Skip to main content
sharethis

27 ต.ค. 2558 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง สำหรับการปลูกข้าวฤดูกาลผลิตปี 2557/58 ประกอบด้วย 3 แนวทางคือ 1.การปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือร้อยละ 3 เป็นเวลา 6 เดือน สำหรับยอดเงินกู้ไม่เกิน 80,000 บาท วงเงิน 970 ล้านบาท 2.การปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันเกษตรกรวงเงิน 12,500 ล้านบาท เพื่อทำการรวบรวมผลผลิตการเกษตร 3.การปล่อยสินเชื่อเพือชะลอการขายข้าว เพื่อให้ชาวนาเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวจำนวนมากออกมาพร้อมๆกัน วงเงิน 26,000 ล้านบาท เพื่อลดผลกระทบเกิดขึ้นกับเกษตรกร

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเรื่องการช่วยเหลือราคายางพาราผ่านแนวทางการสนับสนุนการนำยางไปใช้ในด้านอื่นในประเทศ แทนการใช้เงินช่วยเหลือ เพราะจะขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก(WTO) จึงเน้นช่วยเหลือผ่านการลดพื้นที่การเพาะปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่บุกรุกที่ดินของรัฐ การส่งเสริมให้โรงงานใช้ยางผลิตสินค้าอื่นเพิ่มเติม การนำยางพารามาผสมในการสร้างถนนในสัดส่วนร้อยละ 5 แม้ทำให้ต้นทุนสร้างถนนสูงขึ้นร้อยละ 10 แต่ทำให้อายุการใช้งานของถนนนานขึ้นร้อยละ 40 จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการรับซื้อยางพาราจากตลาดในประเทศได้เพิ่มขึ้น

ตีกลับร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมภาษีบำรุงท้องที่

พล.ต.สรรเสริญ  กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีตีกลับร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ 2508 ของกระทรวงมหาดไทย และร่างกฎกระทรวงแก้ไขอัตราภาษีบำรุงท้องที่ หลังจากได้ทำการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศแล้วเสร็จในปี 2558 เพื่อเริ่มบังคับใช้ในปี 2559-2562 เพราะพบว่า การจัดทำแผนราคาปานกลางจะให้ประชาชนเสียภาษีบำรุงท้องที่โดยเฉลี่ยเพิ่มไร่ละ 4,284 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 28 เท่า  จึงเห็นว่า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนเพิ่มเติม จึงสั่งการให้ชะลอการแก้ไขกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่เอาไว้ก่อน เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น จึงค่อยนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งในอนาคต

เห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอี

วันเดียวกัน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 100,000 ราย  นับเป็นมาตรการเฟส 2 เพิ่มเติมต่อเนื่องจากกระทรวงการคลัง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

สำหรับมาตรการช่วยเหลือ  แบ่งเป็น 1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเอสเอ็มอี ซึ่งได้ประกอบธุรกิจอยู่แล้ว วงเงิน 2,947.07 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ 55,338 ราย 2.การสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (News Start Up ) วงเงิน 408  ล้านบาท คาดช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ 22,715 ราย 3.การช่วยเหลือเอสเอ็มอีประสบปัญหาทางธุรกิจในการปรับแผนธุรกิจเป็นการเร่งด่วน วงเงิน 630 ล้านบาท คาดช่วยเหลือเอสเอ็มอี 17,000 ราย และ 4.การสร้างและพัฒนาปัจจัยสนับสนุน วงเงิน 1,112.31 ล้านบาท คาดช่วยเอสเอ็มอี 2,450 ราย

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net