Skip to main content
sharethis

ตอนจบของบันทึกจากภาคสนาม เล่าเรื่องของผู้คนในพื้นที่-ร่องรอยทางประวัติศาสตร์และสภาพความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ก่อนกลายเป็นผู้ลี้ภัยภายในบ้านตัวเอง หลังความพยายามหลายทศวรรษของรัฐพม่าที่ต้องการลบล้างชาวโรฮิงญาออกจากรัฐยะไข่ รวมไปถึงการยึดครองที่ดินของชาวโรฮิงญาโดยชาวพุทธยะไข่ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ตอนที่ 1 ภาคสนามจากรัฐยะไข่: ร่องรอยทางประวัติศาสตร์-ความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญา (อ่านที่นี่)

000

สภาพปัจจุบันของชุมชนและค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศสำหรับคนมุสลิมในเขตซิตตเว 

หลังเหตุการณ์จลาจลปี ค.ศ. 2012 ชาวมุสลิม-โรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองซิตตเวทั้งหมดได้ถูกบังคับเคลื่อนย้ายออกจากเขตเมืองเข้าไปอาศัยอยู่ในชุมชมชาวมุสลิมดั่งเดินตามแนวชายฝั่งและค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (Internally Displaced Persons: IDP) ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองซิตตเวซึ่งมีลักษณะไม่แตกต่างสถานที่กักกัน เพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ถูกโอบล้อมด้วยเขตทหารทอดยาวขนาบไปจรดกับชายทะเล ด้านในพื้นที่ยังมีค่ายทหารตั้งกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก โดยอ้างเหตุเพื่อรักษาความปลอดภัย

ทว่าผู้คนในพื้นที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐถูกส่งมาเพื่อจับตาความเคลื่อนไหวของพวกเขามากกว่า ผนวกกับมาตรการในการควบคุมพื้นที่อย่างเคร่งครัด ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่แห่งนี้ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ ยกเว้นการเดินทางออกทางทะเลเพื่ออพยพไปยังประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ต่อไป

ผู้นำชาวมุสลิม-โรฮิงญารายหนึ่งกล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่นมีส่วนอำนายความสะดวกให้แก่ขบวนการอพยพทางทะเล เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าคนมุสลิมไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกพื้นที่ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐพวกเขาจะเดินทางผ่านจุดสกัดทหารที่กระจายตัวหลายแห่งในชุมชนไปสู่จุดลงเรือได้อย่างไร และตรงกันข้ามนี้ การเดินทางออกนอกพื้นที่โดยใช้เส้นทางบกซึ่งเชื่อมต่อกับเขตเมือง ซิตตเว ที่มีเพียงเส้นทางเดียวกลับถูกควบคุมและกีดกันอย่างเข้มงวด มีจุดตรวจที่ตั้งอยู่หน้าชุมชนสองแห่งซึ่งคณะผู้เขียนเข้าออกพื้นที่ด้วยเส้นทางนี้ จุดตรวจแห่งแรกตั้งอยู่หน้าพื้นที่ ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารของบุคคลที่เดินทางเข้าออกพื้นที่ จุดตรวจแห่งที่สองซึ่งอยู่หน้าค่ายทหารเน้นการตรวจจับการสัญจรเป็นสำคัญ

เช่นกัน ชุมชนมุสลิม-โรฮิงญาแห่งอื่นๆ ที่ต่างมีข้อปฏิบัติเดียวกัน คือ บุคคลภายนอกที่ต้องการเข้าออกชุมชนต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นในเขตซิตตเว ส่วนชาวมุสลิม-โรฮิงญา รวมถึงชาวมุสลิมชาติพันธุ์คามาน ที่แม้บางส่วนมีบัตรประชาชน หลังปี ค.ศ. 2012 ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ ยกเว้นกรณีเร่งด่วนที่ได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ เช่น กรณีเจ็บป่วยรุนแรงที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากภายในพื้นที่ไม่มีแพทย์ประจำสถานพยาบาล แต่มีเพียงผู้ป่วยเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกพื้นที่ สมาชิกในครอบครัวไม่สามารถติดตามไปเฝ้าคนไข้ได้

นอกจากนี้ กระบวนการในการพิจารณาส่งตัวผู้ป่วยไปรักษามักมีความล่าช้าจนกระทั่งผู้ป่วยอาการทรุดหนัก ผู้ป่วยที่ถูกส่งออกไปรักษาตามลำพังมักเสียชีวิต ชาวมุสลิม-โรฮิงญาจึงไม่ค่อยเชื่อมั่นในจรรยาบรรณทางการแพทย์และกระบวนการส่งตัวคนไข้เข้าไปรักษาในโรงพยาบาลมากนัก ทั้งนี้ นอกจากมาตรการควบคุมการเดินทางที่เข้มงวดแล้ว สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางของชาวมุสลิม-โรฮิงญา คือ ความหวาดกลัวว่าจะถูกฆ่าและทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นเหตุการณ์มักเพิกเฉยหรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุให้เกิดการลุกลามเหมือนดังเช่นเกิดขึ้นในเหตุการณ์ปี ค.ศ. 2012

จุดตรวจก่อนเข้าชุมชนโรฮิงญา

ค่ายทหารก่อนเข้าพื้นที่ชุมชนชาวโรฮิงญา

สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไปในชุมชนท้องถิ่นและ IDP ในเขตซิตตเวแห่งนี้ หนาแน่นไปด้วยผู้คนซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นคนท้องถิ่นและผู้คนจำนวนมากเป็นผู้ลี้ภัย ย่านตลาดสดประจำหมู่บ้านมีลักษณะคล้ายตลาดนัดที่พบเห็นได้ในพื้นที่ทั่วไปที่จำหน่ายผัก ผลไม้ และมีสัตว์จำหน่ายบ้าง มีร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และจำนวนส่วนเป็นสินค้ามือสอง มีร้านขายขนม ร้านน้ำชา โรตี และมีร้านขายของชำรวมถึงตลาดสดขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ทั่วไปในเขตชุมชนและ IDP

บรรยากาศของร้านค้าและย่านตลาด ทั้งนี้จะพบตลาดและร้านค้าขนาดเล็กในเขตชุมชนและค่ายผู้ลี้ภัย

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ ในขณะนี้ผู้ส่วนมากมีฐานะยากจน เพราะไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ บ้านเรือนผู้ลี้ภัยส่วนมากมีสภาพทรุดโทรม บางหลังมีผนังเพียงครึ่งเดียวคือส่วนใต้ถุนของตัวบ้านเพียงเท่านั้น บางคนต้องนอนบนพื้นดิน บ้านเรือนหลายหลังที่ได้รับความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติเมื่อกลางปี ค.ศ. 2015 แทบไม่ได้รับการซ่อมแซม น่าสนใจว่า ในขณะที่บ้านเรือนของผู้ลี้ภัยมีสภาพทรุดโทรม แต่ผ้าใบของ UNHCR ซึ่งน่าจะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างและซ่อมแซมบ้านเรือนของผู้ลี้ภัยจำนวนมากกลับมีใช้ตามบ้านเรือนและในย่านการค้าในตัวเมืองซิตตเว

นอกจากนี้ ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่แห่งนี้ยังประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตในอีกหลายด้าน เด็กจำนวนมากไม่ได้ไปโรงเรียนและไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัญหาหลักในช่วงฤดูหนาว และโดยเฉพาะภาวะขาดแคลนอาหารซึ่งเป็นปัญหาหลักในชีวิตประจำของผู้ลี้ภัยส่วนมากที่ปัจจุบันมีอยู่สองประเภท ประเภทที่หนึ่ง คือผู้ลี้ภัยจำนวนน้อยเท่านั่นที่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อได้รับความช่วยเหลือด้านอาหาร แต่แทบไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครอบครัว และประเภทที่สอง ผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนซึ่งรวมถึงคนท้องถิ่นจำนวนมากที่มีฐานะยากจน ที่มีความยากลำบากในการดำรงชีวิตมากกว่าคนประเภทแรก เพราะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือเนื่องจากไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนที่จัดทำโดยรัฐ  

สภาพบ้านเรือนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

ผ้าใบของสหประชาชาติกลายเป็นผ้าใบบังแดดในตลาด

สภาพความเป็นอยู่ของชาวมุสลิม-โรฮิงญา ในชุมชนดั้งเดิมและ IDP ในเขตซิตตเวซึ่งมีความยากลำบากมากยิ่งหลังปี ค.ศ. 2012 ดังที่นำเสนอไป ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งได้กล่าวถึงตัวเองและคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ว่า มีสภาพไม่ต่างจากนักโทษที่ถูกจองจำในเรือนจำ เพราะแม้จะมีอิสระในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เกิดภายใต้การถูกควบคุมให้อยู่ในพื้นที่อันจำกัดอย่างเข้มงวด ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางอีกทั้งด้วยปัญหาการขาดแคลนอาหาร ความยากลำบากในการเข้าถึงระบบสาธารณะสุข การไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ความยากจนและความอดอยาก

สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวมุสลิม-โรฮิงญาขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และในที่สุดจำนวนประชากรชาวมุสลิม-โรฮิงญา คงจะค่อยๆ ลดจำนวนประชากรของตัวเองลงอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยที่หลากหลาย

 

ชุมชนชาวมุสลิม-โรฮิงญาในเขตยะเตเตาก์

ชาวมุสลิม-โรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในชุมชนดั้งเดิมในเขตยะเตเตาก์ มีสภาพความเป็นอยู่ไม่แตกต่างกันไปจากชุมชนดั้งเดิมและ IDP ในเขตซิตตเวที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมพื้นที่ที่เข้มงวดของเจ้าหน้าที่รัฐ ประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากไม่สามารถออกไปทำงานนอกหมู่บ้านได้ ยิ่งไปกว่านั้น กรณีหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ชิดกลับชุมชนชาวพุทธ ยังต้องเผชิญกับความตึงเครียดและความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา

คณะผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชุมชนดั้งเดิมของชาวมุสลิม-โรฮิงญาสองแห่งในเขตยะเตเตาก์ที่ตั้งอยู่ไม่หางจากชุมชนชาวพุทธมากนัก โดยชุมชนแห่งหนึ่งมีทุ่งนากั้นกลางระหว่างหมู่บ้านอยู่ประมาณ 50 เมตร ในขณะที่หมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งมีทุ่งนากั้นกลางไม่ถึง 20 เมตร

หมู่บ้านทั้งสองแห่งได้รับผลกระทบจากเหตุจลาจลปี ค.ศ. 2012 มีบ้านเรือนของมุสลิม-โรฮิงญาในหมู่บ้านแห่งนี้ถูกเผาไปกว่า 60 หลังคาเรือน มีเหตุปะทะระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในทุ่งนาซึ่งเป็นพื้นที่กั้งกลางระหว่างชุมชน ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์จลาจล คนมุสลิม-โรฮิงญามีอาชีพทำนา แต่หลังเกิดเหตุการณ์พวกเขาไม่สามารถไปทำนาได้ ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐเป็นสำคัญ เพราะที่นาถูกยึดครองโดยชาวพุทธ ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกหมู่บ้าน และไม่กล้าเดินทางออกจากหมู่บ้านได้เนื่องเกรงว่าจะถูกชาวพุทธทำร้าย ถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธประจำการอยู่ โดยให้เหตุผลเพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ชาวบ้านทราบดีว่าเป็นไปเพื่อสอดส่องความเคลื่อนไหวภายในหมู่บ้านมากกว่าคุ้มครองพวกเขา

ทหารพม่ามานั่งฟังบทสนทนาระหว่างคณะผู้วิจัยกับชาวบ้านโรฮิงญา

ในระหว่างการสนทนาระหว่างคณะผู้เขียนกับชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีทหารพร้อมอาวุธ 4 นาย เดินลาดตระเวนผ่านมาและขอตรวจสอบเอกสารขออนุญาตเข้าหมู่บ้าน พร้อมกำชับให้คณะผู้เขียนเดินทางออกจากพื้นที่โดยเร็ว มิให้นอนในหมู่บ้าน เช่นเดียวกันนี้ ในหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมอย่างเข้มงวด ในช่วงต้นของบทสนทนาระหว่างคณะผู้เขียนและชาวบ้าน มีทหาร 2 นาย ทหารหนึ่งนายถืออาวุธนั่งสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดเกือบตลอดเวลา ทำให้บรรยากาศในการสนทนาเรียกได้ว่าเป็นไปอย่างเงียบสงบ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นข้อจำกัดด้านการสื่อสาร เนื่องจากล่ามชาวโรฮิงญาของคณะผู้เขียนไม่สามารถเดินทางข้ามเข้าไปยังเขตหมู่บ้าน และชาวโรฮิงญาจำนวนมากสื่อสารด้วยภาษาพม่าไม่ได้เพราะถูกกีดกันทางการศึกษาของรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเดินออกนอกพื้นที่ ชาวบ้านที่มีทักษะการสื่อสารซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ ได้แสดงตัว และเนื้อหาการสนทนาเริ่มมีเนื้อมีหนังขึ้นมาตามลำดับ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การอพยพย้ายถิ่นทางทะเล  

หลังเหตุการณ์ปี ค.ศ. 2012 ชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ต้องประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ชาวบ้านได้รับข้าวสารจากรัฐบาลเพียงวันละ 2 กระป๋อง (ไม่เต็มกระป๋อง) ต่อครอบครัวต่อวัน โดยไม่คำนึงว่าสมาชิกในครอบครัวจะมีกี่คน ความอดอยากนี้ได้บีบคั้นให้ชาวบ้านซึ่งเป็นชายล้วนจำนวน 40 คนตัดสินใจลงเรือเดินทางไปยังประเทศมาเลเชียเมื่อปี ค.ศ. 2014 และเหลือเพียง 38 คน ที่เดินทางถึงที่หมาย ในขณะที่อีก 2 รายเสียชีวิตในระหว่างถูกกักตัวเพื่อเรียกค่าไถ่โดยขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยนานร่วมสองเดือน ถึงแม้ความโหดร้ายของขบวนการค้ามนุษย์จะเป็นเรื่องราวที่คนคนโรฮิงญารับบทราบจากประสบการณ์ของสมาชิกในชุมชน แต่ด้วยความอดยากทำให้ในปี ค.ศ. 2015 มีชายจำนวน 8 คนเดินทางไปประเทศมาเลเซีย และด้วยความลำบากที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีความชัดเจนว่าจะมีผู้ตัดสินใจอพยพออกจากหมู่บ้านไปอีกกี่รายในฤดูกาลย้ายถิ่นปี ค.ศ. 2016 ที่กำลังจะมาถึง

ชาวบ้านได้รับข้าวสารจากรัฐบาล 2 กระป๋องนมข้นต่อครอบครัวต่อวัน

ภาพวาดรูปเรือ ในชุมชนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net