ยุโรป การก่อการร้าย และฝ่ายขวา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เหตุโจมตีใจกลางกรุงปารีสเมื่อคืนวันที่ศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 129 คน บาดเจ็บอีกเรือนร้อย คาดว่าผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มถึง 140 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของฝรั่งเศสยังไม่ยืนยันว่าปฏิบัติการอุกอาจดังกล่าวเชื่อมโยงกับกลุ่มไอซิล(Islamic State of Iraq and Levant - ISIL) หรือไอซิส (Islamic State of Iraq and Syria - ISIS) ทว่ากลุ่มไอซิสได้ออกแถลงการณ์แล้วว่าเป็นฝีมือของตน (ABC News, November 14, 2015) การโจมตีพลเรือนในใจกลางกรุง โดยมุ่งเป้าไปยังสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งผู้คนหลากชาติศาสนาออกมาสังสรรค์ในคืนวันศุกร์ผ่านการวางแผนและคิดไตร่ตรองมาอย่างดีอีกทั้งยังต้องระดมพลจำนวนไม่ต่ำกว่า 30 คนเพื่อโจมตีทั้ง 7 สถานที่

ลักษณะการเตรียมการ การระดมกำลังพล อาวุธ และงานการข่าวเช่นนี้ใกล้เคียงกับการทำงานของกลุ่มไอซิส หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ รายงานว่ากำลังพลของไอซิสขณะนี้น่าจะอยู่ที่ 31,500 คน (Alternate, November 14, 2015) โดยดำเนินการเยี่ยงองค์กรเอกชน (ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายทางการเมืองคล้ายรัฐ) ที่มีหน่วยจัดหาบุคคลากร ทำงานประชาสัมพันธ์ จัดหาอาวุธ ออกแบบยุทธศาสตร์ทางทหาร การเมือง โดยเฉพาะปฏิบัติการจิตวิทยามวลชน นอกจากนี้ยังระดมทุนจากปัจเจกบุคคลและองค์กรต่างๆ โดยจัดทำรายงานประจำปีเพื่อโน้มน้าวผู้ให้ทุน (Vice News, October 26, 2014) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2014 ถึงปัจจุบัน กลุ่มไอซิสได้ปฏิบัติการโจมตีขนาดใหญ่ในตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และออสเตรเลียไปแล้วถึง 27 ครั้ง (International Business Times, November 14, 2015)
   
การกำเนิดขึ้นของไอซิสและพัฒนาการของกลุ่มอย่างต่อเนื่องจนสามารถโจมตีกรุงปารีสได้ในคืนศุกร์ 13 ที่ผ่านมาจะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองโลกอย่างไม่อาจย้อนกลับ เช่น เครือข่ายก่อการร้ายเช่นนี้อาจอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่เพราะอย่างน้อยมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ก็เข้าใจแล้วว่าไม่สามารถทำลายกลุ่มไอซิสได้ แต่อาจควบคุม (contain) ได้ (The Daily Beast, November 13, 2015) และหากเป็นเช่นนั้น ถึงจุดหนึ่ง เราอาจต้องพิจารณาข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มไอซิสเรื่องการตั้งอาณาจักรอิสลาม ซึ่งกำลังเสนอแนวคิดระบอบการปกครองก่อนรูปแบบรัฐ-ชาติแบบเวสต์ฟาเลีย (Westphalian state – รูปแบบรัฐที่ทุกวันนี้เราใช้อยู่พัฒนามาจากการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่เมืองเวสต์ฟาเลียปี 1648) สำหรับยุโรป เหตุโจมตีปารีสอาจส่งอิทธิพลต่อทิศทางด้านความมั่นคงและตัวตนของผู้คนในทวีปดังนี้

ประการแรก ยุโรปกำลังอยู่บนทางแพร่งในการตัดสินใจว่าจะพันตูอย่างไรในสงครามในตะวันออกกลาง หลังเหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรดของสหรัฐฯ จนถึงช่วงที่สหรัฐฯ บุกอิรักเมื่อปี 2003 รัฐบาลและประชาชนฝรั่งเศสต่อต้านสงครามอย่างสุดตัว และต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติอาหรับ ยุโรปมีส่วนร่วมกับสงครามมากขึ้นแต่ยังเป็นไปอย่างแนบเนียบ โดยร่วมมือกับองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (North Atlantic Treaty Organisation – NATO) โจมตีลิเบียในปี 2010 ทว่าหัวโขนตัวจริงยังคงเป็นสหรัฐฯ และปฏิบัติการอาศัยหลักรับผิดชอบเพื่อปกป้อง โดยอ้างว่าเป็นการใช้กำลังทางทหารเพื่อช่วยเหลือประชาชนในลิเบียที่กำลังถูกรัฐบาลสังหารหมู่

อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่าจุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่ฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงทางทหารในประเทศมาลี (Mali) เมื่อปี 2012 โดยมุ่งหมายขับไล่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลมาลีที่เป็นกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง ปฏิบัติการครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศในยุโรป เช่นเบลเยี่ยม เดนมาร์ก เยอรมันนี เนเธอแลนดส์ และสวีเดน เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในซีเรีย ฝรั่งเศสและอังกฤษสนับสนุนอาวุธและฝึกยุทธวิธีทางทหารให้แก่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัล-อัดซาด เมื่อปลายเดือนกันยายน รัสเซียตัดสินใจโจมตีกลุ่มก่อการในซีเรีย (ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัล-อัดซาดมากกว่ากลุ่มไอซิส)

กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สงครามในตะวันออกกลางขยายตัวขึ้นพร้อมๆ กับการพันตูของมหาอำนาจโดยเฉพาะยุโรปที่เข้มข้นขึ้น ทุกครั้งที่มหาอำนาจเข้ายึดครองพื้นที่ซึ่งกลุ่มมุสลิมติดอาวุธกำลังต่อสู้ การโต้กลับด้วยการก่อร้ายในใจกลางเมืองของมหาอำนาจก็ยิ่งรุนแรงขึ้น (Robert Pape, Dying to Win, 2006) ซึ่งยิ่งขับให้มหาอำนาจต้องเข้าร่วมสงครามอย่างสุดตัวมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ยุโรปอาจต้องถามตัวเองว่าจะยอมกลับไปสู่ยุค “มืด” ที่หมกมุ่นกับสงครามอีกหรือไม่ ทั้งที่ยุโรปเห็นว่าตนผ่านพ้นจุดนั้นมาแล้ว แนวคิดเบื้องต้นในการก่อตั้งสหภาพยุโรปก็เพื่อสร้างสันติภาพอันยั่งยืนในภูมิภาคหลังจากต่อสู้กันมายาวนานเป็นร้อยปีจนถึงสงครามโลกครั้งที่สองนอกจากนี้ การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้สหภาพยุโรปในปี 2012 ก็เพื่อสะท้อนเจตจำนงค์ให้ยุโรปยืนยันบทบาทของตนในการประกันสันติภาพในภูมิภาค คำถามคือ หลังเหตุการณ์โจมตีปารีส ยุโรปจะคงบทบาทนี้ของตนเช่นไร ท่ามกลางแรงกดดันให้รัฐบาลต่างๆ ในยุโรปต้องรับมือกับการก่อการร้ายจากกลุ่มอย่างไอซิส

ประการที่สอง การโจมตีปารีสจะตอกย้ำความรู้สึกหวาดกลัวผู้อพยพชาวมุสลิมและยิ่งบั่นทอนแนวคิดพหุวัฒนธรรมในยุโรป ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในยุโรปจะได้แรงสนับสนุนจากชนชั้นกลางที่กำลังหวั่นกลัวมากขึ้น อีกทั้งมาตรการด้านความมั่นคงจะเข้มข้นขึ้นจนอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามกลุ่มประท้วงที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยมในยุโรปเข้มแข็งขึ้นในช่วงหกเจ็ดปีให้หลังมานี้ โดยมีพรรคการเมืองที่รณรงค์นโยบายต่อต้านผู้อพยพและ “การเปลี่ยนยุโรปให้เป็นอิสลาม” (Islamisation of Europe) รวมถึงยังมีปัญญาชนอนุรักษ์นิยม นักข่าว นักธุรกิจ และมวลชนสนับสนุน พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมในอังกฤษ (British National Party) เนเธอแลนด์ (Freedom Party) อิตาลี (Northern League in Italy) ฝรั่งเศส (National Front Party) เบลเยี่ยม (Flemish Interest) เดนมาร์ก (Danish People’s Party) ฟินแลนด์ (True Finns) สวีเดน (Sweden Democrats) นอร์เวย์ (Progress Party) เยอรมันนี (National Democratic Party of Germany) ออสเตรีย (Freedom Party) และฮังการี (Jobbik) ต่างชนะการเลือกและมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากบ้างน้อยบ้างต่างกัน (ในออสเตรียพรรค Freedom Party ครองที่นั่งในสภาคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าประเทศอื่น) เป็นไปได้ว่าเหตุโจมตีในฝรั่งเศสจะยิ่งโน้มน้าวให้ผู้คนลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคอนุรักษ์นิยมมากขึ้น หากเศรษฐกิจในหลายประเทศยังไม่ฟื้นตัว และรัฐบาลไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าได้ว่าสามารถคุ้มครองชีวิตประชาชนได้

การขึ้นมาของพรรคการเมืองและมวลชนอนุรักษ์นิยมในยุโรปเป็นภาพคู่ขนานกับความสุดโต่งและอนุรักษ์นิยมของกลุ่มอย่างไอซิสตั้งแต่การสิ้นสุดของพรรคนาซีและฟาสชิสต์ ยุโรปภาคภูมิใจกับความบรรยากาศเสรีภาพทางการเมืองและความหลากหลายทางวัฒนธรรม (ครั้งล่าสุดที่ข้าพเจ้าไปกรุงเบอร์ลินเมืองหลวงประเทศเยอรมันนีมา ผู้อพยพชาวจีนรุ่นที่สองจำนวนมากซึ่งพูดภาษาเยอรมันได้คล่องแคล่ว และเมืองเต็มไปด้วยลูกหลานผู้อพยพต่างเชื้อชาติศาสนา) ขณะที่ไอซิสกำลังเสนอรูปแบบการปกครองที่เต็มไปด้วยการควบคุมเสรีภาพในทุกมิติของชีวิต ยุโรปในภาวะที่เผชิญหน้ากับไอซิสอาจกำลังเปลี่ยนตัวตนกลับไปหาความเป็นอนุรักษ์นิยม สนับสนุนให้รัฐบาลออกกฎหมายความมั่นคงเพื่อควบคุมสิทธิเสรีภาพ (ฝรั่งเศสและสเปนออกกฎหมายความมั่นคงเพื่อตรวจตราสอดส่องประชาชนไปเมื่อกลางปี) และหลับหูหลับตากับการใช้กฎหมายดังกล่าวปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐบาล โจทย์ใหญ่คือยุโรปจะทำอย่างไรเพื่อสู้กับแนวโน้มอำนาจนิยมนี้?

แม้บทความนี้จะสนใจผลกระทบของการโจมตีปารีสเมื่อวันศุกร์ 13 ที่ผ่านมาต่อทิศทางความมั่นคงและตัวตนของผู้คนในทวีปยุโรปเป็นการเฉพาะ ทว่าประสบการณ์คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นในหลายที่ทั่วโลก รวมถึงสังคมไทย การปรากฏตัวของภัยคุกคามที่เรียกว่าการก่อการร้าย (หรือภัยคุกคามแบบอื่น เช่นแนวโน้มว่าจะเกิดสงครามกลางเมือง เป็นต้น) สร้างความกลัว  และความกลัวจะได้ทำให้เราเพรียกหาการคุ้มครองจากรัฐบาลและชนชั้นนำ โดยยอมสละสิทธิเสรีภาพทิ้งไปเสีย ขณะที่ความหวาดระแวงต่อคนที่คิด พูด เขียน หรือแต่งตัวไม่เหมือน “พวกเรา” ทำลายความอดทนต่อความแตกต่าง ขณะที่จูงใจให้เราเรายอมรับอำนาจของผู้นำที่ขจัดหรือกีดกันคนที่ไม่เหมือนเราออกไปจากดินแดนของเรา

โลกในวันข้างหน้าจะสดใสเต็มไปด้วยความหวังหรือมืดมนเพราะคนหวาดกลัวชิงชังกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเดินต่อไปทิศไหนบนทางแพร่งแห่งความรุนแรง
 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนออนไลน์ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท