งานวิจัย 7 มหาวิทยาลัยเผยศาสนาไม่มีส่วนช่วยให้เด็กมีจริยธรรมมากกว่าคนอื่น

ถึงแม้ว่าผู้คนมักจะอ้างการนับถือศาสนาว่าช่วยทำให้คนมีจริยธรรมมากขึ้น แต่งานวิจัยของภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย 7 แห่งทั่วโลกกลับแสดงให้เห็นตรงกันข้าม พวกเขาพบว่าเด็กจากครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนามีความเอื้อเฟื้อแบ่งปันมากกว่าและมีลักษณะชอบลงโทษคนอื่นน้อยกว่าเด็กจากครอบครัวของผู้นับถือศาสนา

8 พ.ย. 2558 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานโดยอ้างอิงงานวิจัยในวารสาร 'เคอร์เรนท์ ไบโอโลจี' (Current Biology) ว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่นับถือศาสนามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่น้อยกว่าและมีนิสัยชอบลงโทษคนอื่นมากกว่ากลุ่มที่มาจากครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนา

ข้อมูลดังกล่าวมาจากการศึกษาวิจัยโดยภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย 7 แห่งจากทั่วโลกซึ่งทำการสำรวจเด็กที่มาจากครอบครัวชาวคริสต์ ครอบครัวอิสลาม และครอบครัวเด็กที่ไม่มีศาสนา เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับจริยธรรม โดยมีชื่อรายงานผลการวิจัยว่า "ความสัมพันธ์เชิงผกผันระหว่างศาสนากับความเอื้อเฟื้อในเด็กทั่วโลก"

นักวิจัยในเรื่องนี้ตั้งคำถามว่าศาสนามีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งผลออกมาปรากฏว่าการไม่ยึดถือในจริยธรรมจากหลักศาสนาไม่ได้ทำให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในตัวมนุษย์ลดลงอีกทั้งยังส่งผลในทางตรงกันข้าม

งานวิจัยดังกล่าวนี้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอายุ 5-12 ปี รวมเกือบ 1,200 คน จากประเทศต่างๆ อย่างสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, จีน, จอร์แดน, ตุรกี, และแอฟริกาใต้ ในกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้มีประชากรที่เป็นชาวคริสต์ร้อยละ 24 เป็นชาวมุสลิมร้อยละ 43 และเป็นคนไม่มีศาสนาร้อยละ 27.6 ในขณะที่จำนวนของชาวยิว ชาวพุทธ ชาวฮินดู ผู้มีแนวคิดอไญยนิยม (Agnostic - แนวคิดว่าการอ้างถึงการมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริงของพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้) และศาสนาอื่นๆ มีจำนวนน้อยเกินกว่าจะใช้ประเมินได้ในทางสถิติ

วิธีการทดลองคือการให้เด็กเลือกสติกเกอร์พร้อมทั้งบอกว่าสติกเกอร์เหล่านี้มีไม่พอจะแจกเด็กทุกคนในโรงเรียนทำให้พวกเขาต้องแบ่งให้คนอื่นด้วย โดยมีการบันทึกภาพตอนที่เด็กเหล่านี้พยายามแก่งแย่งเอาสิ่งของเพื่อชี้วัดการตอบสนองต่อสถานการณ์ของพวกเขาด้วย

ผลการทดสอบพบว่าเด็กที่มาจากศาสนาใหญ่ๆ ของโลกที่มีประชากรนับถือเป็นจำนวนมากอย่างคริสต์หรืออิสลามมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่น้อยกว่าเด็กที่โตมาจากบ้านที่ไม่ได้นับถือศาสนา นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์อีกว่าเด็กที่อายุมากกว่าที่อยู่ในครอบครัวที่มีศาสนา (ซึ่งหมายความว่าได้อยู่กับศาสนามานานกว่า) จะแสดงปฏิสัมพันธ์ในเชิงลบมากกว่า

งานวิจัยระบุอีกว่าการยึดถือศาสนาทำให้เด็กมีแนวโน้มชอบลงโทษคนอื่นมากขึ้น พวกเขาพบว่าเด็กจากครอบครัวที่นับถือศาสนามักจะชอบตัดสินการกระทำของคนอื่นอยู่บ่อยครั้ง โดยในกลุ่มประชากรเด็กที่เติบโตมากับครอบครัวอิสลามจะเรียกร้องให้มีการลงโทษหนักกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวศาสนาคริสต์หรือครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนา

ขณะเดียวกัน รายงานการวิจัยก็ระบุว่าพ่อแม่ที่นับถือศาสนามักจะอ้างว่าลูกของพวกเขามีความเห็นอกเห็นใจและอ่อนไหวต่อความทุกข์ยากของผู้อื่นมากกว่า ถึงแม้ว่าผลการทดสอบจะออกมาตรงกันข้าม

"ถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าศาสนาจะช่วยให้คนตัดสินใจโดยอาศัยหลักจริยธรรมมากขึ้นและมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสังคม แต่การโยงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับจริยธรรมก็เป็นสิ่งที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียง" นักวิจัยระบุในรายงาน

คีธ พอร์เทียส วูด จากสมาคมฆราวาสนิยมแห่งชาติอังกฤษ (ฆราวาสนิยมคือแนวคิดแยกรัฐกับศาสนาออกเป็นคนละส่วนกัน) กล่าวว่ารายงานชิ้นนี้ถือเป็น "ยา" แก้อาการคิดไปเองว่าต้องมีศาสนาก่อนถึงจะมีจริยธรรมได้ วูดกล่าวอีกว่าเขาอยากเห็นการศึกษาวิจัยในประเด็นใกล้เคียงกันลึกไปมากกว่านี้

"ผมหวังว่างานวิจัยนี้จะสามารถขจัดแนวคิดที่ว่าศีลธรรมทางศาสนามีความสูงส่งกว่าแนวทางแบบไม่ฝักใฝ่ศาสนา พวกเรามองว่าผู้คนไม่ว่าจะมาจากศาสนาใดหรือแม้แต่ไม่มีศาสนาต่างก็มีหลักการทางจริยธรรมของตัวเองในการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว โดยอาจจะแสดงออกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการมองโลกของบุคคลนั้นๆ" วูดกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Religious children are meaner than their secular counterparts, study finds, The Guardian, 06-11-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/nov/06/religious-children-less-altruistic-secular-kids-study

รายงานผลการวิจัย "The Negative Association between Religiousness and Children’s Altruism across the World"
http://www.cell.com/current-biology/pdf/S0960-9822(15)01167-7.pdf

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท