Skip to main content
sharethis

แพทย์แนะผู้ใช้สังคมออนไลน์ตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลก่อนส่งต่อ โดยเฉพาะข้อมูลสุขภาพ นอกจากละเมิดสิทธิส่วนบุคคลยังผิด พ.ร.บ.สุขภาพ โทษปรับ/จำคุก


21 ธ.ค. 2558 ในงานเสวนา ‘ชัวร์ก่อนแชร์’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ที่อาคารอิมแพคฟอรัม เมืองทองธานี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สื่อออนไลน์ในปัจจุบันว่า ข้อมูลจำนวนมากที่ส่งต่อกันไม่ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแชร์ข้อมูลสุขภาพของผูู้อื่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเจตนาเช่นใดก็ตาม ต่างก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 7 มีโทษจำคุก หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีใครถูกเอาผิดตามมาตรานี้ก็ตาม แต่การแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยเฉพาะเมื่อเจ้าของข้อมูลไม่รับทราบย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเจ้าของข้อมูลทั้งสิ้น

เขาเล่าถึงการแชร์ข้อมูลการขอรับบริจาคเลือดที่มักส่งต่อกันในโลกออนไลน์ กรณีหนึ่งเป็นการส่งภาพผู้ป่วยในสภาพป่วยหนัก พร้อมระบุชื่อ นามสกุล และโรคที่ป่วย พร้อมหมู่เลือดที่ขอรับบริจาค การส่งต่อข้อมูลดังกล่าวกินระยะเวลาถึง 3 ปี ในขณะที่ผู้ป่วยหายจากโรคตั้งแต่ปีแรก และโรงพยาบาลบอกเลิกรับบริจาคเลือดไปนานแล้ว กระนั้นข้อมูลและภาพร่างกายที่ไม่น่าดูก็ยังถูกส่งต่อ ทั้งที่ปัจจุบัน เขาไม่ได้มีสภาพที่น่าเวทนาแต่อย่างใด

“การไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นทั้งอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกอย่างเดินทางไปเร็วอย่างที่เราเรียกว่า ‘ไวรัส’ เพราะมันลุกลามไปเร็วเสียจนเราควบคุมไม่ทัน หลายครั้งที่เวลาเราไปเยี่ยมไข้แล้วถ่ายรูปผู้ป่วย เพื่อประกาศในโลกออนไลน์ว่า เรามาเยี่ยมคนป่วยทั้งๆ ที่ตัวผู้ป่วยเองเขาไม่ได้ต้องการให้ใครรู้ว่าเขาป่วย ไม่ได้ต้องการให้ใครเห็นเขาในสภาพที่ผิดไปจากตอนที่สุขภาพดี” นพ.อำพลกล่าว 

ทั้งนี้ นพ.อำพล ระบุด้วยว่า บุคลากรทางการแพทย์ในฐานะที่เป็นผู้กุมข้อมูลสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก ควรได้รับการอบรมเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์ของมหิดลกำลังบรรจุเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ 17 ข้อเข้าไปในหลักสูตรเกี่ยวกับวิชาชีพ โดยหนึ่งนั้นคือ ก่อนจะโพสต์หรือแชร์ข้อมูลใดๆ ให้พวกเขาคิดว่า แม้จะเป็นการโพสต์ในนามส่วนบุคคล แต่ด้านหนึ่งพวกเขาก็เป็นบุคลากรของหน่วยงานนั้นด้วย

“ก่อนส่งทุกครั้งให้คิดว่า คุณอยากมีรูปเหล่านี้บันทึกเอาไว้หรือไม่” นพ.อำพลกล่าวทิ้งท้าย

 

มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนําไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทําให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอํานาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้

มาตรา 49 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือมาตรา 9 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net