Skip to main content
sharethis

องค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เผยแนวโน้มนายจ้างไม่รับคนเพิ่ม-ไม่ขึ้นเงินเดือน เริ่มเเน่ปี′59 เซ่นพิษเศรษฐกิจ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า สภาได้สำรวจความเห็นของนายจ้างและผู้ประกอบการเกี่ยวกับแนวโน้มการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานปี 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อแถลงอย่างเป็นทางการวันที่ 16 ธันวาคมนี้ เบื้องต้นพบว่านายจ้างส่วนใหญ่กว่า 70% มีนโยบายไม่รับพนักงานเพิ่ม โดยยังคงอัตราเดิมไว้จากปี 2558 เช่นเดียวกับอัตราค่าจ้างที่ส่วนใหญ่ระบุไม่ขึ้น โดยจะคงอัตราปัจจุบันไปจนถึงกลางปี 2559 หลังจากนั้นจึงจะหารือภาพรวมอีกครั้ง
 
นายธนิตกล่าวว่า การคงอัตรากำลังคนของนายจ้างสอดคล้องกับทิศทางของอัตราการใช้กำลังผลิตที่ปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับ 58% เท่านั้น ทำให้ยังเหลือกำลังการผลิตอีกพอสมควร และจะเพิ่มขึ้นได้ในปี 2559 ขณะที่ลูกจ้างมีอัตราเกินงานแต่นายจ้างจะพยายามรักษาเอาไว้โดยไม่ปลดออก หากไม่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องจริงๆ ทั้งนี้ จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปี 2558 ทำให้แนวโน้มอัตราการว่างงานของไทยเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
 
นายธนิตกล่าวว่า ล่าสุดตัวเลขอัตราการว่างงานจากกระทรวงแรงงานเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 3.49 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9% สูงสุดในรอบ 5 ปี ตรวจสอบรายละเอียดพบว่าในจำนวนแรงงานดังกล่าวเป็นอัตราแรงงานที่ว่างงานใหม่อยู่ถึง 1.8 แสนคน ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักที่แรงงานใหม่ว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดรับกับประกันสังคมที่ยอดขอขึ้นทะเบียนว่างงานเพื่อรับเงินชดเชยเพิ่มถึง 1.26 แสนคน สูงสุดในรอบ 6 ปี
 
นายธนิตกล่าวว่า สำหรับการปรับอัตราเงินเดือนปี 2559 นายจ้างส่วนใหญ่ระบุว่าไม่มีการพิจารณาปรับขึ้น โดยยังคงค่าจ้างเพื่อรอให้มีการหารืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่กระทรวงพลังงานได้หารือร่วมกับเอกชนไปแล้ว และระบุว่าจะมีการทบทวนในกลางปี 2559 อย่างไรก็ตาม มีบางกิจการอาจปรับขึ้นเงินเดือนให้บ้าง แต่เป็นส่วนน้อย และหากขึ้นจะไม่เกิน 5% จากเงินเดือนเดิม
 
 
วอนเร่งคดีตุ๋น 4 ล้านส่งไปอิสราเอล
 
ครอบครัวชาว ต.หินโคลน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ 10 ครอบครัว ที่ถูกนายหน้าเถื่อนหลอกไปทำงานประเทศอิสราเอล แต่ไม่ได้เดินทางไปจริงตามที่กล่าวอ้าง ทำให้สูญเสียเงินคนละ 300,000-400,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นเกือบ 4 ล้านบาท ได้นำหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีและบันทึกการจ่ายเงินสดให้แก่นายหน้า ออกมาเรียกร้องให้ทางกรมการจัดหางานและเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งนำตัวนายหน้า 3 คน ซึ่งเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน และมีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.ลำปลายมาศ มาดำเนินคดี และนำเงินมาชดใช้คืนให้แรงงานที่ถูกหลอกทั้งหมด
 
ทั้งนี้ เหยื่อทั้งหมดเคยเข้าร้องเรียนที่สำนัก งานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ และทางจัดหางานได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.ลำปลายมาศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 4 เดือนแล้ว แต่เรื่องยังไม่คืบหน้า สร้างความเดือดร้อนแก่แรงงานที่ถูกหลอก ต้องแบกรับภาระหนี้สินและดอกเบี้ยที่กู้ยืมทั้งในและนอกระบบ เพื่อนำมาจ่ายให้นายหน้า เพราะหวังว่าจะได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ บางรายถึงขนาดต้องนำที่นาไปจำนองกับนายทุน และยังไม่รู้ว่าจะหาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ เพราะลำพังจะใช้จ่ายในครอบครัวก็ลำบากอยู่แล้ว ด้วยแต่ละคนมีอาชีพทำนาและรับจ้างทั่วไป
 
นางบันดิด แก้วโพธิ์ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 190 หมู่ 7 บ้านหินโคน ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ แม่ยายของนายพรศักดิ์ โกษารักษ์ หนึ่งในแรงงานที่ถูกนายหน้าหลอกไปทำงานประเทศอิสราเอล บอกว่า ตนเป็นคนติดต่อเดินเรื่อง และจ่ายเงินให้นายหน้าทั้งหมดรวม 434,000 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 เพื่อจะให้ลูกเขยไปทำงานที่ร้านอาหารในประเทศอิสราเอล เพราะนายหน้าบอกว่าจะได้ค่าจ้างสูงถึงเดือนละ 50,000-60,000 บาท แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 2 ปีแล้วยังไม่ได้เดินทางไปทำงานจริงตามที่กลุ่มนายหน้ากล่าวอ้าง
 
ด้านนายบุญมี ทศมาศ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 183 หมู่ 10 ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ แรงงานอีกรายที่ถูกหลอก บอกว่า ที่ผ่านมาเคยเดินทางไปทำงานประเทศดูไบและซาอุดีอาระเบียมาแล้ว มาครั้งนี้เห็นว่านายหน้าที่มาชักชวนเป็นคนในพื้นที่อำเภอเดียวกัน ไม่คิดว่าจะถูกหลอก จึงได้จ่ายเงินสดให้นายหน้ากลุ่มดังกล่าวไป 4 ครั้ง ครั้งละหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท โดยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินเรื่อง ทำให้สูญเสียเงินรวมวงเงินทั้งสิ้น 413,000 บาท กระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 2 ปีแล้วยังไม่ได้เดินทางไปทำงานยังประเทศอิสราเอลตามที่กลุ่มนายหน้ากล่าวอ้าง จึงมั่นใจว่าถูกหลอก.
 
 
กรมการจัดหางาน ดึงอาสาสมัครแรงงานช่วยสอดส่อง ป้องกันการหลอกแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ชี้ 1 ปีที่ผ่านมาถูกหลอกลวงกว่า 1 พันคน ไปทำงานออสเตรเลีย กัมพูชา ญี่ปุ่น ลาวและเกาหลีใต้มากที่สุด
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน นายอารักษ์ พรหมณี บอกว่า ยังคงพบปัญหาการหลอกลวงแรงงานไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่องทางสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค เว็บไซด์ และบางส่วนเป็นการชักชวนโดยคนรู้จัก หรือโดยผู้ที่อ้างว่าเคยเดินทางไปทำงานต่างประเทศมาแล้ว ดังนั้นกรมการจัดหางานมีแนวคิดที่จะให้อาสาสมัครแรงงาน แต่ละพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเบื้องต้นสำหรับประชาชนที่สนใจจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และคอยบอกข้อมูลให้เข้ามาติดต่อรวมทั้งช่วยเฝ้าระวังการหลอกลวงในชุมชน หากพบว่ามีการชักชวนไปทำงานต่างประเทศก็ให้แจ้งข้อมูลมายังกรม เพื่อจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลทั้งนี้พบว่าระหว่างตุลาคม 2557 - กันยายน 2558 มีคนหางานถูกหลอกลวงให้จ่ายค่าบริการแล้ว แต่ผู้จัดหางานไม่สามารถจัดส่งไปทำงานต่างประเทศได้ 1,103 คน ประเทศที่ถูกหลอกไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ ออสเตรเลีย กัมพูชา ญี่ปุ่น ลาวและเกาหลีใต้ โดยกรมการจัดหางานได้รวบรวมพยานหลักฐานพร้อมด้วยผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลที่หลอกลวง 366 คนในข้อหาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานต่างประเทศได้ และการหลอกลวงได้รับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ตามมาตรา 31 ของพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ 2528 โดยผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 6 หมื่น - 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรั
 
 
สำนักข่าวเอพีเจาะลึก "กุ้งแกะเปลือกโดยแรงงานทาสในไทย"
 
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. สำนักข่าวเอพี สหรัฐอเมริกา รายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในอุตสาหกรรมประมงของไทยในชื่อ “ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลก ขายกุ้งที่แกะเปลือกโดยทาส” เปิดเผยเบื้องหลังผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งที่แกะเปลือกแล้วเรียบร้อย วางขายอยู่ในร้านค้าทั่วอเมริกา รวมถึงในยุโรป และเอเชีย
 
รายงานเจาะลึกตัวอย่างชะตากรรมแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่ถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาสในโรงงานที่ปิดตัวจากโลกภายนอกในจังหวัดสมุทรสาคร ถูกปลุกตั้งแต่ตีสอง ถ้าไม่ลุกจะถูกตี จากนั้นทำงานแกะกุ้งไปยาว 16 ชั่วโมง ผู้คุมแรงงานจะไม่เรียกชื่อคนงาน  แต่เรียกเป็นเลขรหัส
 
นายทิน โย วิน ถูกเรียกว่าหมายเลข 31 ถูกขายมาอยู่โรงงานแกะกุ้งแห่งหนึ่ง พร้อมแรงงานต่างด้าวชาวพม่าอีกเกือบ 100 คน มีเด็กที่เป็นลูกหลานมาด้วย แม้แต่เด็กหญิงตัวผอมบางก็ถูกบังคับใช้แรงงานที่ต้องเอามือแกะกุ้งในกองน้ำแข็งเย็นๆ ยืนที่โต๊ะแกะอยู่อย่างนั้นทุกวันเป็นเดือนๆ โดยไม่ได้ค่าจ้าง 
 
เอพีระบุว่า สถานการณ์ค้ามนุษย์ส่งผลในด้านมืดที่ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก แม้ทั้งรัฐบาลและเอกชนผู้ทำธุรกิจจะประกาศคำมั่นสัญญาว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าประมงท่ีทำมูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 245,000 ล้านบาท สะท้อนถึงปัญหาการคอรัปชั่นและการร่วมกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
หลังจากปีที่แล้ว เอพีเคยรายงานเปิดโปงชะตากรรมของประมงมากกว่า 2,000 ชีวิตในวงจรของอุตสาหกรรมประมงไทยที่ถูกกักขังในอินโดนีเซีย จนเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหยื่อเหล่านี้ได้ และนำไปสู่การจับกุมคนนับสิบ ยึดทรัพย์อีกหลายล้านดอลลาร์ รวมถึงมีการร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาจัดการ  แต่เมื่อสืบสวนสถานการณ์หลังจากนั้น กลับพบว่ากระบวนการดำเนินคดียังถือว่ามีน้อยมาก และเจ้าของกิจการเหล่านี้อีกหลายเจ้ายังลอยนวล
 
จากภาพของเอพีบันทึกไว้วันที่ 9 พ.ย. 2558 เจ้าหน้าที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมทหารและตำรวจบุกทลายโรงงานที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานเหล่านี้ถูกซ่อนอยู่บนถนนในเขตที่อยู่อาศัย หลังกำแพงอาคารที่ดูไม่ออกว่าเป็นโรงงานนรกในจังหวัด แรงงานต่างด้าวบางคนหนีออกมาได้ และทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนช่วยไว้ จึงนำไปสู่การสอบสวน พบว่ามีอย่างน้อย 3 แห่ง แต่ละแห่งมีคนงานอยู่ราว 50-100 คน หลายคนถูกล็อกให้อยู่แต่ข้างใน
 
นายทิน โย วิน อายุ 22 ปี ผู้เป็นหนึ่งในนั้น เล่าว่า ตอนที่เข้าไปใหม่ๆ ได้พักหนึ่งจึงเริ่มรู้ตัวและตกใจมาก บอกกับ น.ส.มี ซาน ภรรยา ว่าแย่แล้ว เพราะโรงงานไม่มีทางออก ถ้าทำอะไรพลาด คงต้องตายแน่ๆ ขณะที่ผู้คุมโรงงานข่มขู่ว่า จะฟ้องตำรวจมาจับ เพราะทั้งสองเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย
 
ทั้งสองและคนงานอื่นๆ อาศัยอยู่ในเรือนนอนสภาพแย่ สกปรก แออัด ถ้าแกะกุ้งได้น้อย จะถูกด่าว่าควาย ทางผู้คุมโรงงานจะอนุญาตให้ออกไปข้างนอกได้ ต่อเมื่ออีกคนต้องอยู่ในบ้าน เพื่อเป็นตัวประกันว่า อีกฝ่ายจะไม่หนีไป แต่ทั้งสองปรึกษากันมาตลอดว่าต้องหนีให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้คุมขู่ว่า เจ้านายมีปืนอยู่ในรถ จะเอามายิงทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะไม่มีทางที่ใครจะรู้
 
กรณีแบบนี้ถูกระบุว่าเป็นเรื่องปกติในจังหวัดนี้ รายงานขององค์การแรงงานสากลประเมินว่า มีแรงงานเด็กต่างด้าวอายุ 13-15 ปีในเมือง และเกือบร้อยละ 60 ของแรงงานพม่าที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงถูกบังคับใช้แรงงาน
 
เอพีรายงานด้วยว่า ในเดือนที่ผ่านมา ใช้วิธีบันทึกภาพรถบรรทุกที่วิ่งเข้าออกโรงงานนี้ และแกะรอยไปจนพบว่า รถวิ่งไปส่งสินค้ายังบริษัทส่งออกรายใหญ่ของไทย จากนั้นสินค้าก็ไปยังสาขาผู้นำเข้าในอเมริกา ที่ส่งสินค้าให้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ไม่ว่า วอลมาร์ท, โครเกอร์, โฮลฟู้ดส์, ดอลลาร์ เจเนอรัล แอนด์ เพ็ตโก
 
นอกจากนี้ยังส่งไปถึงบริษัทสินค้าอาหารทะเลและอาหารสัตว์ ที่ร่วมถึง ชิกเกน ออฟ เดอะ ซี แอนด์ แฟนซี ฟีสต์ ที่ส่งขายให้ร้านขายของชำอย่าง เซฟเวย์แอนด์ชนัคส์ ไปจนถึง พิกกี วิกกลี และ อัลเบิร์ตสันส์ สรุปแล้วใน 50 รัฐ ล้วนมีสินค้าที่ใช้แรงงานทาสวางขายอยู่ ทั้งนี้ อเมริกาเป็นประเทศที่ผู้คนชอบอาหารทะเลมาก ชาวอเมริกันบริโภคอาหารทะเลราว 585 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยคนละ 1.8 กิโลกรัมต่อปี
 
เอพีระบุว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นแหล่งค้ามนุษย์ที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่ง ไทยเองถูกประเมินผลติดเทียร์ 3 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐติดต่อมาแล้วสองปี ส่วนสหภาพยุโรปก็ประกาศเตือนด้วยการขึ้นกำแพงภาษีสามเท่า หากไทยยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ คาดว่าเดือนหน้าจะตัดสินว่าจะแบนสินค้าหรือไม่
 
ซูซาน คอปเพดจ์ เอกอัครราชทูตฝ่ายต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า บ อกกับทางการไทยไปแล้วว่าให้พยายามแก้ไขปัญหา เพิ่มการดำเนินคดี และช่วยเหลือเหยื่อมากขึ้น ส่วนทางผู้บริโภคอเมริกันเองก็ควรแสดงท่าทีต่อบริษัทอาหารทะเลด้วยว่า “เราจะไม่ซื้อของที่ทำมาจากการใช้ทาส”
 
เอพีรายงานในตอนท้ายว่า แม้ว่าโรงงานแกะกุ้งที่ถูกเปิดโปงนี้ จะปิดไปแล้วในขณะนี้ แต่คนงานถูกย้ายไปอยู่อีกโรงงานที่มีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน ส่วนทิน โย วิน และภรรยาที่ตั้งครรภ์อยู่ในศูนย์พักพิงของรัฐสำหรับผู้ถูกค้ามนุษย์ ทางเอพีจึงขอให้เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิแรงงานที่ทำงานใกล้ชิดกับตำรวจ ตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยว่า มีแรงงานรายใดที่ถูกกักตัวโดยไม่สมัครใจหรือไม่
 
 
สธ.ปั้น 300,000 อสม.นักจัดการสุขภาพคนพิการมืออาชีพ
 
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพและความยากลำบากของคนพิการ ที่พบมากอันดับหนึ่ง ได้แก่ การเดินขึ้นบันได ร้อยละ 49 รองลงมาคือการนั่งยองและการเดินบนทางราบ ในระยะ 50 ก้าว ร้อยละ 47 การมองเห็น ร้อยละ 28 และการลุกจากการนอนเป็นท่านั่งร้อยละ 25 นอกจากนี้ยังพบว่ามีประมาณ 3 แสนกว่าคน ที่ใช้ชีวิตทำกิจวัตรส่วนตัวอย่างยากลำบาก เช่น อาบน้ำ ขับถ่าย ล้างหน้า แปรงฟัน โดยมี คนพิการเกือบ 10,000 คน ที่ไม่มีคนดูแล จำเป็นต้องเร่งให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการพ.ศ.2534 ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และอาชีพ
 
ในปีงบประมาณ 2559 นี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีนโยบายเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อดูแลคนพิการในชุมชนทั้งเขตเมืองและชนบทให้ครบทุกคน โดยได้จัดหลักสูตรอบรม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม. ทั้งในกทม.และต่างจังหวัดจำนวน 300,000 คน จากที่มีทั้งหมด 1 ล้าน 4 หมื่นกว่าคน ให้มีความรู้ และความเข้าใจเรื่องคนพิการทั้งปัญหาสุขภาพกายและจิต มีศักยภาพเป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน ดูแลและพิทักษ์สิทธิด้านระบบบริการสุขภาพของคนพิการในทุกชุมชน หมู่บ้านที่อยู่ในความดูแลอย่างมืออาชีพ โดยทำหน้าที่เอกซเรย์ค้นหาคนพิการในชุมชน และส่งต่อให้หน่วยงานในพื้นที่  เพื่อขึ้นทะเบียนและได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทั้งด้านการศึกษา แรงงานและสุขภาพ สร้างบทบาทคนพิการให้เป็นพลังของชุมชนในการดูแลสุขภาพ รวมทั้งให้ อสม.ร่วมกับทีมหมอครอบครัว ซึ่งขณะนี้ มีประมาณ 60,000 กว่าทีมทั่วประเทศ ให้การดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชนหมู่บ้านด้วย
 
ขณะเดียวกันจะให้อสม.รณรงค์ในการ ป้องกันความพิการในอนาคต ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการเป็นสังคมผู้สูงวัยจากอุบัติเหตุจราจร และโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น มั่นใจว่าหากการทำงานของหน่วยงาน อย่างเข้มข้นและเชื่อมโยงกันเช่นนี้ จะทำให้ คนพิการไทยทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่าง ครบถ้วน เป็นพลังพัฒนาประเทศและมีคุณภาพชีวิต ดีขึ้น
 
 
พนง.บริษัทขนส่งร้องเรียนกระทรวงแรงงานเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
 
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน พนักงานจากบริษัท อีเกิ้ล อินเตอร์ทรานส์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการขนส่งทางรถยนต์ จำนวนประมาณ 20 คน เดินทางมายังกระทรวงแรงงานเพื่อร้องเรียนโดยระบุว่าถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
 
นายธนพงษ์ ปัญญาเทือก พนักงานขับรถ ตัวแทนพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง กล่าวว่า วันนี้ตนและพวกเดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ช่วย กรณีที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยนายจ้างระบุว่า ตนและพวกจำนวน 20 คน ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย ข่มขู่เพื่อนพนักงานไม่ให้ทำงาน ทำให้บริษัทไม่สามารถจัดส่งงานให้ลูกค้าได้ เนื่องจากมีการชุมนุมเรียกร้องกันในวันที่ 6-7 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะ ตนชุมนุมกันในวันที่ 6 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์และชุมนุมกันภายนอกสถานประกอบกิจการจึงไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย
 
“ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายจ้างรับข้อเรียกร้องและประกาศเลิกจ้างผมกับพวก ในวันนั้นทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนมาก และได้พยายามเจรจากับนายจ้างแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งพนักงานบางส่วนมีความประสงค์จะให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานตามเดิมและบางส่วนอยากขอให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน” นายธนพงษ์ กล่าว
 
 
แรงงาน 2 บริษัทแห่ร้อง รมว.แรงงานแก้ปัญหาถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หลังเจรจานายจ้างล้มเหลว
 
14 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน มีกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือพนักงานจากบริษัท ซันโคโกเซ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด จำนวน 200 คน ซึ่งผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทกันชน สปอยล์เลอร์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง นำนายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานซันโคโกเซ มาชุมนุมเพื่อติดตามข้อเรียกร้องเป็นครั้งที่ 2  ขณะที่กลุ่มที่ 2 เป็นพนักงานบริษัท อีเกิ้ล อินเตอร์ทรานส์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการขนส่งทางรถยนต์ จำนวน 20 คน เดินทางมายื่นร้องเรียนกรณีที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม  โดยมีนายปฐม เพชรมณี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นผู้รับหนังสือแทน ท่ามกลางการดูแลความเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร โดยมีการปิดประตูทางเข้า-ออกกระทรวงแรงงานในหลายจุด และเปิดให้ประชาชนเดินเข้าได้เพียงประตู 3-7 เท่านั้น
 
ทั้งนี้นายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานซันโคโกเซ กล่าวว่า พวกตนต้องการมาขอความเป็นธรรมกับพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน เนื่องจาก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา พวกตนเคยเดินทางมาที่กระทรวงแรงงานแล้ว เพื่อเจรจา 3 ฝ่ายกับนายจ้างและเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่กลับไม่มีการเจรจาเกิดขึ้นตามที่ได้นัดหมาย ทั้งนี้ พวกตนต้องการให้มีการตรวจสอบงบดุลของบริษัทว่าขาดทุนจริงหรือไม่ เนื่องจากมีรายรับที่เพิ่มขึ้น และมีการชำระหนี้ก่อนกำหนด แต่ไม่มีการพิจารณาตามข้อเรียกร้องของพนักงาน ขณะเดียวกันอยากให้มีการตั้งผู้ชี้ขาด เพื่อหาข้อยุติโดยเร็ว เพราะในวันที่15 ธ.ค.นี้ จะครบกำหนดข้อตกลงสภาพการจ้างงาน นายจ้างสามารถอ้างเหตุปิดงานได้
 
ด้านนายธนพงษ์ ปัญญาเทือก แกนนำพนักงานขับรถของบริษัท อีเกิ้ล อินเตอร์ทรานส์ จำกัด ที่ถูกเลิกจ้าง กล่าวว่า ต้องการให้พล.อ.ศิริชัย ช่วยเหลือกรณีที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยนายจ้างระบุว่าตนและพวกจำนวน 20 คน ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย ข่มขู่เพื่อนพนักงานไม่ให้ทำงาน ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถจัดส่งงานให้ลูกค้าได้ เนื่องจากมีการชุมนุมเรียกร้องกันในวันที่ 6-7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะตนชุมนุมกันในวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ และชุมนุมกันภายนอกสถานประกอบกิจการ จึงไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย  พวกตนได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายจ้างรับข้อเรียกร้องและประกาศเลิกจ้างตนกับพรรคพวกในวันนั้น ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนมาก และได้พยายามเจรจากับนายจ้าง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เรื่องนี้พนักงานบางส่วนมีความประสงค์จะให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานตามเดิม และบางส่วนอยากขอให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
 
 
พนักงานบริษัทรับเหมาก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเหล็กชุบสังกะสี ที่ระยอง รวมตัวประท้วงหลังไม่ได้เงินค่าแรง และค่าเช่าเครื่องจักร
 
(14 ธ.ค.) ที่บริเวณโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเหล็กชุบสังกะสีของบริษัท โพสโค โค้ทเต้ด สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (POSCO TCS ) (ประเทศเกาหลี) ตั้งอยู่ในนิคมอมตะซิตี้ หมู่ 4 ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง มีผู้แทนบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และคนงานรวมทั้งหมด 16 บริษัทฯ เรียกร้องค่าเช่าเครื่องจักรในการทำงาน ค่าก่อสร้าง ค่าหิน ดินทราย และค่าแรงคนงานจากบริษัทผู้รับเหมาช่วงคิดเป็นจำนวนเงินนับ 10 ล้านบาท
       
ทั้งนี้ บริษัทฯผู้รับเหมาอ้างว่าบริษัท โพสโค โค้ทเต้ด สตีล หรือโพสโค ยังไม่จ่ายเงิน โดยมีพนักงานผู้แทนจากบริษัทต่างๆ และคนงานขึ้นเวทีเรียกร้องให้บริษัทรับเหมาจ่ายเงิน
       
นายวิรัช พันธ์ตุ่น อายุ 32 ปี ผู้คุมเครื่องจักรทุกชนิดของบริษัทหนึ่งที่ให้เช่าเครื่องจักรในการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวหลังวางบิลเบิกค่าใช้จ่ายบริษัทที่รับเหมาอ้างว่า บริษัทแม่ยังไม่จ่ายเงิน นอกจากนี้ ยังมีอีก10 กว่าบริษัทก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ปลวกแดง เข้าร่วมเจรจา โดยนัดประชุมตกลงกันใหม่เมื่อเวลา 16.00 น.วันเดียวกัน โดยเชิญผู้แทนบริษัท โพสโค โค้ทเต้ด สตีล (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาชี้แจงพร้อมนำเอกสารการจ่ายเงินให้แก่บริษัทผู้รับเหมา รวมทั้งบริษัทรับเหมาที่รับช่วงอีกกว่า 10 บริษัทเข้ามาชี้แจง
       
ด้าน นายจีน ซู ลี ประธานกรรมการบริษัท โพสโค โค้ทเต้ด สตีล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเหล็กชุบสังกะสีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีกำลังผลิต 450,000 ตันต่อปี ลงทุนก่อสร้าง 280 ล้านเหรียญสหรัฐ มีเป้าหมายผลิตในเดือนมิถุนายน 2559 ได้ทำสัญญาก่อสร้างโรงงานกับบริษัท โพสโค เอ็นจิเนียริ่ง บริษัทผู้รับเหมา และบริษัทโพสโค เอ็นจิเนียริ่ง ได้ทำการจ้างบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ซัพพลาย เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด หรือไอเอสเอส
       
ดังนั้น บริษัทโพสโค โค้ทเต็ด สตีล และบริษัท ไอเอสเอส ไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงใดๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบริษัท ไอเอสเอส แจ้งว่าไม่ได้รับค่าตอบแทน จึงมีการประท้วงเกิดขึ้น ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก บริษัท โพสโค โค้ทเต็ด สตีล ได้ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่บริษัทรับเหมาที่ทำสัญญาโดยครบถ้วน ยืนยันมีเอกสารชำระเงินทุกขั้นตอน ซึ่งโครงการได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ต้นปี และจะหมดสัญญาในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ 
 
 
"ไทยยูเนี่ยน" นำทีมจัดระเบียบแรงงาน เลิกจ้าง "ล้ง" แกะกุ้งกว่า 100 รายทยอยปิดกิจการ
 
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ทางทียูจะยกเลิกการว่าจ้างสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) จากภายนอกทั้งหมด และนำกระบวนการผลิตทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของไทยยูเนี่ยนฯ เพื่อบริษัทจะสามารถควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านแรงงานได้อย่างเข้มงวด และถูกต้องตามกฎหมาย โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 กระบวนการผลิตทั้งหมดจะได้รับการควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนในสายการผลิต ทั้งแรงงานไทยหรือต่างด้าว จะปฏิบัติงานในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นธรรม 
 
การที่บริษัทได้ตัดสินใจดำเนินการเช่นนี้ สืบเนื่องจากการทบทวนตรวจสอบคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานของทียู และการริเริ่มใช้จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานฉบับใหม่ (Business Ethics and Labour Code of Conduct) ของทียูที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการยากที่จะทำให้มั่นใจว่า ล้งอิสระเบื้องต้นจะปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านแรงงานฉบับใหม่ได้อย่างครบถ้วนและเคร่งครัด ทั้งนี้ บริษัทยินดีจะให้โอกาสรับพนักงานกว่า 1,000 อัตรามาทำงานกับทียู 
 
"การย้ายสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำมาอยู่ภายใต้การบริหารของไทยยูเนี่ยนฯ เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานนับพันจะได้รับการว่าจ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมายและทำงานในสถานที่ที่ปลอดภัย ถือเป็นการขจัดแรงงานผิดกฎหมายไปจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยให้หมดไป และขอฝากไปยังผู้ประกอบการทุกรายให้ช่วยกันส่งเสริมการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดีและไม่ยินยอมที่จะให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเด็ดขาด"
 
นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจกุ้ง ทียู กล่าวว่าที่ผ่านมาทียูมีเงื่อนไขให้สถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำอิสระปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดและมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ (Audit) ยอมรับว่า บางครั้งยังมีการตรวจพบแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองมาไม่ถูกต้อง ถือเป็นความเสี่ยง จึงถึงเวลาต้องเลิกจ้าง ซึ่งหวังว่าลูกค้าจะสนับสนุนการดำเนินนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่บริษัทอื่นจะดำเนินการลักษณะเดียวกัน 
 
"ปัจจุบันล้งอิสระจะปรับตัวตามกฎหมายได้ถึง 99.99% แต่อะไรที่เป็นความเสี่ยงแม้แต่ 0.01% บริษัทไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยเราพร้อมรับแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีความชำนาญเข้ามาทำงานกับเราในส่วนงานต่าง ๆ ซึ่งยังมีความต้องการแรงงานอยู่มาก"
 
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช ประธานกิตติคุณของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่าการปรับนโยบายครั้งนี้ของไทยยูเนี่ยนฯ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการบริหารจัดการอุตสาหกรรมนี้ ทั้งนี้ กระบวนการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นทั้งหมดของสมาชิกสมาคม รวมทั้งของไทยยูเนี่ยนฯ จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสมาคมทุกรายไป 
 
แหล่งข่าวจากสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) จ.สมุทรสาคร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจล้งได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่ตำรวจเข้าตรวจจับกวาดล้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดทุกวัน จากปี 2557 มีผู้ประกอบการล้งอยู่ประมาณ 300 ราย ปัจจุบันเหลือผู้ประกอบการล้งกุ้งเพียง 28 ราย และเมื่อนโยบายของทียูที่จะเลิกจ้างล้งอิสระมีผลปลายปีนี้จะมีล้งหายไปอีกส่วนหนึ่ง โดยล้ง 1 รายจะมีแรงงานประมาณ 300 คนต่อแห่ง 
 
นอกจากนี้ ธุรกิจล้งยังได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานส่งออกเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ จากเดิมจะให้ล้งเป็นผู้จัดหากุ้ง แกะกุ้ง และส่งเข้าโรงงาน หรือบางครั้งส่งกุ้งมาให้ล้งแกะ แต่ปัจจุบันโรงงานส่งออกจะไปหาซื้อกุ้งจากฟาร์มโดยตรง และแกะกุ้งเองในโรงงาน ทำให้ล้งขาดรายได้จากค่านายหน้าในการจัดหาวัตถุดิบ ดังนั้น ล้งรายใหญ่ที่เหลืออยู่กำลังหารือที่จะรวมตัวกันทำธุรกิจส่งออกกุ้งเอง 
 
"ช่วงนี้ตำรวจเข้มงวดมาก เข้าตรวจล้งกันทุกวัน ถ้าสิ้นปีคงเหลือกันไม่กี่แห่ง เรียกว่า ธุรกิจล้งใกล้จะสูญพันธุ์กันแล้ว ขณะที่โรงงานส่งออกใหญ่ ๆ กลับไม่เข้าไปตรวจ ไม่ว่าล้ง หรือโรงงานส่งออก ถ้าเข้าไปตรวจต้องพบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเหมือนกัน เพราะทุกวันมีแรงงานต่างด้าวหมุนเวียนเข้า-ออก คนเก่าไปคนใหม่มา เมื่อรัฐบาลยังไม่เปิดให้ขึ้นทะเบียน แต่ตำรวจตรวจจับแต่ล้ง แต่ไม่มีการไปตรวจโรงงานส่งออกขนาดใหญ่เมื่อล้งมีแรงงานต่างด้าวถูกจับ 5-6 คน ทำให้ล้งแห่งนั้นได้รับผลกระทบต้องปิดตัวไป ดังนั้น แนวทางออกหากรัฐบาลเปิดให้ขึ้นทะเบียนได้ตลอด ปัญหาตรงนี้จะผ่อนคลายไป
 
 
กสร.ทวงค่าจ้างให้แรงงานประมงไทยที่กลับจากอินโดแล้วกว่า 12 ล้าน
 
น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการติดตามสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานไทยที่ไปทำประมงที่เกาะอัมบนและเกาะเบนจิน่า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า ตามที่ กสร.ได้เรียกร้องสิทธิให้แรงงานตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 – 2 ธันวาคม 2558 นั้น พนักงานตรวจแรงงานได้รับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอินโดนีเซียแล้วทั้งหมด 1,301 คน มีแรงงานให้พนักงานตรวจแรงงานเรียกร้องสิทธิให้ 210 คน ซึ่งกสร.ได้เก็บข้อมูล สอบถามนายจ้าง ลูกจ้างและดำเนินการให้ได้รับสิทธิประโยชน์แล้ว 149 คน เป็นเงิน 12,666,949 บาท เหลือกำลังดำเนินการ 51 คน และยกคำร้อง 10 คน
 
น.ส.พรรณี กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินคดีอาญานั้น ได้ดำเนินคดีกับนายจ้างในชั้นพนักงานสอบสวนกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) 2 ราย ฐานใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และดำเนินคดีชั้นพนักงานสอบสวนกับกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) 6 ราย และกสร.ยังได้เสนอให้ดำเนินคดีนายจ้างเจ้าของเรือประมง ส.ทองมา ซึ่งมีลูกจ้าง 9 คน เนื่องจากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในความผิดฐานค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดีในชั้นอัยการ
 
 
ครม.เห็นชอบไทย-กัมพูชา เอ็มโอยู ด้านการจ้างแรงงาน
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และ (ร่าง) ข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
 
2. อนุมัติให้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามของผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
 
3. ให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามในเอกสารดังกล่าว
 
4. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และ (ร่าง) ข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ รง. ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง ตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 (เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ) 
 
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ร่าง MOU และ ร่าง Agreement ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (หน่วยงานที่มีอำนาจการดำเนินการ คือ รง. และกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา) มีสาระสำคัญดังนี้1. (ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) มีสาระสำคัญครอบคลุมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองประเทศในด้านแรงงาน ได้แก่ 1.1 ความร่วมมือทางวิชาการ 1.2 ความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน 1.3 ความร่วมมือด้านการจ้างงานระหว่างสองประเทศ 1.4 ความร่วมมือด้านวิชาการอื่น ๆ ที่คู่เจรจามีความสนใจ และการจัดประชุมร่วมระหว่างสองฝ่ายทั้งระดับรัฐมนตรีและระดับหน่วยงานปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านแรงงานและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งกรอบการทำงานที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกของทั้งสองฝ่าย 
 
พล.ต.สรรเสริญ กล่าววว่า 2. (ร่าง) ข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับเดิม ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2546 ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับเหตุการณ์ ในปัจจุบัน อำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส คำนึงถึงสิทธิของแรงงาน และขจัดปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
 
 
เอ็นจีโอชี้ แรงงานต่างด้าวเข้าไม่ถึงการรักษาแม้มีบัตรประกันสุขภาพเหตุถูกจำกัด รพ.
 
น.ส.นงลักษณ์ ดิษฐวงษ์ เจ้าหน้าที่โครงการพื้นที่กรุงเทพฯ ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน กล่าวว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามใน กทม.ที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพนั้น มีความแตกต่างจากพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เพราะถูกกำหนดให้มี รพ.เข้าร่วมให้บริการเพียง 8 แห่ง แบ่งเป็น 1.รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตนราชธานี 2.รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง คือ รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.กลาง และ รพ.วชิระ 3.รพ.เอกชน มี 1 แห่ง คือ รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่ง รพ.เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพชั้นใน ในขณะที่แรงงานต่างด้าวมักจะอยู่เขตชั้นนอก จึงมีความลำบากในการเข้าถึงบริการ ซึ่งเรื่องการรักษามีความสำคัญ ถ้ามีปัญหาด้านการรักษาตามสิทธิ ก็จะส่งผลถึงการป้องกันและควบคุมโรค ถ้าละเลยอาจจะทำให้เกิดปัญหากระทบในด้านอื่นๆ ตามมา
  
"นอกจากนั้นแรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถใช้สิทธิ์ส่งต่อด้วย เมื่อเจ็บป่วยจะต้องไปรับการรักษาใน รพ.ที่กำหนดไว้เท่านั้น หากเจ็บป่วยเล็กน้อยเมื่อไปรับการรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.จะต้องจ่ายค่ารักษาเอง เพราะศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.นั้น ไม่ได้รับงบประมาณจาก รพ.ที่ขายบัตรประกันสุขภาพ หากเจ็บป่วยต้องรับการรักษาตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพจะต้องไปที่ รพ.ที่ซื้อบัตรมาเท่านั้น" น.ส.นงลักษณ์ กล่าว
  
นายชูวงค์ แสงคง ผู้จัดการพันธกิจโครงการพิเศษ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าวใน กทม.นั้น มีความยุ่งยาก ตั้งแต่การเลือก รพ.ที่เลือกซื้อบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว/ผู้ติดตาม ได้เพียง 8 แห่ง และไม่สามารถไปใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ของ กทม.จำนวน 68 แห่ง ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ได้ หากจะไปใช้บริการต้องจ่ายเงินเอง ดังนั้นเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับการดูแลรักษาพยาบาล และได้รับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภาครัฐควรปรับระบบการให้บริการสุขภาพในพื้นที่ กทม.ใหม่ ด้วยการให้ศูนย์บริการสาธารณสุขที่กระจายอยู่ทั้ง 50 เขต เป็นเครือข่ายในการให้บริการกับแรงงานต่างด้าวและควรเพิ่ม รพ.ที่สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเขตกรุงเทพชั้นนอก 
 
"นายจ้างจะเป็นผู้ตัดสินใจในการซื้อบัตรประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าว ดังนั้นนายจ้างส่วนใหญ่ก็จะเลือก รพ.ที่อยู่ใกล้กับสำนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเขต กทม.ชั้นใน ในขณะที่แรงงานต่างด้าวอาจจะต้องทำงานที่เขตอื่น เช่น แรงงานต่างด้าวทำงานแถวสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ รพ.ที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพไว้คือ รพ.ราชวิถี เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องเดินทางเข้ามารับการรักษา ต้องขาดงาน หรือหากไปใช้ศูนย์บริการสาธารณสุขก็ต้องจ่ายเงินเอง และ รพ.ทั้ง 8 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่มีล่ามที่จะพูดจาสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวได้ ก็ต้องหาคนที่สื่อสารได้ทั้งภาษาของผู้ป่วยและภาษาไทยมาช่วยเป็นล่าม" นายชูวงค์  กล่าว
 
ทั้งนี้การเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้ต่างด้าว 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มแรงงานต่างด้าว พร้อมผู้ติดตาม 4 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งแรงงานตามแนวชายแดนที่ทำงานเช้าไปเย็นกลับ โดยฉบับแรก กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นหน่วยงานในการตรวจสุขภาพและขายบัตรประกันสุขภาพให้คนต่างด้าวทุกคนที่อยู่นอกระบบประกันสังคม โดยคิดค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และบัตรประกันสุขภาพ 2,200 บาท รวม 2,700 บาท เด็กอายุไม่เกิน 7 ปีราคา 365 บาท ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี สิทธิการรักษาครอบคลุมทั้งบริการรักษาพยาบาล สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันควบคุมโรค เช่น การฉีดวัคซีน
 
ส่วนประกาศฉบับที่ 2 การซื้อบัตรประกันสุขภาพตามช่วงเวลาที่คาดว่าจะอยู่ในไทย จะมี 3 แบบตามความสมัครใจ คือ คุ้มครอง 1 ปีราคา 2,100 บาท คุ้มครอง 6 เดือน ราคา 1,400 บาท คุ้มครอง 3 เดือนราคา 1,000 บาท ซึ่งรวมค่าตรวจสุขภาพแล้ว เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี ราคา 365 บาทไม่มีค่าตรวจสุขภาพ คุ้มครอง 1 ปี สิทธิเทียบเท่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เช่น การผ่าตัด การรักษาโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง การรับยาต้านไวรัสเอชไอวี 
 
ทั้งนี้ นายจ้างต้องจัดเตรียมเอกสาร และพาแรงงานต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติ ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือกับกรมการปกครอง และขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) รวมทั้งตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองว่าไม่เป็นโรคที่ห้ามอนุญาตให้ทำงาน และประกันสุขภาพกับ รพ.ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด.
 
 
เผยผลสำรวจผู้ประกอบการไทยกว่าครึ่งไม่มั่นใจปีหน้า ศก.จะโต
 
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานด้านเศรษฐกิจและการลงทุน สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นนายจ้างทั่วประเทศ ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2559 และสถานการณ์การจ้างงานในภาพรวม พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่คือประมาณ 50% ไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ขณะที่ 20% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะทรงตัว และ 30% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เห็นสัญญาณบวกที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ แสดงให้เห็นว่าการลงทุนของรัฐบาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เข้าถึงภาคธุรกิจที่แท้จริง
 
นายธนิตกล่าวว่า จากความไม่เชื่อมั่นดังกล่าวได้ส่งผลต่อการจ้างงานในปี 2559 เช่นกัน โดย 75% แสดงความเห็นว่าจะยังรักษาสถานะการจ้างงานเท่าเดิม และจะชะลอการรับแรงงานใหม่ 13% และ 12% ระบุว่าจะจ้างงานเพิ่ม โดยสถานการณ์การชะลอรับแรงงานใหม่ที่ไม่สูงมากเพราะผู้ประกอบการมีการปรับสถานะธุรกิจให้เข้ากับสถานะทางเศรษฐกิจได้ประกอบกับความสามารถในการดูดซับกำลังแรงงานของผู้ประกอบการลดลง เพราะอัตรากำลังผลิตยังเหลือ 30-35% และแรงงานที่จบการศึกษาจะเข้าระบบปี 2559 เพิ่มขึ้น 10% หรือประมาณ 5.9 หมื่นคน จากปัจจุบันตัวเลขแรงงานจบใหม่อยู่ที่ 5.83 แสนคน
 
"สถานการณ์ดังกล่าวทำให้การปรับค่าจ้างปี 2559 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 5% โดยผู้ประกอบการถึง 70% ที่เตรียมขึ้นค่าจ้างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแรงงานและเป็นการรักษาแรงงานป้องกันการย้ายงาน ขณะที่ผู้ประกอบการ 20% ระบุว่ายังไม่มีนโยบายการจ่ายค่าจ้างเพิ่ม ส่วนนโยบายรัฐบาลในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปีหน้านี้ อยากให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการไตรภาคี และค่าจ้างก็ไม่ควรเท่ากันทั่วประเทศ ควรมีระดับ 310-320 บาทต่อวัน จากปัจจุบัน 300 บาทต่อวัน โดยขอให้รัฐบาลเข้ามาพัฒนาฝีมือแรงงาน กำหนดค่าแรงตามฝีมือมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ"นายธนิตกล่าว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net