื่นเท่านั้น เบื้องลึกลงไปคือคลื่นใหญ่ที่หนุนสูง อันประกอบด้วยคนหลายฝ่ายในกลุ่มที่เคยกุมอำนาจนำไว้มากน้อยต่างกัน อาจารย์มหาวิทยาลัยและปัญญาชนอาจทุ่มสุดตัวที่จะหนุนคลื่นให้สูงขึ้น แต่อีกบางคนอาจเล่นบทกลัวๆ กล้าๆ หนุนด้วยแต่ก็เหลือช่องให้พลิกกลับได้ หากคลื่นนั้นยังไม่ใหญ่พอจะซัดเรือให้ล่ม

ในสถานการณ์เช่นนั้น นักศึกษาเป็นพลังนอกระบบเพียงพลังเดียวที่เหมาะจะเป็นหัวหอกล้มล้างระบอบถนอม-ประภาส เพราะจัดองค์กรได้ง่าย ในขณะนั้นนักศึกษายังอยู่ในฐานะที่ได้รับการ "เอ็นดูกึ่งยกย่อง" จากสังคมทั่วไป ในทางการเมือง นักศึกษาเคยถูกใช้ประโยชน์มาแล้ว นับตั้งแต่เดินขบวนเรียกร้องดินแดนก่อน "ญี่ปุ่นขึ้น" และคัดค้านการ "เลือกตั้งสกปรก" ทำเสร็จนักศึกษาก็กลับเข้าห้องเรียน ไม่มีใครที่ผลักนักศึกษาในช่วง 2516 จะคาดคิดมาก่อนว่า ครั้งนี้นักศึกษาจะไม่กลับเข้าห้องเรียน (มีเหตุผลที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้พอสมควร แต่ยกไว้ก่อนเพราะไม่เกี่ยวกับที่จะพูดในที่นี้โดยตรง)

หนึ่งในเหตุผลที่ไม่ได้พูดไว้แต่สำคัญก็คือ ในบรรดากลุ่มพลังต่างๆ ที่มีส่วนล้มล้างระบอบถนอม-ประภาส นักศึกษาเป็นกลุ่มพลังเดียวที่มีศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยสายเสรีนิยมหรือสังคมนิยม ในขณะที่กลุ่มพลังอื่นๆ เพียงแต่ต้องการล้มล้างระบอบถนอม-ประภาส เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรมของตนเท่านั้น นักศึกษาจึงเป็นผู้กุมอำนาจนำที่เด่นที่สุดในสังคม ขบวนนักศึกษาที่ชูทั้งประชาธิปไตย, ธงชาติ, พระบรมสาทิสลักษณ์ และพระราชดำรัสของ ร.7 สร้างพันธมิตรกับทุกกลุ่มที่เคยมีบทบาทในอำนาจนำมารวมไว้กับขบวนการนักศึกษาได้หมด

โดยสรุปก็คือ ผมคิดว่ามีเหตุปัจจัยที่สลับซับซ้อน ทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม และวัฒนธรรม (เช่น อิทธิพลของแนวคิด "กบฏ" ต่อระบบของอเมริกันและยุโรปตะวันตก รวมทั้งฝ่ายซ้ายไทยในทศวรรษ 2490 ซึ่งไม่ได้พูดถึงในที่นี้ แต่ได้พูดไว้อย่างดีในและแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ ของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ) ที่อยู่เบื้องหลัง 14 ตุลา ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาเพียงอย่างเดียว

และด้วยเหตุดังนั้น หากจะนำ 14 ตุลามาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่ควรเพ่งเล็งที่นักศึกษาหรือขบวนการนักศึกษาเพียงอย่างเดียว

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน 19 ตุลาคม 2558

ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท