Skip to main content
sharethis



เมื่อสองเดือนก่อน ผมมีโอกาสไปร่วมงานสานเสวนา "พุทธศาสนากับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกลุ่มใหญ่และคนกลุ่มน้อยในสังคมไทย" จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจว่า

"ทำไมกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงในสามจังหวัดจึงพุ่งเป้าไปที่การเผาโรงเรียน และวัด"

ผมเข้าใจดีครับ เห็นภาพพระถูกยิง ถูกฆ่า โรงเรียนและศาสนสถานของชาวพุทธถูกเผา ถูกทำลาย ย่อมสร้างความสะเทือนใจแก่ชาวพุทธผู้พบเห็น และพัฒนาไปสู่ความเกลียดชังกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงได้ไม่ยาก

แต่ก่อนที่จะสรุปว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาพุทธ ผมคิดว่าเราอาจจะต้องตั้งสติและทำความเข้าใจให้กว้างกว่านั้น

............

ความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้งทางศาสนา แต่เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตรงนั้น ที่ไม่เคยได้รับการทำความเข้าใจ แก้ไข และเยียวยาอย่างตรงจุด

ความขัดแย้งทางศาสนาเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น

พื้นที่สามจังหวัดเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปาตานี ที่ถูกผนวกรวมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ยิ่งรัฐไทยผลักดันนโยบายรวมศูนย์อำนาจ สร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยและกีดกันความหลายหลายของชาติพันธุ์และศาสนามากเท่าไร ก็ยิ่งผลักคนกลุ่มหนึ่งให้กลาย "เป็นอื่น" มากเท่านั้น

ลองนึกถึงเด็กชาวเขาที่ถูกบังคับให้เรียนภาษาไทย เสริมสร้างความเป็นไทย นับถือศาสนาพุทธ "ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรนิ" บางคนอาจคิดอย่างนั้น ครับ... สุดท้ายชาวเขาส่วนใหญ่ก็ถูกกลืนทางวัฒนธรรมให้เป็นคนไทย คนรุ่นใหม่ดูถูกรากเหง้าทางภาษา วัฒนธรรมของตัวเอง คิดแบบที่รัฐไทยปลูกฝัง คือมองว่าการส่งเสริมความเป็นไทย คือ การให้การศึกษา

ทีนี้ลองเทียบกับชาวมุสลิมปาตานีดูบ้าง พวกเขามีประวัติศาสตร์ของเขา มีวัฒนธรรม มีภาษา และมีศาสนาของเขา แต่รัฐไทยก็ปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นเหมือนที่ทำกับคนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ โรงเรียนคือ ที่เสริมสร้างความเป็นไทย วัดคือ ที่เสริมสร้างความเป็นพุทธแบบทางการ อันสัมพันธ์อยู่กับอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

เคยได้ยินข่าวไหมครับ ที่ยุคหนึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้โรงเรียนในสามจังหวัดต้องมีพระพุทธรูปอยู่ในห้องเรียน ยิ่งหลักสูตรสอนพุทธศาสนาในโรงเรียนนั้นยิ่งแล้วใหญ่

ขนาดคนไทยด้วยกันเองจำนวนไม่น้อย ยังไม่เห็นด้วยกับการยัดเยียดเรื่องศาสนาแบบนี้เลย แล้วลองคิดถึงคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาที่ต้องทนอยู่กับบรรยากาศของการ "ไม่เคารพ" ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ของพวกเขา จนพัฒนาไปสู่การเหยียด (discrimination) ทั้งทางเชื้อชาติ ทางศาสนา หรือกระทั่งทางการเมือง

สำหรับผม ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัด เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและใหญ่ระดับรัฐ ที่ไม่มีวันจะแก้ไขได้ หากรัฐไทยไม่ส่งเสริมจิตสำนึกประชาธิปไตย ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ส่งเสริมหลักสูตรการศึกษาที่สอดคล้องกับรากฐานทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ส่งเสริมการเรียนประวัติศาสตร์ที่ไปพ้นประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม และไม่ยอมพัฒนาประเทศไปสู่รูปแบบรัฐแบบฆราวาส นั่นคือรัฐไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา ไม่เอาศาสนาใดศาสนาหนึ่งมามีอิทธิพลเหนือศาสนาอื่น

แต่กลุ่มชาวพุทธที่กำลังพยายามผลักดันพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ กลับเห็นตรงกันข้าม... จากความรู้สึกโกรธแค้นต่อภาพพระที่ถูกฆ่า โรงเรียนที่ถูกเผา วัดที่ถูกทำลาย... พวกเขามองว่าทางเดียวคือต้องลุกขึ้นปกป้องพุทธศาสนา ปกป้องสถาบัน ด้วยการผลักดันให้พุทธศาสนาเป็นใหญ่ เพราะ "ทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว"

ผมไม่เห็นด้วยกับการเผาโรงเรียน วางระเบิดวัด หรือลอบฆ่าพระภิกษุในพื้นที่สามจังหวัด แต่ก็ไม่อาจเห็นด้วยการแนวทาง "ตาต่อตาฟันต่อฟัน" ที่อยู่ภายใต้แนวคิด "พุทธศาสนาประจำชาติ" ได้ด้วยเช่นกัน

ถามจริงๆ เถอะครับ คิดว่า มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว ความรุนแรงในสามจังหวัด จะลดน้อยลงจริงๆ หรือ?


 

ที่มา: เฟซบุ๊ก Vichak Panich

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net