Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

พระสงฆ์ นักปราชญ์ นักวิชาการทางพุทธศาสนาพูดกันเสมอๆว่า สังคมไทยมีเสรีภาพทางศาสนามาแต่โบราณ คนไทยจะเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ ศาสนาใดๆจะเข้ามาเผยแพร่ในไทยก็เข้ามาได้โดยไม่ถูกกีดกันจากรัฐและชาวพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่บังคับศรัทธา แต่เป็นศาสนาแห่งปัญญาที่เปิดกว้างต่อความคิดความเชื่อที่แตกต่าง คนไทยที่เป็นชาวพุทธจึงเป็นคนที่มีใจกว้างต่อศาสนาต่างๆ ไปด้วย

เมื่อพูดถึงตัวเองในเชิงบวกเช่นนี้ ก็พูดถึงศาสนาในโลกตะวันตกทำนองว่า เป็นศาสนาที่บังคับศรัทธา แบ่งแยกเป็นเขาเป็นเรา ประวัติศาสตร์ตะวันตกเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีเสรีภาพทางศาสนา เต็มไปด้วยการล่าแม่มดในนามศาสนา มีความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนา เกิดสงครามระหว่างนิกายศาสนา และต่างศาสนา ผู้คนล้มตายเป็นเบือ บทเรียนอันเจ็บปวดจากการกดขี่และสงครามศาสนา ทำให้ตะวันตกต่อสู้เพื่อจะมีเสรีภาพทางศาสนาในภายหลัง

แม้ที่ว่ามานั้นจะจริง แต่ก็ไม่จริงทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะการมีเสรีภาพทางศาสนาในสังคมไทยก็ใช่ว่าจะเกิดจากความใจกว้างของศาสนาพุทธเท่านั้น หากแต่สังคมไทยโบราณ หรือพูดให้ถูกคือดินแดนแถบเอเชียและเอเชียอาคเนย์เป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันหลายศาสนาเป็นปกติอยู่แล้ว

การอยู่ร่วมกันหลายศาสนาก็ใช่ว่าจะไม่ขัดแย้งกันเสียเลย ในอดีตรัฐไทยก็รบพุ่งกันกับรัฐอื่นๆในแถบนี้ด้วยข้ออ้างปกป้องพุทธศาสนา มีการเผาวัด ทุบทำลายพระพุทธรูป ปล้นทองคำ กระทั่งทำสงครามเพียงเพราะแย่งพระไตรปิฎกก็มี ในอินเดียเองตอนแรกศาสนาพราหมณ์ก็ทำสงครามชนะและกลืนศาสนาของคนท้องถิ่นเดิม พุทธกับพราหมณ์ก็สู้กันอยู่นาน ต่อมาพุทธก็หายไปจากอินเดีย ไปอยู่ที่จีน ญี่ปุ่น และประเทศแถบเอเชียอาคเนย์รวมทั้งไทย และพุทธศาสนารุ่งเรืองมาได้ก็เพราะรัฐอุปถัมภ์

แปลว่าพุทธศาสนาก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐ เกี่ยวข้องกับศึกสงครามระหว่างรัฐต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือรัฐนับถือพุทธผสมพราหมณ์เหมือนกัน แต่ที่ความขัดแย้งและสงครามไม่รุนแรงเท่ายุโรป อาจเป็นเพราะไทยและประเทศต่างๆในเอเชียอาคเนย์ ไม่สามารถสถาปนาจักรวรรดิและศาสนจักรที่มีกองทัพยิ่งใหญ่เทียบเท่าจักรวรรดิโรมันและคริสต์ศาสนจักรได้ ซึ่งความแตดต่างดังกล่าวมาจากตัวแปรทางสภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีเป็นต้นแตกต่างกัน ไม่ใช่มีปัจจัยหลักอยู่ที่ศาสนาอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึง “เสรีภาพทางศาสนา” (freedom of religion) ในโลกตะวันตกสมัยใหม่ ย่อมไม่ใช่เสรีภาพทางศาสนาแบบไทย เสรีภาพทางศาสนาของเขาเป็นเสรีภาพตามกรอบคิดเสรีนิยม และเสรีภาพทางการเมืองก็เป็นเสรีภาพตามกรอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวเกิดจากการท้าทายอำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐแบบโบราณ จนนำมาสู่การเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตย แยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน ไม่เอาความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นหลักปกครอง และศาสนาก็อยู่ภายใต้การกำกับของหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

แม้แต่ความคิดเรื่องศีลธรรมก็หลุดออกไปจากศีลธรรมแบบศาสนา มาเป็นศีลธรรมสมัยใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ ซึ่งเป็นคุณค่าสากลที่คนทุกศาสนา และคนไม่นับถือศาสนายึดถือปฏิบัติร่วมกันได้ โดยถือว่าศีลธรรมแบบศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล หรือเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะเชื่อหรือไม่ก็ได้

แต่เสรีภาพทางศาสนาแบบไทย คือ การมีเสรีภาพตามที่ชนชั้นปกครองอนุญาตให้มีได้เท่านั้น (เพราะเป็นเสรีภาพที่ถูกกำหนดนิยามบนสิทธิอำนาจ – authority ของชนชั้นปกครอง ไม่ใช่กำหนดนิยามจากสิทธิอำนาจของประชาชน) เช่นชนชั้นปกครองอนุญาตให้ผู้ใต้ปกครองนับถือศาสนาใดก็ได้ แต่ในแง่การตีความศาสนาในทางการเมือง จะตีความยกย่องผู้ปกครองให้เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นพระพุทธเจ้าอยู่หัวเลยก็ได้ ทว่าจะตีความในเชิงตั้งคำถามวิจารณ์ตรวจสอบชนชั้นปกครองไม่ได้

เช่นเดียวกับเสรีภาพทางการเมืองแบบไทย ก็คือการมีเสรีภาพตามที่ชนชั้นปกครองอนุญาตให้มีได้เท่านั้น เช่น ประชาชนมีเสรีภาพตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองและอำนาจอื่นๆ ได้ทั้งหมดยกเว้นอำนาจของชนชั้นปกครอง

ฉะนั้น ที่ว่าเรามีเสรีภาพทางศาสนามาก่อนตะวันตก ก็ต้องพูดให้หมดด้วยว่า เสรีภาพทางศาสนาแบบตะวันตกที่มีทีหลังเราเป็นเสรีภาพที่ก้าวหน้ากว่าเรามาก เพราะเป็นเสรีภาพที่มีขึ้นมาจากการยอมรับอำนาจ สิทธิ ความเสมอภาคของประชาชน ไม่ใช่เสรีภาพที่ถูกกำหนดจากเบื้องบนแบบไทย

เสรีภาพทางศาสนาแบบตะวันตก คือเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่อำนาจรัฐจะแทรกแซงขัดขวางไม่ได้ ตราบที่ไม่มีการละเมิดสิทธิพลเมือง แต่เสรีภาพทางศาสนาแบบไทยรัฐสามารถแทรกแซงขัดขวางได้ตลอดเวลา หากมีการอ้างศีลธรรมแบบศาสนาตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบชนชั้นปกครอง แต่จะอ้างศีลธรรมวิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองอย่างไรก็ได้

เสรีภาพทางศาสนาแบบไทยจึงเป็นที่มาของ “สองมาตรฐานทางศีลธรรม” ขณะที่เสรีภาพทางการเมืองแบบไทยก็เป็นที่มาของ “สองมาตรฐานทางการเมือง” เช่นสองมาตรฐานด้านการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง, สองมาตรฐานด้านความยุติธรรม,การนิรโทษกรรมความผิดทางการเมืองและอื่นๆ

เสรีภาพทางศาสนาและทางการเมืองแบบไทย จึงทำให้ความจริงบิดเบี้ยว ตรรกะเหตุผลบิดเบี้ยว ศีลธรรมบิดเบี้ยว ความยุติธรรมบิดเบี้ยว เพราะพูดความจริงทุกด้านไม่ได้ จึงทำให้ตรรกะเหตุผลผิดเพี้ยนและนำไปสู่ศีลธรรมสองมาตรฐาน ความยุติธรรมสองมาตรฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้เนื่องมาจากการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ของพุทธเถรวาทไทยในด้าน "เสรีภาพทางศาสนา" ที่ไปไม่ถึง "เสรีภาพทางศาสนาในความหมายสมัยใหม่" ส่งผลให้พุทธเถรวาทไทยไม่สามารถวางตำแหน่งและบทบาทหน้าที่ของตัวเองได้ถูกต้องในบริบทสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่

พุทธเถรวาทไทยจึงยังกำหนดตำแหน่งและบทบาทหน้าที่ของตัวเองด้วยการอ้างอิงจินตนาการความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐแบบยุคราชาธิปไตย ยังคิดว่ารัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ต้องมีหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ของธรรมวินัย อุปถัมภ์ ดูแลความประพฤติของพระเณรให้เป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของสังคม และสนับสนุนการปลูกฝังศีลธรรมพุทธศาสนาแก่ประชาชนเหมือนรัฐในยุคโบราณ

ผลก็คือสถานะ อำนาจ บทบาทของพุทธเถรวาทไทยในปัจจุบัน แทนที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย กลับมีแนวโน้มเป็นไปในทางตรงกันข้าม

และการไม่ตระหนักในปัญหาเสรีภาพทางศาสนาแบบไทยดังกล่าว ทำให้เกิดการพยายามผลักดันให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ อันเป็นการทำให้พุทธศาสนาเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยมากขึ้นไปอีก

 



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (28 พ.ย.-4 ธ.ค.2558)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net