การถูกละเมิดสิทธิจากระบบของมหาวิทยาลัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในชีวิตประจำวัน อาจเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรา เป็นเรื่องเล็กๆที่เราไม่ตระหนักรู้ว่าเราถูกละเมิด หรือว่าเราอาจจะรู้แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญ ปล่อยเรื่องนั้นให้ผ่านไป โดยที่ปัญหายังคงอยู่

สิทธิต่างๆในรั้วมหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่ที่เราลงทะเบียนเรียน หลายครั้งที่เรามักได้รับฟังข่าวการถูกลิดรอนสิทธิ  ซึ่งการเข้ามาเป็นนิสิต/นักศึกษา ปีหนึ่งที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเด็กมัธยมศึกษา เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย จากเด็กมัธยมที่ถูกระบบการสอนไม่ให้ตั้งคำถามหรือ อาจจะตั้งคำถามแต่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นออกมาได้ เนื่องจากโครงสร้างของสังคมไทยที่มักให้ความเคารพคุณครูเป็นสำคัญ ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์หรือโต้แย้งกับการเรียนการสอนของคุณครู เมื่อก้าวสู่ชีวิตมหาวิทยาลัยที่ถือได้ว่าเป็นสถานที่เปิดกว้างทางความคิด เปิดโอกาสให้นิสิต/นักศึกษา ได้มีโอกาสเลือกในทางเดินของตนเอง

แต่กระนั้น นิสิต/นักศึกษาก็ยังคงถูกโครงสร้างทางสังคมในมหาวิทยาลัย ครอบงำให้ต้องทำตาม ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมรับน้องของนิสิต/นักศึกษาปีหนึ่ง ส่วนใหญ่กิจกรรมที่จะต้องเข้าร่วมได้แก่ กิจกรรมมหาวิทยาลัย กิจกรรมค่ายคณะ กิจกรรมเข้าห้องเชียร์ กิจกรรมเข้าค่ายเอก จากบางกิจกรรมดังกล่าว นิสิต/นักศึกษาปีหนึ่งอาจจะยังไม่รู้ว่า ตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมก็ได้ หากเราเข้าไปศึกษากฎระเบียบของมหาวิทยาลัยอย่างละเอียดก็ไม่ได้มีการกำหนดที่ชัดเจนว่าต้องเข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง

จากกิจกรรมรับน้องซึ่งมีในหลายมหาวิทยาลัย แม้ทางมหาวิทยาลัยจะไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังกรณีของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่คณะบดีคณะสังคมได้กล่าวว่า “กิจกรรมรับน้องทุกรูปแบบของคณะสังคมศาสตร์ จะเป็นไปตามความสมัครใจ โดยนิสิตใหม่ทุกคน จะมีเสรีภาพในการพิจารณาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามความสมัครใจโดยไม่มีการบีบบังคับ และอยู่บนพื้นฐานของมิตรภาพ ตลอดจนความเต็มใจของนิสิตแต่ละคนเป็นสำคัญ”

แต่ขณะเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรเองก็ได้มีการกำหนดระบบทรานสคริปท์ เสมือนเป็นการบังคับให้นิสิต/นักศึกษา ต้องเข้าร่วมกิจกรรมตามชั่วโมงที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ถ้านิสิต/นักศึกษาไม่เข้าร่วมตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ก็จะไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้

ภาพ: ตัวอย่าง ตารางการเข้าร่วมกิจกรรม และชั่วโมงที่มหาวิทยาลัยกำหนด
สำหรับยื่นคำร้องขอใบรับรองการเข้าร่วมกิจกรรม (Activity Transcript) เมื่อสำเร็จการศึกษา

กระนั้นปัญหาการถูกละเมิดสิทธิไม่ใช่เฉพาะกิจกรรมรับน้องเท่านั้น ทว่าระบบของมหาวิทยาลัยบางอย่างก็เอื้อให้นิสิต/นักศึกษาถูกละเมิดสิทธิได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1.หนังสือแพงแต่ไม่ได้ใช้


ภาพ: หนังสือแบบเรียนภาษาไทยในราคา 500 บาทของมหาวิทยาลัยนเรศวร

กรณีตัวอย่าง การให้นิสิต/นักศึกษาซื้อหนังสือแบบเรียนภาษาไทยในราคา 500 บาท ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งแน่นอนว่าการศึกษานั้นคือการลงทุนอย่างหนึ่ง แต่มีการตั้งคำถามว่า หนังสือที่ต้องใช้เรียนจำเป็นแล้วหรือ ถึงต้องบังคับให้นิสิต/นักศึกษาซื้อหนังสือ ซึ่งนิสิต/นักศึกษาที่ลงเรียนวิชาภาษาไทย หากไม่ซื้อหนังสือก็ไม่สามารถลงทะเบียนเรียนได้

การสร้างเงื่อนไขให้นิสิตต้องซื้อหนังสือก่อนแล้วถึงจะลงทะเบียนได้นั้น เป็นการกระทำนี้ดูเกินไปหรือไม่ เราควรปล่อยให้นิสิตตัดสินใจเลือกเองหรือไม่ เพราะหนังสือก็มีลักษณะเดิม เนื้อหาในเล่มนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร สามารถที่จะยืมรุ่นพี่ที่เรียนมาก่อนได้ จากการที่สอบถามรุ่นน้องชั้นปีที่1 ได้กล่าวว่า

“อาจารย์ในบางกลุ่มเรียนไม่ได้ใช้หนังสือประกอบการสอน ส่วนใหญ่ก็ใช้พาวเวอร์พอยท์ในการสอน ซึ่งเงินจำนวน 500 บาทอาจดูไม่มากกับนิสิตบ้างคนแต่กับนิสิตอีกหลายๆคนที่ต้องกู้เงินมาเรียน ทางบ้านมีฐานะยากจน ต้องซื้อหนังสือในราคาที่แพงแต่ไม่คุ้มค่ากับที่เสียเงินไป”

ซึ่งมหาวิทยาลัยควรจะออกแบบสื่อการเรียนการสอนที่ไม่เป็นภาระกับนิสิต/นักศึกษามากไป ควรจะมีการส่งเสริมให้ยืมของรุ่นพี่ได้ ไม่ใช่เพียงแต่อยากจะขูดรีดเงินจากนิสิต/นักศึกษาเพียงอย่างเดียว

2. รถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัย
 


ภาพ: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัยนเรศวร

กรณีตัวอย่าง รถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยนเรศวร มีการตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องจ่ายค่าบริการรถไฟฟ้าทุกเทอม ในเมื่อเราไม่ได้ใช้บริการทุกคน โดยทางมหาวิทยาลัยอาจตั้งเป้าหมายไว้ว่า นิสิต/นักศึกษาจะได้รับการบริการจากรถไฟฟ้ากันทุกคน แต่ในความเป็นจริงแล้ว นิสิต/นักศึกษาที่ใช้บริการรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นนิสิต/นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง ที่เพิ่งจะเข้ามาเริ่มต้นใช้ชีวิตภายในมหาวิทยาลัย ส่วนนิสิต/นักศึกษาชั้นปีอื่นๆที่ได้ย้ายออกไปจากหอพักในมหาวิทยาลัยแล้ว หรือนิสิต/นักศึกษาที่พักอยู่หอนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งมีส่วนในการจ่ายค่าบริการรถไฟฟ้าเท่ากันทุกคน กลับไม่ได้รับการบริการรถไฟฟ้า เพราะรถไฟฟ้าจะวิ่งแค่ภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทำให้นิสิต/นักศึกษาต้องนำยานพาหนะมาใช้เอง การที่นิสิต/นักศึกษาต้องจ่ายค่าบริการรถไฟฟ้าซึ่งรวมอยู่ในค่าเล่าเรียน ทำให้นิสิต/นักศึกษาต้องเสียเงินให้กับค่าบริการนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นนิสิต/นักศึกษาที่ไม่ได้ใช้บริการนี้ จึงดูเหมือนถูกละเมิด และเอาเปรียบ เพราะต้องรับภาระทั้งค่าใช้จ่ายในยานพาหนะของตนเอง และค่าบริการรถไฟฟ้า โดยนิสิต/นักศึกษาทุกคนจะต้องจ่ายค่าบริการรถไฟฟ้าเป็นเงินจำนวน 400 บาทต่อ 1 ปีการศึกษา เมื่อรวมจำนวนนิสิต/นักศึกษาทั้งหมดในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีประมาณ 20,000 คน ทางมหาวิทยาลัยจะได้เงินเป็นจำนวน 8,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก

ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงควรมีระบบการบริหารจัดการ ในการให้บริการนิสิต/นักศึกษาทุกคนอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ไม่ใช่เพียงนิสิต/นักศึกษาที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยควรแจกแจงเรื่องค่าใช้จ่ายที่เก็บจากนิสิต/นักศึกษาไปด้วยว่า เก็บไปแล้วนำไปใช้ในด้านใดบ้าง

สืบเนื่องจาก กรณีการประท้วงการดำเนินโครงการ Green University ของนิสิต/นักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวรในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การที่ทางมหาวิทยาลัยใช้มาตรการบังคับให้นิสิต/นักศึกษางดใช้รถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆมหาวิทยาลัย บุคคลภายนอกที่จะต้องเข้ามารับบริการโรงพยาบาล ได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่ระบบขนส่งของมหาวิทยาลัยไม่มีความพร้อม เช่น จำนวนรถไฟฟ้าที่มีเพียง16 คัน รถจักรยานมีเพียง 500 คัน ขณะที่จำนวนนิสิต/นักศึกษามีนับหมื่นคน ซึ่งจักรยานมีเพียงขนาดเดียว นิสิตที่มีรูปร่างอ้วนหรือน้ำหนักเกินก็ไม่สามารถใช้บริการรถจักรยานได้ เป็นต้น

โดยนิสิตได้ออกมาประท้วงในครั้งนี้ เป็นแบบอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็น นโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการออกนโยบายจากทุกฝ่าย ทั้งนิสิต/นักศึกษา ชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้า ซึ่งการประท้วงยังแสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้ถึงคุณค่าแห่งสิทธิของตนเอง ที่ทางมหาวิทยาลัยไม่สามารถเข้ามาจำกัด หรือละเมิดสิทธิของนิสิต/นักศึกษาได้ โดยเมื่อนิสิต/นักศึกษามีการรวมตัว และต่อต้านการดำเนินโครงการนี้อย่างมากมาย ขยายไปสู่การประท้วง จึงทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องยอมต่อความต้องการของนิสิต ทำการเลื่อนการใช้มาตรการนี้ไป จนทำให้นิสิตกลับมาใช้รถจักรยานยนต์ได้ตามเดิม

ถึงแม้ระบบของมหาวิทยาลัยได้มีการละเมิดสิทธิ และมีการพยายามในการเปลี่ยนแปลงระบบโดยการให้นิสิต/นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่า จะเข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่ก็ได้ ทว่าในทางปฏิบัติกลับมีระบบ ทรานสคริปท์ที่บังคับให้นิสิต/นักศึกษาต้องเข้าร่วมกิจกรรม แล้วเราสามารถทำกิจกรรมอย่างอื่น ทดแทนกิจกรรมรับน้องได้หรือไม่ เปิดโอกาสให้นิสิตได้เลือกทำกิจกรรมเองเช่น กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมออกค่าย กิจกรรมของชั่วโมง กยศ. เป็นต้น

สำหรับระบบการซื้อหนังสือหากไม่ซื้อก็ไม่สามารถลงทะเบียนเรียนได้ ระบบการจ่ายค่าเทอมแบบเหมาจ่ายที่มีค่ารถไฟฟ้ารวมอยู่ด้วย ทั้งที่นิสิต/นักศึกษาที่ย้ายออกไปอยู่หอนอกมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ใช้ จากระบบดังกล่าวในข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีการกำหนดหลักเกณฑ์และการควบคุมจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้มีอำนาจในกิจกรรมนั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิและผลประโยชน์สูงสุดของนิสิต/นักศึกษา ในลักษณะการบังคับให้ทำมากกว่าการกำกับดูแล อาจเป็นปัญหาที่ทำให้นิสิต/นักศึกษาขาดการใช้วิจารณญาณและเรียนรู้การเลือกใช้โอกาสของตนตามสิทธิที่เหมาะสมอันเป็นพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตยในระบบการศึกษาอย่างแท้จริง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท