การเมืองของเหตุการณ์ตากใบ (1) ฟังความขัดแย้ง-สันติภาพผ่านเวทีรำลึก 11 ปี

ดูผ่านๆ เหมือนกับว่าเวทีเสวนาสาธารณะเนื่องในวันครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบหัวข้อ "ตากใบ"กับความลักลั่นบนเส้นทางกระบวนการสันติภาพคงไม่ต่างจากการจัดงานรำลึกทั่วๆไป แต่เมื่อตั้งใจฟังกลับมีเนื้อที่น่าสนใจมากกว่านั้น

เป็นเวทีที่จัดโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตานี (คปส.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี นับเป็นอีกเวทีหนึ่งที่สะท้อนภาพความขัดแย้งในสังคมไทยและความลักลั่นบนเส้นทางสู่สันติภาพตามหัวข้อที่ตั้งไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังล้นห้องประชุม

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ดำเนินรายการโดยนายแวหามะ แวกือจิก ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ : จะสร้างสันติภาพต้องให้ความเป็นธรรม

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ กล่าวว่า ทุกครั้งที่ฟังคนในเหตุการณ์ตากใบเล่าถึงสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำตนร้องไห้สะอื้นในหัวใจตลอด เหตุการณ์นี้มีคนตายตอนสลายการชุมนุม 7 คน ตายขณะขนย้าย 78 คน รวม 85 คน ที่จำได้ดีเพราะเคยดำเนินการฟ้องร้องในคดีนี้ด้วย ยังมีคนถูกจับกว่า 1,300 คนจนครบ 7 วันก็ปล่อยตัว และมีคนถูกแจ้งข้อหาเป็นแกนนำชุมนุมประมาณ 50 คนทั้งที่บางคนไม่รู้เรื่องเลย เพราะแค่เดินทางผ่านเท่านั้น โชคดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำฟังไม่ฟ้องทั้งหมด

ในช่วงที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดำเนินการอยู่ขณะนั้น ผมนึกว่าจะสอบสวนผู้บังคับบัญชากรณีการขนผู้ชุมนุมด้วยวิธีการแปลกประหลาดนี้และเล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้นได้ แต่มีเพียงการไต่สวนเจ้าหน้าที่ใน 2 กรณี คือ เจ้าหน้าที่ควบคุมคนจนตายกับเจ้าหน้าที่ที่ยิงผู้ชุมนุมถึงแก่ความตาย ส่วนการดำเนินคดีใช้เวลา 5 ปีสุดท้ายศาลมีคำสั่งเพียงว่าผู้ชุมนุมตายแบบใดโดยไม่ได้ระบุรายละเอียด คือเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ

แม้ว่าผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาแล้วด้วยเงินคนละ 7.5 ล้านบาท แต่ในความเป็นธรรมทางคดีก็ต้องดำเนินต่อไป

ต้องทำลายข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่ลงโทษคนผิด

อับดุลกอฮาร์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ตากใบผ่านมา 11 ปีมีเหตุการณ์อื่นๆ ตามมามากมาย ล่าสุดคือเหตุการณ์ทุ่งยางแดง ตอนแรกเจ้าหน้าที่บอกว่าจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่สุดท้ายก็ไต่สวนการตายอย่างเดียว ทำให้เราเข้าใจว่ากฎหมายมีข้อจำกัดมากมายที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่ แต่หากรัฐมีความจริงใจที่จะนำสังคมไปสู่สันติภาพก็จำเป็นต้องทำลายข้อจำกัดทางกฎหมายนี้ให้ได้

ทุกวันนี้แม้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายเหตุการณ์ เช่น ตากใบ กรือเซะ ปูโละปูโย และอื่นๆ แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ไม่สามารถนำไปเป็นพยานหลักฐานเพื่อหาคนผิดมาลงโทษได้

หากต้องการสร้างสันติภาพในพื้นที่ก็ต้องสร้างความเป็นธรรมให้ปรากฏให้ได้ เหมือนคดีตากใบที่แม้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถเอาผิดกับผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือผู้กระทำความผิดได้ ส่งผลต่อความรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติและใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน

สิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคสำคัญของกระบวนการที่จะนำไปสู่สันติภาพหรือสันติสุขในพื้นที่ได้ ดังนั้นความลักลั่นที่เกิดขึ้นก็เกิดจากกฎหมายของรัฐหรือนโยบายของรัฐที่ไม่แน่นอน เช่น พอใช้ความรุนแรงแล้วเบื่อก็หันมาใช้สันติวิธี

ความรุนแรงทุกระบบไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

อับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า หากจะใช้สันติวิธีจริงก็ต้องเข้มแข็งและอดทนต่อการใช้สันติวิธี ผมเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ให้กำลังใจและเข้าใจ แต่หากไม่สามารถที่จะสร้างความเท่าเทียม หรือไม่สามารถแก้ไขระบบกฎหมายที่เป็นอุปสรรคได้ ไม่ว่ากี่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ก็จะสร้างบาดแผลขึ้นมาอีกและส่งต่อบาดแผลนั้นต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ย่อมสร้างความหวาดกลัวและผลอื่นๆ ตามมา อย่างกรณีเหตุการณ์ตากใบที่สร้างคับแค้นใจและสร้างนักต่อสู้ด้วยอาวุธจำนวนมาก ดังนั้นความรุนแรงไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ ความรุนแรงไม่สามารถสร้างสันติภาพหรือสันติสุขได้

ตูแวดานียา ตูแวแมแง : บทเรียนสำหรับรัฐและประชาชน

ตูแวดานียา ตูแวแมแง กล่าวว่า ทุกๆ ปีเมื่อถึงเดือนตุลาคมสังคมก็จะพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 และ 6 ตุลาฯ 19 โดยประชาชน ปัญญาชนหรือนักศึกษาที่อยากจะเห็นอนาคตที่ดี มีความเท่าเทียม มีสิทธิเสรีภาพ ได้ร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าประชาชนขึ้นมาอีก แต่ไม่ใช่กับเหตุการณ์ตากใบเพราะเหตุใด

กรณีตากใบภาครัฐพยายามปิดไม่ให้สังคมได้ถอดบทเรียน ซึ่งยิ่งรัฐปกปิดความผิดของตัวเองก็จะยิ่งกลายเป็นเงื่อนไขที่ชอบธรรมที่จะให้ภาคประชาชนใช้ทุกรูปแบบในการปกป้องสิทธิของตนเองแม้กระทั่งความรุนแรง

เหตุใดคนมลายูเปลี่ยนไปต่อสู้ด้วยอาวุธ

ตูแวดานียา กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา พิสูจน์มาแล้วว่าพลวัตรของความขัดแย้งในพื้นที่เกิดจากการถอดบทเรียนของแต่ละช่วงเวลา และเห็นได้ชัดว่าการต่อสู้ของบรรพบุรุษในอดีตด้วยกิจกรรมทางการเมืองมากกว่ากิจกรรมทางอาวุธแต่ล้มเหลว กิจกรรมทางอาวุธจึงเริมชัดเจนขึ้นเมื่อปี 2547

ในอดีตคนในพื้นที่เลือกต่อสู้โดยไม่ใช่อาวุธมากกว่า พวกเขาพยายามใช้แม้กระทั่งระบบต่างๆของรัฐเองในการต่อสู้ เช่น กระบวนการยุติธรรม ระบบรัฐสภา หรือการเจรจาพูดคุย เป็นต้น เพราะเหตุใด นักวิชาการหลายคนเคยบอกว่าในยุคโลกาภิวัฒน์ไม่น่าจะมีการต่อสู้ในรูปแบบการใช้อาวุธแล้ว แต่คนมลายูมุสลิมปาตานียังใช้อาวุธต่อสู้ และไม่ได้นำเข้านักรบจากต่างประเทศและตัวเองก็ไม่ใช่นักรบอาชีพ

อย่าให้ความหวังรู้สึกสิ้นหวัง

ตูแวดานียา กล่าวว่า ในกรณีตากใบ ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรตระหนักคือ ความสูญเสียที่มาจากความบริสุทธิ์ใจของประชาชนที่ยังมีความหวังในระดับหนึ่งกับกลไกทางการเมืองของภาครัฐและเรียกร้องอย่างสันติวิธี คำถามคือจะทำอย่างไรที่จะให้ความหวังอันบริสุทธิ์นั้นไม่รู้สึกสิ้นหวัง แม้รูปแบบการจัดการการชุมนุมอาจดูแข็งกร้าวไปบ้าง แต่พวกเขาไม่มีอาวุธในการชุมนุม และแม้พวกเขาไม่มีแกนนำที่ชัดเหมือนการชุมนุมในส่วนกลาง แต่เจตนาของพี่น้องชาวตากใบเราต้องให้เกียรติและเคารพในเจตนารมที่บริสุทธิ์ใจและใช้แนวทางสันติวิธี

ด้วยความที่สังคมไทยหรือรัฐเองที่เพิ่งเข้าสู่จุดเริ่มต้นของความรุนแรงในปี 2547 ยังอยู่ในภาวะกำลังทำความรู้จักกับความขัดแย้งและความรุนแรง กำลังทำความรู้จักกับข้อมูลข่าวสารที่ไม่รอบด้านที่ส่วนใหญ่มาจากสื่อกระแสหลัก เต็มไปด้วยอคติต่อคนมลายูที่ไม่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในประเทศ

เมื่อมีกิจกรรมทางการเมืองแบบสันติวิธีขึ้นมา แต่สังคมรับข้อมูลแค่การปล้นปืน ลอบฆ่า หรือรู้จักแต่คำว่าโจรใต้ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยโหมกระแสความขัดแย้ง จนสุดท้ายเกิดความรุนแรง สังคมก็มองมองคนที่มาเรียกร้องอย่างสันติวิธีที่ตากใบไม่มีความชอบธรรม และมองว่าชอบธรรมแล้วที่สลายการชุมนุมในลักษณะนั้น

สิ่งนี้สะท้อนว่ากลไกหรือเครื่องมือเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกแยกเขาแยกเรา แยกมิตรแยกศัตรูกันอย่างชัดเจน ก่อนเกิดเหตุการณ์ตากใบมีเหตุการณ์กรือเซะเกิดขึ้นก่อน เกิดการใช้ความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดในมัสยิด แน่นอนว่าไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ทันทีแต่เกิดความไม่พอใจฝังรากลึกต่อคนในพื้นที่ พอเกิดเหตุการณ์ชรบ.4 คนถูกกล่าวหารวมกับสิ่งที่สะสมมาจึงเป็นปัจจัยที่สร้างบรรยากาศให้เกิดการชุมนุมที่ตากใบ

ความเปลี่ยนแปลงที่แลกด้วยชีวิต

ตูแวดานียา กล่าวว่า ตากใบได้ให้บทเรียนแก่ประชาชนที่สำคัญที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ต้องอาศัยอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นระดับล่างหรือระดับบน ประชาชนต้องเข้าใจว่าจะต้องเดิมพันด้วยราคาแพงมากๆ นั่นคือชีวิตของประชาชนเอง ทั้งที่การชุมนุมที่ตากใบไม่ได้เกี่ยวข้องประเด็นทางการเมืองใดๆ เพียงแค่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคน 4 คนและชุมนุมด้วยสันติวิธี แต่กลับถูกตอบแทนด้วยการถูกฆ่า

ที่กล่าวมาข้างต้นเพียงแค่จะโยงถึงหัวข้อเสวนาคือ ความลักลั่นของกระบวนการสันติภาพ กล่าวคือ แค่ประชาชนต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม รัฐก็ยังให้ไม่ได้ แล้วรัฐจะทำให้บรรยากาศการพูดคุยเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจจนเกิดสันติภาพหรือสันติสุขได้อย่างไร

จะสร้างสันติภาพต้องให้ความเป็นธรรม

ตูแวดานียา กล่าวว่า สันติภาพจะต้องใช้ทุกภาคส่วน แม้กระทั่งการเปลี่ยนกฎหมาย หากรัฐต้องการให้เกิดสันติภาพ รัฐก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้เลยโดยไม่ต้องรอประเทศที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง

แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่มาทำงานด้านการเมืองด้วยสันติวิธีในพื้นที่ พยายามที่จะไม่ให้เกิดตากใบ 2 ขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ถึงกระนั่นก็ตามหากตากใบภาคแรกยังไม่ได้รับการสะสาง เงื่อนไขการหล่อเลี้ยงความรุนแรงก็ยังคงอยู่

โดยสรุปแล้วเหตุการณ์ตากใบได้บอกประชาชนว่า การที่ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขในแบบที่ประชาชนต้องการจริงๆ ในบริบทที่เป็นอยู่ของประเทศไทยปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นและต้องเดิมพันด้วยราคาแพง นอกเสียจากว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

อนุสรณ์ อุณโณ : ตากใบไม่ได้โดดเดี่ยว

อนุสรณ์ อุณโณ กล่าวว่า ความรับรู้ของคนนอกพื้นที่ต่อกรณีตากใบยังคงสับสนอยู่ จึงขอทำความเข้าใจว่า ตากใบเป็นความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อพลเมืองของตัวเอง ในช่วงประวัติศาสตร์ระยะสั้นนี้ตากใบไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะรัฐไทยกระทำความรุนแรงต่อพลเมืองของตนเองมาเป็นลำดับ

เมื่อพูดถึงรัฐสมัยใหม่จะพบว่า รัฐสมัยใหม่มีวิธีจัดการกับพลเมืองของตนเอง ประการแรกคือ สร้างความผาสุกและความกินอยู่ดีให้พลเมืองหรือประชากรของตนเอง หากไม่แล้วรัฐจะไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะบังคับให้เรากระทำในสิ่งต่างๆ หรือเข้ามายุ่งกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตของเรา

ขณะเดียวกัน รัฐสมัยใหม่ก็มีด้านมืดคือ การผูกขาดการใช้ความรุนแรงแต่เพียงผู้เดียวภายในรัฐนั้นๆ ซึ่งเหตุผลของการผูกขาดก็จะกลับมาสู่การสร้างความผาสุกให้กับพลเมืองนั่นเอง

ฉะนั้นในภาวะปกติ รัฐจะใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่รัฐเรียกว่าศัตรู ซึ่งประกอบไปด้วย อาชญากร นักโทษ ข้าศึก เป็นต้น เหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อรัฐและต่อพลเมือง เพราะเหตุนี้รัฐเองจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ความรุนแรง และผูกขาดการใช้ความรุนแรงแต่เพียงผู้เดียว เพราะไม่มีใครสามารถที่จะใช้ได้ และหากเราฝืนไปใช้ความรุนแรงบนถนนเราจะถูกจับเพราะรัฐไม่อนุญาตให้เราใช้ คือรัฐมีกฎหมายรองรับในการจัดการกับอาชญากร

สร้างศัตรูแล้วใช้ความรุนแรงจัดการ

อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า อีกประการหนึ่งคือ เมื่อมีสภาวการณ์บางอย่างรัฐรู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคาม และรัฐก็สร้างประเภทของบุคคลขึ้นมาใหม่ที่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นศัตรู ทั้งที่คุกคามต่อรัฐและคุกคามพลเมือง และรัฐจะใช้กฎหมายพิเศษในการเข้ามาจัดการ

ตลอดประวัติศาสตร์ระยะสั้นของไทยที่ผ่านมา จะมีการสร้างศัตรูเฉพาะกิจขึ้นมา และใช้กฎหมายพิเศษเข้ามาจัดการเสมอ

ยกตัวอย่างง่ายสุด กรณี 6 ตุลา 2519 การฆ่านักศึกษาธรรมศาสตร์ในตอนนั้นเกิดจากการพยายามประโคมข่าวว่า นักศึกษาที่มาร่วมชุมนุมไม่ใช่คนไทย ทั้งยังกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่ดูหมิ่นสถาบัน กลายเป็นกระแสให้พวกขวาจัดทั้งหลายลุกขึ้นมาร่วมกับกองกำลังรัฐเข่นฆ่านักศึกษาในขณะนั้น ขณะเดียวกันก็มีการใช้กฎหมายพิเศษที่อนุญาตให้รัฐใช้ความรุนแรงและไม่ต้องรับผิดชอบ ทำให้เราได้เห็นว่า รัฐไทยเคยสร้างศัตรูขึ้นมาแล้วในช่วงเวลาหนึ่ง

กรณีเหตุสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มีการใช้กฎหมายพิเศษเช่นกันและกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทยที่ต้องการล้มเจ้า และอื่นๆ เหล่านี้ทั้งหมดคือการสร้างศัตรู หรือสร้างบุคคลบางประเภทขึ้นมา ซึ่งสามารถที่จะฆ่าได้โดยไม่ต้องรับผิด และรัฐไทยถนัดมากในการจัดการกับบุคคลที่ตนเองรู้สึกว่าเป็นศัตรู เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้เห็นว่าตากใบไม่ใช่คนแปลกหน้า เพราะอยู่ในกระแสเดียวกัน คือ กระแสที่รัฐไทยรู้สึกว่าเป็นศัตรูหรือรู้สึกว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงต่อรัฐ

ก่อนเหตุการณ์ตากใบก็มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติทั้งหมด และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถกระทำอะไรบางอย่างที่ในภาวะปกติจะผิดกฎหมาย แต่ทำแล้วไม่ต้องรับผิด เพราะเหตุนี้ต่อให้มีคำตัดสินหรือข้อไต่สวนของคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงว่าเจ้าที่รัฐกระทำการบกพร่องและผิดก็ไม่สามารถที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ได้ เนื่องจากอยู่ภายใต้การใช้กฎหมายพิเศษ

สะท้อนภาพที่ถูกสร้างให้

อนุสรณ์ กล่าวว่า หากไปดูชุดคำอธิบายของรัฐในเวลาต่อมาโดยสื่อกระแสหลักบางสำนักนำไปใช้คือ กล่าวหาว่าผู้มาร่วมชุมนุมถูกชักชวน ถูกล้างสมองหรือถูกปลูกปั่นมาโดยขบวนการ BRN ที่วางแผนให้ ชรบ.เอาอาวุธไปให้ แล้วถูกจับจนเกิดความรุนแรง ทุกอย่างเป็นการจัดฉากเพื่อจะนำไปสู่เหตุการณ์ตากใบ เพื่อจะให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง และเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการขยายแนวร่วม เหล่านี้คือการสร้างภาพความน่ากลัวให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งจากข้อเท็จจริงก็ทราบกันดีว่าคนจำนวนมากแค่ผ่านมาดู

ทั้งหมดอยู่ภายใต้เรื่องเล่าโดยรัฐหรือสื่อกระแสหลักทำให้กลายเป็นพวกแยกดินแดนที่เป็นภัยคุกคาม จึงฆ่าได้โดยที่ไม่ต้องรับผิด คือในฟากหนึ่งมีกฎหมายพิเศษที่จะสามารถฆ่าคนเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องรับผิด อีกฟากหนึ่งมีการสร้างภาพของกลุ่มองค์กรหรือคนที่เป็นภัยต่อรัฐ จึงมีความชอบธรรมทั้งทางการเมืองและศีลธรรม ทำให้สองอย่างได้บรรจบกัน เหตุการณ์ตากใบจึงเกิดขึ้นจนปัจจุบันก็ไม่สามารถเอาผิดใครได้ หรือแม้แต่จะทวงถามสิ่งเหล่านี้กับสังคมไทยโดยรวมก็ยังทำลำบาก เพราะผู้ร่วมชุมนุมถูกทำให้กลายเป็นอันธพาลและอันตรายต่อรัฐและต่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ถูกโยงกับความขัดแย้งระดับชาติ

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ทับซ้อนอีกเรื่องของกรณีตากใบคือ เหตุการณ์ตากใบถูกยึดโยงเข้ากับความขัดแย้งทางการเมืองในระดับชาติ ตอนเกิดเหตุๆ นักวิชาการหลายคน พยายามอธิบายว่า เหตุไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 เกิดขึ้นเพราะต้องการโต้กลับทักษิณแต่คำอธิบายนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะทักษิณไปนานแล้วแต่ความรุนแรงยังคงอยู่

ภาพยิ่งชัดขึ้นตอนชุมนุม กปปส. ซึ่งมีการปราศรัยอย่างเมามันบนเวที มีนักวิชาการพูดถึงตากใบในฐานะความโหดเหี้ยมของทักษิณ ซึ่งเป้าหลักของ กปปส. ก็โจมตีทักษิณอยู่แล้ว และความโหดเหี้ยมไม่ได้เกิดเฉพาะตากใบ แต่มีเหตุการณ์อื่นๆ อีก เช่น ฆ่าตัดตอนเครือข่ายยาเสพติด เหตุการณ์กรือเซะ เป็นต้น

รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์เองก็ใช้โจมตีทักษิณ และการชุมนุมไล่ยิ่งลักษณ์ก็ถูกอธิบายว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อให้ทักษิณหลุดพ้นจากกรณีตากใบ

ที่น่าสนใจคือ การพยายามลากเหตุการณ์ตากใบไปให้ทักษิณรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว เป็นการบิดเบือนหรือชวนให้มองไม่เห็นด้านอำมหิตของรัฐไทยในฐานะรัฐสมัยใหม่ที่สร้างสภาวะใหม่ที่สามารถฆ่าคนโดยไม่ต้องรับผิด กลุ่ม กปปส.หรือพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยพูดถึงกฎหมายหมายพิเศษทั้งหลายที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินขอบเขต (ประเด็นนี้ถูกโต้ในเวทีด้วยว่า ทั้งกปปส.และฝ่ายเสื้อแดงก็ใช้เหตุตากใบมาโจมดีฝ่ายตรงข้ามด้วยเช่นกัน โดย กปปส.บอกว่าทักษิณผิด แต่ฝ่ายเสื้อแดงบอกว่าทหารผิด)

การขึ้นมาของ คสช. โดยพยายามจัดการกับความขัดแย้งโดยที่ไม่ตระหนักเลยว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ความจริงแล้ว คสช. รับไม้ต่อจากตัวละครจำนวนหนึ่งจากความขัดแย้งก่อนหน้านี้ และปิดบังอำพรางว่าตัวเองเป็นกลาง ซึ่งปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอีกฝ่ายไม่ยอมรับในอำนาจของ คสช.

ตากใบกับความเป็นรัฐสมัยใหม่/รัฐโบราณ

อนุสรณ์ กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างรัฐสมัยใหม่กับรัฐโบราณหรือรัฐจารีตอยู่ที่ใจกลางของมัน ใจกลางของรัฐจารีตคือความมั่นคงของอำนาจเหนือดินแดน ในขณะที่ใจกลางของรัฐสมัยใหม่คือ ความอยู่ดีกินดีและความผาสุกของพลเมืองหรือประชากร

สิ่งที่ คสช.กำลังทำคือพลิกเส้นทางการเคลื่อนตัวของการเป็นรัฐจากเดิมที่ไทยล้ำหน้ากว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับทวนเข็มนาฬิกาไปสู่ก่อนการปฏิวัติ 2475 เราย้อนไปสู่การเป็นรัฐโบราณหรือรัฐจารีตที่ไม่สนใจความกินดีอยู่ดีหรือความผาสุกของประชากรเท่ากับความมั่นคงขององค์อธิปัตย์หรือความมั่นคงของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน

ตากใบเองก็เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้น จะเป็นไปไม่ได้เลยที่ความจริงหรือความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ โดยผ่านรัฐโบราณหรือรัฐจารีต เราจำเป็นที่จะต้องกลับไปหาสิ่งที่เรียกว่ารัฐประชาชาติที่สนใจและให้ความสำคัญกับการกินดีอยู่ดีของประชากรที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางศาสนา ชาติพันธ์ จินตนาการทางการเมือง และไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายหรือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน

ตอนนี้คนปาตานีไม่ได้โดดเดี่ยวเพราะคนจำนวนมากในประเทศไทยในปัจจุบันกำลังถูกลิดรอนสิทธิ์และเสียงในการกำหนดชะตากรรมของตนเองเช่นกัน

วันนี้เราไม่ได้แค่พูดถึงความจริงที่ตากใบเท่านั้น แต่เราหมายถึงสิทธิ์และเสียงที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเองบนฐานของความเชื่อของชาติพันธ์ ของวัฒนธรรม เราจำเป็นที่จะต้องไปร่วมกับคนอีกจำนวนมากในประเทศนี้ เพื่อทวงสิทธิ์ทวงเสียงในการกำหนดชะตากรรมตนเองจากกลุ่มคนที่กำลังพาเราไปสู่รัฐโบราณหรือรัฐจารีต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท