โครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของ กทม.และโครงการบ้านมั่นคง ใครสนับสนุน ใครคัดค้าน ? และเสียงจากคนริมคลอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ความเป็นมา

หลังมหันตภัยน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2554  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5  มิถุนายน 2555  เห็นชอบการจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ  โดยจะมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตตลอดแนวคลองความยาวประมาณ 45 กิโลเมตร  เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างคล่องตัว  และจะต้องมีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่สร้างรุกล้ำลงไปในคลอง  แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ  เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจเสียก่อน  ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม 2558  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  จึงมีคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับโครงการนี้ไปดำเนินการต่อ

โครงการดังกล่าวในช่วงแรก (พ.ศ.2558-2560) ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.และประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว  คลองบางบัว  คลองถนน  คลองสอง  และคลองบางซื่อ  จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9-รามคำแหงไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้  เขตสายไหม  เพื่อระบายน้ำลงทะเลต่อไป  โดยจะสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.(สมอยึดด้านหลัง)  ความยาว 40,000 เมตร  และ  5,300  เมตร  รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร  และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง  ระยะเวลาก่อสร้าง  1,260 วัน  งบประมาณจำนวน  2,426 ล้านบาทเศษ  หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนคือ  กองระบบคลอง  สำนักการระบายน้ำ  กรุงเทพมหานคร  ทั้งนี้สำนักการระบายน้ำมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างเขื่อนให้มีความกว้างของคลองขนาด 38 เมตรตลอดทั้งโครงการ   และจะมีการขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตรด้วย

อย่างไรก็ดี  เนื่องจากโครงการนี้มีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองต่างๆ  ซึ่งส่วนใหญ่จะบุกรุกปลูกบ้านเรือนบนที่ดินของราชพัสดุ  (กรมธนารักษ์ดูแล) และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  และบางส่วนปลูกรุกล้ำลงไปในคลองมายาวนานหลายสิบปี   แต่รัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา  รวมทั้ง กทม.  ไม่มีฝ่ายใดกล้าเข้ามาจัดระเบียบชุมชนริมคลองต่างๆ เหล่านี้  เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นปัญหาด้านมวลชนหรือกระทบต่อฐานคะแนนเสียงในกรุงเทพฯ  แต่เมื่ออยู่ในยุคของ คสช.ที่ไม่ต้องกังวลต่อประเด็นปัญหาเหล่านี้ รัฐบาล คสช.จึงสั่งให้เดินหน้าโครงการนี้เต็มที่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา  พลเอกประยุทธ์ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะขึ้นมา  โดยมีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯ เป็นประธาน  มี รมว.มหาดไทย, รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, ผู้ว่าฯ กทม.เป็นรองประธาน  ฯลฯ  มีผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพ  รวมทั้งปลัดกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ  มีอำนาจหน้าที่กำหนดกรอบแนวทาง  มาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง  เพื่อให้การพัฒนาชุมชนรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำดำเนินไปอย่างเป็นระบบ  มีประสิทธิภาพ

ขณะที่สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้เปิดประมูลงานก่อสร้างเขื่อนในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และต่อมาในเดือนตุลาคมจึงได้บริษัทที่รับเหมางานในวงเงินประมาณ 1,600 ล้านบาทเศษ  ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจ้างกับทาง กทม.  เนื่องจากต้องรอให้ทางกระทรวงมหาดไทยอนุมัติวงเงินในการก่อสร้าง รวมทั้งยังต้องรอให้ชาวบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ในคลองหรือแนวเขื่อนรื้อย้ายออกมาก่อน เพื่อให้บริษัทรับเหมาเข้าไปก่อสร้างเขื่อนได้  อย่างไรก็ตาม  คาดว่าการลงนามในสัญญาจ้างจะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคมนี้  หลังจากนั้นจึงจะเริ่มงานก่อสร้างได้

โครงการบ้านมั่นคงกับการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม

ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคูคลองถูกรุกล้ำทั้งหมดจำนวน  1,161 คลอง จำนวนครัวเรือนที่รุกล้ำ  23,500 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 94,000 คน  ซึ่งจำนวนบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลองนี้ สำนักการระบายน้ำระบุว่าทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดน้อยลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ดังนั้นจึงต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลอง


สภาพบ้านริมคลองลาดพร้าว

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและชนบทในรูปแบบ “บ้านมั่นคง” มาตั้งแต่ปี 2546 รวมทั้งได้แก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองลาดพร้าว บางบัว ฯลฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ โดยพอช.ได้จัดทำแผน 3 ปี (พ.ศ.2558-2560) มีเป้าหมาย 66 ชุมชนริมคลอง จำนวนบ้าน 11,004 หลังคาเรือน เพื่อรองรับชาวบ้านจำนวน  58,838 คน

โดยมีรูปแบบการจัดที่อยู่อาศัยคือ 1.กรณีชาวบ้านรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้  จะต้องมีการจัดผังชุมชนใหม่  เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถสร้างบ้านใหม่ได้  2.กรณีที่ดินเดิมไม่พอเพียง  อาจจะต้องจัดหาที่ดินใหม่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม เพื่อสะดวกต่อการทำงาน สถานศึกษา โดยอาจขอซื้อที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ กระทรวงการคลัง และ 3.จัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะ เช่น บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ

สยาม นนท์คำจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก พอช.กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองนั้น เพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่ในที่ชุมชนเดิม ในกรณีนี้ ชาวบ้านจะต้องแบ่งปันที่ดินกัน คนที่มีบ้านใหญ่หรือมีเนื้อที่มาก จะต้องเสียสละเพื่อให้คนที่ปลูกบ้านอยู่ในคลองได้มีที่อยู่อาศัย ส่วนรูปแบบก็จะต้องมีรื้อบ้านทั้งชุมชนเพื่อจัดทำผังชุมชนใหม่แล้วแบ่งแปลงที่ดินให้เท่าๆ กัน เช่น จัดทำเป็นบ้านแฝด 2 ชั้น สร้างสาธารณูปโภคมารองรับ เช่น มีบ่อบำบัดน้ำเสีย ทางเดินเลียบคลอง มีสวนหย่อม  มีศูนย์เด็กเล็ก หรือแล้วแต่ความต้องการของชาวบ้าน  ส่วนในกรณีที่ดินเดิมไม่พอก็อาจจะต้องจัดหาที่ดินของรัฐที่ใกล้เคียงชุมชนเดิม หรือจัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ เพื่อรองรับชาวบ้านต่อไป โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะสนับสนุนชาวบ้านในเรื่องของสินเชื่อเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่และเงินอุดหนุนเพื่อสร้างสาธารณูปโภค

“โครงการบ้านมั่นคงจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหาเป็นตัวตั้ง และเป็นแกนหลักในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา หน่วยงานภายนอก เช่น พอช.มีบทบาทในการเป็นฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งให้สินเชื่อเพื่อสร้างบ้านระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อมาบริหารงานกันเอง” สยามกล่าวถึงหลักการของบ้านมั่นคง

ใครคัดค้าน ?

โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม ในช่วงแรกซึ่งจะเริ่มดำเนินงานในช่วงต้นปี 2560 ในคลองสายหลักคือ  คลองลาดพร้าว เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อระหว่างคลองแสนแสบ-คลองลาดพร้าว บริเวณย่านถนนพระราม 9  ลอดใต้ทางด่วนเอกมัย-รามอินทรามายังคลองลาดพร้าว-บางซื่อ-วังหิน-บางบัว-คลองถนน-คลองสอง  เขตสายไหม  ขณะที่เขื่อนอีกแนวหนึ่งจะเชื่อมจากคลองบางซื่อ (เขตห้วยขวาง) มายังคลองลาดพร้าว บริเวณวัดลาดพร้าว  และแนวเขื่อนในคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่และดอนเมือง ซึ่งแนวเขื่อนเหล่านี้จะมีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ประมาณ 66 ชุมชน  จำนวนบ้าน 11,004 หลังคาเรือน ชาวบ้านจำนวน 58,838 คน


สำนักงานเขตหลักสี่ห้ามก่อสร้างบ้าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า  ชาวบ้านในชุมชนริมคลองส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ปลูกสร้างอยู่อาศัยในที่ดินของกรมธนารักษ์มานาน โดยกรมธนารักษ์ไม่ได้เข้ามาจัดการหรือจัดเก็บค่าเช่าแต่อย่างใด บางครอบครัวอยู่อาศัยมาก่อนปี 2500 ซึ่งเมื่อก่อนน้ำในคลองยังใสสะอาด  ชาวบ้านใช้เรือพายไปมา  มีเรือค้าขายอยู่ในคลอง ชาวบ้านยังใช้น้ำในคลองอาบหรือซักเสื้อผ้าได้ บ้างก็มีอาชีพในการจับปลาในคลอง อย่างไรก็ดี  น้ำในคลองต่างๆ เริ่มเน่าเสียภายหลังปี 2520  หลังจากที่เมืองเจริญขึ้น  และระบบท่อน้ำทิ้งของ กทม.ก็ไม่ได้มีการบำบัดก่อนปล่อยลงคลอง

ขณะเดียวกัน  ในชุมชนริมคลองต่างๆ ก็มีผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า หรืออยู่อาศัยมาก่อน ทำการปลูกสร้างบ้านเช่า  ห้องเช่าให้แก่ผู้ที่มาอยู่ที่หลัง โดยเฉพาะในชุมชนที่อยู่ใกล้กับสถาบันการศึกษา ย่านศูนย์ราชการ และย่านการค้า หรือมีการซื้อขายที่ดินมือเปล่า (ที่ดินกรมธนารักษ์) ให้แก่ผู้ที่ต้องการ  เพื่อสร้างร้านอาหาร  บ้านเช่า  ฯลฯ  ซึ่งตามหลักการบ้านมั่นคงนั้น หากมีการรื้อบ้านออกจากคลอง ชาวบ้านที่อยู่บนตลิ่งก็จะต้องแบ่งปันที่อยู่อาศัยให้แก่เพื่อนบ้านรายอื่น โดยการจัดทำผังชุมชนใหม่ แบ่งเนื้อที่ให้เท่าๆ กัน และ 1 ครอบครัวจะมี 1 สิทธิ์  หรือมีบ้าน 1 หลังเท่ากัน  ยกเว้นครอบครัวใดมีสมาชิกมากเกินกว่า 8 คน บางชุมชนก็จะอนุญาตให้ครอบครัวลักษณะนี้มีสิทธิ์เพิ่มอีก 1 สิทธิ์

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เจ้าของบ้านเช่า เจ้าของร้านอาหาร  หรือเจ้าของบ้านหลังใหญ่ๆ ที่มีพื้นที่มาก จึงไม่อยากจะเข้าร่วมบ้านมั่นคง  เนื่องจากจะกระทบต่อการครอบครองบ้านของตน (บนที่ดินกรมธนารักษ์)  ขณะที่ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนจริงๆ ก็ไม่อยากจะเข้าร่วมโครงการ  เพราะกลัวว่าจะเป็นภาระเรื่องการผ่อนส่งบ้าน  เนื่องจากกระบวนการสร้างบ้านมั่นคงนั้น  รัฐบาลไม่ได้สร้างบ้านให้ฟรีๆ  แต่ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  หรือ พอช.สนับสนุนสินเชื่อในระยะยาว  ระยะเวลาผ่อนส่งประมาณ15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี และ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสาธารณูปโภค เช่น  ถนน ทางเดิน ศูนย์พัฒนาเด็ก สวนหย่อม บ่อบำบัดน้ำเสีย  ระบบประปา  ไฟฟ้า  ฯลฯ  นอกจากนี้ก็จะสนับสนุนงบช่วยสร้างบ้านจำนวนหนึ่งให้แก่ชาวบ้านด้วย

ตัวอย่างการสร้างบ้านใหม่นั้น ในชุมชนที่ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2549  เช่น ชุมชนบางบัว ชาวบ้านจะได้ที่อยู่อาศัยต่อ 1 ครอบครัวประมาณ 4 X 8 ตารางเมตร ราคาประมาณไม่เกิน 200,000 บาท และผ่อนชำระเงินกู้ประมาณเดือนละ 1,500-2,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่มีการประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของชาวบ้านแล้ว ขณะที่กรมธนารักษ์ก็จะให้ชาวบ้านเช่าที่ดินในราคาถูกไม่เกิน 2 บาทต่อตารางเมตร/เดือน ระยะเวลา 30 ปี หลังจากนั้นจึงทำสัญญาต่อได้อีก

ดังนั้นกลุ่มบุคคลที่กลัวจะสูญเสียผลประโยชน์จึงรวมกลุ่มกับชาวบ้านที่ไม่อยากจะรื้อย้ายบ้านเรือนไปพบกับนักการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้กว้างขวางในย่านหลักสี่ และร่วมกับนักเคลื่อนไหวทางสังคมหยิบยกประเด็นเรื่องบ้านมั่นคงมาโจมตีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. เพื่อจะเยื้อการรื้อย้ายบ้านเรือนออกไป  โดยตั้งเป้าหมายว่า  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นรัฐบาลได้ไม่เกินปี 2560 

ดังนั้นเมื่อ คสช.หมดอำนาจไปแล้ว โครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและการรื้อย้ายชาวบ้านก็จะระงับไป  เช่น มีการไปยื่นหนังสือต่อ ปปช.เพื่อให้เอาผิดต่อผู้อำนวยการเขตหลักสี่และ ผอ.พอช.ในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ ในกรณีบ้านมั่นคงเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งมีแผนที่จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองด้วย  หากโครงการสร้างเขื่อนจะเริ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้แกนนำกลุ่มคัดค้านก็ได้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว  รวมทั้งการให้ข่าวตามสื่อต่างๆ โจมตีโครงบ้านมั่นคง  ทั้งที่โครงการบ้านมั่นคงเป็นเพียงโครงการที่รองรับประชาชนที่ดีรับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนเท่านั้น

จึงเป็นเรื่องน่าวิเคราะห์ว่า  เหตุใดกลุ่มแกนนำเหล่านี้จึงไม่กล้าคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมโดยตรง หรืออาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า  หากจะเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวก็จะเป็นการเดินหน้าชนกับ คสช.โดยตรง  จึงเลือกโจมตีเป้าหมายที่อ่อนแอกว่า  นอกจากนี้แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวบางคนที่กล้าหาญขนาดจะยื่นฟ้องผู้นำรัฐบาลไปเมื่อเร็วนี้ๆ และโดน คสช.เชิญไปพูดคุยปรับทัศนะคติมาแล้ว  จึงต้องผ่อนท่าทีของตัวเองลง

ใครสนับสนุน ?

ชาวบ้านในชุมชนริมคลองต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ  เริ่มมีการรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2543 หลังจากที่ชุมชนป้อมมหากาฬริมคลองโอ่งอ่าง  ใกล้สะพานผ่านฟ้าฯ ได้พยายามต่อสู้กับการไล่รื้อของ กทม.เพื่อสร้างเกาะรัตนโกสินทร์จนเป็นที่มาของ “เครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง” ซึ่งมีสมาชิกในปัจจุบันมากกว่า 40 ชุมชนริมคลองในเขตกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันเครือข่ายชาวบ้านกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาชุมชนและบ้านเรือน  หากทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกับชาวบ้านในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การไล่รื้อเหมือนในอดีตที่ผ่านมา  โดยเฉพาะการเข้าร่วมกระบวนการสร้างบ้านมั่นคงจะทำให้ชาวบ้านได้เช่าที่ดินอย่างถูกกฎหมายและมีศักดิ์ศรี ในฐานะของผู้เช่าไม่ใช่ผู้บุกรุก  และพร้อมที่จะพัฒนาชุมชนและดูแลรักษาคลองให้สะอาด

ดังเช่นโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมของ กทม.ที่จะเริ่มดำเนินการนี้  รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาชุมชนจัดทำแผนงานรองรับหรือแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวบ้านตามที่ได้กล่าวไปแล้ว  โดยชาวบ้านมีส่วนร่วม  เช่น  การสำรวจชุมชน  การออกแบบผังชุมชน  การออกแบบบ้าน  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อระดมเงินเป็นทุนในการสร้างบ้าน ฯลฯ  มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบโครงการ
 
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ  หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่น สำนักการระบายน้ำยังไม่สามารถชี้ชัดระบุตรงๆ ได้ว่าแนวเขื่อนที่จะสร้างผ่านในแต่ละชุมชนนั้น  มีความกว้างกี่เมตร เนื่องจากแต่เดิมสำนักการระบายน้ำต้องการแนวเขื่อนที่ 38 เมตรตลอดลำคลอง แต่เสียงจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะลำคลองในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะกว้างไม่ถึง 38 เมตร  หากจะเอาขนาด 38 เมตร เกือบทุกชุมชนจะต้องโดนกวาดออกไปจากแนวคลองทั้งหมด ขณะที่ทีมงานของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่รับผิดชอบการจัดการสิ่งรุกล้ำลำคลองได้ลงมาสำรวจแนวคลองเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีความเห็นว่า  แนวเขื่อนไม่จำเป็นต้องกว้าง 38 เมตร ให้ดูตามสภาพและลักษณะคลองในแต่ละชุมชน “เพื่อให้คนอยู่ได้ เขื่อนสร้างได้”


ชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 ยกเสาร์เอกตั้งแต่เดือน พย.ที่ผ่านมาแต่ยังก่อสร้างไม่ได้

ความล่าช้าในการดำเนินงานของสำนักการระบายน้ำทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน  เนื่องจากบางชุมชนได้รื้อถอนบ้านเรือนพ้นแนวคลองไปแล้วเพื่อเตรียมที่จะก่อสร้างบ้านเช่น แจ้งวัฒนะ 5 และชุมชนคนรักถิ่น ริมคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่  รวมประมาณ 20 หลังได้ตอกเสาเข็มไปแล้ว  แต่เมื่อสำนักการระบายน้ำยังไม่ชี้ชัดเรื่องแนวคลองว่าจะกว้างกี่เมตร  ชุมชนจะเหลือพื้นที่เพื่อสร้างบ้านกี่เมตร  กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินจึงยังไม่ทำเรื่องให้ชาวบ้านเช่าที่ดิน  และแม้ชาวบ้านจะไปขออนุญาตจากทางสำนักงานเขตหลักสี่เพื่อสร้างบ้าน แต่กลุ่มคัดค้านก็มาร้องเรียนและกดดันต่อทางสำนักงานเขตฯ ทั้งที่ไม่ใช้เป็นผู้เสียหาย  แต่ก็กลัวว่าถ้าชาวบ้านรื้อบ้านออกจากคลองและสร้างบ้านได้ เขื่อนก็จะเริ่มสร้างได้  ชุมชนอื่นๆ รวมทั้งพวกคัดค้านก็จะต้องรื้อย้ายบ้านด้วย 

นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่กลุ่มคัดค้านออกมาโจมตีบ้านมั่นคง และทำให้ชาวบ้านที่เตรียมจะสร้างบ้านต้องถูกคำสั่งจากสำนักเขตหลักสี่ให้ระงับการก่อสร้าง โดยอ้างเหตุผลว่าก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต จนถึงวันนี้เป็นเวลานานกว่า 4 เดือนแล้วที่ชาวบ้านยังเคว้งคว้าง ไม่มีที่อยู่อาศัย ทั้งๆที่พวกเขายอมรื้อบ้านเรือนเพื่อสนองนโยบายการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลแล้ว

“เราทำตามนโยบายของทางรัฐบาล เพื่อให้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้  และชาวบ้านก็ยอมรื้อบ้านออกจากคลองแล้ว  ชาวบ้านก็หวังว่าเมื่อรื้อบ้านแล้วจะได้สร้างบ้านใหม่เร็วๆ แต่ตอนนี้ก็ยังสร้างไม่ได้  ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน  เพราะนานกว่า 4 เดือนที่ชาวบ้านต้องไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่  เด็กๆ และคนแก่ก็ลำบาก  บางครอบครัวมีคนพิการก็ไม่สะดวกที่จะไปอาศัยคนอื่นอยู่ต้องหาบ้านเช่าทั้งๆ ที่มีรายได้ไม่มากนัก  จึงอยากให้รัฐบาลลงมาดูแลมาช่วยเหลือชาวบ้านด้วย” นี่คือเสียงสะท้อนจากคนริมคลอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท