Skip to main content
sharethis

 

18 ธ.ค. 2558 หลังจากที่การประชุมนานาชาติเรื่องโลกร้อนที่กรุงปารีสเสร็จสิ้นลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวโกลบอลโพสต์รายงานโดยตั้งประเด็นว่าข้อตกลงจากที่ประชุมดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนอย่างมาก

ผู้สื่อข่าวเอริน คอนเวย์สมิทธ์ ระบุว่า ทวีปแอฟริกาตอนใต้และตะวันออกเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนมากที่สุดในตอนนี้ จากเดิมที่พวกเขาต้องประสบปัญหาภัยแล้งและผลจากปรากฏการณ์เอลนิโญขั้นรุนแรงอยู่ก่อนแล้ว แต่ภาวะโลกร้อนก็ยิ่งส่งผลให้เกิดปัญหาหนักขึ้นจากความเสียหายทางการเกษตรที่ส่งผลต่อประชากร 10 ล้านคน ทั้งที่แอฟริกาปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมแล้วแค่ร้อยละ 4 เท่านั้น สหภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแอฟริกา (NEPAD) เปิดเผยว่าแอฟริกาได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาความยากจนขั้นรุนแรง

มีคำถามว่าการประชุมใหญ่เรื่องโลกร้อนซึ่งจัดโดยองค์การสหประชาชาติที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมาจะสามารถช่วยเหลือทวีปแอฟริกาได้หรือไม่ หลังจากในที่ประชุมมีการตกลงร่วมกันในการตั้งเป้าลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดระดับภาวะโลกร้อนให้ได้ในระยะยาว ในขณะที่ตัวแทนจากแอฟริกาเรียกร้องในที่ประชุมให้มีจำแนกระดับความรับผิดชอบแตกต่างกันตามระดับความมั่งคั่งและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมโดยให้ประเทศที่พัฒนาและมั่งคั่งกว่าให้ทุนช่วยเหลือประเทศที่แบกรับความเสี่ยงภัยจากภาวะโลกร้อน

ในขณะที่อคินวูมิ อเดสินา ประธานกลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกากล่าวว่าตัวแทนจากแอฟริกาสามารถส่งเสียงของชาวแอฟริกาให้ทั่วโลกได้ยินแล้วและแม้ว่าข้อตกลงจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ข้อตกลงก็เน้นย้ำเกี่ยวกับทวีปแอฟริกาและการเอื้ออำนวยต่อความต้องการของภูมิภาคที่มีประเทศกำลังพัฒนาพื้นที่อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ทางองค์กรพันธมิตรเพื่อความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศแห่งทวีปแอฟริกา (PanAfrican Climate Justice Alliance) ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มประชาสังคมทั่วทวีปแอฟริกาให้ความเห็นต่างออกไปว่า ข้อตกลงจากที่ประชุมในกรุงปารีสยังไม่ดีพอ สำหรับกลุ่มคนตัวเล็กๆ เช่นเกษตรกรรายย่อย คนหาปลา กลุ่มชนพื้นเมือง ผู้หญิง เด็ก และคนชรา ผู้แบกรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่มากับโลกร้อน

โกลบอลโพสต์ยกตัวอย่างกรณีภัยแล้งที่ร้ายแรงที่สุดในเอธิโอเปียทำให้การเก็บเกี่ยวพืชผลล้มเหลวและมีประชากรหนึ่งในสิบของประเทศต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็ประสบปัญหาภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมรุนแรง โดยที่กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือ 'ยูนิเซฟ' (UNICEF) เปิดเผยว่ามีเด็ก 11 ล้านคนในแแอฟริกาตอนใต้และตะวันออกเสี่ยงต่อความอดอยาก ขาดแคลนน้ำ และเสี่ยงต่อโรค ซึ่งเป็นผลจากภัยธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่ข้อตกลงที่ดีที่สุดแต่ทางยูเอ็นก็มองว่าข้อตกลงจากการประชุมที่กรุงปารีสเป็น "ข้อตกลงที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน" เช่นเดียวกับเอดนา โมเลวา รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมจากแอฟริกาใต้กล่าวว่าถึงแม้ข้อตกลงจะไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา

เรียบเรียงจาก

What the Paris climate deal means for Africa, Global Post, 17-12-2015

http://www.globalpost.com/article/6705900/2015/12/15/was-paris-agreement-enough-africa

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net