Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่มา: ประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

กรณีการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์กำลังเป็นที่สนใจของสังคมอย่างกว้างขวาง นับวันดูจะมีข้อมูลข้อเท็จจริงถูกเปิดเผยออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สาธารณชนมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันการตรวจสอบโครงการนี้กลับเป็นไปอย่างล่าช้าและยังไม่มีวิธีการที่น่าเชื่อถือ

เมื่อปรากฏเป็นข่าวว่ามีการทุจริตในโครงการนี้ บุคคลสำคัญในรัฐบาลรีบออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยบอกว่าเป็นเรื่องของกองทัพ ไม่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมและรัฐบาล แต่ต่อมาก็ปรากฏเอกสารยืนยันว่าโครงการนี้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้เสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ซึ่งก็เท่ากับแสดงว่าโครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหมและรัฐบาล

ต่อมา มีข้อสงสัยว่ามีการใช้งบประมาณของราชการหรือไม่ คนในรัฐบาลก็บอกว่าไม่มี แต่ปรากฏว่ามีการค้นพบการใช้งบประมาณของทางราชการ จนกระทั่งคนในรัฐบาลต้องออกมายอมรับ

พล.อ.อุดมเดช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีต ผบ.ทบ.ยอมรับว่า มีการทุจริตเกี่ยวกับการรับบริจาคจริง แต่ได้มีการนำเงินนั้นไปบริจาคแล้ว ทำให้ใครที่พอเข้าใจหลักกฎหมายง่ายๆย่อมรู้ว่าความผิดสำเร็จได้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนั้นก็ยังมีข่าวอื้อฉาวว่ามีการทุจริตในขั้นตอนต่างๆอีกหลายขั้นตอน จะจริงหรือไม่ยังไม่มีการพิสูจน์

มีการตรวจสอบเกี่ยวกับโครงการนี้โดยผบ.ทบ.คนปัจจุบัน เบื้องต้นสรุปว่าไม่พบการทุจริต พร้อมกับมีเสียงตามหลังมาว่าเมื่อกองทัพบกตรวจสอบแล้วว่าไม่พบการทุจริตก็จบได้แล้ว แต่ต่อมาก็พบว่าที่ ผบ.ทบ.ตรวจสอบนั้นเป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับบัญชีรายได้และรายจ่ายจากการบริจาคเท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบการทุจริตแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่พากันบอกว่าจะตรวจสอบได้ต้องมีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษหรือกล่าวหาเสียก่อน บางองค์กรอย่าง เช่น ปปช.ยังไม่ทันจะตรวจสอบก็รีบออกมาบอกว่ายังไม่พบการทุจริต ฟังคล้ายกับจะบอกว่าไม่มีการทุจริต

ปัญหาจึงมาอยู่ที่การตรวจสอบซึ่งดูจะมีปัญหามากและยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ นี่คือโจทย์ข้อใหญ่และยากสำหรับ คสช.และรัฐบาลในวันนี้

ผู้ต้องสงสัยหรือถูกกล่าวหาจากสังคม ขณะที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ.และ รมช.กลาโหม ปัจจุบันยังคงเป็น รมช.กลาโหมอยู่ การที่ รมว.กลาโหมตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีรองปลัดกระทรวงเป็นประธานและกรรมการส่วนใหญ่ก็อยู่แต่ในกระทรวงจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่น่าเชื่อถือว่า คณะกรรมการจะสามารถทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ การตั้งกรรมการสอบสวนที่จะมีผลทางวินัยนี้ควรให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการควรเป็นระดับปลัดกระทรวง

ที่เป็นปัญหายิ่งขึ้นไปอีก คือ การตรวจสอบโดยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอ.ตช. ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลอาจจะใช้ตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่ากำลังเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ แต่กลับจะยิ่งแสดงให้เห็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องการทุจริตในโครงการนี้เสียอีก นั่นคือ ปัญหาระบบของการจัดการกับการทุจริตที่ คสช.และรัฐบาลนี้ได้ออกแบบและสร้างไว้

คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานนั้นตั้งโดย คสช. ในคณะกรรมการนี้มีทั้ง ปปช. สตง. อัยการสูงสุดและองค์กรอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปราบการทุจริตอยู่ด้วย หมายความว่าโดยระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ องค์กรอิสระทั้งหลายที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการปราบการทุจริตไม่มีความเป็นอิสระหรือไม่ใช่องค์กรอิสระแล้ว นั่นคือ ปัญหา

แต่ยังไม่จบแค่นี้ ศอตช.และองค์กรต่างๆที่ไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่อยู่ใต้คำสั่งของคสช.นี้ กำลังจะตรวจสอบโครงการที่ดำเนินการมาโดยอดีตเลขาธิการ คสช.และปัจจุบันยังเป็นกรรมการคสช.อยู่ ย่อมมีคำถามว่าการตรวจสอบที่ทำโดยระบบกลไกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางอำนาจหน้าที่และผลประโยชน์เช่นนี้ จะเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมได้อย่างไร

ทางที่ดี เฉพาะหน้านี้จึงไม่ควรใช้ ศอตช.ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการนี้ แต่ควรส่งเสริมและให้ความร่วมมือให้องค์กรที่มีหน้าที่ทั้งหลายทำหน้าที่ไปอย่างเป็นอิสระจาก คสช.และรัฐบาล ส่วนขั้นตอนต่อไปควรจะทบทวนระบบการจัดการกับการทุจริตเสียใหม่ อย่าให้อีนุงตุงนังหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net