Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์ 'นิวแมนดาลา' ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียนำเสนอบทความเรื่องความพยายามของรัฐในการเซ็นเซอร์ประวัติศาสตร์การสังหารหมู่คอมมิวนิสต์เมื่อ 50 ปีก่อน อ่อนไหวถึงขั้นสั่งยกเลิกเสวนาในเทศกาลวรรณกรรม ยืนยันการเซ็นเซอร์ไม่อาจลบเลือนอดีตที่ยังตามหลอกหลอนอินโดนีเซีย

30 ต.ค. 2558 ฮาร์มิช แมคโดนัลด์ ผู้เขียนหนังสือ "ประชาธิปไตย : อินโดนีเซียในศตวรรษที่ 21" และเป็นนักข่าวต่างประเทศที่เคยทำงานในหลายพื้นที่เช่น จีน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, อินเดีย และอินโดนีเซีย เขียนบทความเกี่ยวกับความทรงจำเรื่องการสังหารหมู่ดังกล่าวและการพยายามปกปิดประวัติศาสตร์จากฝ่ายรัฐ ลงในนิวแมนดาลา หรือ "นวมณฑล" บล็อกด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU)

แมคโดนัลด์ระบุถึงเหตุการณ์ช่วงปี 2508-2509 ในอินโดนีเซียว่ามีการจัดตั้งกลุ่มในหมู่บ้านให้สังหารผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์แล้วทิ้งศพลงแม่น้ำ มีคนถูกสังหารในรูปแบบนี้ราว 1 ล้านคน ซึ่งเจ้าหน้าที่กองทัพที่เคยสั่งให้เกิดการสังหารแบบนี้ในปัจจุบันกลายเป็นผู้สำเร็จราชการ, ผู้นำฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ แมคโดนัลด์ระบุอีกว่ากลุ่มคนเหล่านี้คอยควบคุมพรรคการเมืองส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียเพื่อจัดฉากบังหน้าการปกครองแบบเผด็จการที่ผุดขึ้นหลังจากการสังหารหมู่

บทความของแมคโดนัลด์ระบุต่อไปว่านอกจากการสังหารแล้วยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกจับเข้าคุกหรือค่ายกักกัน มีบางส่วนถูกตัดสินคดีโดยการสั่งประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต มีบางส่วนเป็นแค่ผู้เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ระดับหน่วยประจำการถูกปล่อยตัวเมื่อราว 40 ปีที่แล้วแต่ก็อยู่ภายใต้การจับตามองจากรัฐและถูกสังคมกีดกันไปตลอดชีวิต และอีกกลุ่มหนึ่งคือปัญญาชนฝ่ายซ้ายราว 30,000 คน ถูกจับกุมอยู่ในค่ายกักกันห่างไกลความเจริญบนเกาะบูรูที่ถูกแปลงให้เป็นเรือนจำ

แมคโดนัลด์เล่าว่าในช่วงที่เป็นนักข่าวอยู่ในอินโดนีเซียเขาได้รับชมพิธีการปล่อยตัวนักโทษในกรณีคอมมิวนิสต์ระดับหน่วยประจำการและเคยมีเจ้าหน้าที่พาเขาเข้าชมคุกในเกาะบูรูที่มีการพยายาม "ให้การศึกษาใหม่" เพื่อทำให้คนในเรือนจำกลับมายอมรับสถานะทางเศรษฐกิจชนชั้นแบบเดิมภายใต้หลัก 'ปัญจศีล' (Pancasila) ซึ่งเป็นแนวคิดอุดมการณ์ที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกท้าทายทางการเมือง

"แต่ถึงแม้ว่าคนในเรือนจำผู้ผ่ายผอมจะผ่านความโหดร้ายมาเป็นเวลาหลายปีและแทบจะอดตาย แต่จิตวิญญาณของพวกเขายังคงอยู่" แมคโดนัลด์ระบุในบทความ

บทความในนิวแมนดาลายังระบุถึงผู้ต้องขังชื่อปราโมทยา อนันตา ตูร์ ที่ทำงานเขียนของตัวเองอยู่ในคุก แมคโดนัลด์เล่าว่าโตร์นำต้นฉบับเรื่องสั้นชื่อ "ภพนี้ของมนุษยชาติ" (Bumi Manusia หรือ This Earth of Mankind) ให้เขาดูจนต่อมาเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยนักวิชาการออสเตรเลียชื่อแฮร์รี อเวลิง เป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นหนังสือของตัวเอง และหลังจากการไปเยี่ยมคุกครั้งนั้นแมคโดนัลด์ก็ถูกทางการอินโดนีเซียกีดกันด้วยการไม่ต่อวีซ่าของประเทศให้

จนกระทั่งในปี 2556 เมื่อแมคโดนัลด์กลับไปในอินโดนีเซียเพื่อทำการค้นคว้าในการเขียนหนังสือ "ประชาธิปไตย : อินโดนีเซียในศควรรษที่ 21" ก็ดูเหมือนว่าบรรยากาศต้องห้ามในการพูดถึงยุคสมัยปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียเริ่มหมดลงไปแล้ว สารคดีเรื่อง 'The Act of Killing' โดย โจชัว ออพเพนไฮเมอร์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของการสังหารและกวาดล้างคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียสมัยซูฮาร์โตก็มีผู้รับชมในวงกว้าง

แมคโดนัลด์ระบุอีกว่าในยุคอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการแบนเนื้อหาหรือประเด็นดังกล่าวนี้ โดยนิตยสาร 'เทมโพ' เคยรวบรวมเรื่องราวการสังหารคน 65 คน จากปากคำของผู้ก่อการและผู้รอดชีวิตจนทำให้นายกเทศมนตรีในเกาะสุลาเวสียอมขอโทษที่มีเหตุสังหารในเมืองของตนและตั้งอนุสรณ์สถานขึ้น แต่ในสมัยของประธานาธิบดีซุซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ผู้ที่มีเป็นลูกเขยของนายพลผู้นำปราบปรามคอมมิวนิสต์ก็ยังคงยึดการเล่าเหตุการณ์แบบเดิมๆ ว่าฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีก่อน

ในช่วงการเลือกตั้งปี 2557 โจโก วิโดโด ผู้ที่ปัจจุบันชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีกล่าวเป็นนัยไว้ในช่วงหาเสียงว่าเขาจะให้มีการสืบสวนและขอโทษเหยื่อสังหารหมู่เหตุการณ์ 30 ก.ย.-1 ต.ค. 2508 แต่มาถึงตอนนี้วิโดโดกลับปฏิเสธว่าจะไม่มีการขอโทษ นอกจากนี้ยังมีแก็งค์ศาลเตี้ยที่เรียกตัวเองว่า "พรีมาน" คอยก่อกวนคุกคามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ผู้รอดชีวิตและญาติของพวกเขาที่รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงคอยติดตามตัวนักวิชาการและนักวิจัยอื่นๆ

แมนโดนัลด์ย้อนกลับมารายงานเรื่องที่เกิดขึ้นในงานเทศกาลนักเขียนและนักอ่านอุบุตที่จัดในจังหวัดมาหลีเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นขู่ว่าจะสั่งยกเลิกจัดงานถ้าหากผู้จัดยังคงดำเนินการเสวนาเรื่องเกี่ยวกับการสังหารหมู่ปี 2508 ต่อไป โดยอ้างว่าจะเป็นการ "เปิดแผลใจ" ของผู้คนซึ่งจะ "ทำลายบรรยากาศของงาน" ซ้ำยังขู่ด้วยกฎหมายห้ามเผยแพร่แนวคิดคอมมิวนิสต์ซึ่งมีบทลงโทษจำคุก 12 ปี

ถึงแม้ว่าคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียจะถูกปราบปรามและมีกฎหมายสั่งแบนตั้งแต่สมัยซูฮาร์โตแล้ว ในยุคปัจจุบันที่แมคโดนัลด์มองว่าคอมมิวนิสต์กลายเป็นเผด็จการในอีกรูปแบบหนึ่งแทนที่จะเป็นการปฏิวัติ การสั่งแบนของทางการจึงกลายเป็นแค่การพยายามปกป้องชื่อเสียงของตนเอง ซึ่งการตัดขาดคนรุ่นใหม่จากแนวคิดของปัญญาชนจะเป็นการทำให้อินโดนีเซียอ่อนแอลง

ในขณะที่วิโดโดซึ่งเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อหาพันธมิตรที่เข้มแข็งในการดำเนินยุทธศาสตร์ทางอำนาจกับจีน แมคโดนัลด์ก็เรียกร้องให้เขายอมรับอดีตที่เกิดขึ้นในประเทศของตนให้ได้เพราะเขามองว่า "ประเทศชาติที่เข้มแข็งจะต้องสามารถเผชิญหน้ากับอดีตของตัวเองได้"

 

เรียบเรียงจาก

Censorship and the forbidden past, HAMISH MCDONALD, New Mandala, 27-10-2015 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net