'เครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย' ออกแถลงการณ์ 'มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร'

หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการสอนในสถาบันอุดมศึกษาทำให้มีการต่อต้านรัฐบาล เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยชี้ การที่จะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพนั้นไม่สามารถข่มขู่ด้วยการใช้อำนาจ
 
31 ต.ค. 2558 เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" ระบุว่าหลังมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยชี้การที่จะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพไม่สามารถข่มขู่ด้วยการใช้อำนาจ โดยรายละเอียดทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย
เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร
 
จากการที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น ในฐานะคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ขอแสดงปฏิกิริยาต่อคำวิจารณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้
 
ประการแรก “เสรีภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้  การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหาและเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทยและสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการปลูกฝังอุดมการณ์หรือ “ความเชื่อ” หนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมหมายถึงการทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงหรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว ดังนั้น คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพตลอดจนความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง 
 
ประการที่สอง ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ที่ชีวิตและความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะโดยอำนาจจากปากกระบอกปืนหรืออำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อาจจะทำให้เกิดความสงบราบคาบขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง  การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจจำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาคและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย 
 
พวกเราในฐานะคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน มีความเห็นร่วมกันว่าการที่จะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในระยะยาวได้นั้น หลักการพื้นฐานคือต้องสร้างสังคมที่สามารถยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีกระบวนการในการจัดการกับปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นธรรมและโปร่งใส มีระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางและตรวจสอบได้ ซึ่งสังคมในลักษณะดังกล่าวก็คือสังคมที่ปกครองในรูปแบบเสรีประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมและค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาทุกระดับย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างสังคมแบบประชาธิปไตยดังกล่าวนี้  มิใช่ทำให้ยอมรับการข่มขู่ด้วยอำนาจซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไทยให้จมดิ่งลงไปสู่ความมืดมนทางปัญญาและไม่อาจปรับตัวได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต
 
ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อสังคมไทย
เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท