กอ.รมน. เปิด ‘ศูนย์สันติวิธี’ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ ดึงทุกกลุ่มมีส่วนร่วม

กอ.รมน. ภาค 4 เปิดตัว “ศูนย์สันติวิธี” ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ตามคำสั่ง 230 เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มมีส่วนร่วมแก้ปัญหา มุ่งเป้าหมาย 3 ระยะ เริ่มจากสร้างความเข้าใจ จนการบรรลุข้อตกลงและมีฉันทามติร่วม ตั้งคณะประสานงาน 28 คนมีตัวแทนภาคประชาสังคมและนักวิชาการร่วมด้วยพร้อมวอนสื่อสร้างสมดุลของพื้นที่สื่อสาร มองกระบวนการพูดคุยในกรอบ “WIN – WIN”

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาค 4  และผอ.รมน.ภาค 4สน.เชิญสื่อมวลชนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 93 คนมาพบปะพูดคุยและรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งได้เปิดตัวศูนย์สันติวิธี ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับพื้นที่ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 230/2557

จากนั้น พ.อ.สายน้ำ พินิจอักษร รองหัวหน้าแผนกพูดคุยเพื่อสันติสุข ศูนย์สันติวิธี ได้แนะนำการทำงานของศูนย์สันติวิธีและยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นการดำเนินงานตามแนวนโยบายในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 230/2557 เรื่อง การจัดตังกลไกการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยศูนย์สันติวิธีเป็นกลไกคณะประสานงานระดับพื้นที่ โดยมีผอ.รมน.ภาค 4 สน.เป็นหัวหน้าคณะ

เป้าหมายหลักของการตั้งศูนย์สันติวิธีคือ เพื่อดำเนินการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ อันเป็นการมุ่งแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธีด้วยการเปิดพื้นที่และเวทีการพูดคุยกับทุกกลุ่มในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการและแนวทางสันติวิธี

ทั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายในการพูดคุยเป็น 3 ระยะ คือ การสร้างความเข้าใจ การบรรลุข้อตกลงแนวทางปฏิบัติ และการบรรลุฉันทามติ (Road Map) ทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยในระยะที่ 1 ในภารกิจการสร้างความไว้วางใจนั้น ทางศูนย์สันติวิธีจะให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมโดยการสนับสนุนในการเปิดพื้นที่การพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ เพื่อรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความต้องการของคนในพื้นที่

ในส่วนแนวทางการดำเนินงานจะเน้นการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและกลุ่มรากหญ้าแล้ว ยังเน้นหนักการสร้างองค์ความรู้ด้านสันติวิธีแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เครือข่ายภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไป รวมทั้งการสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่และเครือข่ายเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยมากยิ่งขึ้น

ในส่วนบทบาทสื่อมวลชนนั้น ฝ่ายความมั่นคงต้องการให้มีการสร้างสมดุลของพื้นที่การสื่อสาร การรายงานข่าวภายใต้การแสวงหาความจริงและตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจ มองกระบวนการพูดคุยสันติสุขในกรอบของ “WIN – WIN” คือทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ให้ได้

ในส่วนของกลไกคณะทำงานนั้น พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้มีคำสั่งจัดตั้งคณะประสานงานระดับพื้นที่ในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีหน้าที่ในการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุขและจัดตั้งช่องทางการสื่อสารกับผู้แทนกลุ่มเห็นต่างและปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

คณะประสานงานระดับพื้นที่ มีทั้งหมด 28 คน ประกอบด้วย ตัวแทนส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และตัวแทนภาคประชาสังคมและนักวิชาการในพื้นที่ เป็นต้น (อ่านรายละเอียดในคำสั่ง)

นอกจากนี้ ทางสำนักนโยบายและแผนกอ.รมน. ภาค 4 สน.ได้นำเสนอแนวนโยบายในปีงบประมาณ 2559 ด้วยว่าได้กำหนดงานเร่งด่วน 4 ประการ คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยและลดพื้นที่เขตอิทธิพลโดยเน้นความเข้มแข็งของหมู่บ้าน 2.การสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนโดยโดยพัฒนาความยุติธรรมให้เสมอภาพและตรวจสอบได้

3.การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่และในต่างประเทศ พร้อมทั้งเร่งรัดการขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขให้มีความชัดเจน และ4.การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยได้มอบหมายภารกิจให้กับ 7 กลุ่มงานที่ครอบคลุมในทุกด้าน รวมทั้งงานการแสวงหาทางออกของความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท