Skip to main content
sharethis

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย นำโดยออง ซาน ซูจี แกนนำฝ่ายค้าน ตัดสินใจใช้สนามใกล้กับเจดีย์ธุวันนะ ทางตะวันออกของนครย่างกุ้ง เป็นที่ปราศรัยใหญ่ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์นี้ หลังก่อนหน้านี้รัฐบาลภาคย่างกุ้งไม่อนุมัติให้ใช้สนามหน้าเจดีย์ชเวดากองเป็นที่ปราศรัย โดยอ้างเหตุทำรถติด - ขณะที่พม่าจะจัดเลือกตั้งในอีก 7 วันข้างหน้า

ที่มาของภาพ: พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)

1 พ.ย. 2558 - ที่สนามใกล้กับเจดีย์ธุวันนะ เขตทิงกันจุน นครย่างกุ้งด้านตะวันออก พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี พรรคฝ่ายค้านพม่านำโดยออง ซาน ซูจี ได้จัดปราศรัยใหญ่โดยมีผู้สนับสนุนหลายหมื่นคนร่วมฟังการปราศรัย นับเป็นการปราศรัยใหญ่ครั้งแรกในเขตตัวเมืองของนครย่างกุ้ง หลังจากก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านเคยจัดปราศรัยในพื้นที่ชานเมืองของย่างกุ้งมาแล้วเมื่อ 10 ต.ค. และ 24 ต.ค.

ก่อนหน้านี้ พรรคเอ็นแอลดี เคยยื่นเรื่องขอใข้สวนสาธารณะประชาชน (People's Park) ที่ตั้งอยู่บนถนนแปรด้านด้านทิศตะวันตกของพระมหาเจดีย์ชเวดากอง สัญลักษณ์สำคัญของเมือง สถานที่ซึ่งเมื่อ 27 ปีที่แล้ว ออง ซาน ซูจี ได้ปราศรัยอย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อฝูงชนกว่าห้าแสนคน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารในขณะนั้นเริ่มการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลภาคย่างกุ้งไม่อนุญาตโดยอ้างว่าจะทำให้การจราจรติดขัด

 

เลือกตั้งได้สมาชิกเข้าสภา 3 ใน 4 - อีก 1 ส่วน ผบ.สส. กองทัพพม่าตั้ง - เปิดช่องประธานาธิบดีคนนอก

ขณะที่การเลือกตั้งของพม่าจะเริ่มขึ้นในอีกสัปดาห์ข้างหน้าคือวันที่ 8 พ.ย. นี้ นับเป็นการจัดการเลือกตั้งโดยรัฐบาลพลเรือนเป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อ 7 พ.ย. 2553 เป็นการจัดเลือกตั้งโดยรัฐบาลทหาร "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" หรือ SPDC ขณะที่การเลือกตั้งในปี 2533 ที่พรรคเอ็นแอลดี ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลทหารในสมัยนั้น

โดยที่การเลือกตั้ง 8 พ.ย. 2558 ที่จะถึงนี้ จะเป็นการเลือกตั้ง 3 ระดับ คือ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนประชาชน (Pyithu Hluttaw) หรือ ส.ส. สมาชิกสภาชนชาติ หรือ วุฒิสภา (Amyotha Hluttaw) และสภาระดับรัฐและภาคของพม่า ซึ่งเป็นสภาระดับท้องถิ่น 14 สภา

โดยสภาผู้แทนประชาชน หรือ ส.ส. จะมีการเลือกตั้ง 323 ที่นั่ง จากทั้งหมด 440 ที่นั่ง โดย 110 ที่นั่งที่เหลือเป็นโควตาแต่งตั้งจากผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพ ส่วนอีก 7 ที่นั่ง จะไม่มีการเลือกตั้งเนื่องจาก กกต. ประกาศไม่จัดการเลือกตั้งเนื่องจากไม่สามารถรับประกันความปลอดภัย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

และจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาชนชาติ หรือ วุฒิสภา จำนวน 168 ที่นั่ง จากทั้งหมด 224 ที่นั่ง โดย 168 ที่นั่งมาจากรัฐและภาคในพม่า รัฐละ 12 ที่นั่ง อีก 56 ที่นั่ง เป็นโควตาแต่งตั้งจากผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพ

โดยสมาชิกทั้ง 2 สภาคือสภาผู้แทนประชาชน และสภาชนชาติ จะเป็นผู้ลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีพม่า โดยในรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 2008 ของพม่า เปิดช่องให้การเสนอชื่อประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีเป็น "คนนอก" ก็ได้ โดยในมาตรา 60 (c) ระบุว่าผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี มาจากการเลือกของคณะผู้เลือกตั้งซึ่งจะเลือกจากผู้ที่เป็นสมาชิกรัฐสภา หรือไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาก็ได้

และเช่นเดียวกับสภาระดับชาติ สมาชิกสภาท้องถิ่นของพม่าทั้ง 14 รัฐและภาคของพม่า จะมาจากการเลือกตั้ง 3 ใน 4 และอีก 1 ใน 4 มาจากการเลือกโดยกองทัพ

 

การเลือกตั้งจัดโดยรัฐบาลพลเรือน ครั้งแรกในรอบ 55 ปี

ทั้งนี้พม่ามีการเลือกตั้งทั่วไปโดยรัฐบาลพลเรือนครั้งหลังสุด ต้องนับย้อนไปเมื่อ 55 ปีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2503 โดยการเลือกตั้งในครั้งนั้น พรรคสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPFL) นำโดยอูนุ ชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามมีการทำรัฐประหารโดยนายพลเนวิน เมื่อ 2 มีนาคม 2505 ทำให้พม่าถูกปกครองภายใต้รัฐบาลทหารกินเวลากว่า 48 ปี กระทั่งหลังการเลือกตั้ง 7 พ.ย. 2553 จึงเริ่มมีการถ่ายโอนอำนาจไปสู่รัฐบาลกึ่งพลเรือนนำโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง อดีตนายทหารในกองทัพพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net