Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานถึงสภาพความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในพม่าเนื่องมาจากการขาดการศึกษา ข้อห้ามทางวัฒนธรรมที่กดขี่ผู้หญิง แม้กระทั่งห้ามใช้คำว่า "ช่องคลอด" และกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงที่เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นพยายามทำลายการเคลื่อนไหวของสตรีในพม่า

5 พ.ย. 2558 - ผู้สื่อข่าวเดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษ "ฟิโอนา แมคเกรเกอร์" รายงานจากประเทศพม่าว่า ในภาษาพม่ามีคำต้องห้ามที่พูดถึงอวัยวะเพศหญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าในพม่ามีสิ่งหวงห้ามทางวัฒนธรรมที่กดข่มผู้หญิงอยู่จนทำให้กลุ่มนักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีต้องต่อสู้กับทั้งเรื่องอคติทางเพศที่ฝังรากลึกและสุขภาวะของเพศหญิงที่ย่ำแย่ในพม่า

ในประเทศที่มีการปิดประเทศยาวนานอย่างพม่ามีประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกับทางเพศหลายประเด็นที่มีการพูดถึงในหมู่นักกิจกรรมทั้งด้านสิทธิมนุษยชนและสุขภาวะ ยกตัวอย่างการตีพิมพ์คำว่า "Vagina" ที่แปลว่า "ช่องคลอด" ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของพม่าทำให้เกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากผู้อ่านจำนวนมากรับไม่ได้แม้แต่กับคำที่สุภาพและออกไปในเชิงทางการแพทย์ นักข่าวผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับรายงานข่าวนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงขั้นมีการต่อว่าเธอทำให้ตัวเอง "เสื่อมเสียชื่อเสียงในฐานะผู้หญิงไปตลอดกาล"

แมคเกรเกอร์ระบุว่าในภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่ามีคำที่สื่อถึง "ช่องคลอด" โดยตรงได้มีข้อห้ามใช้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กับชาวพม่าที่ใช้ภาษาราชการของประเทศส่วนใหญ่กลับมองว่าส่วนของร่างกายส่วนนี้น่าละอายจนถึงขั้นไม่มีคำเรียก หรือบางครั้งก็มีการเลี่ยงเพื่อความ "สุภาพ" โดยเรียกอวัยวะเพศหญิงว่า "ร่างกายของผู้หญิง" ซึ่งห่างจากความหมายเดิมมาก ทำให้ซิน มิน ธุ นักวิจัยเรื่องเพศสภาพและเพศสภาวะในพม่าบอกว่ามันเป็นเรื่องยากมากที่ผู้หญิงจะแสดงความคิดเห็นใดๆ ในที่สาธารณะเพราะมีข้อห้ามเช่นนี้อยู่

ไม่เพียงแค่คำว่า "ช่องคลอด" เท่านั้นที่ถูกมองเป็นเรื่องสกปรกในพม่า ซินมินธุกล่าวว่าผู้หญิงในพม่ายังพยายามไม่พูดถึงเลือดจากการมีประจำเดือนเช่นกันแม้จะไม่มีการบังคับโดยตรง นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่ว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่ท่อนล่างของผู้หญิงเป็นของไม่สะอาดจะทำให้ "พลังความเป็นชาย" สูญเสียไป ซึ่งในเรื่องนี้มีนักกิจกรรมที่เป็นสตรีมองว่าเป็นการกีดกันเพศหญิง

ในพม่าเริ่มมีองค์กรเกี่ยวกับสตรีเพิ่มมากขึ้น พวกเขาเริ่มจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับปัญหาสิทธิสตรี ปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์และปัญหาทางเพศ ซึ่ง "ทาทา" ผู้ก่อตั้งสมาคมสตรีอัคยากล่าวว่าการขาดการศึกษาเรื่องเพศเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในพม่า เพราะชาวพม่ามีมุมมองว่าอวัยวะเพศหญิงเป็นของสกปรกเป็นการเหยียดหยามทำให้เพศหญิงไม่เห็นเคารพตัวเอง การศึกษาเรื่องเพศจะทำให้ผู้หญิงมองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น

รายงานในเดอะการ์เดียนระบุว่สมาคมสตรีอัคยาจัดการเรียนรู้เรื่องเพศรายสัปดาห์ให้กับผู้หญิงจากต่างภูมิหลังและต่างวัย โดยในตอนแรกก็มีความขัดเขินแต่ต่อมาก็เริ่มเปิดใจพูดถึงเรื่องร่างกายได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ลูซี สตีเวนส์ นักวิจัยสังคมในสมาคมสตรีอัคยากล่าวว่าห้องเรียนดังกล่าวนี้เป็นครั้งแรกที่พวกเธอสามารถพูดถึงร่างกายของตัวเองได้โดยไม่ต้องกลัวถูกตัดสิน ทำให้พวกเธอมองร่างกายตัวเองในแง่บวก มีความมั่นใจในตัวเองและคิดว่าพวกเธอเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังช่วยให้ผู้หญิงเล็งเห็นในเรื่องสุขภาวะของตนเองด้วย

แต่อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งในพม่าคือกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมจัดที่เสนอกฎหมาย 4 ข้อ ซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการห้ามแต่งงานข้ามศาสนา เรื่องนี้ต่างชาติมองว่าเป็นการกีดกันศาสนาอิสลามและเป็นการลิดรอนสิทธิสตรี นอกจากนี้ยังมีกฎหมาย "ควบคุมประชากร" ที่การกำหนดให้ทางการสามารถแทรกแซงได้ว่าผู้หญิงควรรอระยะเวลานานขนาดไหนถึงจะมีลูกได้อีกครั้ง

แมคเกร์เกรอระบุว่าในขณะที่รัฐบาลพม่ากำลังเรียกร้องการยอมรับจากนานาชาติจากการปฏิรูปประชาธิปไตยของพวกเขาแต่นักกิจกรรมประเด็นสตรีก็มองว่าเรื่องสิทธิสตรีในพม่าล้าหลังกว่าเดิมมาก เป็นครั้งแรกที่มีการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงตราไว้ในกฎหมาย และนักกิจกรรมที่รณรงค์ต่อต้านกฎหมายนี้ก็ถูกประจานให้อับอายต่อสาธารณะ ถูกข่มขู่คุกคาม ถึงขั้นถูกขู่ฆ่า โดยกลุ่มพระผู้มีอิทธิพลอย่าง "มะบ๊ะต๊ะ" (Ma Ba Tha) และกลุ่มคลั่งชาติถึงขั้นกล่าวหาว่านักกิจกรรมสตรีที่ต่อต้านกฎหมายเหล่านี้เป็นอริศัตรูของพุทธศาสนาหรือเป็นผู้ทรยศชาติ

กลุ่มมะบ๊ะต๊ะยังก่อการล่าแม่มดด้วยการนำรูปถ่ายและเบอร์โทรศัพท์ของนักกิจกรรมสตรีแปะพื่อประจานไว้ที่หน้าวัด ทำให้พวกเธอไม่เพียงถูกคุกคามหรือขู่ฆ่าแต่ยังถูกด่าด้วยคำพูดเหยียดหยามความเป็นมนุษย์และการใช้วาจาอันตราย นักกิจกรรมรายหนึ่งกล่าวว่าเธอต้องการให้ประชาคมนานาชาติคอยจับตาดูนักกิจกรรมประเด็นสตรีที่อาจจะถูกข่มขู่คุกคามและมีความเสี่ยงในช่วงที่กำลังมีการเลือกตั้งนี้

เรียบเรียงจาก

Myanmar: women's fight against verbal taboo symbolises wider rights battle, Fiona MacGregor, 02-09-2015 http://www.theguardian.com/global-development/2015/nov/02/myanmar-womens-fight-against-verbal-taboo-symbolises-wider-rights-battle

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net