Skip to main content
sharethis

เรือนจำกลางคลองไผ่ร่วมกับบ้านศิลปินคลองบางหลวง, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้ฯ จัดโครงการศิลปะเพื่อผู้ต้องขัง เพื่อเพิ่มพื้นที่แห่งอิสระทางความคิด การแสดงออกและมุ่งหวังผู้ต้องขังได้ผ่อนคลาย รวมทั้งสามารถสร้างอาชีพได้ในอนาคต

โครงการศิลปะผ่อนคลาย(Art for relaxation) เป็นโครงการในความร่วมมือระหว่างเรือนจำกลางคลองไผ่ อ.สีคิ้ว  จ.นครราชสีมา, บ้านศิลปิน คลองบางหลวง, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยมีผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ พ.ต.รัฐกฤษณ์ ใจจริง เป็นผู้อำนวยการโครงการ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของโครงการเริ่มจากการที่ผบ.เรือนจำกลางคลองไผ่พบว่าโอกาสของผู้ต้องขังในการเรียนรู้นั้นมีน้อยมาก และผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งเกิดความเครียด มีความไม่สบายอกสบายใจ จากการย้ายออกมาจากพื้นที่เดิม มายังเรือนจำกลางคลองไผ่ ท่านจึงเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม เลยเกิดการริเริ่มการจัดงานโครงการศิลปะ เพราะเชื่อว่านอกจากการทำสมาธิ ศาสนะบำบัดต่างๆ แล้ว ศิลปะเป็นอีกศาสตร์ที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้ จึงติดต่อกลุ่มบ้านศิลปิน คลองบางหลวง เพื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการจัดอบรมในครั้งนี้

พรเพ็ญ กล่าวต่อว่า การเรียนศิลปะผ่อนคลาย ไม่ใช่การเรียนศิลปะในแบบเทคนิคทางการแพทย์ ซึ่งมีจุดประสงค์ในการทราบสภาวะจิตใจของเขา ในทางที่ลึกซึ้ง แต่การเรียนของที่นี่ เน้นการให้โอกาสในการได้แสดงความรู้สึก ได้ระบายในสิ่งที่ผู้ต้องขังต้องการจะสื่อสาร ผ่านกระดาษ ดินสอ ปากกา และสีชนิดต่างๆ ด้วยตัวของพวกเขาเอง

โครงการนี้มีระยะเวลาทั้งหมด 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย-30 พ.ย.โดยคัดเลือกจากผู้ต้องขังกว่า 700 คน พรเพ็ญ  กล่าวว่า เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับผู้ที่สนใจได้ทั้งหมด โดยในตอนแรกตั้งเป้าไว้เพียง 30-50คน แต่ก็ได้ขยับมาเป็น 200 คน ตามคำเรียกร้องของผู้ต้องขังเองและผู้คุม ว่าต้องการโอกาสในการเรียนรู้ครั้งนี้

ในเดือนแรก เป็นการฝึกทักษะเบื้องต้น ให้มีความคุ้นชิ้นกับอุปกรณ์ในการทำงานศิลปะต่างๆ ช่วงแรกใช้วิธีการลากเส้นตรง เส้นโค้ง วงกลม เพื่อให้เกิดสมาธิ ผู้เข้าเรียนทุกๆคนจะได้สมุดประจำตัวและโจทย์บางอย่าง ต่อมาจึงสอนเทคนิคเพิ่มเติม เช่นสีน้ำ สีชอล์ก รวมทั้งตัวผู้ต้องขังเองสามารถเสนอสิ่งที่ตนต้องการจะเรียนเพิ่มเติมได้เช่นกัน  โดยลายไทยและลายกนก เป็นเทคนิคที่มีผู้ต้องขังต้องการเรียนมาก ในช่วงแรกๆเสียงสะท้อนของของผู้ต้องขังต่อการฝึกมือซ้ำๆ วาดวงกลม วาดเส้นตรงนั้น  ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ค่อนข้างน่าเบื่อ’ แต่เมื่อได้ทำไปสักพัก จึงเข้าใจในจุดประสงค์ว่า การฝึกแบบนี้ทำให้เกิดสมาธิและเป็นการฝึกมือให้คุ้นชินอีกด้วย 

เมื่อก้าวเข้าสู่เดือนที่ 3 เสียงสะท้อนจากผู้ต้องขัง กลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ส่วนใหญ่มีความรู้สึกดีใจ ที่มีคนจากข้างนอก และมีศิลปินเข้าไปสอนศิลปะโดยไม่รังเกียจ เพราะการที่ผู้ต้องขังบางส่วนถูกจองจำอยู่ภายในเรือนจำ มักตกอยู่ในสภาวะความรู้สึกว่าเขากำลังโดนความผิด โดนลงโทษให้มาปรับพฤตินิสัย เมื่อได้มาเจอกับกิจกรรมที่ค่อนข้างจะอ่อนนุ่ม ไม่ใช้ความรุนแรงกับเขา เขาจึงรู้สึกดีและเห็นพ้องต้องกันว่ากิจกรรมนี้ช่วยให้สามารถผ่อนคลายได้จริงๆ

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ช่วยบำบัดจิตใจได้ดีมากครับ ทำให้รู้วิธีการใช้สี รู้วิธีการลากเส้น รู้วิธีการควบคุมจิตใจ บอกตรง ตรงนะครับผมเป็นคนอารมณ์ร้อน แต่พอได้มาเรียนการวาดภาพมันทำให้ผม ควบคุมอารมณ์ได้ดีมากเลย มีอะไรก็ระบายลง” 

“กระผมมีความคิดว่าอยากให้มีกองงานวิชาชีพเพื่อจะได้เป็นความรู้และต่อเติมความสามารถของผู้ที่มีใจรักในงานศิลปะ และเป็นอาชีพได้เมื่อพ้นโทษ อยากให้มีโครงการนี้ต่อไปอีกหลายๆ รุ่น นักโทษจะได้ผ่อนคลายและได้ความรู้เป็นประโยชน์ อยากให้มีสถานที่ภายนอกรองรับงานศิลปะของนช.ที่มีความตั้งใจสร้างสรรค์ผลงาน จะได้มีกำลังใจและความหวัง”

“ผมมีความภูมิใจมากครับ ที่มีโครงการนี้ขึ้นมา ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ ตอนยังไม่เรียนผมคิดถึงบ้าน คิดถึงลูก เมียมาก แต่พอเรียนแล้ว ผ่อนคลายมากเลยครับ ขอบคุณครับ” เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมโครงการ

“การนำเอาผลงานของของพวกเขาออกมาแสดงข้างนอกได้ ก็เป็นที่พอใจแก่ผู้คุมและผู้ต้องขังด้วยเช่นกัน” พรเพ็ญ  กล่าว พร้อมให้เหตุผลต่อว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ต้องการที่จะสื่อสารความเป็นตัวตนของเขาออกมาให้สังคมเห็นความเป็นเค้าในอีกแง่มุมหนึ่ง และเธอหวังว่าจะสามารถนำเอาเสียงสะท้อนของคนข้างนอกต่องานศิลปะของพวกเขา กลับไปเล่าให้พวกเขาฟังเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันผลงานบางส่วนของผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมจัดแสดงอยู่ที่งานสัปดาห์หนังสือโคราช (KORAT NIGHT BOOK FAIR) ครั้งที่ 7 ในวันที่ 2-6 ธันวาคม 2558 ณ ลานย่าโม จ.นครราชสีมา และนำมาจัดแสดงอีกครั้ง ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ธันวาคม ณ สวนสันติชัยปราการ ในงาน “Write For Rights” ประจำปี 2558

งานศิลปะทุกชิ้นที่ถูกสร้างภายใต้โครงการนี้ มีความเป็นตัวตน มีความเป็นเอกลักษณ์ และถึงแม้ว่าผู้ร่วมโครงการทุกคนจะเรียนรู้เทคนิควิธีจากวิทยากรผู้สอนมาเหมือนๆ กัน แต่ผลงานเหล่านั้นก็ไม่สามารถซ่อนเร้นอัตลักษณ์ส่วนบุคคลได้ ทุกๆคนมีความเป็นตัวของตัวเองและมีสารที่ต้องการจะสื่อ การได้ดูภาพเขียนเหล่านี้สำหรับคนภายนอกอย่างเรา จึงเป็นมากกว่าการดูภาพเขียนทั่วไป เพราะมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกนึกคิดและความต้องการที่จะสื่อสารในสิ่งที่ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ รวมทั้งการที่คนภายนอกอย่างเราๆ ได้เห็นผลงานที่มีความอ่อนนุ่ม อ่อนโยน ก็ช่วยทำให้การมองภาพของสถานที่ที่ไร้ซึ่งอิสรภาพ นั้นเปลี่ยนไปเช่นกัน เกิดความรู้สึกตื้นตันเล็กๆในใจ ว่าอย่างน้อย พื้นที่ของ ‘อิสระทางความคิด’ ก็ไม่เคยหายไปไหน และเชื่อว่า ศิลปะจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่เล็กๆด้านในและพื้นที่ด้านนอก ได้เป็นอย่างดี

พรเพ็ญ กล่าวถึงความคาดหวังต่อโครงการนี้ว่า คือการทำให้โครงการนั้นเติบโตมากขึ้น และเดินหน้านำเสนอโครงการแก่ผู้บริหารระดับสูงของกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะในเรือนจำหญิงก็มีการจัดกิจกรรมเช่นนี้บ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถเติบโตเป็นนโยบาย ดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคลในการคิดนโยบายเพื่อสนับสนุน โดยมี3 เรื่องที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือ (1) เรื่องของความเชี่ยวชาญ ชำนาญการของบุคคลภายในองค์กร เพราะการจะดำเนินกิจกรรมลักษณะนี้ได้ จะต้องมีผู้ที่สนใจในเรื่องนี้เป็นผู้ดูแลพิเศษ (2) ในกรณีที่ต้องมีการจัดหาบุคคลากรภายนอกอาจจะต้องใช้เวลาในการประสานงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยอาจจะประสานขอความร่วมมือศิลปินจากมหาวิทยาลัยใกล้เคียง (3)ค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์ที่ค่อนข้างสูง

“การจัดกิจกรรมแล้วมันได้ผล มีการควบคุม การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้นหรือการที่ผู้ต้องขังเองมีจิตใจอ่อนโยนและเข้าใจสภาวะจิตใจของตนเองได้ดีขึ้น มันก็เป็นผลดีกับทุกฝ่าย รวมทั้งอาจจะกลายเป็นผลงานของเรือนจำก็ได้ เช่น การส่งออกไปจำหน่าย แทนที่จะต้องทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ๆ ใช้เงินเยอะๆ ใช้ไม้ ใช้อุปกรณ์ ตัด ฟัน อ๊อกกันให้มันอันตราย แถมยังเป็นอาวุธภายในได้อีก ใช้พู่กันกับสีมันไม่เป็นอาวุธที่สามารถทำลายใครได้ แต่กลับทำให้จิตใจเราสงบลง”  พรเพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net