Skip to main content
sharethis
ชู 'ประชารัฐ' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เผยเข้าใจการรักษาทรัพยากร-สิ่งแวดล้อมของชนบท แต่อยู่แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ระบุนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลต้องสอดคล้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อัดทุกอย่างที่ช้าเพราะยังติดความคิดของตัวเอง ไม่คิดนอกกรอบ 
 

18 ธ.ค.2558 เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยระบุถึงการเตรียมปล่อยของขวัญปีใหม่แต่ละกระทรวง เพื่อ “คืนความสุข” แจงความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าแต่ละสาย การจัดทำข่ายการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์  พร้อมทั้งระบุด้วยว่าตนเองเข้าใจการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชนบท แต่อยู่แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว โดยต้องทำให้เกิดความสมดุล ในระหว่าง เรื่องการพัฒนาประเทศกับเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ชี้ด้วยว่ามีวิธีการปฏิบัติอีกหลายอย่างที่จะชดเชยกันได้ อย่างไรก็ตามยังระบุว่าสร้างความเข้มแข็งในชนบทสำคัญที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการชูแนวทาง 'ประชารัฐ' ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจะเร่งรัดในปี 2559 สร้างความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้น  ผ่านการขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 4 เสาหลัก โดยมีคณะทำงานขับเคลื่อนในเรื่องนี้ 7 ด้าน และ คณะทำงานปัจจัยสนับสนุน 5 ด้าน นอกจากนี้ยังระบุถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลนั้นจะต้องสอดคล้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ยังมองว่ากติกาตัวเดียวกันจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาค่อนข้างเสียเปรียบ พร้อมทั้งมองว่าต้องเร่งดำเนินการ โดยระบุว่าจะให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สำหรับปัญหาที่ทุกอย่างนี่ช้าเพราะยังติดความคิดของตัวเอง ไม่คิดนอกกรอบ ออกมาบ้าง ถ้าคิดนอกกรอบมา แล้วพยายามดึงเข้ากับกรอบ แล้วตีกรอบใหม่ กฎหมายใหม่ทำกฎหมายให้ชัดเจนขึ้นสร้างความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น 
 
ที่มาจากศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล

โดยมีรายละเอียดดังนี้

ถวายอาลัยสมเด็จพระสังฆราช

ก่อนอื่นผมขอร่วมกับพุทธศาสนิกชนไทยทุกคน พร้อมด้วยสมเด็จพระสังฆราช ประธานสงฆ์ และผู้นำศาสนา จาก 13 ประเทศ ในการรวมใจ น้อมส่งเสด็จฯ และถวายอาลัย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก อีกครั้ง และขอขอบคุณคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระศพ และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการถ่ายทอดรวมการเฉพาะกิจ ทางโทรทัศน์ ประชาชนได้ชื่นชมกันทั้งประเทศด้วยความอาลัย แล้วก็งดงามในประเพณีของไทย ที่มีมาแต่โบราณกาล อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของการจัดริ้วขบวนเคลื่อนพระอิสริยยศ ในการแห่เชิญพระโกศพระศพเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างามสมพระเกียรติ ตลอดจนพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมและถวายดอกไม้จันทน์ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมพระเกียรติ และถูกต้องตามโบราณราชประเพณี

ชมกองทัพกีฬาอาเชียนพาราเกมส์

สัปดาห์นี้นั้น ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวไทย ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณกองทัพนักกีฬาอาเชียนพาราเกมส์ รวมทั้งสต๊าฟโค้ช เจ้าหน้าที่ และทีมงานของประเทศไทยทุกคน ที่ได้นำพาความสุขมาสู่คนไทย และความสำเร็จมาสู่ประเทศชาติ ในด้านการกีฬา ด้วยการคว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในการแข่งขัน อาเชียนพาราเกมส์ 2015 ครั้งที่ 8 ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผมได้มีโอกาสติดตามชมการแข่งขันอยู่บ้าง โดยได้มีการถ่ายทอดการให้กำลังใจ ไปทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และได้รับรายงานเป็นระยะๆ ว่ามีความสำเร็จอะไรไปบ้าง ผมก็ชื่นชมให้กำลังใจมาตลอด สุดท้ายนี้ก็ขอชื่นชมในความมุ่งมั่นอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมในสนามซ้อม และหัวใจนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ในทุกสนามการแข่งขัน  อีกทั้งยังประทับใจในความสามารถ ความสามัคคี และน้ำใจนักกีฬาที่แท้จริง ความสำเร็จครั้งนี้ ได้นำเกียรติยศและความภาคภูมิใจมาสู่ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ ผมขอแสดงความยินดีด้วยอีกครั้งหนึ่ง

ขอให้ประชาชนรอติดตามการแถลงผลงานรอบ 1 ปี เปิดให้ได้ซักถาม

อีก 2 สัปดาห์ที่เหลือของปี 2558 นี้ สิ่งสำคัญที่ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ติดตามคือ ระหว่างวันที่ 23 – 25 ธันวาคม 2558 จะเป็นการแถลงผลงานรอบ 1 ปี ของรัฐบาลซึ่งจริงๆ แล้ว เราแถลงไปครั้งหนึ่งแล้วในปีแรก อันนี้เป็นปีที่สอง เพื่อจะสรุปสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ในการที่จะสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน รวมทั้งชี้แจงแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคตทั้งหมด ซึ่งจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นข้อเท็จจริงในเรื่องปัญหาของประเทศ กระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ซึ่งในหลายๆ เรื่อง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งการดำเนินการร่วมกันแบบประชารัฐ

ทั้งนี้รัฐบาลก็จะเปิดโอกาสให้ประชาชน นักวิชาการ และผู้ที่สนใจ รวมทั้งผู้สื่อข่าว ได้ซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนเสนอแนะต่างๆได้ เพื่อที่เราจะได้นำไปสู่การแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว แล้วก็เป็นไปตามความต้องการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรักษากฎ กติกา เรื่องกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ช่องทางที่ถูกต้องในการที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  หรือเสนอความคิดเห็นใดๆ ก็ตาม อย่าไปเสนอในช่องทางที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยส่วนรวม วันนี้ก็อยากให้ติดตาม การแถลงผลงาน ทั้งนี้ ทั้งนั้นในส่วนของรองนายกรัฐมนตรีทุกท่าน และรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ท่านก็พร้อมที่จะชี้แจงตอบคำถามท่านได้ทุกเรื่อง

เตรียมปล่อยของขวัญปีใหม่แต่ละกระทรวง เพื่อ “คืนความสุข” 

สำหรับ ของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล ที่แต่ละกระทรวงเตรียมการ เพื่อ “คืนความสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนนั้น ก็จะได้ทะยอยประชาสัมพันธ์ให้ทราบ ในช่องทางต่างๆ คือของขวัญนี่คงไม่ใช่เฉพาะในปีใหม่อย่างเดียว บางอย่างก็เป็นการเริ่มต้น แล้วก็จะไปทำให้เกิดผลสำเร็จในปีหน้าเป็นการเริ่มต้นโครงการสำคัญๆ ต่างๆ เพราะว่าเราก็ทำตาม Road Map มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่จะต้องทำการปฏิรูปในปีหน้า จนกระทั่งถึงปี 60

แจงโครงการรถไฟฟ้าแต่ละสาย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการทดสอบรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – เตาปูน ณ ศูนย์ซ่อมบำรุง คลองบางไผ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ก็นับเป็นรถไฟฟ้าสายแรก ที่เปิดประตูจากกรุงเทพฯ เข้าสู่เขตปริมณฑล ซึ่งคงจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดลงได้  สำหรับโครงการต่างๆ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีดังนี้

โครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบันมี 4 โครงการ ได้แก่ (1) สายสีม่วง บางใหญ่ – เตาปูน ที่จะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2559  (2) สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และบางซื่อ – ท่าพระ  ที่มีอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 63  (3) สายสีเขียว (ตอนใต้) ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และ (4) สายสีเขียว (ตอนเหนือ) ช่วงหมอชิต – คูคด ที่ต่อขยายจากสายสีเขียวเดิม โดยจะเปิดให้บริการปี 63แล้วก็กำลังเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา จำนวน 1 โครงการ คือ สายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี มีแผนจะเปิดให้บริการในปี 63 เป็นโครงข่ายเส้นแรกที่เชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก กับฝั่งตะวันออก ระยะทาง 21 กิโลเมตร มี 17 สถานี เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นได้อีก 4 สาย คือ สายสีแดง สีน้ำเงิน แอร์พอร์ตเรลลิงค์ และสายสีชมพู

เรื่องรถไฟฟ้าเหมือนกัน ผมก็ได้สั่งการเพิ่มเติมไปให้กระทรวงคมนาคมไปปรับในเรื่องของแผนการขนส่งมวลชนให้เต็มทั้งระบบโดยมองความเชื่อมโยงทั้งประเทศไม่ว่าจะเป็นจากรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ต่างๆ ต้องเชื่อมโยงในแนวทางการสัญจรไปมาของประชาชนในแต่ละภูมิภาค เข้าสู่ศูนย์กลาง เข้าสู่กรุงเทพฯ เชื่อมโยงไปประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงไปยังประชาคมอื่นๆในอนาคตได้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ออกแบบอันนี้ไว้ ทั้งหมด ก็จะทำทีละเส้น ทีละสายก็สิ้นเปลืองงบประมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราสามารถประหยัดงบประมาณลงไปได้ ประกอบไปกับการคิดในเรื่องของแผนการกำหนดผลประโยชน์ไว้ล่วงหน้า ตาม 2 ข้างทางไว้ด้วย ในการวางแผนที่จะก่อสร้างต่อไป ก็จะได้มีเงินมาชดเชยในช่วงระยะแรก ซึ่งอาจจะต้องขาดทุนทุกอย่าง ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า อะไรก็แล้วแต่

รถไฟฟ้าช่วงแรก ๆ ก็ขาดทุน วันนี้ก็ดีขึ้น แต่ผมมีความต้องการว่าทำอย่างไรราคาจะถูกลง ให้คนมีรายได้น้อยขึ้นได้บ้าง นั่นแหละไปถึงสูตรที่ผมคิดเรื่องบัตรทำนองนั้น ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ก็คิดว่าทางกระทรวงการคลัง คงจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องของมาตรการทางการเงินการคลัง ในเรื่องการช่วยเหลือ การให้บริการ เรื่องภาษี เรื่องอะไรต่างๆ ก็จะไปร่วมกันพิจารณาในเรื่องบัตรต่างๆ นั้นโดยไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล แล้วก็มีชั้นความลับ

สำหรับโครงการที่เอกชนร่วมทุนกับรัฐ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมทุนPPP เป็นโครงข่ายรถไฟฟ้ารางเดี่ยว มีแผนจะเปิดให้บริการในปี 63 จำนวน 2 โครงการ คือ (1) สายสีชมพู มีนบุรี – แคราย และ (2) สายสีเหลือง ลาดพร้าว – สำโรง

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ EIA และเกาะรัตนโกสินทร์ จำนวน 1 โครงการ ที่เป็นส่วนต่อขยายสายสีม่วงลงทางใต้ ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน สถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญ จากเตาปูน ถึงราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 โครงการ ที่ต่อขยายสายสีส้ม สีน้ำเงิน และสายสีเขียว เพื่อให้ระบบขนส่งมวลชน ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในอนาคต แล้วก็เชื่อมโยงจากการเดินทางสัญจรไปมาในการขนส่งมวลชนประเภทอื่นด้วย จากต่างจังหวัดเข้ามาเชื่อมโยงกันให้ได้  ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ

ชี้ปัญหาที่จอดรถ เล็งหาแนวทางรวมทุน-พื้นที่ที่เหมาะสม

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องการแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดถึงแม้เราจะมีรถไฟฟ้า หรืออะไรก็ตาม ก็จะมีปัญหาเรื่องการจอดรถอยู่ดี ผมก็ได้ให้แนวทางไปแล้วว่า ลองไปหาทางดูว่าจะรวมทุนกัน หรือหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องจัดทำที่จอดรถ ให้บริการในพื้นที่ที่การจราจรติดขัด เช่นในศูนย์การค้า คือทุกรถ ทุกคนที่ขับเข้ามา ก็จะไปจอดถึงหน้าสถานที่ประกอบการธุรกิจเลย ทำให้การจราจรติดขัด จะต้องมีที่จอดรถที่มีระยะห่างเพียงเล็กน้อย 300 เมตร 500 เมตร เพื่อให้คนได้เดินออกกำลังกายกันบ้างก็แล้วกัน ไป-มา ก็แล้วแต่ท่านจะสมัครใจ ไม่ได้บังคับใครอยู่แล้ว เดี๋ยวจะหาว่าผมบังคับรถไปจอดลำบากอีก ทุกคนก็มีรถ อยากให้ไปถึงที่ แต่จะทำยังไงได้ การแก้ปัญหาจราจรด้วยตำรวจ ด้วยจราจร ด้วยอะไร วิธีการอื่นทำไม่ได้ เพราะว่ารถมากกว่าถนนตอนนี้ ก็ต้องไปหาวิธีการแก้อย่างอื่น หาที่จอดรถมากๆ แล้วก็เชื่อมโยงที่จอดรถกับรถไฟฟ้าที่จะต้องเชื่อมต่อระยะยาว เพราะว่าขาดๆ เป็นตอนๆ อย่างนี้ไม่ได้นะ มันไปไม่ถึงที่ทำงาน แล้วก็จะต้องทำอย่างไร ราคาจะถูกลง ต้องไปชดเชยด้วยอะไร ด้วยการหารายได้ไหม ในสถานที่ขายตั๋ว ในสถานีต่างๆ  ต้องทำทีเดียว ผมว่าต้องวงแผนที่เดียว วางแผน แล้วก็ไปหาผู้ประกอบการมาร่วมทุน กับรัฐ เพื่อให้การบริการนั้นสะดวก รวดเร็ว ประหยัด มีเงินชดเชยในการผ่อนชำระ เงินกู้ หรือเงินงบประมาณความสะดวก รวดเร็ว ต้องมีความปลอดภัยด้วย เพื่อจะลดอุบัติเหตุ ปีๆ หนึ่งเราสูญเสียคนจากอุบัติเหตุไปเป็นจำนวนมาก ทำให้สิ้นเปลือง สูญเสียงบประมาณ สูญเสียกำลังเจ้าหน้าที่ สูญเสียอะไรทุกอย่าง ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกเลย ก็ต้องเริ่มกันตั้งแต่วันนี้

จัดทำข่ายการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ 

สำหรับโครงการจัดทำข่ายการคมนาคมขนส่งและระบบ โลจิสติกส์ ที่เราจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของ วงแหวนรอบนอก รอบใน  จุดเชื่อมต่อ เราต้องมองไปข้างหน้าอีกด้วย ในเรื่องของ (1) การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าบริการต้องไม่สูงเกินไป ต้องคำนึงถึงประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องมีเงินมาสนับสนุนในเรื่องของการลงทุนด้วย ต่อไปก็คือเรื่องของ (2) การสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ต้องไปคู่กัน คู่ขนานกันไป ทำยังไงจะเกิดความสมดุล มีผู้เดือดร้อน มีผู้ได้รับประโยชน์ มีการพัฒนาประเทศ ทำยังไงจะเกิดความสมดุล ถ้าขัดแย้งกัน 3-4 อย่าง ไปไม่ได้ทั้งหมด แล้วก็จะทำให้ไม่เกิด(3) ความเชื่อมั่นในการลงทุนและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่เป็นปัญหาสำคัญของเราอยู่ ประการสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ (4) การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนในประเทศ ที่มีศักยภาพ เข้ามาร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็น การทำที่จอดรถ ที่ผมกล่าวไปแล้ว การพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางเดินรถ จัดทำที่พักอาศัย ตลาด ศูนย์การค้าในพื้นที่ของรถไฟ หรือรถไฟฟ้า ซึ่งมีปัญหาเรื่องเดียวก็คือเรื่องกฎหมาย ต้องแก้ไข พ.ร.บ. ให้สามารถทำประโยชน์ได้จากในพื้นที่เหล่านี้ มันติดข้อกฎหมายอยู่ ซึ่งรัฐบาลพยายามเดินหน้าจะได้มีพื้นที่ให้กับประชาชนค้าขาย มีการลงทุนต่างๆ ของธุรกิจมากขึ้น เพื่อจะเสริมในเรื่องของการพัฒนาตามพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้น สร้างชุมชนเมืองขึ้นมาใหม่ คือถ้าจ่ายใช้เงินทีเดียว ก็ลำบาก ต้องหาคนมาร่วมทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางเดินรถนั้น จะต้องเชื่อมต่อกับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆ ด้วย อาทิ เราอาจจะทำรถไฟ รถไฟฟ้า ระยะแรกซื้อเขามาทั้งหมด ระยะที่สองอาจจะต้องซื้อเฉพาะ พวกตัวรถหลักกับเครื่องยนต์ ภายในประกอบเอง ผลิตเอง สถานี ศูนย์ซ่อม สร้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ใช้วัสดุในประเทศทั้งสิ้นจะได้ประหยัดลง สร้างห่วงโซ่ของคุณค่า ห่วงโซ่การผลิต ให้มีรายได้กัน ทุกอย่างไป เชื่อมต่อถึง SMEs เราต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะคน ไม่ว่าจะเทคโนโลยี การผลิตเอง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ประเทศเข้มแข็งขึ้น ถ้าเราซื้อทุกอย่างมาตลอด ไม่ได้ เหมือนกับเรื่องรถเมล์ เมื่อวานผมก็สั่งการเพิ่มเติม ไปหาวิธีการ จะซื้อมาตั้งนานแล้ว ยังซื้อไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ต้องสั่งการไปแล้ว บอกว่าไปหาทางดูว่าจะทำอย่างไร เรื่องการประมูลที่ผ่านมาซึ่งไม่ชัดเจน เป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมไปพิจารณา ผมก็เลยสั่งการไปใหม่ว่า ถ้าเราจะทำระยะแรกได้ไหม คือในเรื่องของการซื้อรถมาเพื่อให้ใช้ได้โดยเร็ว ทดแทนรถที่ชำรุด หมดอายุ เพราะฉะนั้นเมื่อซื้ออันแรกมาแล้ว ก็เป็นแบบอย่างตัวอย่าง ขณะเดียวกันก็ไปสร้างภาคการผลิตของเรา พวกต่อรถ อู่ต่อรถที่เรามีอยู่แล้วเดิม รถโดยสาร เขาทำได้ไหม ระยะแรกอาจจะเพียงแค่ซื้อมา บางอย่างทำเองได้ บางอย่างซื้อมาประกอบ ใช่ไหม สุดท้าย ระยะที่ 3 ก็คือผลิตเอง ระหว่างนี้ถ้าเดือดร้อน ถ้าเร่งด่วน ก็ซื้อมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์รถไฟฟ้า รถไฟ อะไรก็แล้วแต่ วันหน้าต้องผลิดเองให้ได้ คงผลิตชิ้นส่วนหลักไม่ได้อยู่แล้ว เราไม่ทันเขา แต่ส่วนประกอบ เราควรจะทำได้ทั้งหมด เพื่อจะลดการใช้จ่ายภาครัฐให้มากขึ้น แล้วส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ ในเรื่องอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้แข็งแรงขึ้น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมการประกอบชิ้นส่วน อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราพร้อมทั้งหมดเพียงแต่ว่าไม่ได้มีการเชื่อมโยงความต่อเนื่องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วันนี้ก็พยายาม เวลาเราก็มีอยู่แค่นี้ ผมก็เริ่มต้นให้แล้วกัน

ชู 'ประชารัฐ' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้น เราใช้แนวทาง “ประชารัฐ” ที่ผ่านมานั้น ผมเองทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ได้มีการพบปะหารือร่วมกัน กับคณะนักธุรกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักธุรกิจไทยขนาดใหญ่ ทั้งข้ามชาติ ขนาดใหญ่ในประเทศ เหล่านี้ในหลายมิติ หลายกิจกรรมด้วยกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง ความร่วมมือ เพราะว่ารัฐจะดำเนินการฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เราไม่มีเงินเพียงพอ เรากำลังสร้างความเข้มแข็งอยู่ รายได้ประเทศจะต้องเพิ่มขึ้นมากในอนาคต ฉะนั้นทุกคนคงต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ประชาชน และภาคธุรกิจเอกชน ในการที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล

เผยเข้าใจการรักษาทรัพยากร-สิ่งแวดล้อมของชนบท แต่อยู่แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว

ผมเข้าใจในเรื่องของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนในชนบท แต่ท่านอยู่แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ท่านต้องทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล ในระหว่าง เรื่องการพัฒนาประเทศกับเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีวิธีการปฏิบัติอีกหลายอย่างที่จะชดเชยกันได้ แต่ไม่ใช่ทำลายทั้งหมด ใช้จนหมดในสมัยเรานี่ไม่ได้ ที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้นอยู่ วันนี้ก็ยากเหมือนกัน เพราะว่าประชาชนยังเดือดร้อนอยู่ ก็ลองไปคิดดู ว่าเราจะทำยังไง ว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลได้ตรงไหน ในการที่จะดูแลช่วยเหลือ ผมถือว่าช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รัฐบาลก็จะช่วยเหลือดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนภาคธุรกิจอื่นๆ ด้วย ต้องดูแลทุกคน ทุกกลุ่มนั่นแหละ  เพราะฉะนั้นทุกกลุ่มก็ควรจะต้องช่วยเหลือรัฐบาลด้วยในระยะนี้ ซึ่งเรายังไม่เข้มแข็งเพียงพอ

ในเรื่องของการพูดคุยกับนักธุรกิจนั้น ก็พูดถึงเรื่องการเชื่อมโยงธุรกิจภาคต่าง ๆ ทั้งระบบ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ข้ามประเทศ ในประเทศ, กลาง, เล็ก  ค้าปลีก ค้าส่ง ทั้งหมด ขนาดใหญ่เข้ามาด้วยกัน มาคุยกันซิว่าจะร่วมมือกันได้ตรงไหนกับรัฐบาล ในการจะขับเคลื่อนประเทศในลักษณะ “ประชารัฐ” ถ้ารัฐบาลเริ่มต้น กำหนดนโยบาย ทำกฎหมายอำนวยความสะดวก

เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจก็ควรจะมาส่งเสริมรัฐในเรื่องเหล่านี้ เอาประชาชนมาเรียนรู้ เข้าไปในสถาบันวิจัย ดูแลเรื่องการศึกษา ขยายในเรื่องของการผลิตคน ให้ตรงความต้องการ เพราะว่าวันนี้ ผมเป็นห่วงอย่างเดียวคือจบปริญญามาแล้วไม่มีงานทำ ขาดสิ่งนี้ เพราะว่าขีดความสามารถในการแข่งขันเรายังน้อยอยู่ เราต้องพัฒนาบุคลากรนี่ ทรัพยากรมนุษย์นี่สำคัญที่สุด ก่อนอย่างอื่นเลย ใครก็ต้องการถ้าเราสอนให้คนเรียนรู้ ให้คนฉลาด ให้คนมีความคิด มีวิสัยทัศน์ บางทีเราขาดการคิดวิเคราะห์ ผมคิดว่าอย่างนั้นนะคนไทยยังไม่ค่อยถนัดในเรื่องเหล่านี้ ก็อยากจะฝากกับทุกคนด้วย

ยอมรับต้องพัฒนาตัวเอง

ผมเองก็ต้องพัฒนาตัวเองเหมือนกันในการคิดในเชิงวิเคราะห์ ในเชิงกระบวนการ ในเชิงการบูรณาการทั้งหมดนี่ เราพูดกันมามากแล้ว แต่ถ้าพูดถึงว่าการนำสู่การปฏิบัติหรือว่าการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมจริง ๆ  ผมว่าไม่ถึง 50% เราก็ต้องเน้น การให้ความรู้ การพัฒนา เรื่องของสินค้าก็ต้องมีการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ดีไซน์ ดีไซน์ใหม่ กล่อง รูปร่างให้น่าซื้อน่าใช้ เพื่อจะไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด ถึงจะแพงกว่าเขาหน่อย ต้นทุนเราสูงกว่า แต่คนอยากซื้อ เพราะสวยงาม แล้วก็มีคุณภาพตามที่โฆษณาไว้ ตามสตอรี่ที่เขียนไว้ ก็จะเพิ่มมูลค่าให้สินค้าแล้วก็สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ในพื้นที่ผมเกรงอย่างเดียวก็คือเรื่องของการไม่พัฒนา ในเรื่องของการเพิ่มคุณภาพการผลิตนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาจากวัสดุเดิม เช่นผ้าไหม ผ้าขาวม้า ผ้าไหมผมไม่ค่อยห่วงแล้วตอนนี้ ตอนนี้ทุกคนก็มาให้ความสำคัญแล้วใส่กันมาก โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลนี้ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระองค์ท่านทรงเริ่มต้นมาให้เรานานแล้ว วันนี้ผมก็พยายามขับเคลื่อนตรงนี้อยู่ด้วย

ชี้สร้างความเข้มแข็งในชนบทสำคัญที่สุด

ในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งในชนบทนี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ผู้ผลิตก็จะไปขายใคร พอขายออกมาแล้ว คนตรงนี้ก็ผลิตมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้ ไม่เป็น ไม่พร้อม ก็ขยายไปไม่ได้ รุ่นใหม่ก็เกิดมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะอยู่กันแบบนี้ ทรงๆ ทรุดๆ ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องเร่งนะครับเรื่อง Social Enterprise การสร้างนักธุรกิจใหม่ การสร้างนักธุรกิจเพื่ออนาคต การปฏิรูประบบการศึกษา ในเรื่องของการดูแลและพัฒนาครู นักเรียน โรงเรียนสถานที่ศึกษาโดยใช้กิจกรรม CSR ของภาคธุรกิจที่ผมกล่าวเมื่อสักครู่มาสนับสนุนด้วย ส่งเสริมเรื่องลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้พูดง่ายๆ ถ้าช่วงบ่ายมีโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนดูงานมีกิจกรรมร่วมในบรรดาสถานประกอบการที่สำคัญ ๆให้เด็กเขามีความกระตือรือร้น มีความสนใน มีการปรับเปลี่ยน ว่าที่เราคิดไว้เดิมนี่อาจจะไม่เหมาะสม มาอย่างนี้เรารู้สึกชอบแบบนี้ ก็จะลดการเรียนเพื่อปริญญาออกไปบ้าง ไปเรียนอาชีวะ ก่อนบ้าง ผมเข้าใจทุกคนอยากได้ปริญญาหมด เพราะเราถือว่าปริญญานี่คือสุดยอดใช่ไหม วันนี้ต้อง 2 อย่างปริญญาสุดยอด แล้วก็มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ที่เพียงพอ เป็นสุดยอดเหมือนกัน สุดยอดสอง สุดยอดสาม

ในเรื่องของการการฝึกวิชาชีพนี่ ผมคิดว่าวันนี้เรามีสถานประกอบการมากมาย ไม่ว่าจะของไทย ของต่างประเทศผมก็ขอร้องไป แล้วก็กำหนดไปในการลงทุนใหม่ว่าถ้าหากมีการร่วมมือในเรื่องนี้ เราก็จะดูแลเรื่องสิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น ตามความเหมาะสม ไปดูแลสถานศึกษาในพื้นที่บ้าง โรงงานโน้น โรงงานนี้ ไปดูโรงเรียน ไปเอากิจกรรม เอา CSR ไป งบประมาณเหล่านี้ ไปส่งเสริมการศึกษาอะไรเหล่านี้ หรือไม่ก็เอาคนมาศึกษาตั้งโครงการเรียนรู้เข้าไป เอาแรงงานพัฒนาฝีมือเข้ามาฝึก เอาเด็กอาชีวะ ที่จะจบ หรือปี 2 ปี 3 นี่ ผ่านพื้นฐานมาแล้ว ก็ไปฝึกงาน เป็นจำนวนชั่วโมง เป็นหน่วยกิตไป อีกพวกหนึ่งก็คือพัฒนาแรงงานฝีมือที่อยู่ในโรงงานอยู่แล้ว พวกนี้ต้องอบรม ภาษา แล้วก็ศัพท์เทคนิค อะไรต่างๆ พวกนี้ ต้องพูดภาษาเขาได้ วันหน้าจะได้เป็นหัวหน้างานเขา

ขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 4 เสาหลัก คณะทำงานขับเคลื่อนในเรื่องนี้ 7 ด้าน - คณะทำงานปัจจัยสนับสนุน 5 ด้าน

ในส่วนของการขับเคลื่อนเหล่านี้รัฐบาลนี้ก็จะเร่งรัดในปี 2559 ในเรื่องของความร่วมมือลักษณะ “ประชารัฐ” ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งระดับบน ระดับล่าง ท้องถิ่น โดยทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจ เอกชน จะมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในลักษณะของคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน ที่เรียกว่า “ประชารัฐ”  อันนี้คนละอันกับในเรื่องของ กรอ. อันนั้นคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน ซึ่งก็ทำงานในนโยบาย อันนี้ก็จะขับเคลื่อน เพื่อจะมุ่งสู้เป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำ  พัฒนาคุณภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 4 “เสาหลัก” ได้แก่  (1) การมีธรรมาภิบาล สำคัญที่สุด ธรรมาภิบาล (2) การสร้างนวัตกรรมและผลิตภาพ  (3) ยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์  และสุดท้ายคือ (4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อความมั่งคั่งของประเทศ

สำหรับกลไกการทำงานหลัก จะเป็นคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ ระดับรัฐมนตรี กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นผู้นำทางธุรกิจของไทย โดยจะมี  “คณะทำงานขับเคลื่อนในเรื่องนี้ 7 ด้าน” ได้แก่ (1) ด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ (2) ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น (SMEs & Start-up) (3) ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE  (4) ด้านการส่งเสริมการส่งออกและด้านการลงทุนในต่างประเทศ (5) ด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ( New S-curve) (6) ด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่  และ (7) ด้านการสร้างรายได้และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ

นอกจากนั้นก็ยังมี “คณะทำงานปัจจัยสนับสนุน 5 ด้าน” ได้แก่  (1) ด้านการดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ  (2) ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ  (3) ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ  (4) ด้านการปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ  และ (5) ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ อันนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพยายามทำความเข้าใจ บางครั้งนี่ผมก็พูดเร็วไปบ้าง ท่านฟังไม่ทันบ้าง บางครั้งก็มาก ท่านเลยฟังไม่รู้เรื่อง พอท่านไม่รู้เรื่องท่านก็บอกไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นมาเลย ทุกอย่างนี่สอดคล้องต่อเนื่องมาโดยตลอด เดี๋ยวผมจะให้เขาพยายามสรุปให้ท่านทราบว่า 2 ปีที่ผ่านมาทำอะไรไปแล้วบ้าง อะไรที่ทำเสร็จแล้ว อะไรที่ยังไม่เสร็จ อะไรกำลังทำต่อ อะไรต้องส่งต่อ ก็พยายามจะร่างมาให้ท่านดูก่อนนะเพื่อจะได้ แม่น้ำ 85 สายนี่จะได้เดินหน้าไปทำนองนั้น ให้เป็นไปตามแนวทางนั้น

ระบุนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลต้องสอดคล้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ การประชุม COP21 ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ผู้แทนจาก 195 ประเทศให้การยอมรับ “ข้อตกลงใหม่” (Paris Agreement) อย่างเป็นเอกฉันท์  ที่จะพยายามร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนทำให้สามารถจำกัดอุณหภูมิของโลกในศตวรรษนี้ ให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส คือถ้าเกิน 1.5 ไปแล้วหรือ 2 องศาไปแล้วนี่ มีปัญหามาก น้ำแข็งละลาย น้ำท่วม ฝนแล้งภัยพิบัติมากมายไปหมด เราต้องลดให้ได้ ขณะเดียวกันทำอย่างไรจะลดความเสี่ยง จะปฏิบัติให้ได้ ทำอย่างไรจะลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนั้น นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลนี้ก็ต้องสอดคล้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องของการพัฒนา ในเรืองของอุตสาหกรรม ในเรื่องของ การส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน การเพิ่มพื้นที่ป่า การลดการเผาในภาคการเกษตร การจัดการขยะและน้ำเสีย โดยเฉพาะนโยบาย สิ้นเปลืองทางพลังงาน (Waste to Energy) ส่วนเรื่องการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ก็มีในเรื่องของการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ก็อย่าคิดแค่มิติเดียว ในการพัฒนาว่ามันจะต้องมีทั้งสองอย่างคู่กัน อาจจะทำให้เกิดผลกระทบ แต่ทำอย่างไรจะเกิดความสมดุลกันระหว่างสิ่งที่ทำออกมา ถ้าทำให้เป็นสีเขียว ก็กระทบน้อย

ชี้ใช้กติกาตัวเดียวกันเราค่อนข้างเสียเปรียบ

ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็อาจจะมีการปล่อยก๊าซนี้มากอยู่ มากกว่าเรา เพราะเรากำลังพัฒนาอยู่  คราวนี้พอใช้กติกาตัวนี้ออกมานี่ เราก็ค่อนข้างที่จะเสียเปรียบเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจตรงนี้ ตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ แต่ทั้งหมดนี้ รวมกันแล้วนี้ ทุกประเทศ ถ้าเราทำได้ทุกประเทศ ตามที่เราเคยสมมุติว่าเราเคยทำไว้ 2% ต่อปี ลดแค่ 1.5 มีวิธีการ วันนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย อีกหลายกระทรวงรับนโยบายไปแล้ว ต้องประเมินให้ได้ว่า ปี 59 ลดได้เท่าไร แล้วก็จะต้องวางยาวไปโน่น ทุกปี ไปท้ายที่สุดโน่นประมาณ 15 ปีต่อไป จะต้องลดแก๊สเรือนกระจกได้ 25-30%  ของประเทศไทย

พยายามช่วยกัน ท่านจะต้องไปดูว่า มีอะไรบ้างที่ลดได้ ไม่เผาไร่ แต่พี่น้องก็เดือดร้อน ที่เผาเพราะว่าอะไร เพราะว่าค่าไถแพงไง ถ้าไม่เผาไว้ก่อน รถไถก็คิดราคาแพงกว่าปกติ นี่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ยาก เพราะอยู่ที่ความเข้าใจ แล้วก็ความร่วมมือของเจ้าของเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ต้องช่วยประเทศ ตอนนี้อย่าไปเอารายได้ที่สูงขึ้น ใช้โอกาสวันนี้ไปเรียกค่าเช่านาเพิ่ม หรือไปข่มขู่ชาวนาว่าถ้าไม่ปลูกข้าวตอนนี้ละก็เดี๋ยวไปให้คนอื่นทำ ปลูกไป แล้วก็เสียหาย แต่ท่านไม่เดือดร้อน เพราะท่านเรียกค่าเช่านาไปแล้ว นั่นคือปัญหา แล้วชาวนาก็จะพอกพูนหนี้ไปเรื่อยๆ จะแก้ได้ไหม ต่อให้ไปแก้ การลดต้นทุน ลดการบริหารจัดการ ลดเมล็ดพันธ์พืช ลดปุ๋ย ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดเรื่องการขนส่งไปโรงสี แต่คุณภาพข้าวไม่ได้ เพราะว่ามันไม่พร้อม มันสุกไม่พร้อมกัน แต่ท่านเกี่ยวพร้อมกัน เพราะรถไถมาพร้อมกัน เพราะวันหน้า สัปดาห์หน้า หรือเดือนต่อไป ต้องไปที่อื่น ตรงนี้ต้องรีบเกี่ยว เกี่ยวเสร็จก็ขนไม่ได้อีก พอขนไม่ได้เสร็จแล้ว ไปถูกตัดราคาลง เพราะข้าวไม่มีคุณภาพ ทุกคนคงเข้าใจ

ทุกอย่างนี่ช้าเพราะยังติดความคิดของตัวเอง ไม่คิดนอกกรอบ 

ผมพยายามคิดให้ละเอียดจะไปแก้กันตรงไหน ผมก็ย้ำ ทุกกระทรวงไปแล้ว ปัญหาก็คือว่า เจ้าหน้าที่เราระดับล่างต้องเข้าใจตรงกัน แล้วไปแก้ให้ได้จริงๆ ซะที ทำหน้าที่ต่างพระเนตร พระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกันให้เต็มที่ จะต้องมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแล้วก็สร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ได้  เราจะต้องเริ่มใช้เทคโนโลยีที่สะอาด ประสิทธิภาพสูง แล้วก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้ นำมาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ผมบอกแล้วว่ามันสำคัญ ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ ถ้าเรารักษาตรงนี้ไปมากๆ เข้า ลดไปมากๆ เข้า การพัฒนาประเทศไปไม่ได้ โรงงานเกิดขึ้นไม่ได้ จะทำยังไง ต้องไปสร้างสมดุลให้ได้ สร้างความเข้าใจประเทศพัฒนาแล้ว เขาต้องช่วยเราเรื่องเทคโนโลยี เรื่องเงินทุน จะต้องไปด้วยกัน ตอนนี้นานาชาติผมพูดไปแล้วในที่ประชุม COP21 ผมก็บอกว่าให้ดูแลประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย เพราะเรา พวกเราเพิ่ง Start up กันมาไม่เหมือนกับประเทศท่านที่เจริญไปแล้ว อุตสาหกรรมเข้มแข็งไปแล้ว บางอย่างเรายังเริ่มไม่ทัน เริ่มไม่ได้เพราะ Stop ทั้งหมด เสร็จทั้งหมด แล้วเราก็ไม่มีรายได้เข้าประเทศ การพัฒนาก็ไม่เกิดขึ้น ก็เป็นภาระของเขาอีกต่อไป ไม่อยากเป็นภาระของใครในโลกนี้ เพราะฉะนั้นกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และหลายๆหน่วย ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเรื่องลดโลกร้อน รับคำสั่งไปแล้ว ต้องเร่งดำเนินการ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม วางแผนล่วงหน้า ทุกอย่างนี่ช้าเพราะอะไร เพราะยังติดความคิดของตัวเอง ไม่คิดนอกกรอบ ออกมาบ้าง ถ้าคิดนอกกรอบมา แล้วพยายามดึงเข้ากับกรอบ แล้วตีกรอบใหม่ กฎหมายใหม่ทำกฎหมายให้ชัดเจนขึ้นสร้างความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น

มันทำได้ทุกอย่าง เพราะเราเป็นคนกำหนด ด้วยความร่วมมือระหว่างกัน ไม่ประท้วงกัน ไม่ขัดแย้งกัน จะทำให้สำเร็จได้ การปฏิรูปเหมือนกัน แต่ถ้าขัดแย้งอยู่อย่างนี้ ทุกคน ความคิดตัวเองเป็นใหญ่ แล้วเอาความขัดแย้งมาเริ่มต้นก่อน ไม่มีทางทำได้สักอย่าง อะไรทำได้ทำก่อน อันไหนติด เอาไว้ก่อน หรือทำระยะที่ 1-2-3 ก็ได้ ทุกเรื่องเลย ผมคิดอย่างนั้น แต่ไม่รู้ เป็นเรื่องของท่านที่ไปทำมา ในเรื่องของแม่น้ำ 5 สาย ไปทำมาให้ได้ ไม่งั้นมันเสียของ เสียเวลา ต้องลดช่องว่างระหว่างกันให้ได้ แล้วช่วยกันพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกันให้ได้ Strong Together

สัปดาห์หน้ามีวันสำคัญทางคริสต์ศาสนา เป็นวัน คริสตสมภพ ที่เรียกว่า วันคริสต์มาส คนไทยนี่ มีความสุขทุกวัน ไม่ว่าจะของไทย ของต่างประเทศ มีความสุขหมด นี่คนไทยมีความสุข คนไทยเป็นชาติที่รักสงบ สันติมีความสุข เราจะเปลี่ยนแปลงคนไทยไปเป็นอีกอย่างไหม สู้รบ ปรบมือ ไปเรื่อย ๆ ขัดแย้งไปเรื่อย ๆ ผมว่าไม่ใช่แล้ว พี่น้องประชาชนช่วยตัดสินด้วยแล้วกัน จะเอายังไงก็ว่ามา ในนามของรัฐบาลไทย ผมขออวยพรให้คริสต์ศาสนิกชนทุกคนในประเทศไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหลาย ให้มีแต่ความสุข สมหวัง และสุขภาพที่ดี ขอให้เฉลิมฉลองวันคริสต์มาสนี้กันอย่างมีสติ สนุกสนาน และปลอดภัยมีความสุขขอบคุณครับ สวัสดีครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net