ศาลยกฟ้องคดี กฟผ. ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีผิดกระบวนการ

ศาลปกครองยกฟ้อง คดีเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงฟ้อง กฟผ. ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จากเขื่อนไซยะบุรีผิดกระบวนการ ศาลชี้ กฟผ..ทำถูกขั้นตอนแล้ว ด้านชาวบ้านยันเตรียมยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อ

25 ธ.ค. 2558 ที่ศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ได้มีการอ่านคำพิพากษา คดีพิพาทเกี่ยวกับเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ ในกรณีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) กับเชื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว โดยศาลพิพากษายกฟ้อง

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความฝ่ายโจทก์ (เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง) เผยว่า ศาลชี้ว่ากรณีที่ชาวบ้านฟ้องว่า กฟผ. เนื่องจากไม่ได้ทำตามเงื่อนไขของตามมติของคณะกรรมการพลังงาน สืบพบว่าได้มีการทำตามมติแล้ว ซึ่งเงื่อนไขประกอบด้วย การทำตามกระบวนการ PNPCA โดยจะต้องให้สำนักงานอัยการตรวจสัญญาการซื้อขายก่อน ต้องมีการประชุม และจะต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาวให้ประชาชนได้รับทราบ

ในส่วนของตัวสัญญา ศาลชี้ว่าได้มีการทำตามกระบวนการแล้ว มีการจัดประชุมทั้งหมด 4 ครั้งก่อนจะมีการลงนามในสัญญา โดยมีประชาชนเข้าร่วมในแต่ละครั้ง 80-120 คน ถัดมาในส่วนของการเผยแพร่ข่าวสาร ศาลเห็นว่าได้มีนำข้อมูลข่าวสารไปลงในเว็บกระทรวงพลังงาน แล้วเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ฉะนั้นถือว่าเพียงพอแล้ว

ทนายความกล่าวต่อว่า ในส่วนของการตรวจสัญญาโดยอัยการไม่ได้มีข้อโต้แย้ง แต่ในขั้นตอนของการเผยแพร่นั้นยังมีปัญหาเพราะไม่มีการแจ้งให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบรับรู้ข้อมูลโดยตรง ส่วนให้การทำกระบวนการ PNPCA เองก็มีปัญหาคือ มีการสร้างเขื่อนไปพร้อมกับการทำกระบวนการPNPCA ซึ่งตามหลักการแล้ว ต้องทำกระบวนการให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะสร้างเขื่อน ในส่วนของการจัดประชุมให้ข้อมูลและรับฟังคสามเห็นจากชาวบ้านนั้น ชาวบ้านไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าจะมีการประชุม ในส่วนที่รับรู้และไปเข้าร่วมการประชุมเพื่อชี้แจ้งว่าจะเกิดผลกระทบอะไรต่อชาวบ้าน ก็ไม่มีการนำข้อมูลในส่วนนี้ไปใช้ แต่ถึงที่สุดศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าถูกขั้นตอนมีการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหายระบุ (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มด้านล่าง)

คำปิ่น อักษร ผู้ประสานงานกลุ่มคนฮักน้ำของ

ด้าน คำปิ่น อักษร ผู้ประสานงานกลุ่มคนฮักน้ำของ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ชาวบ้านหลายคนมาด้วยความหวัง และอยากมารับฟังความเห็นของศาล ว่าจะมีข้อความใดที่แสดงความเห็นใจต่อภาคประชาชนหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจ

“เราก็รู้สึกเสียใจเหมือนกัน เรามากว่า 800 กิโล(เมตร) วันนี้ก็พาเด็กๆ มาฟังอนาคตของพวกเขาด้วย แต่ดูเหมือนอนาคตพวกเขาน้อยลงทุกที เพราะเด็กพวกนี้ที่บ้านเขาหาปลาส่งพวกเขาเรียน ทีนี้ถ้าทรัพยากรมันถูกทำลายไป อนาคตเขาก็ไม่รู้จะไปทางไหน จะเป็นแรงงานก็ไม่ใช่วิถีของเขา เขาควรจะได้สืบทอดวิถีชีวิต ต่อยอดในการใช้ทรัพยากรของแม่น้ำโขง” คำปิ่น กล่าว

มนตรี จันทรวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูวิถีชีวิตและธรรมซาติ

ด้าน มนตรี จันทรวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูวิถีชีวิตและธรรมซาติ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ฟังคำตัดสิน และพุดคุยกับเครือข่ายประชาน และทนายความ คิดว่าจะต้องมีการอ่านคำพิพากษากันอย่างละเอียดอีกครั้ง และหากมีประเด็นไหนที่ไม่เห็นด้วยก็จะมีการยื่นอุทธรณ์ ภายใน 30 วัน

เขากล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากโครงการข้ามพรมแดน หากโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไทย หรือการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไม่ได้เกี่ยวข้องกับไทย ก็จะเป็นเรื่องที่ยากที่จะป้องกันผลกระทบต่อชาวบ้านในลุ่มน้ำโขง แต่โครงการนี้เกี่ยวข้องกับไทย ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และการลงทุนมาจากประเทศไทยทั้งหมด ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในพื้นที่สีเทา เรื่องที่กฎหมายจะครอบคลุมไปถึงหรือไม่อาจจะขึ้นอยู่กับการตีความ หากจะผลักดันประเด็นเรื่องนี้ต่อไปก็จะต้องหาของเท็จจริงขึ้นมาต่อสู้กัน เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า เรายังสามารถใช้ข้อกฎหมายตีความไปถึงโครงการข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ต่อคำถามว่า คิดเห็นอย่างไรที่รัฐมักย้ำเสมอว่า กำลังไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยอาจจะไม่เพียงพอ ต้องมีการเตรียมกำลังสำรองไว้เพื่ออนาคต การสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเองก็ถูกต่อต้าน เมื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านก็ยังถูกต่อต้านอีก เขาเห็นว่า การพูดว่ากำลังไฟฟ้าสำรองไม่พอ เป็นการสร้างมายาคติ เพื่อให้ความชอบธรรมต่อการสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยไม่ได้กังวัลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน และวิถีชีวิตของชาวบ้าน

เขากล่าวต่อไปว่า วาทกรรมเหล่านี้เมื่อพูดซ้ำๆ หลายครั้ง สังคมกลับเชื่อว่าสิ่งที่รัฐพูดเป็นข้อเท็จจริง และบางครั้งคนในสังคมลืมตั้งคำถามกลับไปว่ามันจริงหรือไม่

เข้ม(ซ้าย)-จ๊ะ(ขวา) สองหนุ่มน้อยจากอุบลราชธานี เดินทางมาร่วมฟังคำตัดสิน

สรุปความเป็นมาของคดี

ปี 2554
ประชาชนในเขต 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้ทราบข่าวการสร้างเขื่อนไซยะบุรีขนาด 1285 เมกะวัตต์บนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยบริษัท ช.การช่าง และการลงทุนของธนาคาร 6 แห่งในประเทศไทย โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าหลัก 95% และกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกระบวนการการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 โดยประชาชนในประเทศไทย ได้แสดงความกังวลใจต่อปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนที่อยู่ห่างจากเขื่อนเพียง 200 กิโลเมตร โดยไม่มีการจัดทำรายงานการศึกษาดังกล่าว ต่อมามีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังนั้นชาวบ้านจึงได้มีความเห็นร่วมกันที่ จะต้องมีการฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้รัฐคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่จะอาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนไซ ยะบุรีดังกล่าว แม้ว่าเขื่อนจะอยู่ในเขตอธิปไตยของสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่เมื่อแม่น้ำโขงคือ แม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ ผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนแห่งนี้ก็อาจจะหลีกเลี่ยงมิได้

ปี 2555
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2555 ประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง ทั้งในด้านระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน อย่างร้ายแรง ได้ร่วมกันให้ตัวแทน ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าของกฟผ. (PPA) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 ระหว่าง นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ที่ 1 กับพวกรวม 37 คน ผู้ฟ้องคดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 1 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 2 กระทรวงพลังงาน ที่ 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 4 คณะรัฐมนตรี ที่ 5 ผู้ถูกฟ้องคดี โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษา ดังนี้

1. ให้มีคำพิพากษาว่า โครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวเสีย

2. ให้มีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี

3. ให้มีคำพิพากษาว่า ให้ยกเลิกมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ในการอนุมัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินโครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

ปี 2556
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยออกเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 59/2556 ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 21 มีนาคม 2556 เพื่อขอให้ศาลพิจารณารับคำฟ้องคดีไว้พิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดรับเป็นคำร้องที่ คส.11/2556

ปี 2557
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2557 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ 8/2557 ให้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจาณาบางส่วน โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยพอสรุปได้ ดังนี้

ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 ได้ยื่นฟ้องเป็น 3 ข้อหา จึงพิจารณารายข้อหา ดังนี้

ข้อหาที่หนี่ง มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ที่อนุญาตให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ของประเทศลาว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การมีมติให้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อนำไปสู่การทำสัญญา ซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด จึงยังไม่มีผลทางกฎหมายออกสู่ภายนอกไปกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ ของผู้ฟ้องทั้ง 37 คน ดังนั้น ผู้ฟ้องทั้ง 37 คนจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสีย หายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ศาลไม่รับข้อหานี้ไว้พิจารณา

ข้อหาที่สอง สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาล พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน มีความประสงค์อันแท้จริง คือ ต้องการให้ศาลปกครองมีคำบังคับให้เพิกถอนหรือยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด แต่ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องทั้ง 37 คนเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน จะมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีข้อหาที่สองต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา 42 วรรค 1 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แม้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน อุทธรณ์ว่า สัญญาซื้อไฟฟ้าก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ในฐานะที่เป็นผู้เสียภาษี และผู้รับประโยชน์จากสัญญา แต่ศาลเห็นว่า การเสียภาษีอากรถือว่าเป็นหน้าที่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน จะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ศาลไม่รับข้อหานี้ไว้พิจารณา

ข้อหาที่สาม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม ทั้งในฝ่ายไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องทั้ง 37 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่ว ไปที่ไม่ได้อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน  หรือเสียหาย ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ได้รับจำต้องมีคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ตามมาตรา 72 วรรค 1(2) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โครงการเขื่อนไซยะบุรีสร้างในแม่น้ำนานาชาติ ต้องปฎิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น PNPCA เนื่องจากเป็นกติกาที่ใช้ในการจัดการแม่น้ำนานาชาติร่วมกัน โครงการไซยะบุรีเป็นโครงการที่กั้นแม่น้ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียตนาม ซึ่งเป็นผลกระทบข้ามพรมแดน จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องโดยใช้สิทธิชุมชนในการฟ้องคดีเป็นการใช้สิทธิ เพื่อคุ้มครองไม่ให้ตนได้รับผลกระทบ จึงใช้สิทธิในการฟ้องได้

ศาลจึง มีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 37 คน เฉพาะข้อหาที่ 3 ในส่วนที่ฟ้อง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การประเมินผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ไว้พิจารณา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

ปี 2558
กระบวนการ ฟ้องศาลปกครองกรณีนี้ ใช้ระยะเวลามานานมากถึง 4 ปี และใกล้ถึงการสิ้นสุดของกระบวนการ โดยศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งให้มีการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้อง โดยมีการสรุปประเด็นที่พิจารณาไว้สองเรื่องคือ ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดละเลยต่อหน้าที่ไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่ง แวดล้อม สุขภาพ และสังคม ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยตุลการผู้แถลงเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำที่ตรงกับนิยาม โครงการของรัฐ เป็นเพียงการทำสัญญาซื้อไฟฟ้า มีลักษณะเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างประเทศ ฉะนั้นจึงมองว่าการลงนามดังกล่าวไม่ใช่โครงการของรัฐ ที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบ ซึ่งจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือจัดทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตุลาการผู้แถลงจึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวก่อนลงนามในสัญญา

ในถึงที่สุดในวันที่ 25 ธ.ค. 2558 เมื่อศาลอ่านคำพิพากษา ยกฟ้อง

คำพิพากษาฉบับเต็ม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท