เมื่อนักคิดอิสลาม-นักมนุษย์นิยมในอังกฤษอภิปรายเรื่องวิทยาศาสตร์และโลกสมัยใหม่

ถึงแม้ว่าศาสนาและวิทยาศาสตร์จะถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งแบบตัดขาดจากกันเสมอมา แต่ในอังกฤษก็มีการจัดถกเถียงกันระหว่างนักคิดมนุษย์นิยมกับนักคิดอิสลามซึ่งมีแนวคิดสอดคล้องกันบางด้านในเรื่องวิทยาศาสตร์ และมองตรงกันว่าควรมีการเปิดกว้างด้านการตีความศาสนาเพื่อให้สอดคล้องกับโลกวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันมากกว่านี้

13 พ.ย. 2558 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนนำเสนอการโต้วาทีกันระหว่างนักคิดแนวมนุษย์นิยมและนักคิดอิสลามในโลกทัศน์ต่อวิทยาศาสตร์และโลกสมัยใหม่ โดยมีตัวแทนคือจิม อัลคาลิลี ประธานสมาคมนักมนุษย์นิยมอังกฤษ โต้เถียงกับ ซายอัดดิน ซาร์ดาร์ ประธานสถาบันมุสลิมอังกฤษ

ในขณะที่อัลคาลิลีให้ความสำคัญมากกับยุคแห่งการตื่นรู้ของยุโรปและเชื่อว่าหลังจาก "ยุคสมัยแห่งเหตุผล" นักมนุษย์นิยมก็ใช้วิทยาศาสตร์ในการสำรวจและทำความเข้าใจโลกแทนศาสนา ขณะที่ซาร์ดาร์ยังคงมองว่าควรมีการใช้ทั้งศรัทธาและเหตุผลผสมผสานกันไปเพื่อที่จะทำความเข้าใจโลกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งซาร์ดาร์ได้ยกตัวอย่างการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วง "ยุคทองของอิสลาม"

ซาร์ดาร์เป็นผู้ที่สนับสนุนให้มีการตีความคัมภีร์อัลกุรอานในลักษณะที่มีเหตุผลและมีการใคร่ครวญ ตัวซาร์ดาร์เองเป็นผู้ชื่นชอบคณิตศาสตร์ทำให้เขาเลือกเรียนฟิสิกส์ แต่เขาก็ยังมีความเชื่อว่าพระเจ้าทำให้เขา "เป็นคนที่ดีขึ้นและเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้น" อย่างไรก็ตามซาร์ดาร์ก็บอกการใช้ศรัทธาอย่างเดียวโดยไม่มีการตรวจสอบทำให้เขารู้สึกอึดอัดมาตั้งแต่เด็กทำให้เขามีแรงจูงใจในการตั้งคำถามด้วยตนเอง

ซาร์ดาร์บอกว่าศาสนาและเหตุผลเป็นแค่คนละด้านของเหรียญ เขาคิดว่าความขัดแย้งระหว่างเหตุผลและศรัทธาเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นมาเอง เขาบอกว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะชาวมุสลิมรับเอาแนวคิดการตีความคัมภีร์ในแบบที่คับแคบโดยละเลยว่าความรู้มีหลายมุมมอง ในสายตาของซาร์ดาร์แล้ว คัมภีร์อัลกุรอานมีอะไรซับซ้อนกว่าแค่เป็นหนังสือกฎเกณฑ์ และเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการแสวงหาความรู้ ซาร์ดาร์บอกว่าพระเจ้าไม่ให้ทุกอย่างกับเราไว้แล้วโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเองเลย พระองค์ไม่ได้ให้คำตอบตายตัวแก่มนุษย์และเชื่อว่าพระเจ้าสร้างให้คนเรามีอิสระที่จะคิดใคร่ครวญหาคำตอบด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่าซาร์ดาร์มองคัมภัร์อัลกุรอานเป็นวิทยาศาสตร์ เขาต่อต้านกลุ่มที่พยายามอธิบายคัมภีร์อัลกุรอานโดยโยงว่าเป็นความจริงตามปรากฎการณ์วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นการโยงกับควอนตันฟิสิกส์ด้วย ซาร์ดาร์มองว่าการโยงคัมภีร์ว่านำเสนอความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์เป็นแค่ความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจของผู้ที่ต้องการปกป้องแนวคิดของอิสลาม

ทางด้านอัลคาลิลี เห็นด้วยว่าการตีความข้อเขียนทางศาสนาด้วยความหมายนัยตรงจะเป็นอันตรายและควรจะมีการตีความข้อเขียนเหล่านี้ในเชิงสัญลักษณ์ เหมือนเช่นที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า "พระเจ้าไม่ได้เล่นลูกเต๋า" ซึ่งเป้นคำเปรียบเปรยสื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เกิดโดยบังเอิญมีแต่สิ่งที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจและควรค้นหาคำตอบเพื่อทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้น

ถึงแม้ว่าอัลคาลิลีจะเป็นผู้มีแนวคิดอเทวนิยมแต่เขาก็เป็นคนผ่อนปรนและปรับตัวเวลาสื่อสารกับผู้นับถือศาสนา เขาไม่คิดว่าคนที่นับถือศาสนาจะเป็นคนไม่มีเหตุผลเสมอไปเพียงแค่เขาคิดว่าไม่จำเป็นที่การมีอยู่ของสิ่งต่างๆ จะต้องมีความหมาย ตัวเขาเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีศาสนาต่างกันและทะเลาะกันเรื่องศาสนา ตัวอัลคาลิลีเองเอาตัวออกห่างแนวคิดศาสนามาตั้งแต่วัยรุ่นแล้วหันเขาหาวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยึดถือแนวคิดคุณค่าส่วนตัวในเรื่องการคำนึงถึงจิตใจผู้อื่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความเคารพคนอื่น โดยไม่จำเป็นต้องมีรางวัลในชีวิตหลังความตาย

อัลคาลิลีเป็นคนที่มีชื่อเสียงในเรื่องการนำเสนอประวัติศาสตร์ "ยุคทองของอิสลาม" ที่มีความรุ่งเรืองทางวิทยาศาสตร์ โดยมองว่าในยุคสมัยนั้นมีความเจริญทางวัทยาการทำแผนที่ ตรีโกณมิติ ภูมิศาสตร์ รวมถึงมีการคำนวนเวลาขึ้นละลงของพระอาทิตย์ที่แม่นยำเพื่อถือศีลอดในช่วงรอมฎอน และเรื่องสุขอนามัย ซึ่งอัลคาลิลีมองว่ายังมีการกล่าวถึงนักคิดวิทยาศาสตร์ผู้นับถือศาสนาอิสลามน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับนักคิดคนอื่นๆ

อัลคาลิลีระบุถึงแนวคิดของเขามี่ทีต่อวิทยาศาสตร์ว่าถือแม้เราจะมองวิทยาศาสตร์เป็น "อุดมการณ์" อย่างหนึ่งได้ แต่สำหรับเขาแล้ววิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการที่มาจากการทดลองอย่างเป็นระบบและความแม่นยำของการทำซ้ำแทนที่จะใช้ "ศรัทธาอย่างมืดบอด" แต่อย่างเดียว ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์ในเชิงตัวบุคคลอาจจะมีอคติ ผลประโยชน์หรือการเคร่งวินัยส่วนบุคคล แต่กระบวนการแบบวิทยาศาสตร์จะมีการตรวจสอบตัวเอง ถึงแม้ว่าแนวคิดจากวิทยาศาสตร์หลายเรื่องจะไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตจริง แต่ก็ควรจะมีการตรวจสอบข้อสงสัยต่างๆ ต่อไปซึ่งแสดงให้เห้นว่าคนเราไม่ได้หยุดใช้สติปัญญา

กับคำถามที่ว่าถ้าหากวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดศาสนาเป็นเรื่องผิดตจะเป็นอย่างไร ซาร์ดาร์ยอมรับว่าถ้าเช่นนั้นหลักการและกฎเกณฑ์ของศาสนาก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงตามหลักวิทยาศาตร์ แต่ตัวเขาเองไม่คิดว่าวิทยาศาสตร์จะเป็นสิ่งที่ให้คำตอบสุดท้ายได้ เช่นเดียวกับศาสนาวิทยาศาสตร์ก็เป็นสิ้งที่เปิดให้มีการแก้ไขหรือตีความใหม่ได้อยู่เสมอเช่นกัน

อย่างไรก็ตามซาร์ดาร์กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผู้เคร่งครัดอิสลามที่ไม่ใช้เหตุผลพยายามต่อต้านแนวคิดวิทยาศาสตร์ซึ่งบางครั้งก็เป็นแนวคิดที่เคยมาจากนักคิดของอิสลามเอง แต่เหล่าผู้นำทางการเมืองของอิสลามในประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้อุปถัมภ์เหล่านักปราชญ์เริ่มเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้นและปิดกระตูไม่ต้อนรับผู้มีแนวคิดเสรี รวมถึงการเข้ามาของลัทธิล่าอาณานิคมจากตะวันตกในช่วงยุคสมัยหนึ่งก็ "ตอกฝาโลง" ให้แนวคิดวิทยาศาสตร์โลกตะวันออกหยุดพัฒนาจากมุมมองแบบเหยียดเชื้อชาติที่มองว่าวัฒนธรรมตะวันออกรวมถึงอิสลามดูด้อยกว่าพวกนั้น

ในมุมมองต่อวิทยาศาสตร์ในสมัยปัจจุบันอัลคาลิลีแสดงความกังวลว่ามีแนวคิดต่อต้านวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ ในบางแห่งของโลก ขณะที่ซาร์ดาร์มองว่าความพยายามศึกษาวิจัยในภาคพื้นคาบสมุทรอาหรับยังมีปัญหาจากการเลียนแบบงานวิจัยที่มีอยู่แล้วในโลกตะวันตก เขาบอกว่าการ "มีเงินแต่ไม่มีสมอง" เป็นเรื่องอันตรายพวกเขาจะสร้างสิ่งก่อสร้างหรือห้องทดลองวิจัยแห่งใหม่ได้แต่ถ้าไม่มีจิตวิญญาณของการแสวงหาคำตอบอย่างเป็นเหตุเป็นผลความพยายามเหล่านี้ก็มีโอกาสพังทลายลง

ซาร์ดาร์เสนอทางออกว่าควรมีการจัดการโต้เถียงอย่างมีเหตุผลในศาสนาอิสลามเองรวมถึงการตีพิมพ์สื่อของชาวมุสลิมที่มีเนื้อหาตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นวารสาร "คริติตัล มุสลิม" ขององค์กรที่เขาจัดตั้งขึ้นเพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่มีความคิดอิสระส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวก แม้ว่าเรื่องนี้จะทำได้ดีในอังกฤษแต่ก็ยังยากที่จะทำในประเทศมุสลิมที่การตั้งคำถามจะทำให้ถูกลงโทษอย่างหนัก

ทางด้านอัลคาลิลีก็ต้องการให้มีการถกเถียงในเรื่องสถานการณ์ตะวันออกกลางซึ่งจะส่งสัญญาณปลุกให้เกิดความคิดแบบมีเหตุผล แม้ว่าจะมีการจัดอภิปรายกันระหว่างนักมนุษย์นิยมและนักคิดอิสลาม 400 คนได้สำเร็จในอังกฤษซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงนำไปสู่ข้อสรุปใหม่ๆ ได้ แต่อัลคาลิลีมองว่าการริเริ่มเช่นนี้ยังไม่มีการดำเนินการต่อเนื่องมากพอ

 

เรียบเรียงจาก Humanist vs Islamic perspectives on science and the modern world, The Guardian, 06-11-2015 http://www.theguardian.com/science/blog/2015/nov/06/humanist-vs-islamic-perspectives-on-science-and-the-modern-world

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท