Skip to main content
sharethis

ในเว็บไซต์ "นิวแมนดาลา" ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ลงบทรายงานจากนักวิชาการสถาบันยุทธศาสตร์กัมพูชา เล่าถึงประวัติศาสตร์คนทำงานบริการทางเพศในกัมพูชาซึ่งต้องเผชิญกับการจัดการจากรัฐในหลายแบบแต่สิ่งที่ฝังรากมาตั้งแต่ยุคหลังเขมรแดงคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างกฎหมายใช้อำนาจในทางที่ผิดกดขี่ข่มเหงคนงานบริการเหล่านี้

สก็อตต์ รอว์ลินสัน นักวิจัยและผู้ประสานงานนักวิจัยจากสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ของกัมพูชา (Cambodian Institute for Strategic Studies หรือ CISS) ในกรุงพนมเปญ เขียนบทความลงในนิวแมนดาลา เกี่ยวกับการใช้อำนาจของทางการกัมพูชาที่ทำให้คนทำงานบริการทางเพศในกัมพูชาอยู่ในอันตราย

รอว์ลินสันระบุว่างานบริการทางเพศมีประวัติศาสตร์ในกัมพูชามานานแล้ว และโดยทั่วไปคนทำงานบริการทางเพศจะโดนควบคุมจากกระบวนการของรัฐทั้งที่เป็นทางการ เช่น กฎหมายหรือบทบัญญัติ และถูกควบคุมแบบไม่เป็นทางการอย่างเช่น การจ่ายส่วย การพ้นผิดโดยอาศัยระบบ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละรัฐบาลก็มีระเบียบในเรื่องการค้าบริการทางเพศต่างกันไปแล้วแต่ว่าว่าผลประโยชน์และการควบคุมของรัฐบาลเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตามในแต่ละรัฐบาลของกัมพูชาก็มีการหยิบยืมแนวคิดหรืออุดมการณ์มาจากรัฐบาลก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเรื่องการค้าบริการทางเพศ เช่นที่ลาริสซา แซนดี เคยศึกษาพบว่าในยุคสมัยที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส (ปี พ.ศ. 2406-2496) มีการพยายามควบคุมคนที่ถูกแปะป้ายว่าเป็น 'ผู้หญิงไม่ดี' หรือ 'ผู้หญิงมีโรค' รวมถึงมีการสร้างซ่องที่จดทะเบียนขึ้นหลายแห่ง

บทความของรอว์ลินสันระบุต่อไปว่าในยุคของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ มีบทบาทนำทางการเมืองในกัมพูชาช่วงปี 2498-2513 มีการเปลี่ยนแปลงด้านการควบคุมและปราบปรามการค้าบริการทางเพศเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เช่นในปี พ.ศ. 2504 มีการสั่งห้ามซ่องและริบใบอนุญาตประกอบการแหล่งค้าบริการแต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 ก็มีการยกเลิกนโยบายสั่งห้ามนี้ทำให้ซ่องกลับมาเปิดทำการอีกครั้งและมีการเก็บภาษีจากคนทำงานค้าบริการทางเพศและออกบัตรคุ้มครองสุขภาพให้กับพวกเขา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก็ถือเป็นลักษณะเฉพาะในช่วงที่เขมรเปลี่ยนผ่านเป็นสาธารณรัฐเขมรนำโดยนายพลลอน นอล ในช่วงปี พ.ศ. 2513-2518 ด้วย

รอว์ลินสันระบุว่าพอมาถึงยุคเขมรแดงยึดอำนาจก็มีการประกาศห้ามการค้าบริการทางเพศโดยสิ้นเชิงจากการที่ประชาชนชาวเขมรถูกปกครองอยู่ภายใต้คณะปกครองที่ทำตัวเหมือนรู้ดีไปหมดและมีลักษณะแบบพ่อปกครองลูก (paternalistic) มีการกดขี่ในทางเพศสภาพเกิดขึ้นในยุคนั้นเช่นการบังคับแต่งงานและการข่มขืน ขณะเดียวกันคณะรัฐบาลเขมรแดงก็ปิดหูปิดตาไม่รับรู้ปัญหาความเจ็บปวดของผู้หญิงในเชิงสุขภาวะอย่างประเด็นเรื่อง การปวดระดู การแท้งลูกโดยไม่ได้ตั้งใจ และการเสียชีวิตจากการคลอดลูก แต่ต่อให้ปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมปานใดการค้าบริการทางเพศก็ไม่ได้หายไปหมด ในยุคนี้เองที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบการต่อรองทางเพศสภาพระหว่างอำนาจรัฐกับกลุ่มคนทำงานบริการทางเพศ

รอว์ลินสันระบุว่าหลังจากยุคเขมรแดงสิ้นสุดลงแล้วในช่วงที่มีกระบวนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมการค้าบริการทางเพศก็กลับมาอีกครั้ง แต่เป็นการกลับมาพร้อมกับการถูกกดขี่จากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเนื่องจากหลังจากที่มีการตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (PRK) จากฝ่ายตรงข้ามเขมรแดงเองก็คงมรดกอย่างหนึ่งของเขมรแดงไว้คือกรขาดความสามารถในการจัดการรัฐ เช่นการขาดระบบยุติรรมขาดระบบราชการ ขาดคนที่มีความสามารถ และขาดหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ลำเอียง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหาช่องทาง "รายได้เสริม" จากการกดขี่ขูดรีด โดยที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้เข้าใจกฎหมายดีแต่ก็จงใจอาศัยช่องทางนี้ในการสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จให้ตนเองและทำให้การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นไปทั่ว

บทความของรอว์ลินสันระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นเองกลายเป็นสิ่งที่ก่อรูปความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานบริการทางเพศกับเจ้าหน้าที่รัฐนับแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลทางลบอย่างมากต่อสิทธิมนุษยชนและการปกครอง

จนกระทั่งถึงเมื่อไม่นานมานี้ ในปี พ.ศ. 2551 รัฐสภากัมพูชาผ่านร่าง "กฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์และการกดขี่ทางเพศ" (LSHTSE) ที่มีเป้าหมายต้องการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์แต่ในบทความของรอว์ลินสันก็ระบุว่าเนื้อความและการบังคับใช้กฎหมายนี้ยังมีปัญหาตรงที่ทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย "อยู่เหนือกฎหมาย" อีกทั้งกฎหมายยังระบุคุ้มครองสิทธิไม่มากพอทำให้คนทำงานบริการทางเพศเข้าถึงกระบวนการกฎหมายไม่ได้และยังคงถูกกดขี่ รวมถึงถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นช่องทางเก็บส่วย

องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเคยรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชาที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดในการล่วงละเมิดทางเพศและทางกายต่อคนทำงานบริการทางเพศเชื่อว่าพวกการกระทำของพวกเขาจะทำให้พวกเขาไม่ต้องรับโทษ อีกทั้งคนทำงานบริการทางเพศซึ่งมักจะมีฐานะเศรษฐกิจไม่ดีส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายส่วยเพื่อให้ตัวเองเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้

รอว์ลินสันระบุว่าปัญหานี้เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมากับประวัติศาสตร์ของประเทศและสถาบันทางการเมืองของกัมพูชา เขาจึงเสนอว่าถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิของผู้ทำงานบริการทางเพศได้นั้นต้องอาศัยกระบวนการทางการเมืองไม่ว่าจะจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านที่มีทรัพยากรในการจัดการและคุ้มครองผู้ถูกกดขี่รวมถึงนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี

 

เรียบเรียงจาก

Sex work and the state in Cambodia, SCOTT RAWLINSON, New Mandala, 11-12-2015 http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2015/12/11/sex-work-and-the-state-in-cambodia/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net