ประชาชนลุ่มน้ำอีสาน จี้รัฐถอด พ.ร.บ. น้ำ เหตุลิดรอนสิทธิชุมชน

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน เสนอรัฐบาลถอดถอนร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ(ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ) ออกจาการพิจารณา ชี้เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐมากเกินไป และอาจกระทบสิทธิชุมชน

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2558 เวลา 10.00 น. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน(กป.อพช.อีสาน), สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำมูล น้ำชี น้ำพอง แก่งละหว้า กว่า 50 คน ได้จัดแถลงข่าวต่อกรณีการผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ โดยใช้ชื่อการแถลงข่าวครั้งนี้ว่า “หยุดเหยียบย่ำ พ.ร.บ.น้ำ (ฉบับประชาชน)”

สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือประชาชนลุ่มน้ำอีสานกล่าวว่า การป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง จะต้องให้คนในท้องถิ่นในลุ่มน้ำนั้นๆ เข้าไปมีส่วนร่วม แต่เนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำน้ำ ฉบับของกรมทรัพยากรน้ำนี้ คือการรวบอำนาจ ให้อำนาจกับรัฐในการจัดสรรแล้วก็บริหารจัดการน้ำ และไม่ได้มีการเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ฉะนั้นฉบับกรมทรัพยากรน้ำจึงเป็นการลิดรอนสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนของคนลุ่มน้ำในอีสานอดย่างชัดเจน

เขากล่าวต่อว่า หากร่าง พ.ร.บ. ฉะนั้นนี้ผ่านการพิจารณา เท่ากับเป็นการให้อำนาจรัฐในการบริหารจัดการน้ำ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ในมาตรา 6 ของร่างเขียนไว้ว่า “รัฐจะมีอำนาจพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ โดยสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำ หรือขยายพื้นที่ของแหล่งน้ำนั้นได้” เพราะฉะนั้นแค่เรื่องมาตรา 6 ของกรมทรัพยากรน้ำเป็นการให้อำนาจกับรัฐในการที่จะเปลี่ยนแปลงแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยที่มีบทบังคับใดๆ ว่าต้องฟังเสียงประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ยังละเลยเรื่องของการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“ผมมองว่าคนอีสานจะได้รับผลกระทบมากเพราะว่า วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำมันเกี่ยวข้อง และสัมพันธ์โดยตรงซึ่งใครจะมาตัดขาดจากกันไม่ได้ นับตั้งแต่การดำรงชีวิตโดยการเกษตร และวิถีการหาปลา ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนต้องการคือ การบริหาร หรือการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่พวกเรามีส่วนร่วม”สิริศักดิ์ กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า ในส่วนของภาคประชาชนเองได้มีความพยายามในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ(ฉบับประชาชน) ซึ่งจะเป็นการการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับชุมชน และเป็นกฏหมายที่ให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังโดยที่ไม่เบี่ยงเบนจากหลักการของคนในท้องถิ่น ดังนั้นเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานจึงมีข้อเสนอคือ ให้รัฐบาลถอดถอนร่างพระราชบัญญัติ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ...(ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ) ออกโดยทันที เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือแสดงความคิดเห็น การที่จะนำร่างทรัพยากรน้ำ ฉบับกรมทรัพยากรน้ำไปพิจารณาถือว่าไม่มีความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน  ในขณะที่เครือข่ายลุ่มน้ำในภาคอีสานยังสนับสนุนรูปแบบในการจัดการน้ำของชุมชนที่เข้าถึงทรัพยากร ในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศในแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ

ด้าน ปัญญา คำลาภ จากสมาคมคนทาม กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2558 เริ่มมีการขุดลอกแม่น้ำมูลในเขตอำเภอราศีไศล ซึ่งชาวบ้านและคนในพื้นที่ไม่มีใครรู้ว่าจะมีการขุดลอกแม่น้ำมาก่อน  นอกจากชาวบ้านจะไม่รู้ข้อมูลแล้ว เทศบาล อบต. ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอ ไม่รู้เรื่องมาก่อน

เขากล่าวต่อว่า ทรัพยากรธรรมชาติริมฝั่งถูกทำลายโดยเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ จากริมฝั่งทามที่เคยอุดมสมบูรณ์มีป่าบุ่งป่าทามที่เป็นแหล่งหาอยู่หากินของคนในพื้นที่ หาของป่า หาไข่มดแดง หามันแซง หาหน่อไม้ และหาปลา ความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ด้าน อกนิษฐ์ ป้องภัย กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำ ของรัฐมีแนวโน้ม ที่จะพัฒนาแหล่งเก็บน้ำเพื่อตอบสนองการที่ภาคเมืองขยาย ตอบสนองเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และตอบสนองต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากโน้มการพัฒนาประเทศมันเป็นแบบไปในลักษณะนั้น

เขากล่าวต่อว่า ประเด็นหนึ่งที่ภาคประชาชนมีความกังวลคือ การให้รัฐมีอำนาจมากเกินไป อาจจะมีการดำเนินโครงการต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือ การให้อำนาจกับประชาชนด้วย เพื่อที่จะออกแบบ และจัดสรรทรัพยากรน้ำร่วมกัน เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของภาคประชาชน หรือมีส่วนในการตัดสินใจในการทำโครงการของรัฐ หรือทำอย่างไรไม่ให้โครงการของรัฐเข้ามาละเมิดสิทธิชุมชน

แถลงการณ์

หยุดเหยียบย่ำ พ.ร.บ. น้ำ (ฉบับประชาชน)

การป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำท่วม น้ำแล้ง ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในแต่ละลุ่มน้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเสมอภาค และมีความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำเพื่อให้ประชาชนลุ่มน้ำได้ดำรงวิถีชีวิตร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างปกติสุข

ทางเครือข่ายลุ่มน้ำภาคอีสานเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ....(ฉบับประชาชน) เป็นร่างกฏหมายที่สร้างการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภูมิภาค และยังเป็นร่างกฎหมายที่ให้ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรมทางชีวภาพอย่างสมดุลยั่งยืนและเป็นธรรม ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้คิดค้นรูปแบบการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับนิเวศนั้นๆ เช่น รูปแบบการจัดการน้ำในภูมิภาคอีสานทั้งลุ่มน้ำมูน ลุ่มน้ำชี ซึ่งมีรูปแบบระหัดวิดน้ำ ฝายหินทิ้ง  ระบบคันนา ระบบกุด แก่ง ห้วย เป็นต้น การบริหารจัดการน้ำจึงมีความยึดโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม จารีตประเพณี และความเชื่อของแต่ละนิเวศที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเมื่อประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ จึงเพิ่มสูงขึ้น แต่จะต้องมีการจัดสรรน้ำให้ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมตามต้นทุนน้ำที่มีอยู่และต้องไม่ทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำด้วย จึงนำมาซึ่งการจัดการทรัพยากรน้ำสอดคล้องกับพื้นที่นั้นๆ

ในขณะที่กรมทรัพยากรน้ำ มีความพยายามที่จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ..... อีกฉบับ เป็นร่างที่กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนท้องถิ่นในฐานะผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามลุ่มน้ำ ตลอดจนให้อำนาจการจัดสรรทรัพยากรน้ำแก่รัฐมากเกินไป ซึ่งการยกรางพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ....  (ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ) ซึ่งมีสาระสำคัญแตกต่างกันออกไปจากร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.....(ฉบับประชาชน)อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะใน “มาตรา 6 ได้ให้อำนาจแก่หน่วยงานรัฐสามารถพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ โดยการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายพื้นที่ของแหล่งน้ำได้ แต่ถ้าเป็นการลดพื้นที่หรือให้เลิกใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องดำเนินการถอนสภาพตามประมวลกฎหมาย” ซึ่งเป็นอีกมาตราที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของลำน้ำโดยไม่ต้องศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคอีสาน เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ....(ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ) เป็นร่างที่ลิดรอนสิทธิชุมชน ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม จึงมีข้อเสนอต่อร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ... (ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ) ดังนี้

1.ให้รัฐบาลถอดถอนร่างพระราชบัญญัติน้ำ (ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ) ออกโดยทันที เนื่องจากในสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็น ย่อมทำให้ร่าง พ.ร.บ.น้ำ (ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ)ไม่มีความชอบธรรม

2.เครือข่ายลุ่มน้ำภาคอีสานยังสนับสนุนแนวทางและกระบวนการจัดการน้ำในรูปแบบของชุมชนที่เข้าถึงทรัพยากร อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ดังปรากฏในร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ....(ฉบับประชาชน) แต่ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ....(ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ)มีความเบี่ยงเบนจากหลักการสำคัญดังกล่าว

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคอีสาน

22 ธันวาคม 2558

 

น้ำ เป็นของประชาชนทุกคน..

รัฐจะรวบอำนาจบริหารจัดการไม่ได้...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท