นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ถกเถียงด้านบวก-ลบ เทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมในมนุษย์

การดัดแปลงพันธุกรรมมนุษย์เคยมีอยู่แต่ในหน้านิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เมื่อไม่นานมานี้มีการทดลองตัดต่อพันธุกรรมตัวอ่อนมนุษย์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักจริยธรรมต้องประชุมอภิปรายเรื่องนี้กันอย่างหนัก ว่าในขณะที่เทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้ช่วยชีวิตคนและกำจัดโรคทางพันธุกรรมได้ แต่จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคม

ที่มาของภาพประกอบ: Fairy DNA โดย Stuart Caie/flickr.com/CC 2.0 

 

2 ธ.ค. 2558 - นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังกลุ่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้มีการสั่งห้ามหรือการยับยั้งการดัดแปลงพันธุกรรมของเด็กและคนรุ่นต่อไปไว้ชั่วคราว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในวงการวิทยาศาสตร์มีการพัฒนาทางด้านวิศวพันธุกรรมและชีววิทยาสังเคราะห์ โดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้อ้างว่าการดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวอาจจะส่งผลอย่างมากต่อมนุษยชาติอย่างไม่อาจย้อนกลับได้

ศูนย์เพื่อพันธุกรรมและสังคม (Center for Genetics and Society หรือ CGS) ซึ่งเป็นองค์กรในสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพและความรับผิดชอบออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาพร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนแถลงการณ์ 150 คน ในเรื่องการเรียกร้องให้มีการยับยั้งการดัดแปลงพันธุกรรมเด็กไว้ชั่วคราว นอกจากนี้ยังเผยแพร่รายงานร่วมกับองค์กรสิ่งแวดล้อมชื่อเฟรนดืออฟดิเอิร์ธถึงอันตรายจากเทคโนโลยีการดัดแปลงดีเอ็นเอในมนุษย์และสัตว์ซึ่งอาจจะส่งผลสะเทือนต่อระบบนิเวศน์ทั้งหมด

ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งจะสนับสนุนให้มีการตัดต่อดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อป้องกันโรคหลายชนิดแต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกส่วนหนึ่งที่ต่อต้าน โดยพีท แชงค์ส ที่ปรึกษานักวิจัยของ CGS และนักเขียนหนังสือเกี่ยวกับวิศวพันธุกรรมของมนุษย์กล่าวว่าการตัดต่อพันธุกรรมเด็กนั้นก่อนหน้านี้มีอยู่แต่ในจินตนาการของนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ในตอนนี้กลายเป็นเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลกความจริง แชงค์สมองว่าการตัดต่อพันธุกรรมเด็กเป็นเรื่องที่ลำเส้นเกินไปไม่ควรทำ

ในช่วงต้นปีนี้ (2558) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในจีนสามารถใช้เทคนิคการตัดต่อพันธุกรรมในการเปลี่ยนแปลงตัวอ่อนของมนุษย์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะทดลองโดยอาศัยตัวอ่อนที่ "ไม่สามารถมีชีวิตและเจริญเติบโตได้" แต่นี่ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แถลงการณ์ของ CGS ยังออกมาหนึ่งวันก่อนหน้าที่ สถาบันแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของสหรัฐฯ จะจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องการดัดแปลงรหัสพันธุกรรมมนุษย์ในกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้ามเรื่องการดัดแปลงพันธุกรรมมนุษย์

ในการประชุมดังกล่าวมีนักวิทยาศาสตร์และนักจริยศาสตร์หลายร้อยคนร่วมประชุมถกเถียงกันเรื่องเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนในที่ประชุมมองว่าควรต้องจับตามองเทคโนโลยีนี้เพราะส่งผลถึงการสืบทอดในรุ่นถัดไ

นอกจากกรณีของจีนแล้วก่อนหน้านี้ยังเคยมีการทดลองใช้เทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรมโดยแพทย์อังกฤษเพื่อรักษาโรคลูคีเมียในเด็ก 1 ขวบ พวกเขาใช้วิธีการถ่ายเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีการดัดแปลงเพื่อใช้กำจัดมะเร็งในตัวเธอได้ อีกกรณีหนึ่งคือบริษัทในแคลิฟอร์เนียทดลองค้นหาวิธีการดัดแปลงพันธุกรรมให้เซลล์ในร่างกายของผู้ป่วยเชื้อเอชไอวีให้สามารถต้านทานต่อเชื้อไวรัสนี้ได้

ถึงแม้ว่าจะเป็นการนำไปใช้ในทางที่ดีแต่ก็ยังต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเพราะเครื่องดัดแปลงพันธุกรรมซึ่งมีขนาดเล็กและต้องใช้ความแม่นยำมากอาจจะเกิดความผิดพลาดดัดแปลงหน่วยพันธุกรรมที่ไม่ใช่เป้าหมาย อย่างไรก็ตามทางสถาบันบรอดแห่งเอ็มไอทีและฮาร์วาร์ดรายงานว่าพวกเขาปรับปรุงเครื่องตัดต่อพันธุกรรมให้มีโอกาสผิดพลาดน้อยลงแล้ว

มาร์ซี ดาร์นอฟสกี ผู้อำนวยการบริหารของ CGS กล่าวว่าถึงแม้การดัดแปลงพันธุกรรมจะมีประโยชน์อยู่บางส่วนแต่ก็ไม่ควรนำมาใช้กับมนุษย์ เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "ยีนส์ไดร์ฟ" หรือการกระตุ้นยีนส์ที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตสปีชีส์นั้นๆ ทั้งหมด เช่นการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมยุงไม่ให้สามารถแพร่เชื้อมาลาเรียได้ แต่ก็จะส่งผลต่อระบบนิเวศน์ทั้งหมดด้วย โดยดาร์นอฟสกีเตือนว่าผลที่เกิดตามมาจะ "ไม่สามารถย้อนกลับได้"

ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิทยาศาสตร์ด้านชีวเทคโนโลยีตั้งคำถามในเรื่องนี้เช่นกัน ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมารายงานจากนักวิทยาศาสตร์แสดงความกังวลว่าถึงแม้การดัดแปลงพันธุกรรมมนุษย์จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บได้ แต่การตัดต่อพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีในตอนนี้อาจจะส่งผลต่อคนรุ่นต่อไปในแบบที่คาดเดาไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่มีการถกเถียงในที่ประชุมที่วอชิงตัน ดีซี คือการตัดต่อพันธุกรรมแบบเซลล์ต้นกำเนิด (germline) ซึ่งจะกลายเป็นการดัดแปลงเซลล์เจริญพันธุ์อย่างสเปิร์ม ไข่ และตัวอ่อน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปยังรุ่นถัดไปแทนการค้นหาและแก้ไขเซลล์จำเพาะของผู้ป่วย ซึ่งแต่ละประเทศในโลกมีกฎหมายห้ามวิจัยในเรื่องนี้แตกต่างกันไป บ้างก็จำกัดการวจัยแต่ในห้องทดลอง ในสหรัฐฯ แม้ว่าทางการจะไม่ให้ทุนวิจัยในเรื่องนี้แต่ทางเอกชนสามารถให้ทุนวิจัยได้

ในบทความของ อิริค แลนเดอร์ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งสถาบันบรอดแห่งเอ็มไอทีและฮาร์วาร์ดที่เป็นคนทุ่มเทให้กับการศึกษาเรื่องพันธุกรรมมนุษย์ในทางการแพทย์เมื่อเดือน ก.ค. ระบุไว้ว่า การดัดแปลงพันธุกรรมในมนุษย์มีโอกาสสร้างเด็กที่จะถ่ายทอดเซลล์ต้นกำเนิดทางพันธุกรรมไปสู่รุ่นอื่นซึ่งอาจสร้างปัญหาได้ แลนเดอร์ระบุอีกว่าการป้องกันโรคติดต่อทางพันธุกรรมนั้นสามารถใช้เทคนิควิธีอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องดัดแปลงพันธุกรรม

ในกรณีการแก้ไขพันธุกรรมแบบเซลล์ต้นกำเนิดนี้จอห์น โฮลเดรน จากสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทำเนียบขาวก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่ามันเป็น "สิ่งที่ไม่ควรลำเส้นในตอนนี้"

อย่างไรก็ตามฝ่ายสนับสนุนมองว่าการวิจัยเรื่องการดัดแปลงเซลล์ต้นกำเนิดมีประโยชน์ในแง่การป้องกันไม่ให้พ่อและแม่ของเด็กถ่ายทอดโรคร้ายแรงทางพันธุกรรมไปสู่เด็กได้ โดยจอร์จ เชิร์ช นักพันธุกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถพัฒนาการแพทย์ด้านการป้องกันโรคได้ และถ้าหากมีการห้ามในเรื่องนี้จะเป็นการหยุดยั้งความก้าวหน้าทางวิทยาการและเสี่ยงต่อการกระทำกันในตลาดมืดที่ไม่ได้มาตรฐาน

ในที่ประชุมอภิปรายมีการเสนออีกว่าเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดไม่ใช่เพียงแค่การดัดแปลงพันธุกกรรมตัวอ่อนเท่านั้น แต่ในการรักษาระดับไม่ซับซ้อนในบางด้านเช่นการรักษาชายเป้นหมันก็ต้องอาศัยการวิจัยเกี่ยวกับการดัดแปลงเซลล์ต้นกำเนิดเช่นกัน

เจนนิเฟอร์ เดาด์นา นักชีววิทยาโมเลกุลเปิดเผยว่าการห้ามวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดยังถือเป็นการปิดกั้นไม่ให้เกิดการค้นพบที่สำคัญ เช่นการค้นพบของนักวิจัยชาวอังกฤษที่ทดลองดัดแปลงตัวอ่อนเพื่อศึกษาพัฒนาการช่วงแรกเริ่มของมนุษย์ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาว่าเหตุใดถึงเกิดการแท้งลูกโดยธรรมชาติได้

ทางด้านฝ่ายต่อต้านโต้แย้งว่าพวกเขาสามารถใช้วิธีการปฏิสนธินอกครรภ์เพื่อทดสอบทางพันธุกรรมกับตัวอ่อนก่อนที่จะมีการปลูกถ่ายไปยังครรภ์แทนได้

ดาร์นอฟสกี กล่าวอีกว่าเรื่องข้อถกเถียงทางการแพทย์ไม่ใช่สิ่งสำคัญในประเด็นนี้ แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากกว่าคือผลพวงทางสังคมที่เกิดตามมา

 

เรียบเรียงจาก

US scientists urge ban on human genetic modification, Aljazeera, 30-11-2015 http://www.aljazeera.com/news/2015/11/scientists-urge-ban-human-genetic-modification-151130163522308.html

Scientists debate ethics of human gene editing at international summit, The Guardian, 01-12-2015 http://www.theguardian.com/science/2015/dec/01/human-gene-editing-international-summit

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท