Skip to main content
sharethis

ประเทศแถบละตินอเมริกาที่มีประวัติเน้นการการให้บรรษัทข้ามชาติเข้าไปทำเหมืองแร่หรือส่งออกแร่มานานนั้น บัดนี้ราคาแร่ที่ตกต่ำลงรวมถึงต้นทุนที่มากขึ้นบวกกับการต่อต้านอย่างหนักจากชุมชนท้องถิ่นจำนวนมากทำให้แถบละตินอเมริกามีแนวโน้มลดการทำเหมืองแร่ลง

18 พ.ย. 2558 เว็บไซต์ศูนย์ศึกษานโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคละตินอเมริกา (CIP)  รายงานถึงสถานการณ์อุตสาหกรรรมเหมืองแร่ในละตินอเมริกาซึ่งกำลังอยู่ในขาลงหลังจากที่ราคาแร่ของโลกตกต่ำลงแต่ค่าต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มสูงขึ้นจนกำไรลดลง ไม่เพียงเท่านั้นการทำเหมืองแร่ยังถูกต่อต้านจากสังคมมากขึ้นในแง่การส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคมอีกด้วย

รายงานจากกลุ่มสังเกตการณ์ความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่ในละตินอเมริกา (OCMAL) ระบุว่าเรื่องของโครงการเหมืองแร่เป็นอัญหาเชิงอำนาจดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องการเมือง ถึงแม้ว่าราคาแร่ทั่วโลกกำลังต่ำลงแต่ในภูมิภาคละตินอเมริกาก็กลับมีการพยายามสำรวจเพื่ออนุญาตให้บรษัทจากต่างชาติเข้ามาทำเหมืองแร่มากขึ้น นอกจากนี้แล้ว OCMAL ยังระบุว่าประเด็นเหมืองแร่เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนจากการที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเอาเปรียบผู้คนด้วยการไม่ทำตามสัญญาที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้คนในบริเวณนั้น

นอกจากนี้ยังพบว่าบรรษัทเหมืองแร่ผิดสัญญาว่าจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนหนทางให้กับผู้คนแต่กลับสร้างแค่ถนนขนส่งอุปกรณ์ทำเหมืองแร่ของบรรษัทเท่านั้น พวกเขายังไม่สนใจเรื่องสุขภาวะหรือการศึกษาของประชาชนในพื้นที่เลยแม้ว่าการทำเหมืองของพวกเขาจะส่งผลต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวก็ตาม

แต่เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2558 คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียนรายงานว่าภาคส่วนการลงทุนต่างประเทศในละตินอเมริกาลดลงร้อยละ 21 เนื่องจากมีการลงทุนภาคส่วนเหมืองแร่และก๊าซธรรมชาติลดลง ผลมาจากราคาแร่ที่ต่ำลง เศรษฐกิจในจีนชะลอตัว และความถดถอยด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคละตินอเมริกาเอง

และเมื่อพิจารณาจากในปีที่แล้ว (2557) ที่การลงทุนเหมืองแร่ก็ปรับตัวลดลงร้อยละ 16 แล้วก็มีแนวโน้มสูงว่าโครงการเหมืองแร่จะยิ่งลดลงมากกว่าเดิม รวมถึงเมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศในละตินอเมริกาก็พบว่าภาคส่วนการลงทุนต่างชาติที่ปรับตัวลดลงส่วนใหญ่คือภาคส่วนเหมืองแร่ ในกรณีของบราซิลมีอุปสงค์ความต้องการแร่ภายในประเทศลดลงด้วย

ซึ่งนอกจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจแล้ว Cipamerica ยังชี้ว่าอีกปัจจัยหนึ่งมาจากการต่อต้านอย่างแข็งขันโดยกลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนเกษตรกร 'แคมเปซิโน' โดย Cipamerica มองว่าการลงทุนด้านเหมืองแร่ที่ลดลงในกลุ่มประเทศเหล่านี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์ของ CIP ยังนำเสนอหลักฐานข้อมูลหลายชิ้นที่สื่อให้เห็นว่าราคาแร่มีโอกาสจะตกต่ำลงเรื่อยๆ เช่นการประเมินในรายงานของสถาบันการเงินโกลด์แมน แซคส์ เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาซึ่งระบุว่าราคาแร่จะยังคงตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Cipamerica ยังนำเสนอหลักฐานข้อมูลเรื่องที่ราคาการผลิตแร่มีต้นทุนสูงขึ้นราวร้อยละ 54 เมื่อพิจารณาจากข้อมูลปี 2552-2555

ถึงแม้ว่าประเทศแถบละตินอเมริกาจะเน้นเรื่องการลงทุนด้านเหมืองแร่มากถึงเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ของโลกโดยเฉพาะในโบลิเวียและชิลี แต่บรรษัทในประเทศเหล่านี้เองก็กำลังทำกำไรได้น้อยลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้การต่อต้านจากกลุ่มประชากรในประเทศเหล่านั้นมีจำนวนหลายกรณีมากที่สามารถต่อต้านเหมืองแร่หรือชะลอระยะเวลาการทำเหมืองแร่ได้สำเร็จ ในบางกรณีเช่นอุรุกวัยหรือชิลีก็มีการผ่านกฎหมายจำกัดการทำเหมืองแร่ทำให้เหมืองจากต่างชาติปิดตัวไป หรือในบางกรณีศาลก็ตัดสินโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชุมชนเช่นในกรณีเหมืองทองทางชายแดนระหว่างอาร์เจนตินาและชิลีที่ศาลตัดสินว่าเหมืองแร่ทำให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งน้ำในชุมชนจริงตามที่ชุมชนฟ้องร้อง

CIP ยังยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลโคลอมเบียปิดโครงการเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปหลังพบว่าทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำ กรณีอุรุกวัยยกเลิกเหมืองแร่ของบริษัทจากอินเดีย ในเปรูมีการดำเนินปฏิบัติการโดยตรงจนทำให้สามารถยับยั้งการปฏิบัติงานของเหมืองแร่ยานาโคชารวมถึงโครงการอื่นๆ ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในภูมิภาคละตินอเมริกามีความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่มานานและทำให้เกิดขบวนการแคมเปซิโนเกิดขึ้นหลายพันขบวนการเข้าไปอยู่ในวงความขัดแย้งอย่างจริงจังจนมีการสูญเสียทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตเกิดขึ้น

CIP ชี้ว่าสาเหตุที่ชุมชนกับบรรษัทเหมือนแร่มีความขัดแย้งกันหลายแห่งมากในละตินอเมริกาเนื่องจาก 3 สาเหตุหลักๆ

สาเหตุที่ 1 คือการที่ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากและมีความสามารถในการสื่อสารให้มีผู้คนรับฟัง นอกจากนี้พวกเขายังสามารถรวมตัวกันได้ทั้งจากกลุ่มแคมเปซิโนและกลุ่มชนพื้นเมืองที่สามารถสร้างเครือข่ายและความเป็นนำหนึ่งใจเดียวกัน

สาเหตุที่ 2 คือการที่รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคให้การรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 169 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ระบุให้รัฐบาลต้องปรึกษาหารือกับชนพื้นเมืองในชุมชนที่ได้รับผลกระทบเสมอเมื่อมีโครงการ ซึ่งกลุ่มคนในชุมชนแทบทั้งหมดต่างก็ใช้กลไกนี้ในการเสริมกำลังให้ตัวเอง

สาเหตุที่ 3 คือเรื่องการค้นพบว่ามีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่ทั้งเรื่องการทำให้เกิดมลภาวะและเรื่องการใช้พลังงานอย่างมากในการขุดเหมือง

เว็บไซต์ CIP ระบุถึงความขัดแย้งครั้งล่าสุดที่ชุมชนแถบอาเรกีปาประเทศเปรูที่มีความขัดแย้งกับเหมืองแร่ของบริษัททิอามาริอาอยางรุนแรงมากให้มีผู้ประท้วงถูกตำรวจยิงเสียชีวิตและมีจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ เหมืองดังกล่าวมีชื่อว่าลาสแบมบาสเป็นโครงการเหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุดในเปรูซึ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มผลลิตการส่งออกแร่ทองแดงให้กับเปรุได้และมีการให้สัญญาว่าจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในละแวกนั้น

อย่างไรก็ตามไม่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนจริงตามที่กล่าวอ้าง มีการเลย์ออฟคนงานเหมืองแร่หลายหมื่นชีวิตนอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าการทำเหมืองขนาดใหญ่เช่นนี้จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและกระทบต่อชีวิตของเกษตรกรในละแวกนั้นเนื่องจากมีการใช้น้ำจากแม่น้ำอย่างมหาศาลในการทำเหมือง ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกถูกรังแกจึงจัดการประท้วงขึ้น

แต่รัฐบาลเปรูก็โต้ตอบด้วยการประเทศสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นเดียวกับทุกครั้งที่เกิดเหตุความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่ มีการนำกำลังทหารเข้าไปควบคุมพื้นที่ในชณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่ามีประชาชนถูกสังหารในเปรู 125 คนนั้บตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องกรณีเหมืองแร่โโยร้อยละ 95 ถูกสังหารโดยอาวุธปืน อีกทั้งยังมีการพยายามออกกฎหมายลิดรอนสิทธิในการชุมนุมของประชาชนผู้เดือดร้อนด้วย

CIP ระบุว่าวิกฤตเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับชนพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ถ้าหากว่าฝ่ายรัฐในละตินอเมริกาสามารถวางรากฐานแบบจำลองเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ต่างจากเดิมโดยเน้นการแลกเปลี่ยนตลาดภายในภูมิภาคและในประเทศแทนการเน้นการส่งออก และเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพสินค้าที่อาศัยความชำนาญโดยมีการรุกล้ำสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยลงได้

เรียบเรียงจาก Mining in Decline: An Opportunity for the Peoples , Raúl Zibechi, Americas Program, 5-11-2015 http://www.cipamericas.org/archives/17326

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net