Skip to main content
sharethis

บันทึกของสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือปี 45 แจ้งหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือว่า บันทึกที่อ้างว่าเป็นของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่เริ่มเผยแพร่ในปี 2528 ที่ว่า "...ให้เอาคำต่อไปนี้ของกูไปประกาศให้คนรู้ว่า "กูกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์"..." ฯลฯ นั้น เมื่อตรวจสอบกับราชสกุลอาภากรแล้ว ได้รับการชี้แจงว่ามิใช่พระดำรัสของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ที่มา: วิกิพีเดีย)

27 ต.ค. 2558 - ตามที่ มติชนออนไลน์ อ้างถึงสเตตัสเฟซบุ๊คของ วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางออกโพสต์ ที่อ้างถึงบทความ "บันทึกของในเสด็จกรมหลวงชุมพรฯ" ของ พล.ร.ต.กรีฑา พรรธนะแพทย์ ในวารสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ 96 เล่มที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556 และเผยแพร่สำเนาเอกสารของ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ (สลก.ทร.) กองประชาสัมพันธ์ ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2545 เรื่อง "การตรวจสอบบันทึกพระดำรัสของ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" ลงนามโดย พล.ร.ต.ณรงค์ เทศวิศาล เป็นเลขานุการกองทัพเรือ โดยระบุว่า พระดำรัสดังกล่าว มิใช่พระดำรัสของ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และต่อมาวาสนาได้ถอนสเตตัสไปนั้น

 

อ่านบทความชี้แจงเรื่องบันทึกของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ลงในวารสารนาวิกศาสตร์ มีนาคม 2556

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวประชาไท ตรวจสอบพบว่า มีบทความเรื่อง "บันทึกของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ" ของ พล.ร.ต. กรีฑา พรรธนะแพทย์ เผยแพร่ใน วารสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ 96 เล่มที่ 3 มีนาคม 2556 อยู่จริง โดยมีความยาว 10 หน้า (อ่านบทความ)

โดยในบทความตอนหนึ่งเสนอว่า ใบปลิวที่ขึ้นต้นถ้อยคำว่า "บันทึกของเสด็จในกรมหลวงชุมพร เขตต์อุดมศักดิ์ เจอบันทึกนี้ให้เอาคำต่อไปนี้ของกูไปประกาศให้คนรู้ว่า "กูกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์" ผู้เป็นโอรสของพระปิยมหาราช ขอประกาศให้พวกมึงรับรู้ไว้ว่า แผ่นดินสยามนี้ บรรพบุรุษได้เอาเลือดเอาเนื้อเอาชีวิตเข้าแลกไว้ ..." ฯลฯ นั้นมีการพบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 โดยมีพระภิกษุรูปหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นโอรสของกรมหลวงชุมพรฯ นำใบปลิวมาแจกในงาน "เทิดพระเกียรติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรณ์เกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์" ที่หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร ซึ่งจัดระหว่าง 16 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งงานดังกล่าวมีพระประยูรญาติของกรมหลวงชุมพรฯ รับเชิญไปงานดังกล่าวด้วย

 

ผู้เขียนบทความไม่เชื่อว่าจะใช้คำ "กู กู มึงมึง" และข้อความน่าจะเป็นคำพูดของร่างทรง

ผู้เขียนบทความคือ พล.ร.ต. กรีฑา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ต่อมาข้อความในใบปลิวแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง แม้แต่แผ่นป้ายขนาดใหญ่ตามศาลกรมหลวงชุมพรฯ รวมทั้งศาลกรมหลวงชุมพรฯ บางแห่งในกองทัพเรือ แม้ต่ในนิตยสาร "นาวิกศาสตร์" ยังเคยพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2533 โดยแก้ไขคำว่า "เขตต์" เป็น "เขต" และ "เขตร" โดยผู้เขียนได้รวบรวมข้อความที่อ้างว่าเป็นบันทึกของกรมหลวงชุมพรฯ จากอนุสาวรีย์ ศาล และหนังสือต่างๆ ได้ประมาณ 18 ฉบับ "แต่ละฉบับมีข้อความไม่ตรงกับใบปลิวต้นฉบับ บางฉบับผิดน้อย บางฉบับผิดมาก บางฉบับผิดมากต้องเรียกว่า "เพี้ยนหนัก""

ผู้เขียนยังตั้งข้อสงสัยว่า "กรมหลวงชุมพรฯ ท่านไม่น่าจะใช้คำว่า "กู กู มึงมึง" กับประชาชนทั่วไป" โดยเสนอว่า อาจจะใช้บ้างกับคนที่สนิทกับพระองค์ท่านจริงๆ

นอกจากนี้คำว่า "กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" ที่ใช้ในใบปลิวนั้น ผู้เขียนให้ข้ออธิบายว่า "ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น "กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 เป็นพลเรือเอก เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2463 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466" ดังนั้นหากใบปลิวที่อ้างว่าเป็น "บันทึกของเสด็จในกรมฯ" มีจริง ต้องเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2463 ถึง 2466 โดยผู้เขียนตั้งคำถามว่า "ทำไมจึงไม่มีการประกาศให้คนรับรู้ถึง "บันทึกของเสด็จในกรมฯ" เสียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 ถึงปี พ.ศ. 2466 คือตอนที่ท่านทรงเป็น "กรมหลวง" มาแจกจ่ายเป็นใบปลิวเอาในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2528" โดย พล.ร.ต.กรีฑา ให้ข้อสังเกตว่า "น่าจะเป็นคำพูดของ "คนทรง" หรือ "ร่างทรง" มากกว่า"

 

ความเห็นของพระประยูรญาติไม่เชื่อว่าเป็นบันทึกกรมหลวงชุมพรฯ

ในบทความของ พล.ร.ต.กรีฑา ยังอ้างถึง คำประทานสัมภาษณ์ของ หม่อมเจ้าหญิง เริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดากรมหลวงชุมพรฯ ให้สัมภาษณ์นิตยสาร "นะคะ" และพิมพ์อีกครั้งในหนังสือ "108 เทพแห่งสวงสวรรค์" ฉบับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตุลาคม 2544 โดย มจ.หญิง เริงจิตรแจรง ให้ความเห็นต่อเรื่องที่มีผู้อ้างตัวเองเป็นโอรสของกรมหลวงชุมพรฯ ดังกล่าว ว่าเป็นไปไม่ได้แน่

ขณะที่ สถาพร เหรียญสุวรรณ บุตรเขยกรมหลวงชุมพรฯ สามีของหม่อมเจ้าหญิง ศิริมาบังอร อาภากร พระธิดาของกรมหลวงชุมพรฯ เขียนไว้ในบันทึกช่วยจำ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ต่อมาพิมพ์ลงใน "หนังสืออนุสรณ์งานบำเพ็ญกุศลฉลองอาคารนายสถาพร-ท่านหญิงศิริมาบังอร (อาภากร) เหรียญสุวรรณ พุทธศักราช 2538" โดยสถาพรบันทึกไว้ว่าอยู่ในเหตุการณ์แจกใบปลิวดังกล่าว และได้สอบถามพระภิกษุว่าได้บันทึกมาจากไหน พระภิกษุตอบว่า ได้มาจากโยมมารดาและถ่ายมาจากต้นฉบับ เมื่อขอให้แสดงหลักฐานที่พอจะเชื่อได้ว่าเป็นโอรสกรมหลวงชุมพรฯ พระภิกษุรูปดังกล่าวได้หยิบโพสท์คาร์ดกับมีดพกออกมาจากย่าม

โดยสถาพรบันทึกไว้ว่าได้ตอบกับพระภิกษุดังกล่าวว่า "ภาพโพสท์คาร์ดกับมีดพกมีขายตามงานวัดทั่วไปถือเป็นหลักฐานไม่มีผู้ใดยอมรับ ขอแนะให้ท่านไปขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านที่โยมมารดามีภูมิลำเนาโยมมารดาคงแจ้งเกิดท่านไว้เป็นหลักฐานในทะเบียนบ้านจะบันทึกไว้ว่า โยมบิดาท่านเป็นใคร ท่านขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านให้เจ้าพนักงานประทับตราเซ็นชื่อรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้องตามต้นฉบับ ดีกว่าเอาภาพโพส์ทคาร์ดกับมีดพกมาแสดงเป็นหลักฐาน ภิกษุรูปนั้นแสดงกิริยาไม่พอใจถามข้าพเจ้าว่า คุณเป็นใคร ข้าพเจ้าไม่ทันตอบ นายทหารเรือเพื่อนข้าพเจ้านั่งฟังอยู่ด้วย ตอบแทนว่า เป็นบุตรเขยกรมหลวงชุมพรฯ ภิกษุรูปนั้นผละเดินหลบไปพร้อมผู้ติดตาม และข้าพเจ้าไม่พบภิกษุรูปนั้นอีกเลยจนงานเลิก ข้าพเจ้า “บันทึกช่วยจำ” นี้ไว้เพื่อให้ผู้ไม่ทราบความจริงได้ทราบ"

 

เผยกองทัพเรือตรวจสอบข้อเท็จจริงมาตั้งแต่ตุลา 44 และมกรา 45 มีข้อสรุปว่าไม่ใช่พระดำรัสกรมหลวงชุมพรฯ

บทความของ พล.ร.ต.กรีฑา ระบุด้วยว่า "กองทัพเรือ ได้ให้ความสนใจและต้องการทราบความจริงเกี่ยวกับ “บันทึกของเสด็จในกรมฯ” ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2544 สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบันทึกที่มีผู้อ้างว่าเป็นพระดำรัสของเสด็จในกรมฯได้มีหนังสือถึง นาวาตรี ภากร ศุภชลาศัย “หลานตา” กรมหลวงชุมพรฯ บุตรนาวาเอก หลวงศุภชลาศัย กับหม่อมเจ้าหญิง จารุพัตรา อาภากร พระธิดาองค์ใหญ่ของกรมหลวงชุมพรฯ ขอให้ตรวจสอบบันทึกดังกล่าว พร้อมทั้งแนบบันทึกที่อ้างว่าเป็นพระดำรัสฯ จำนวน 1 แผ่น"

"ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2545 ราชสกุลอาภากร ได้มีหนังสือเรียน พลเรือตรี ณรงค์ เทศวิศาล เลขานุการกองทัพเรือ เรื่อง ผลการตรวจสอบบันทึกฯ ความว่า ราชสกุลอาภากร ได้ทำการตรวจสอบบันทึกดังกล่าว รวมทั้ง หารือร่วมกับผู้รู้ พิจารณาแล้วเห็นว่าบันทึกดังกล่าวไม่ใช่พระดำรัสของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้ที่ลงนาม ในนามของ “ราชสกุลอาภากร” เป็น “หลานตา” และ หลานปู่” ของเสด็จในกรมฯ ได้แก่ นาวาตรี ภากร ศุภชลาศัย ร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ สิทธิ อาภากร หม่อมราชวงศ์ พรระพี อาภากร และหม่อมราชวงศ์ อภิเดช อาภากร"

"วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2545 สำนักงาน เลขานุการกองทัพเรือ ได้มีหนังสือ เรื่อง “การตรวจสอบบันทึกพระดำรัสของ พลเรือเอก พระจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” เสนอหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ และหน่วยเฉพาะกิจกองทัพเรือ ความว่า ผู้บัญชาการทหารเรือ (พลเรือเอกประเสริฐ บุญทรง 1 ตุลาคม 2543 - 30 กันยายน 2545) ได้กรุณามีบัญชาให้สำนักงาน เลขานุการกองทัพเรือตรวจสอบข้อเท็จจริง และความเป็นมาเกี่ยวกับบันทึกที่มีผู้อ้างว่าเป็นพระดำรัสของกรมหลวงชุมพรฯ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือได้ตรวจสอบกับราชสกุลอาภากรแล้ว ได้รับการชี้แจงว่า พระดำรัสดังกล่าวมิใช่พระดำรัสของกรมหลวงชุมพรฯ จึงเสนอมาเพื่อโปรดทราบ และกรุณาประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้รับทราบต่อไปด้วย" บทความระบุ

โดยในบทความมีการเปิดเผยเอกสารชี้แจง 3 ฉบับดังนี้

หนังสือของสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ ที่ กห ๐๕๐๑/๑๘๘๙ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์เป็นผู้ประสานงานในการตรวจสอบบันทึกที่อ้างว่าเป็นพระดำรัสของ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

หนังสือของราชสกุลอาภากร ลงวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๕ เรื่อง ผลการตรวจสอบบันทึกที่อ้างว่าเป็น พระดำรัสของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

หนังสือของสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ ที่ กห ๐๕๐๑/๑๓๐ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๕ เรื่อง การตรวจสอบบันทึกพระดำรัสของ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ

โดยสามารถอ่านบทความทั้งหมดได้ที่ วารสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ 96 เล่มที่ 3

ทั้งนี้ใน "บันทึกข้อความ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ (สลก.ทร.) กองประชาสัมพันธ์" ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2545 เรื่อง "การตรวจสอบบันทึกพระดำรัสของ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" ลงนามโดย พล.ร.ต.ณรงค์ เทศวิศาล เป็นเลขานุการกองทัพเรือ เสนอต่อหน่วยขึ้นตรง กองทัพเรือ (นขต.ทร.) และหน่วยเฉพาะกิจกองทัพเรือ  ตอนหนึ่งระบุว่า "ด้วย ผบ.ทร. ได้กรุณามีบัญชาให้ สลก.ทร. ตรวจสอบข้อเท็จจริง และความเป็นมาเกี่ยวกับบันทึกที่มีผู้อ้างว่าเป็นพระดำรัสของ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ความว่า "ใครเจอบันทึกนี้ ให้เอาคำต่อไปนี้ของกูไปประกาศให้คนรู้ว่า ..." นั้น 

"สกล.ทร. ได้ตรวจสอบกับราชสกุลอาภากรแล้ว ได้รับการชี้แจงว่าพระดำรัสดังกล่าวมิใช่พระดำรัสของ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (รายละเอียดตามหนังสือที่แนบ)" "จึงเสนอมาเพื่อโปรดทราบ และกรุณาประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้รับทราบต่อไปด้วย" โดยท้ายสำเนาบันทึกข้อความลงชื่อ พล.ร.ต. ณรงค์ เทศวิศาล ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขานุการกองทัพเรือในสมัยนั้น

 

ประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และที่มาของคำว่า "หมอพร" และ "เสด็จเตี่ย"

สำหรับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 เป็นต้นราชสกุล "อาภากร" มีบทบาทวางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ

ในปี พ.ศ. 2454 สมัยต้นรัชกาลที่ 6 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเสนาบดี กระทรวงทหารเรือ และทรงเสด็จออกจากราชการชั่วคราว ตามประกาศ "แจ้งความกระทรวงกองทัพเรือ" ลงวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2454 โดย นายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ (อ่านราชกิจจานุเบกษา)

ในปี พ.ศ. 2460 มีประกาศ "แจ้งความกระทรวงทหารเรือ" ลงนามโดย นายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ให้ "นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นายทหารกองหนุน เข้ารับราชการประจำในตำแหน่งจเรทหารเรือ" ตั้งแต่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2460 (อ่านราชกิจจานุเบกษา)

ในปี พ.ศ. 2463 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงพิเศษ ออกไปจัดหาซื้อเรือรบหลวงพระร่วงที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเรือรบที่ได้รับการบริจาคทรัพย์โดยประชาชน (อ่านคำกราบบังคมทูล ในนามของกระทรวงทหารเรือ, ราชกิจจานุเบกษา 20 ตุลาคม 2463)  โดยกรมหลวงชุมพรเป็นผู้บังคับการเรือรบหลวงพระร่วงนำกลับมาประเทศไทยด้วยพระองค์เอง และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพลเรือเอก และพระราชทานเลื่อนอิสริยยศ เป็นกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2465 (หรือ พ.ศ. 2466 หากนับแบบปฏิทินปัจจุบัน) รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ "พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" เป็น "เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ" (อ่านราชกิจจานุเบกษา) อย่างไรก็ตาม ทรงลาออกเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ แล้วเสด็จไปพักผ่อนเพื่อรักษาโรค ที่ ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร และอีกไม่กี่เดือนก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคหวัด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ขณะมีพระชนม์พรรษาเพียง 44 พรรษาเท่านั้น

ภายหลังในปี พ.ศ. 2536 มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า "พระบิดาของกองทัพเรือไทย" และในปี พ.ศ. 2544 แก้ไขเป็น "องค์บิดาของทหารเรือไทย" ทั้งนี้กองทัพเรือถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวัน "อาภากร"

ส่วนที่มาของคำเรียกขานกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ว่า "เสด็จเตี่ย" เนื่องจากทรงสนใจเรื่องการแพทย์แผนโบราณ และในช่วงที่ออกจากราชการ ได้เสด็จออกรักษาคนไข้ทั่วไป โดยชาวจีนย่านสำเพ็งมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณจึงเรียกขานว่า "เตี่ย" หรือ "หมอพร"

ด้านผลงานวรรณกรรมเพลงของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์นั้น ทรงนิพนธ์บทเพลงให้กองทัพเรือไว้ 2 เพลง ได้แก่ เพลงเดินหน้า ที่ใช้ทำนองเพลงไทยเดิมคุณลุงคุณป้า 2 ชั้น ส่วนคำร้องทรงนิพนธ์เองโดยขึ้นต้นเนื้อเพลงว่า "เกิดมาทั้งที ก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น อีกสามร้อยปี ก็ไม่มีใครเขาจะเห็น.. ฯลฯ" และเพลงดอกประดู่ ซึ่งทรงนิพนธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนอง โดยแต่งหลังวิกฤตปากน้ำ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) โดยขึ้นต้นเนื้อเพลงว่า "หะเบสสมอพลัน ออกสันดอนไป ลัดไปเกาะสีชัง จนกระทั่งกระโจมไฟ... ฯลฯ" เป็นที่มาของคำที่ทหารเรือแทนตนว่าเป็น "ดอกประดู่" หรือ "ลูกประดู่"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net