Skip to main content
sharethis
กรธ. ระบุยังไม่ได้ที่มา ส.ว. แต่เบื้องต้นมีข้อเสนอเลือกกันเองทางอ้อมตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศเป็นขั้นตอนสุดท้าย ด้าน 'สุรชัย' แนะออกกติกาเลือก ส.ว.ทางอ้อมต้องไม่ซับซ้อน 'เสรี' ย้ำเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมต้องปิดช่องโหว่การล็อบบี้
 
สุรชัยแนะออกกติกาเลือก ส.ว.ทางอ้อมต้องไม่ซับซ้อน
 
6 ธ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย  รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อดีตรองประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กำหนดให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยเลือกกันเองในกลุ่มสังคมว่า จะออกแบบอย่างไรก็ตามจะต้องไม่ซับซ้อน และถ้ายอมรับว่าประเทศไทยควรมี 2 สภา ควรต้องสร้างหลักการสำคัญคือการถ่วงดุลในการใช้อำนาจตรวจสอบรัฐบาล จึงควรต้องมีที่มาที่ต่างจากส.ส. เพราะหากมีที่มาเหมือนกันจะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ เพราะต้องอิงกับฐานการเมือง จึงเป็นที่มาว่าไม่มีวุฒิสภาชุดใดสามารถอดถอนนักการเมืองได้  ขณะเดียวกันจะต้องไม่ติดอยู่กับกับดักวาทะกรรมที่ว่าถ้าจะให้ส.ว.ถอดถอนนักการเมืองได้ จะต้องมาจากการเลือกของประชาชน เพราะตนไม่เคยเห็นตุลาการ มาจากการยึดโยงกับประชาชน แต่สามารถให้ความเป็นธรรมได้
 
“การเลือกตั้งทางอ้อมก็ไม่ควรให้ซับซ้อนจนยากที่สังคมจะเข้าใจ ต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ในแต่ละกลุ่มแย่งกันเอง และบล็อกกันเอง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องเปิดกว้างให้สามารถเดินเข้าไปสมัครเป็นตัวแทนของกลุ่มนั้นได้ โดยไม่ต้องให้มีการเสนอชื่อจากกลุ่ม ไม่เช่นนั้นจะเป็นการผูกขาดตั้งแต่ต้น” นายสุรชัย กล่าว
 
รองประธาน สนช. กล่าวว่า ขณะนี้ประเด็นที่มา ส.ว.ยังเป็นแนวคิดเบื้องต้นของกรธ. เชื่อว่าจะยังมีการรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ดังนั้นอยากให้สังคมช่วยกันแสดงความเห็น เพื่อให้กรธ.พิจารณาและนำกลับไปปรับปรุง
 
เสรีย้ำเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมต้องปิดช่องโหว่การล็อบบี้
 
นอกจากนี้สำนักข่าวไทยยังรายงานว่านายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อาจกำหนดให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยเลือกกันเองในกลุ่มสังคมว่า หากใช้ระบบนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังข้อครหาเรื่องการล๊อบบี้ หรือการได้ผลประโยชน์ ดังนั้น มองว่า หากไม่ใช้การเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรง แต่จะให้เป็นการเลือกทางอ้อม จะต้องมีกระบวนการได้มาที่ผสมผสาน เช่น หลังจากที่ได้ตัวแทนสาขาอาชีพแล้ว จะต้องกำหนดจำนวนต่อกลุ่มที่ไม่น้อยเกินไป เช่น 5-10 คนเป็นอย่างน้อย เมื่อได้มาแล้วก็มีกระบวนการกำหนดคุณสมบัติ และมีกรรมการสรรหาอีกหนึ่งชุดแยกออกมา เพื่อสรรหาบุคคลที่เหมาะสมมาเป็น ส.ว. ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาการบล๊อกโหวตและแลกผลประโยชน์เข้ามา ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของวุฒิสภา
 
ส่วนที่มีข้อเสนอให้เลือกไขว้กลุ่ม โดยผู้สมัครไม่สามารถเลือกบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกันได้นั้น นายเสรี กล่าวว่า หากไม่ระบุรายละเอียดว่ากลุ่มใดจะต้องเลือกกลุ่มใดนั้น ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าที่มาของ ส.ว.จะเป็นวิธีการใด ก็ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น การเลือกตั้งทางตรงก็ถูกครหาว่าเป็นฐานเสียงของ ส.ส. ขาดความเป็นอิสระ ส่วนเลือกตั้งทางอ้อมก็มีข้อครหาเรื่องการบล๊อกโหวต ส่วนการสรรหา ก็จะต้องมีคณะกรรมการที่เชื่อถือได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะเลือกวิธีใด ก็ต้องปิดช่องปัญหาดังกล่าว ให้มีข้อครหาน้อยที่สุด
 
นายเสรี ยังกล่าวถึงการลดอำนาจของ ส.ว.ในการพิจารณากฎหมาย ที่ตัดขั้นตอนการรับหลักการ เหลือเพียงสองวาระว่า คล้ายกับข้อบังคับการประชุมของ สปท. ที่จัดทำเพื่อลดกระบวนการให้สั้นลง ก็นับว่า เป็นไปได้ และเป็นอีกวิธีการที่ทำให้กระชับขึ้น เพราะขั้นรับหลักการ จะทำให้เสียเวลาการอภิปราย 2 รอบ ส่วนการลดขั้นตอนนี้ จะทำให้วุฒิสภาเป็นตรายางที่ปั้มกฎหมายอย่างเดียวหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ต้องสร้างความชัดเจนว่า วุฒิสภาสามารถดำเนินการได้มากน้อยอย่างไร หากไม่ให้มีขั้นรับหลักการ การเสนอกฎหมายก็ต้องเขียนหลักการและเหตุผลให้ชัดเจน
 
เมื่อถามว่า หากมีกรณีแบบกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ผลักดันแบบสุดซอย วุฒิสภาจะดำเนินการอย่างไร นายเสรี กล่าวว่า ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องกฎหมายหมกเม็ด เพราะต้องเข้าใจกระบวนการออกกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่มีเพียงแค่รัฐสภา แต่มีระบบศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สูงกว่า กฎหมายที่หมกเม็ดสามารถถูกยับยั้งได้หลายขั้นตอน จึงไม่น่าเป็นห่วง
 
กรธ. เตรียมเสนอที่มา ส.ว.ทางอ้อมผ่านการกลั่นกรองจากระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ
 
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุรัฐสภา รายงานว่านายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงความคืบหน้าการประชุมว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เบื้องต้นมีข้อเสนอว่าการเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมจะให้มาจากการคัดเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศเป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาการฮั้วกันของผู้สมัครด้วยโดยอาจจะให้ผู้สมัครไม่สามารถเลือกบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกันได้
 
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั่วไปและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดย กรธ.มีความเห็นว่าควรให้ส.ว.มีอำนาจกลั่นกรองและยับยั้งร่างกฎหมายเท่านั้น พร้อมกับลดขั้นตอนการพิจารณากฎหมายในวุฒิสภาเหลือเพียง 2 วาระ คือการแปรญัตติ และลงมติ โดยไม่ต้องมีวาระรับหลักการ ขณะที่การพิจารณาและแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ควรให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีร่วมกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสนอ โดยจะไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายนั้นได้เพียงลำพัง เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงองค์กรอิสระ จากนั้นจะดำเนินการส่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ แต่เมื่อทั้งสองสภาพิจารณาเสร็จแล้ว องค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะต้องทำความเห็นว่ามีประเด็นใดในร่างกฎหมายบ้างที่อาจเป็นอุปสรรคในการทำงาน หากเห็นว่ามีปัญหาจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป แต่ถ้าไม่มีประเด็นปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในส่วนของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net