ข้อมูล ข้อเท็จจริงและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทนำ

เขื่อนปากมูลสร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายให้เป็นเขื่อนเอนกประสงค์ ทั้งด้านพลังงานไฟฟ้า ชลประทาน การประมง รวมทั้งการท่องเที่ยว ภายหลังเขื่อนแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จ ได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายต่อการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันตลอดมาคือ ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับปลาและคนหาปลา กับประโยชน์ด้านพลังงานและการชลประทานจากเขื่อนนี้ และในเวลาต่อมาได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างคนหาปลาคือชาวบ้านในท้องถิ่นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเจ้าของโครงการเขื่อนปากมูล ประเด็นดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นเรื่องของความมั่นคงในชีวิตของชาวบ้านและความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าที่จะพึงได้จากเขื่อน

ความขัดแย้งนี้ เกิดขึ้นนับจากที่เขื่อนปากมูล(1)เริ่มดำเนินการในปี 2533 ชาวบ้านผู้มีอาชีพประมงเป็นชาวบ้านกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากไม่สามารถยึดอาชีพการทำประมงได้เหมือนเช่นเคย อันเกิดจากเขื่อนปากมูลได้ปิดกั้นเส้นทางการอพยพของปลา จากแม่น้ำโขงสู่แม่น้ำมูล นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน และที่ผ่านมามีดำเนินการหลายอย่างในการแก้ไขปัญหาจากฝ่ายรัฐ แต่มักจะละเลยมิติทางด้านนิเวศวิทยา สนใจเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ

ดังนั้น การดำเนินการแก้ไขปัญหาในอนาคตควรคำนึงถึงความมั่นคงของชุมชน ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ที่จะเป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล

ข้อมูลและข้อเท็จจริง

1. บริเวณปากมูลช่วงก่อนการสร้างเขื่อน ระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์มาก ประกอบไปด้วยแก่งใหญ่น้อยมากกว่า 50 แก่ง และประกอบขึ้นเป็นระบบนิเวศย่อยที่เรียกว่า ขุม วัง เวิน โบก เป็นต้น สภาพเช่นนี้มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลา นอกจากนี้แล้ว พื้นที่รอบริมตลิ่งแม้น้ำมูลที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น คือ “ป่าบุ่ง ป่าทาม” ยังอุดมไปด้วยพรรณพืช 265 ชนิด มีธาตุอาหารสูง (ดินตะกอนแม่น้ำ) เหมาะต่อการปลูกพืชผัก และชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรริมมูล

การสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำมูล เป็นการขัดขวางเส้นทางอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงสู่แม่น้ำมูล และจากแม่น้ำมูล กลับไปสู่แม่น้ำโขงตลอดทั้งปี การกักเก็บน้ำเหนือเขื่อน ส่งผลให้เกิดการสูญเสียแก่งธรรมชาติและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้านอื่น ๆ รวมถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับแก่งในฐานะที่เป็นสถานที่สำคัญในเชิงนิเวศวิทยาสังคม  ผลกระทบที่สำคัญคือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่ของพันธุ์สัตว์น้ำ  การเกิดตะกอนทับถมแก่ง  และการเกิดวัชพืชตามแก่ง  การสูญเสียความงดงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแก่งธรรมชาติต่างๆ และการสูญเสียกิจกรรมทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางวัฒนธรรมซึ่งใช้แก่งธรรมชาติต่าง ๆ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมตามความเชื่อของชุมชน

2. ชุมชนที่อยู่สองริมฝั่งแม่น้ำมูลเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่สืบย้อนไปได้กว่าหลายร้อยปี บรรพบุรุษของพวกเขาเลือกตั้งถิ่นฐานจากความอุดมสมบูรณ์ของปลาและทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำมูล ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นอาชีพหลักในการสร้างรายได้ ขณะเดียวกันทรัพยากรที่มีอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำมูลก็เป็นแหล่งอาหารสำหรับชาวบ้าน ส่วนในพื้นที่สูงขึ้นไปมักจะเป็นดินปนหินซึ่งไม่เหมาะต่อการทำการเกษตร ชาวบ้านจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน

3. การสร้างเขื่อนปากมูล ได้ทำลายวิถีชีวิตชาวประมง ชาวบ้านในชุมชน คนหนุ่มสาวในวัยแรงงานจำนวนมากละทิ้งชุมชน ไปรับจ้างขายแรงงานในต่างถิ่น สถาบันครอบครัวล่มสลาย ส่งผลให้โครงสร้างประชากรของชุมชนขาดสมดุล แต่ละชุมชนเหลือเพียงเด็กและคนแก่  ความสูญเสียที่เกิดจากการขาดรายได้เฉพาะอาชีพประมง คำนวณได้ปีละ 140 ล้านบาท ยังไม่นับความสูญเสียที่เกิดจากการทำลายระบบนิเวศสองฝั่งแม่น้ำ ที่เป็นแหล่งอาหาร การทำลายเกาะแก่ง ที่เป็นแหล่งรายได้การท่องเที่ยว นอกจากนั้น การใช้ประโยชน์เขื่อนปากมูล ยังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่คิดว่าตนถูกทำลายฐานทรัพยากร กับกลุ่มคนที่ปรับตัวได้หรือมีบทบาทในการปกครอง ที่ต้องการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของรัฐ ทำให้ชุมชนปากมูลเกิดความแตกแยกขัดแย้งกันอย่างรุนแรง

การล่มสลายของวิถีชีวิต และชุมชน นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมหลักและวัฒนธรรมประจำถิ่นที่เกี่ยวโยงกับการหาปลาในแม่น้ำมูล ส่งผลให้เกิดความยากจน และคุณภาพชีวิตที่ลดต่ำลง

4. มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการล่มสลายของชาวประมงด้วยมาตรการหลายอย่าง ทั้งการสร้างบันไดปลาโจน การสร้างศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวนกว่า 299 ล้านตัว(ปลาและกุ้งก้ามกราม) รวมทั้งการพยายามในการเปลี่ยนอาชีพชาวประมงให้หันมาทำการเกษตรด้วยการทุ่มงบประมาณกว่า 1,162 ล้านบาท สำหรับจัดสร้างสถานีสูบน้ำจำนวนมาก ทั้งที่การศึกษาจากหลายหน่วยงานพบว่า ชาวบ้านไม่นิยมทำนาปรัง เนื่องจากสภาพของดินและภูมิประเทศ ความพยามทั้งหมดจึงไม่เกิดประสิทธิผล (ตั้งเป้าพื้นที่ชลประทานไว้ 160,000 ไร่ ดำเนินการผ่านมา 20 ปี ได้พื้นที่ชลประทาน 4,606 ไร่ คิดเป็น สัดส่วน 2.87875 % )

5.  การทดลองเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลในปี 2544-2545 ทำให้เกิดการฟื้นฟูของระบบนิเวศอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านมีรายได้จากการจับปลามากขึ้น ความขัดแย้งต่างๆลดลง วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆกลับคืนมา

6.   การผลิตไฟฟ้าของเขื่อนปากมูล ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าจะผลิตปริมาณไฟฟ้าได้เกินกว่าเป้าหมาย แต่เมื่อหักรายจ่ายแล้ว พบว่ามีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าเหลือปีละ 99 ล้านบาท เมื่อคิดว่าต้องแลกกับการสูญเสียรายได้ครัวเรือนประมงปีละ 140 ล้านบาท  เขื่อนปากมูลจึงมีมูลค่าขาดทุนไม่น้อยกว่าปีละ 40 ล้านบาท ไม่นับรวมค่าความเสียหายที่เกิดจากการทำลายระบบนิเวศ และความล่มสลายของชุมชน ที่ไม่อาจคำนวณเป็นตัวเลขได้

แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล

ผลของการพัฒนาประเทศในอดีต ที่ไม่คำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ และไม่มีแนวคิดในการพัฒนาโดยยึดคนเป็นจุดศูนย์กลาง ทำให้โครงการเขื่อนปากมูล กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนาน มีความเห็นว่า การพัฒนาประเทศ ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก ส่วนการแก้ไขปัญหา ต้องคำนึงถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของมนุษย์ และเสรีภาพในการหลุดพ้นจากความยากจน  เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาต่อไปนี้ จะทำให้วิถีชีวิต ชุมชน และสังคมโดยรวม กลับคืนสู่ความสุขสงบอีกครั้งหนึ่ง มีดังนี้

1.ทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลตลอดปี เป็นเวลา 5 ปี เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำมูลและ ทรัพยากรธรรมชาติ ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

ประการแรก แนวคิดในแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลโดยใช้การเปิดๆปิดๆ (เปิด 4 ปิด 8) เป็นวิธีการดำเนินการที่ไม่ได้วางอยู่บนฐานของความรู้หรือหลักเหตุผลใดๆ ทั้งในเหตุผลเชิงนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์ปลาในแม่น้ำขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งการเปิดปิดเขื่อนที่วางอยู่บนวัตถุประสงค์หลักของเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้า การเปิดปิดก็ไม่ได้วางอยู่บนฐานความต้องการเรื่องอัตราความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงสุด (peak load)(2) ทั้งนี้ ข้อเสนอในการเปิดเขื่อนตลอดปี เป็นการต่อยอดทั้งฐานความรู้จากงานวิจัยและฐานประสบการณ์จากผลงานวิจัยและข้อเสนอของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (2544) ซึ่งศึกษาผลจากการเปิดเขื่อนตลอดปีพบว่า มีการฟื้นคืนมาของระบบนิเวศ การกลับมาของระบบเศรษฐกิจบนฐานของการพึ่งพาตนเองของชุมชน

ข้อเสนอเรื่องการเปิดตลอดปี จึงเป็นข้อเสนอที่มีเป้าหมายหลักในการให้ความสำคัญกับระนิเวศ อันเป็นรากฐานสำคัญของวิถีชีวิตชุมชน

ประเด็นที่สอง ในประเด็นความมั่นคงทางพลังงาน เขื่อนปากมูลน่าจะมีบทบาทในการช่วยเสริมเสถียรภาพของระบบส่งจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ศึกษาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นไปอย่างค่อนข้างจะหมิ่นเหม่ จนน่าจะอนุมานได้ว่า การเสริมความมั่นคงของระบบในพื้นที่ ผ่านการขยายระบบสายส่งไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสามารถในการนำพลังงานไฟฟ้าจากภาคอีสานตะวันตก และจากหน่วยผลิตในประเทศสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาช่วยรองรับความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ ในช่วงที่มีความต้องการสูงๆ น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะยังมีเขื่อนปากมูลอยู่ในระบบหรือไม่ก็ตาม

ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว เห็นว่าการเสริมความมั่นคงของระบบส่ง เพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างกับพื้นที่ข้างเคียงให้มากขึ้น น่าจะเป็นแนวทางที่สามารถรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดเขื่อนปากมูลตลอดปีได้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่พิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่า ฐานคิดประการแรกที่วางอยู่บนการให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคงของระบบนิเวศ” ในขณะที่ฐานคิดประการที่สองที่วางอยู่บนฐานคิดเรื่อง “ความมั่นคงทางพลังงาน” ในประการแรกนั้น การแก้ไขปัญหาระบบนิเวศที่ถูกทำลายและได้รับผลกระทบอย่างเป็นวงกว้าง พบว่า ยังไม่สามารถมีวิธีการแก้ปัญหาใดได้ดีเท่ากับการให้ระบบนิเวศฟื้นคืนระบบด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันก็ไม่พบความสำเร็จในการจัดการระบบนิเวศโดยการกระทำของมนุษย์ (man made) ในขณะที่ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาจากการกระทำของมนุษย์เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ข้อเสนอให้เปิดเขื่อนจึงเป็นผลจากการวิเคราะห์การแก้ปัญหาการพัฒนาที่เป็นลักษณะของการได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาระบบนิเวศเพื่อเป็นฐานของชีวิตของสังคมและประเทศชาติ

     
2. เมื่อคำนึงถึงความสูญเสียรายได้ของครัวเรือนประมง ซึ่งนับเป็นวิถีทางอาชีพหลักของชุมชน ตลอดระยะเวลากว่า 20ปี (เฉลี่ยปีละ 620,000 บาทต่อครอบครัว) ประกอบกับความสูญเสียที่เกิดจากการทำลายระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งอาชีพของชาวบ้าน จึงเป็นการสมควร ที่รัฐบาลจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับครัวเรือนผู้ได้รับผลกระทบ นับตั้งแต่มีการเปิดใช้เขื่อนปากมูลเป็นต้นมา

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาของการมีเขื่อนปากมูล ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูลทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านเขื่อนปากมูล เข้าใจตรงกันว่าเขื่อนมีผลกระทบต่อชุมชนจริง จึงพยายามแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงการจ่ายค่าชดเชย และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมต่างๆที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ผลจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวแล้วนั้น ประกอบกับเป็นระยะเวลานานซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญให้วิถีชีวิตชุมชนมีการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องอยู่บนฐานของการพึ่งพิงทรัพยากรอย่างในอดีต และจะเห็นได้ว่าชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากแหล่งรายได้นอกภาคเกษตร กรณีฐานคิดเรื่องค่าชดเชย จึงเสนอฐานคิดจากรายได้ประมง โดยไม่ได้มองครอบคลุมถึงรายได้ครัวเรือน เนื่องจากเป็นที่ทราบดีว่าชาวบ้านมีการปรับตัวภายใต้วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปนี้แล้ว แม้ว่าในทางปฏิบัติจะมีชาวบ้านเพียงบางส่วนที่เข้าถึงโครงการต่างๆ แต่ในขณะที่ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับแนวทางความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชนจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐที่เกิดขึ้น คงไม่สามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชุมชนต้องปรับตัว หากแต่เมื่อคำนึงถึงความรับผิดชอบของรัฐต่อสังคม (accountability) สำหรับวิถีการจัดการของรัฐที่ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อชุมชนแล้ว รัฐเองก็ไม่สามารถปฏิเสธความจริงข้อนี้ไปได้

3. การหาแหล่งพลังงานเพื่อเสริมเสถียรภาพด้านพลังงานแทนเขื่อนปากมูล เนื่องจากปัญหาด้านพลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับปริมาณไฟฟ้าที่เข้าสู่ระบบ ศักยภาพของเขื่อนปากมูลในการผลิตกำลังไฟฟ้าเข้าสู่ระบบนับว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับศักยภาพของปริมาณไฟฟ้าจากเขื่อนห้วยเฮาะ ปัญหาในปัจจุบัน คือ เสถียรภาพในระบบพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่สรุปว่าปัญหาเขื่อนปากมูลไม่ใช่ปัญหาปริมาณไฟฟ้า แต่เป็นปัญหาเรื่องเสถียรภาพ ดังนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินการโดยเร่งพิจารณาการดำเนินการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า เพื่อให้สามารถรองรับการส่งกระแสไฟฟ้าที่มาจากเขื่อนน้ำเทิน 2 (ประเทศลาว) มาสู่พื้นที่ภาคอีสานตอนล่างให้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยควรดำเนินการเจรจาปรับแก้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากประเทศลาว (เขื่อนห้วยเฮาะ) เพื่อให้การกำหนดราคาในแต่ละช่วงเวลาเหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคอีสานและ/หรือประเทศไทย เนื่องจากสัญญาการซื้อไฟฟ้าในปัจจุบัน ราคามีความแตกต่างตามช่วงวัน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าพิจารณาร่วมด้วยว่า หากเปรียบเทียบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่รัฐและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องแบกรับในการแก้ไขปัญหา การเยียวยา ลดความขัดแย้ง โครงการพัฒนาต่างๆในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนับจากมีเขื่อนปากมูล อีกทั้งยังไม่นับการรวมการใช้เวลาของรัฐในการแก้ปัญหาที่เรื้อรังเช่นนี้ การลงทุนเพียงครั้งเดียวในการเพิ่มระบบสายส่งเพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงานทั้งระดับภูมิภาคและประเทศและเพื่อแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลอย่างยั่งยืนน่าจะให้ความคุ้มค่าในระยะยาว

4. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำสถานีสูบน้ำ คลองส่งน้ำ เพื่อการเกษตรและชลประทาน แม้เขื่อนปากมูลมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ในการเกษตรและชลประทาน ผลจากการศึกษาพบว่า เกิดปัญหาจากการสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการชลประทาน กลายเป็นภาระที่ชาวบ้านต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น อีกทั้งการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำในปัจจุบันได้ถูกโอนมาให้เป็นความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่นั้นๆ กล่าวได้ว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าวนับว่าเป็นภาระและปัญหาสำคัญในการพัฒนา ทั้งในระดับปัจเจกคือชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และระดับองค์กรคือ อบต.

การเปิดประตูเขื่อนปากมูลไม่ได้มีผลกระทบต่อสถานีสูบน้ำที่มีอยู่เดิม แม้การเปิดประตูระบายน้ำจะทำให้ระดับน้ำลดลง แต่ปริมาณน้ำที่อยู่ตามเกาะแก่งโดยธรรมชาติจะไม่ส่งผลเสียหายต่อสถานีสูบน้ำ มีเพียง 4 สถานีสูบน้ำที่อยู่หน้าเขื่อนและเป็นแบบติดตั้งคงที่ที่อาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่สามารถปรับยืดหยุ่นตามระดับน้ำได้ อย่างไรก็ตาม การเปิดประตูระบายน้ำอาจมีผลกระทบต่อสถานีสูบน้ำที่เป็นแบบติดตั้งคงที่ (verticel) เนื่องจากออกแบบไม่ถูกต้อง ทำให้ใช้งานไม่ได้ อีกทั้งสถานีสูบน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ คือ สถานีสูบน้ำแบบแพลอยที่สามารถปรับระดับได้ตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำแม่น้ำมูล การแก้ไขปัญหาสถานีสูบน้ำหากมีการพิจารณาเปิดเขื่อนสามารถดำเนินการโดยซ่อมแซมสถานีสูบน้ำที่เป็นแบบติดตั้งคงที่ ซึ่งสามารถดำเนินการโดยใช้งบประมาณไม่มากนัก โดยเปลี่ยนสภาพสถานีสูบน้ำแบบติดตั้งคงที่ให้เป็นแบบแพลอยและเดินท่อมายังสถานีเดิมที่เป็นแบบคงที่ อย่างไรก็ตาม พบว่า การสูบน้ำเพื่อการเกษตรและชลประทานในพื้นที่เขื่อนปากมูลมีความต้องการน้อย การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทานจำเป็นต้องพิจารณาจากระดับน้ำที่มี มิใช่การสร้างสถานีสูบน้ำขึ้นก่อนและเกิดปัญหาตามมาอย่างในปัจจุบัน

ดังนั้นการที่รัฐบาลตั้งกรรมการ ฯ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล คณะกรรมการ ฯ ก็ควรที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาตามข้อมูลที่ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ใช่มาเริ่มต้นใหม่ ว่าปัญหามีอะไรบ้าง เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เสมือนมาเริ่มต้นใหม่ นับหนึ่งอยู่ร่ำไป ความเดือดร้อนก็จะถูกซุกไว้ใต้พรม เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมาชอบทำกัน

เดินหน้าเถอะครับ..ชาวบ้านปากมูนเดือดร้อนมากว่า 24 ปีแล้ว

อ้างอิง

1.เขื่อนปากมูลสร้างบริเวณปากแม่น้ำมูลห่างจากแม่น้ำโขง ๕.๕ กิโลเมตร บริเวณบ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี   งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๖,๖๐๐ ล้านบาท เริ่มสร้างปี ๒๕๓๓ แล้วเสร็จปี ๒๕๓๗ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย,๒๕๔๓)

2. ทั้งนี้ หากเป็นการเปิดปิดหรือการบริหารจัดการเขื่อนโดยคิดจากฐานกำลังความต้องการไฟฟ้า จะเห็นได้ว่า ต้องเปิดเขื่อนในฤดูแล้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำในช่วงฤดูแล้ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท