Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ร้าน The Writer’s Secret จัดงานเปิดตัวหนังสือ เล่มที่ 2 ของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เรื่อง ด้วยกฎหมายและอุดมการณ์ เป็นการรวบรวมงานพูด เขียน ให้สัมภาษณ์ ชิ้น Master Piece ของวรเจตน์ตั้งแต่ปี  2549 มาจนปัจจุบัน

หนังสือเล่มดังกล่าววางแผงทั่วไปตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดย วาด รวี เป็นผู้คิดริเริ่มและรวบรวม-คัดสรรงานจำนวนมากของวรเจตน์ ซึ่งเขาบอกว่า “อันนี้เป็นการคัดสรรประมาณไม่ถึง 10% เลือกครั้งที่ดีที่สุด ลึกที่สุดในแต่ละประเด็น”

วาด รวี กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า เนื้อหาที่คัดสรรมาเป็นปัญหาการเมืองที่เป็นแง่มุมทางกฎหมายที่วรเจตน์ไมได้พูดด้วยภาษากฎหมาย แต่เป็นภาษาที่สื่อสารกับคนทั่วไป แต่สิ่งเหล่านี้อยู่อย่างกระจัดกระจายจึงอยากรวบรวมให้เป็นเล่ม และเชื่อว่าจะมีประโยชน์เพราะหลายกรณีก็เกิดขึ้นซ้ำๆ คนที่สนใจดูย้อนหลังก็ดี หรือหากมีกรณีที่ที่ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นก็จะเข้าใจมากขึ้น

ความแตกต่างจากเล่มแรก ‘จุดไฟในสายลม’ นั้น วาด รวี บอกว่าชิ้นนั้นเป็นงานสนทนาระหว่างวรเจตน์กับ ‘ใบตองแห้ง’ กินเวลานับตั้งแต่ 2549 มาถึงช่วงปี 2552 เป็นลักษณะลงลึกเป็นกรณีๆ ไป แต่เล่มนี้จะเป็นการพูดถึงหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายมหาชน ของรัฐธรรมนูญ มีลักษณะกว้างกว่า

ภายในงานเปิดตัวหนังสือ มีการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ระหว่าง วรเจตน์ และผู้สนใจติดตามเข้าร่วมที่มานั่งเต็มร้านจนล้นออกไปด้านนอก รวมไปถึงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 3-4 นายด้วย

งานนี้ได้ วิจักขณ์ พานิช คอลัมนิสต์นักวิพากษ์ศาสนาและการเมืองคนสำคัญมาช่วยตั้งคำถามพูดคุย ไล่เรียงไปตั้งแต่ ความรู้สึกต่องานชิ้นนี้ การทบทวนตัวเอง จุดหักเหในชีวิต ความรู้สึกที่ถูกทำร้ายและคุกคาม ตลอดจนคำถามจากผู้เข้าร่วมที่แสดงถึงความห่วงใยในเส้นทางที่อาจารย์กฎหมายมหาชนคนนี้เดินอยู่

ประชาไทเก็บความบางส่วนของการสนทนาเป็นตัวหนังสือ และบางคำตอบสามารถรับชมได้ทางคลิปวีดิโอ

วรเจตน์ตอบคำถามผู้ฟังที่ถามว่า ครอบครัว เข้าใจหรือไม่กับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ตอบคำถาม ไชยันต์ รัชชกูล ว่าการกระทำตามมโนธรรมสำนึกของวรเจตน์นั้น
"คุ้ม" กับความเสี่ยงไหม และจำเป็นต้องพิจารณา outcome หรือไม่

 

วิจักขณ์ : นี่เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มที่สอง อาจารย์รู้สึกอย่างไรที่มีหนังสือนี้

วรเจตน์ “ส่วนที่น่าจะสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการสัมภาษณ์โดยคุณวาด รวี ผมยอมรับว่าคำถามหลายคำถามจริงๆ ไม่เคยมีใครถามผมมาก่อน ผมพยายามตอบเท่าที่ตอบได้ คำตอบดีหรือไม่ดีก็ต้องให้ผู้อ่านตัดสิน เป็นการถามถึงทัศนะของผม เรื่องความดี ความชั่ว สภาพสังคมไทยในช่วงหนึ่งทศวรรษนี้ เหตุผลสำคัญอันหนึ่งที่ผมตัดสินใจให้คุณ วาด รวี ทำหนังสือเล่มนี้ เพราะตอนทำเรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลุ่มบุคคลซึ่งมีส่วนสำคัญมากๆ ลงแรงมากๆ คือ กลุ่มนักเขียน ซึ่งผมก็ไม่ได้รู้จักมาก่อน ผมได้มีโอกาสรู้จักหลายท่าน วาด รวี เป็นคนสำคัญมากในการพยายามขับเคลื่อนประเด็นนี้สู่สาธารณะ”

“แม้ว่าผมจะทราบดีว่าเรื่องนี้จะสุ่มเสี่ยงอยู่บ้าง และไม่ได้คิดว่าจะประสบความสำเร็จในการแก้ไข แต่ต้องการเปิดพื้นที่เรื่องนี้ในทางสาธารณะ ต้องการให้พูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะได้ ถ้ามองในแง่นั้นก็ถือว่าสำเร็จ แม้ว่าจะมีผลให้ผมถูกทำร้ายในเดือนเศษต่อมา และมีผลลามมาถึงเรื่องที่ถูกเรียกรายงานตัวหลังยึดอำนาจซึ่งล้วนเป็นผลพวงมาจากเรื่องนั้นทั้งสิ้น แต่ถึงวันนี้ในสังคมไทยไม่มีใครไม่รู้จักกฎหมายมาตรานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้กฎหมายนี้เองด้วย ไม่ว่าจะมีความพยายามจะปิดไม่ให้ประเด็นนี้อยู่บนพื้นที่สาธารณะ พยายามกลบฝังอย่างไรก็ตาม ไม่มีทางสำเร็จ มันเข้าสู่ความรับรู้ของสังคมแล้ว มันจะไม่มีทางจางหายไป การหยิบเรื่องนี้มาพูดด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่งต่อสังคม แม้ถึงทุกวันนี้หลายคนก็ยังอาจไม่เข้าใจ บางคนยังไม่รู้เลยว่าเสนออะไร แต่เวลาที่ผ่านไปทำให้หลายคนรู้มากขึ้น ความพยายามอันนั้นแม้ต้องแลกด้วยหลายสิ่งหลายอย่างแต่สำหรับผมมันคุ้มค่า และด้วยเรื่องนี้ทำให้ผมได้รู้จักกับกลุ่มนักเขียน”

อ่านงานที่วาด รวี รวบรวมมา อาจารย์มองเห็นการเดินทางของตัวเองอย่างไรบ้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

วรเจตน์ตอบว่า ทุกคนที่เติบใหญ่ในสังคมและร่วงโรยไปในสังคมคงมีพัฒนาการความคิดในแต่ละช่วงของบุคคลนั้น เขาเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น หากย้อนกลับไปสมัยเรียนหนังสือสมัยเป็นเด็ก มันมีบางสิ่งบางอย่างที่ผลักมาอยู่จุดนี้ แต่ถ้าไม่มีเหตุการณ์บางเหตุการณ์เป็นบริบทแวดล้อมก็จะไม่มาตรงนี้

“ถ้าไม่มีการใช้กฎหมายแบบที่ผมรู้สึกว่าเรียนหนังสือมาแล้วแล้วมันไม่ใช่แบบที่เรียน ไม่ใช่หลักการที่ถูกต้อง ไม่มีการยึดอำนาจในปี 49 ไม่มีการใช้กฎหมาย 112 ก็คงไม่มีทางผลักผมมาในจุดนี้ เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ก็ทำให้เราเติบใหญ่มากขึ้น หากย้อนกลับไปซักประมาณ 2548 อาจยังไม่สุกงอมพอ แต่ก็ค่อยๆ เติบโตมาเป็นลำดับ จนถึงทุกวันนี้เราค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าเราอยู่ตรงจุดไหนของช่วงเวลาในประวัติศาสตร์”

“มันมีพัฒนาการของมันอยู่ แต่พัฒนาการทั้งหมดมันยืนอยู่บนหลักการบางอย่าง ไม่ใช่ไม่มีทิศทาง”

“ผมก็พยายามสำรวจตัวเองตลอดเวลาในทุกเรื่องที่มีความเห็น คิดว่าโดยรวมใหญ่ๆ ทุกอย่างที่เคยให้ความเห็นไว้ก็จะคงไว้แบบนั้น เป็นรีแอคต่อช่วงเวลานั้น และโดยรวมก็ไม่ได้คิดว่าในทางหลักการมีอะไรผิดพลาด”

ทุกคนน่าจะมีจุดเปลี่ยนบางอย่างในทางการเมือง อาจารย์วรเจตน์เคยมีช่วงที่เป็น “สลิ่ม” ไหม

“คุณวิจักขณ์ต้อง define ว่าคืออะไรจะได้อธิบายได้ถูก” (ผู้ฟังหัวเราะ)

เราต่างถูกปลูกฝังมาในโรงเรียนในสังคม เราเชื่อในความดีชุดนั้น อาจารย์เคยอยู่ในสภาวะแบบนั้นไหม

วรเจตน์กล่าวว่า ในสมัยเด็กๆ เขาเป็นคนตั้งใจเรียนหนังสือและค่อนข้างเป็น “เด็กดี” ในสายตาผู้ใหญ่ มาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะและการศึกษาเป็นสิ่งเดียวที่ครอบครัวให้ได้ จึงใช้โอกาสอย่างเต็มที่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่จะตามใจพ่อแม่ เรียนแบบที่ครอบครัวตั้งใจ โชคดีที่พ่อแม่เคารพการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ถึงขนาดไม่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อโครงสร้างเลยเพียงแต่ไม่ได้แสดงออก อาจเพราะไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะแสดงออก

“มีความสุขไหมกับการเรียนในโรงเรียน ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มรู้ความมากขึ้น เป็นคนที่ไม่ค่อยมีความสุขในโรงเรียนเท่าที่ควรจะเป็น”

อาจารย์ไม่มีโมเม้นท์สับสนว่าจะไปทิศทางไหนบ้างเลยหรือ

“ไม่มี ผมเป็นคนชอบการเมือง คนอื่นเข้านอนแล้ว ผมยังชอบนั่งคุยกับพ่อจนดึก เคยคิดอยากเล่นการเมืองด้วย เคยคิดจะตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่อยู่ ป.6 มีโมเม้นท์แบบนั้นอยู่ตอนเด็กๆ คิดฝันแบบเด็กๆ แล้วมันก็ค่อยๆ หายไป”

อาจารย์มีอาจารย์ปรีดีเป็นต้นแบบตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เวลามองอาจารย์ปรีดี ได้คิดเผื่อด้วยไหมว่าอาจารย์ปรีดีไม่ได้อยู่ในประเทศในท้ายที่สุด

วรเจตน์กล่าวว่า ไม่ได้รู้จักปรีดีมากนัก รู้จักแบบเด็กมัธยมคนหนึ่ง และชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็ก ความสนใจประวัติศาสตร์ทำให้สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ก็ไม่ได้เข้าใจมากนัก และสนใจเรื่องความลึกลับบางอย่างในสังคมไทย เช่น เรื่องสวรรคตของรัชกาลที่ 8 รู้จักสุพจน์ ด่านตระกูล ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว

“แม้ในชั้นที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ความรู้สึกผมรู้สึกดีกับคณะราษฎร มีความมุ่งหมายทำให้คนเป็นคนเท่าๆ กัน ไม่ได้รู้อะไรมากกว่านี้ ที่ถามว่าได้นึกในมุมที่อาจารย์ปรีดีท่านไม่ได้กลับประเทศไหม ไม่นึก ไม่ได้คิดมุมนี้เท่าไร ความสนใจของผมไปเพ่งในจุดที่ท่านมีความกล้าหาญ คนหนุ่มอายุสามสิบเศษและกล้าทำกิจการที่จะคงอยู่ชั่วดินฟ้า เราไม่ได้มองในมุมผลที่ท่านได้รับหลังจากนั้น”

มาสู่ยุคร่วมสมัย มีการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ อยากให้อาจารย์ขยายความคำว่า enlighten ซึ่งเป็นจิตวิญญาณในการก่อตั้งนิติราษฎร์ขึ้นมา

วรเจตน์กล่าวว่า ตอนที่กลับจากเรียนกฎหมายมหาชนจากต่างประเทศในปี 2542 มีบทบาทให้ความเห็นในทางกฎหมายอยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเทคนิค เรื่องแรกๆ เป็นเรื่องซุกหุ้นของอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่ไม่ได้เชื่อมกับการเมืองในระนาบกว้าง จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ประเด็นนายกฯ พระราชทาน มาตรา7 ซึ่งเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2548-2549 ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง 

“หลังจากนั้น เรื่องทางการเมืองก็ผลักมาในจุดที่คนบอกว่าทำไมผมให้ความเห็นเข้าทางรัฐบาลอยู่ตลอด เพราะว่าในทางการเมืองมันเป็นการใช้กฎหมายที่ทำลายล้างอยู่ด้านเดียวโดยไม่ได้ถือหลักการที่ถูกต้อง มองย้อนกลับไปยิ่งเห็นว่าที่ผมรู้สึกแบบนั้นมันไม่ผิด”

“หลัง 2549 ตั้งกลุ่ม “5 อาจารย์” ขึ้นมา จะว่าไปมันเป็นปฏิกิริยาโดยตรงกับรัฐประหาร 2549 จากนั้นปี 2553 ก็ตั้งนิติราษฎร์ขึ้น นิติราษฎร์เป็นปฏิกิริยาโดยตรงกับการล้อมปราบกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ผมรู้สึกว่าทำไมบ้านเมืองเราย้อนยุคอีกแล้ว ฆ่ากันตายกลางเมืองอีกแล้ว แล้วรู้สึกว่างานในทางกฎหมายที่เราพยายามทำมันไม่พอ...เราต้องทำอะไรให้มากขึ้น หมายความว่า เราควรจะมูฟประเด็นทางกฎหมาย จากเดิมที่มีลักษณะตั้งรับคือมีการตัดสินคดีแล้วเราก็มีแถลงการณ์โต้แย้ง มาเป็นเชิงรุก คือ ควรจะมีข้อเสนอบางอย่างนำสังคมไปในแง่มุมทางกฎหมาย”

วรเจตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้เหตุที่ไม่ได้ทำในนาม “5 อาจารย์” ต่อ เนื่องจากโดยชื่อนั้นทำให้ไปผูกกับคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยอัตโนมัติ ทำให้เพื่อนอาจารย์ในคณะจำนวนหนึ่งไม่สบายใจ จึงใช้ชื่อกลุ่มเฉพาะเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย สุดท้ายจึงตั้งเป็นนิติราษฎร์

“ตอนแรกในหมู่สมาชิกกลุ่ม 6-7 คน ได้ชื่อจากไอเดียอันหนึ่งว่า การใช้กฎหมายของบ้านเราเหมือนอยู่ในยุคกลางหรือยุคมืดเลย”

วรเจตน์กล่าวว่า ตอนแรกนั้นคิดชื่อเป็นภาษาอังกฤษได้ก่อน คือ enlighten jurist  ส่วนชื่อภาษาไทยนั้นอุเชนทร์ เชียงเสน เป็นผู้ริเริ่มคิดว่า น่าจะใช้ว่า นิติศาสตร์ราษฎร แล้วทางทีมก็กร่อนเสียงเหลือนิติราษฎร์ โดยมีส่วนต่อขยายด้วยว่า นิติศาสตร์เพื่อราษฎร

“มันเป็นอุดมการณ์เล็กๆ ของกลุ่มว่า ในด้านหนึ่งในเชิงหลักเหตุผล สติปัญญา เราข้ามพ้นจากอุดมการณ์ของนักกฎหมายแบบไทยๆ มาสู่กฎหมายแบบที่เป็นสากล เป็นสมัยใหม่ ในเชิงการใช้กฎหมาย การตีความกฎหมายต่างๆ อีกด้านหนึ่งเราจะบอกว่าเราทำเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ได้มุ่งเข้าหาหรือรับใช้อำนาจ แต่มุ่งรับใช้ราษฎร ทีนี้ก็มีคนบอกว่า คำว่าราษฎรเป็นคำที่ใช้ในระบอบเดิม ยุคสมัยใหม่ใช้คำว่า ประชาชน หรือ พลเมือง แต่ผมชอบคำว่า ราษฎร เพราะใน พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 มาตราแรกใช้คำว่า อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย ผมเห็นว่าราษฎรในความหมายทางกฎหมายในตอนเปลี่ยนระบอบมันถูกให้ความหมายใหม่ หมายถึงเจ้าของอำนาจของรัฐ”

พอตั้งนิติราษฎร์ มีการอภิปรายทีไรมีคนฟังเยอะมาก ด้วยท่าทีสนใจและมีความรู้สึกร่วม บางคนน้ำตาคลอเวลาที่ฟังอาจารย์อธิบาย อาจารย์วาดภาพแบบนี้ไว้แต่แรกไหมว่าจะส่งผลต่อประชาชนขนาดนี้

วรเจตน์กล่าว่า ไม่เคยคิด สมาชิกนิติราษฎร์ทุกคนก็ไม่เคยคิด เพียงแต่อยากมีพื้นที่ในการนำความเห็นออกสู่สาธารณะให้คนอื่นตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ทางกฎหมาย

“ปัญหาของการไม่เคยคิดเรื่องนี้ส่งผลในเวลาต่อมา ความรู้สึกของคนที่คาดหวังต่อนิติราษฎร์มันสูงกว่าตอนที่ผมและเพื่อนๆ ในกลุ่มคิดตั้งนิติราษฎร์ ในแง่ที่ว่า มีประมาณ 2-3 ครั้งที่ผมถูกกระตุ้นให้รับบทบาทเป็นผู้นำมวลชน ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย คิดแต่ว่าที่ใช้กฎหมายแบบนี้ไม่ถูก ไม่ใช่ จะสอนหนังสือได้ยังไง คิดแค่นำความคิดเราออกสู่สาธารณะ ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าคนจะเข้าใจเรามากน้อยแค่ไหน แต่ผมประเมินว่าเหตุผลอันหนึ่งที่นิติราษฎร์ประสบความสำเร็จ ติ๊ต่างว่าประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จหรือไม่ประวัติศาสตร์จะเป็นคนตอบ เราตั้งในปี 2554 นิติราษฎร์มีบทบาท 3 ปีที่ค่อนข้างโดดเด่น เพราะคนทั่วๆ ไปเขาสัมผัสได้เองว่าบ้านเมืองนี้มันไม่ยุติธรรม เราแค่พูดจากหลักวิชาที่เราเรียนมา มันตรงกับใจของเขา ไม่ได้พูดเข้าข้างเขาด้วยเพราะหลายอย่างการมูฟของฝ่ายการเมืองหลายเรื่องผมก็ไม่ได้เห็นด้วย บางเรื่องก็คิดไม่ตรงด้วย แต่พ้อยท์ในทางกฎหมาย สารที่เราพยายามสื่อมันไปถึงคนจำนวนมาก ไม่ใช่นิติราษฎร์เก่งฉกาจปราดเปรื่องกว่าคนอื่น แต่บริบทของสังคมในเวลานั้นมันรับกับเรื่องที่เรากำลังทำพอดี ในขณะที่คนในสังคมรู้สึกว่าแบบนี้มันไม่ถูก แต่ไม่มีคนพูด อธิบายในสิ่งซึ่งเขาไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาวิชาการได้ เขารู้ว่าคืออะไรเพียงแต่พูดไม่ได้  เราพูดได้เพราะเราถูกฝึกมาเรียนมา แล้วคนจำนวนไม่น้อยที่มีจิตใจเป็นธรรมรู้สึกว่ามันใช่”

มีความประทับใจอะไรเล่าให้ฟังบ้างไหม

วรเจตน์กล่าวว่า นอกเหนือจากจดหมายสาปแช่งด่าทอ ก็ยังมีกำลังใจล้นหลามจากหลายส่วน

“คนซึ่งมาฟัง ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนส่วนใหญ่ identify ตัวเองว่าเป็นคนเสื้อแดง แล้วเวทีนิติราษฎร์ที่จัดก็มีคนเสื้อแดงมาร่วมเป็นส่วนใหญ่ ผมไม่เคยปฏิเสธ แต่ผมก็ไม่เคยปฏิเสธให้คนเสื้อเหลืองมาฟัง เพียงแต่เขาไม่มาฟัง เวทีที่เราทำเป็นเวทีเปิด เคยมีคนบอกผมว่าเวทีที่จัดทำไมปล่อยให้มีแต่พวกเสื้อแดงมา ผมไม่ได้ปล่อย เขามากันเอง เขาอยากมาฟัง อยากทำความเข้าใจ แล้วผมรู้สึกว่าเวลาที่เขาฟัง พลังที่ผมและเพื่อนทุ่มไปไม่เสียเปล่า เพราะผมเห็นพัฒนาการ คนที่มาฟังเป็นชาวบ้านธรรมดา บ้านๆ แต่อันที่จริงก็มีทุกระดับที่มา ผมรู้สึกว่าคำถามที่ชาวบ้านธรรมดาถาม หลายคำถามสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้ถามจากความไม่รู้อะไรเลย มันสะท้อนให้เห็นว่าเขาเก็ตสารที่เราสื่อ คำถามมีความแหลมคมโดยตัวเอง แปลว่าเขาเข้าใจสภาวการณ์มากกว่าที่คนประเมิน”

“เวลาที่เราประเมินคนในสังคมไทย มักจะพูดว่า ราษฎรส่วนใหญ่ยังโง่อยู่ เหมือนสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง และผมเชื่อว่าถ้าโครงสร้างสังคมไทยเป็นแบบนี้ การประเมินแบบนี้จะถูกประเมินต่อไปอีกใน 200 ปีข้างหน้า คนไทยจะไม่มีวันฉลาดในสายตาของผู้ที่ครอบงำโครงสร้างหลักของสังคมไว้ พวกเขารับไม่ได้ที่คนฉลาด คิดเองได้ แต่ผมรับได้ ทัศนะของผู้กุมอำนาจรัฐเขามองผมว่าผมอยู่บนหอคอยงาช้าง พูดแต่วิชาการกฎหมายเมืองนอก บ้าคลั่งตะวันตก ไม่ดูสภาพสังคมไทย แน่นอน บางสถานการณ์เราได้แต่นั่งฟังเพราะเถียงไปก็ไม่มีประโยชน์ ผมได้แต่นึกในใจว่ามันไม่ใช่แบบนั้น ผมไม่ใช่คนที่ไม่เคยสัมผัสกับคน อย่างน้อยครอบครัวเป็นยังไง มาจากคนระดับไหน แม้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยผมก็สัมผัสกับคนทั่วไป มีจุอ่อนจุดแข็งยังไง ผมรู้ มีด้านที่รักความเป็นธรรมยังไง มีด้านที่ใช้อารมณ์ในการตัดสินอย่างไร ผมเห็น แต่ที่บอกว่ายังโง่อยู่ มันไม่ใช่ และจริงๆ มันเปลี่ยนไปแล้ว”

อาจารย์รู้สึกร่วมกับความไม่เป็นธรรม รู้สึกร่วมกับชาวบ้าน แล้วพอสู้ๆ ไปก็พบว่ามันไม่ไปไหนเลย อาจารย์มีแกว่งไหม

วรเจตน์ตอบว่า ไม่แกว่ง แต่ความทุกข์ที่มีร่วมกับคนอื่นย่อมมีเป็นธรรมดา การเห็นคนต้องติดคุกก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผลักให้ทำเรื่องมาตรา 112 ด้วย

“คำถามคือเราทำอะไรได้บ้าง และเราทำได้แค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องซึ่งเป็นเรื่องศีลธรรม เป็นเรื่องส่วนตัวของคนแต่ละคน ต้องเคารพการตัดสินใจของคนแต่ละคน แต่ถามว่าผมรู้สึกไหมว่ามันจะไม่มีทางไปสู่ประชาธิปไตยได้ ผมว่ามันต้องไปถึง เพียงแต่ว่ามันอาจจะนานกว่าที่ผมคิด แต่ว่าเวลามองยาวๆ บางทีเราอาจมาได้เยอะแล้วแต่เราไม่รู้ บางทีมันอาจอีกนิดเดียวก็ได้ที่จะถึง อาจแค่คืบ ศอก วา หรือโยชน์หนึ่ง แต่มันต้องถึง พัฒนาการของสังคมโลกมันไปในทิศทางนี้”

“และผมมีกำลังใจที่ดีเสมอ แต่แน่นอน ผมเข้าใจ สำหรับคนที่ทุ่มไปเต็มๆ ย่อมทดท้อ บางคนอาจหมดหวังด้วย แต่ผมไม่หมด มันจะถึง ...แต่มันก็ไม่ใช่จะเป็นอะไรที่เสร็จสมบูรณ์ ผมหมายถึงถึงประชาธิปไตยในแง่พื้นฐานหลักการทั่วไป ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักสิทธิเสรีภาพทั่วไป เรื่องอื่นยังต้องสู้อันอีกเยอะ”

“เรื่องศาสนาจะเป็นเรื่องที่ตามมา และยากกว่าอีก...สมมติเรามีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองแล้วระดับหนึ่งแล้ว แต่สำหรับเรื่องนี้ แม้แต่คนสู้มาด้วยกันก็อาจจะขัดใจกันในประเด็นนี้เพราะมันเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐไทยเชื่อมโยงกับศาสนามายาวนาน..แต่ผมเชื่อว่าถ้าฐานมันดี มันจะมีระบบของการแก้ปัญหาที่หวังว่าจะไม่เกิดสงครามศาสนาอย่างที่ยุโรปเผชิญมา ฆ่ากันจนจำนวนประชากรลดลง กว่าเขาจะเป็นกลางทางศาสนา กว่าจะเชื่อจริงๆ ว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นเรื่องของบุคคลจริงๆ”

อะไรทำให้อาจารย์ไม่รู้สึกท้อแท้

“เราดูประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของแต่ละประเทศในโลกนี้สิ มันใช้เวลาทั้งนั้น ไม่ใช่ชั่ววันชั่วคืน ผมว่าผมน่าจะมีชีวิตอยู่ได้เห็น ประเมินจากการมีโรคประจำตัวด้วยนะ แต่ถ้าไม่ได้เห็นจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เราได้วางหมุดหมายอันหนึ่งเอาไว้ แล้วมีคนมารับช่วงต่อ มันต้องมีแน่ไม่ต้องห่วง”

ช่วงตอบคำถาม

ไชยันต์ รัชกูล : ที่อาจารย์โดนทำร้ายเป็นเหมือน a price to be paid สำหรับคนว่ายทวนกระแสน้ำ ตอนถามอาจารย์ปรีดีที่ฝรั่งเศสว่าที่ผ่านมาที่ต้องหนีตาย ต้องลำบากมาก ลงทุนลงแรงเสี่ยงชีวิตแล้วมันได้อะไรขึ้นมาบ้าง คิดว่าทำถูกแล้วหรือ แต่ถามตอนนั้นไม่มีโอกาสเปลี่ยนแล้วสำหรับอาจารย์ปรีดีเพราะเป็นปัจฉิมวัยแล้ว แต่เปรียบเทียบกับอาจารย์ยังอยู่ในวัยที่อะไรได้อีก เท่าที่ฟังอาจารย์ไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา ทั้งที่การถูกชกก็เป็นสัญญาณอันตรายมาก มันอาจเป็นภัยถึงชีวิตก็ได้ และบางคนพูดว่า รู้ว่ากระแสเป็นอย่างนี้อย่าไปว่ายทวนกระแส ตามกระแสไปแล้วค่อยๆ เปลี่ยน อาจทำงานได้มากกว่าด้วยซ้ำ การว่ายทวนน้ำนั้นเสี่ยงกับตัวเองและครอบครัว แต่อาจารย์บอกว่าไม่น่าเสียใจ จะทำต่อแม้จะเสี่ยงก็ตาม

“คำถามนี้อันที่จริงเป็นคำถามที่กระทบใจ ครอบครัวผม น้องผมก็ไม่ได้สุขสบาย ยังต้องทำงานอยู่ ผมก็เคยคิดอย่างที่อาจารย์ถาม จะเรียกว่าคิดก็ไม่ได้ คือ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้อาจจะดีกับคนอื่นๆ รอบข้าง เราอาจดูแลเขาได้เยอะกว่านี้ แต่ผมโชคดีผมได้ญาติพี่น้อง ครอบครัวที่เข้าใจ เขาอาจไม่เต็มใจเข้าใจก็ไม่อาจทราบได้ แต่เขาทราบว่าผมเป็นแบบนี้”
“อาจารย์ครับแต่ละคนมันมีธรรมชาติของมัน ผมคิดว่าท่านผู้ประศาสน์การเอง แม้ไปถามท่านในวันที่อยู่ต่างประเทศแล้วว่าย้อนกลับไปจะทำแบบนั้นไหม ท่านก็อาจตอบแบบเดิม บางทีมันไม่ได้สำคัญว่าจะมีชีวิตอยู่ยังไงมากกว่าสำคัญว่าการมีชีวิตนี้สัมพันธ์กับที่เราเป็นตัวเราหรือเปล่า”

“และผมคิดว่ามีคนที่สูญเสียลำบากกว่าผมเยอะ คนทั่วๆ ไป ทุนที่เขาลงไปบางทีมันคือชีวิต ที่เราลงไปมันอาจไม่เยอะก็ได้ แต่เยอะหรือไม่เยอะก็อาจต้องให้คนอื่นประเมินเรา เพียงแต่ว่าผมนึกไม่ออกว่ามันจะเป็นอย่างอื่นได้ยังไง เพราะผมไม่รู้สึกว่าที่ผมทำลงไปเป็นการหวังร้ายต่อคนอื่น ผมถูกหาว่าเป็นคนเนรคุณ ผมได้รับพระราชทานทุนจากมูลนิธิอานันทมหิดล ความคาดหมายของคนทั่วไปคงคาดหมายอีกแบบหนึ่ง เวลาที่เราทำเราก็ตอบคำถามกับตัวเองว่าเราทำอะไรที่เนรคุณหรือไม่ถูกต้องไหม ผมก็รู้สึกว่าไม่ใช่ ผมไม่ประสงค์ร้ายกับใคร ถ้าลองนึกดูดีๆ มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net