รายงาน: จับตา 9 ประเด็นร้อนต้อนรับปีใหม่ 2559

 

ส่งท้ายปี 2558 ด้วย 9+1 ประเด็นที่น่าจับตาในปี 2559 มีประเด็นใดรอผู้อ่านอยู่บ้าง เชิญติดตาม ...

1.ร่างรัฐธรรมนูญลายพรางฉบับลับ-ลุ้น จะร่วงหรือรุ่ง

หลัง สปช. มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2558 กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดย คสช. เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการเลือกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และได้มือโปรอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ มานั่งหัวโต๊ะ เขาเคยมีบทบาทในคณะรัฐประหารครั้งก่อนหน้า ทั้งร่างประกาศและคำสั่ง คปค. หลายฉบับ และเป็นส่วนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ร่วมกับวิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

กรธ. กำหนดชัดเจนว่า 29 ม.ค.2559 ประชาชนได้จะเห็นร่างแรก หลังจากปิดห้องร่างกันมายาวนานโดยสื่อไม่สามารถร่วมฟังได้ ประเด็นประปรายที่หลุดรอดออกมาอภิปรายในร่างนี้มีให้ต้องจับตา เช่น มีการปรับโมเดลสูตรการเลือกตั้งแบบใหม่ โดยอ้างว่าคะแนนเสียงทุกเสียงจะมีความหมาย แต่กลับกลายเป็นว่าพรรคการเมืองออกมาคัดค้านกันรอบด้าน มากไปกว่านั้น สมบัติธำรงธัญวงศ์ ยังออกวิจารณ์แรงๆ ว่า “บิดเบือนประชาธิปไตย” นอกจากนี้เห็นจะมีเรื่องของที่มา 200 ส.ว. ซึ่งเคาะแล้วว่าให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยจัดเป็น 20 กลุ่มอาชีพ และอีกเรื่องที่มีอยู่แน่ๆ ในรัฐธรรมนูญคือ การนริโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร ดังที่มีชัยกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีอยู่แล้วตามสูตร

นอกจากนี้ยังมีปมปัญหาเดิมที่เคยปรากฎอยู่ในร่างบวรศักดิ์จะปรับรูปแปลงร่างมาปรากฏในร่างนี้หรือไม่ เช่นการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ หรือคปป. ซุปเปอร์องค์กรเหนือรัฐบาล, การให้อำนาจเด็ดขาดกับศาลรัฐธรรมนูญในการตัดสินว่าสภานิติบัญญัติจะแก้ไขรัฐธรรมได้หรือไม่, กลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เอื้อให้คนที่มาจากการเลือกตั้งถูกกระชากตกจากเก้าอี้ได้ง่ายกว่าผู้ที่มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้ง ฯลฯ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา คสช.ก็มีส่วนเสนอความเห็นกับ กรธ. ด้วยโดยมีหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ คสช./491 เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อความที่น่าสนใจคือ

ข้อ 2.6 เนื่องจากปัญหาวิกฤตหรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ข้อ 2.7 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐยังคงต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอก ราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

ชัดเจนว่านี่เป็นโจทย์ที่ถูกมอบให้ร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อคลอดออกมาแล้ว ครั้งนี้ไม่มี สปช. มาตัดสินให้ก่อนว่าร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะผ่านหรือไม่ ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกนำไปให้ประชาชนลงประชามติเลย กำหนดไว้ในช่วงเดือน ก.ค. 2559 หากการประชามติผ่านก็จะมีการเลือกตั้งช่วงเดือน มี.ค. 2560 หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ถ้ามองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้งโดยมี คสช. เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3 ส่วนทางออกอื่นๆ นอกเหนือไปจากการวนกลับมาจุดเดิมปรากฎให้เห็นอยู่บ้าง ทว่ายังไม่มีสัญญาณแน่ชัดจากผู้ทรงอำนาจ

ยังมิพักต้องพูดถึงประเด็นปัญหาในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เรื่อง ประชาติมติจะผ่านก็ต่อเมื่อได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ “ผู้มีสิทธิออกเสียง” หรือ “ผู้ออกมาใช้สิทธิ” เรื่องนี้ถกเถียงถึงการตีความแต่ยังไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด บ้างวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องของเทคนิคที่จะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ผ่านการประชาติมติ คสช. จะได้อยู่ในอำนาจต่อไป แน่นอนเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนสักทาง และยังไม่แน่ว่าจะมีการเปิดพื้นที่ในการรณรงค์ รับ/ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด

2.ปรองดอง-นิรโทษกรรม ความ(สิ้น)หวังของนักโทษการเมือง

วาระในการหาหนทางปรองดองยังคงเป็นแก่นแกนการแก้ปัญหาประเทศ ทั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ สภาขับเคลื่อนประเทศ (สปท.) ต่างเตรียมหาโมเดล ‘นิรโทษกรรม’ ฝ่ายการเมืองต่างๆ และเล็งบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนการนิรโทษกรรม คสช.นั้นไม่ต้องเล็งให้วุ่นวายเพราะ มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกชัดเจนว่าเป็นสูตรสำเร็จที่ต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

- กรธ. จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาประเด็นปัญหาการสร้างความปรองดอง ซึ่งมีนายทหารผู้ใหญ่ 3 รายเป็นแกน คือ พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และ พล.ต.วิระ โรจนวาศ อดีต ผอ.สำนักพระธรรมนูญทหารบก ศึกษาสูตรเก่าของทั้ง คอป.(คณิต ณ นคร), ดิเรก ถึงฝั่ง, เอนก เหล่าธรรมทัศน์

- สปท. ให้ กมธ.ด้านการเมืองเป็นผู้พิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรม โดยจะทำคู่กันไปกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ที่จัดตั้งโดย กอ.รมน. และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางสร้างความปรองดองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยึดกุมหลักจากชุด ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ (รายละเอียดเรื่องปรองดอง) (ข้อเสนอการปฏิรูปทั้งหมด

ย้อนดูข้อเสนอ 6 ข้อของชุดเอนกเท่าที่สื่อมวลชนเสนอไว้ จะพบว่าเป็นนามธรรมกว้างๆ คือ 1.สร้างความเข้าใจเหตุแห่งความขัดแย้ง 2.การแสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง 3.การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิดและการให้อภัย 4.การเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ 5.การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน 6.มาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ส่วนรูปธรรมอย่างการนิรโทษกรรมที่ชุดเอนกเสนอนั้น คลุมช่วงปี 2548-2557 แบ่งเป็นระดับย่อย คือ ผู้ชุมนุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ โดยจะแยกความผิดเป็น 3 ประเภท คือ 1.ผู้ทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 2.ผู้ทำผิดคดีอาญาโดยเนื้อแท้ เช่น ฆ่าคนตาย ครอบครองอาวุธ 3.ผู้ทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมืองและคดีอาญาโดยเนื้อแท้ 

ข้อ 1 นั้นเร็วเพราะอาจให้อัยการพิจารณาไม่สั่งฟ้อง ข้อนี้เคยเป็นข้อเสนอตั้งแต่ คอป.เสนอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้ผลลัพธ์เพียงไร ส่วนข้อ 2 และ 3 นั้น ข้อเสนอบอกว่าต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติจนรับโทษไประยะหนึ่งจึงอาจมี “การขออภัยโทษ” ได้ หลายคนบอกว่านี่เป็นข้อเสนอที่ชาญฉลาด เพราะไม่ต้องเสนอก็เป็นไปดังนั้นอยู่แล้ว

อีกระดับหนึ่งคือ แกนนำหรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสั่งการ ข้อเสนอระบุว่าควรนิรโทษหลังจากนิรโทษให้ระดับประชาชนและเจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อยไปแล้ว 1 ปี โดยจะทำได้ต่อเมื่อ 1.ผู้นั้นสำนึกผิด 2.มีข้อเท็จจริงปรากฏต่อสังคมแล้ว 3.เหยื่อให้อภัย
หัวใจหลักของข้อเสนอเอนกคือ ไม่ครอบคุม มาตรา 112-คดีอาญา-คดีทุจริต

ด้วยข้อยกเว้นดังกล่าว ข้อเสนอนี้จึงไม่ครอบคลุมประชาชนที่อยู่ในเรือนจำอยู่แล้วจำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งเท่าที่มีข้อมูล ราว 95% เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่โดนข้อหาไม่ว่าจะเป็น เผาศาลากลาง, อาวุธ,ประทุษร้าย และมาตรา 112  ส่วนกรณีที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมตามที่สมาชิก สปท.ระบุไว้ เช่น ปิดถนน ยึดสนามบิน ยึดทำเนียบ นั้นดูเหมือนผู้ได้ประโยชน์น่าจะเป็นระดับแกนนำ เนื่องจากระดับประชาชนในกลุ่มพันธมิตรและกปปส. แทบไม่มีใครโดนข้อหานี้ ขณะที่ในกลุ่มนปช.มีการจับกุมระดับผู้ชุมนุมและแจ้งข้อหาคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นจำนวนมากในปี 2553 และเข้าข่ายนิรโทษกรรม น่าเสียดายแค่ว่าคดีที่เข้าข่ายทั้งหมดนั้นศาลพิพากษาแล้ว จำคุกเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึง 1 ปีครึ่ง

โดยสรุป ประชาชนที่โดนโทษเล็กน้อยจากการชุมนุมนั้นติดคุกกันเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงระดับแกนนำของทั้งสองฝ่ายกับเจ้าหน้าที่ทั้งระดับปฏิบัติการและออกคำสั่งเท่านั้นที่ยังอยู่ในข่ายได้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ส่วน ‘นักโทษการเมือง’ แบบที่เป็นประชาชนธรรมดาและติดคุกอยู่ในปัจจุบันมีอยู่จำนวนไม่น้อย แต่คดีทั้งหมดดูจะอยู่ในข้อยกเว้น

ตามสถิติของ iLaw อย่างน้อยๆ ปี 2558 มีผู้ถูกดำเนินคดี 112 เพิ่มขึ้น 37 คนเกือบทั้งหมดอยู่ในเรือนจำ, คดีอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ก็มีผู้ต้องขังหลายคนที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ หากดูสถิติปี 2555 ที่เริ่มตั้งเรือนจำหลักสี่สำหรับนักโทษคดีการเมือง มีผู้ต้องขัง 47 ราย จนเมื่อมีการปิดเรือนจำในเดือนกรกฎาคม 2557 มีผู้ต้องขังเหลืออยู่ 22 คนและถูกกระจายไปคุมขังยังภูมิลำเนา ยังไม่นับรวมคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีที่ศาลฎีกาสั่งจำคุกตลอดชีวิตจำเลยเพิ่มอีก 4 คนเมื่อเร็วๆ นี้

3.ขบวนการต้าน คสช. ยังทรงตัว รอตัวกระตุ้น

ช่วงต้นปีหน้า ขบวนต้าน คสช.น่าจะยังอ่อนแรง เพราะกลุ่มใหญ่ยังรอการคืนอำนาจจาก คสช. แม้จะมีการขยายโรดแมปก็ตาม หากแยกแยะกลุ่มที่จะออกมากดดัน-ต่อต้าน คสช.นั้น นอกจากกลุ่มที่ออกมาต่อต้านการยึดอำนาจตั้งแต่ก่อนและหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.57 แล้ว เมื่อ คสช.เข้ามาคุมอำนาจรัฐและบริหารงานทุกส่วน ย่อมก่อให้เกิดกลุ่มที่เสียและได้ประโยชน์จากนโยบายต่างๆ รวมทั้งไม่พอใจในความผิดพลาดหรือความไม่ชอบมาพากลของการดำเนินนโยบาย อย่างไรก็ตามทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวจนสั่นสะเทือนสถานะของ คสช. ได้มากนักในตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหากพิจารณาจากจำนวนผู้ออกมาเคลื่อนไหวประท้วง โดยมากก็ยังเป็นเพียงหลักร้อย ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งเป็นเพราะความเด็ดขาดในการควบคุมการรวมตัวชุมนุม(ของฝ่ายต่อต้าน) และการดำเนินคดีผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมาก มีการติดตามไปเยี่ยมเยือนบ้านนักเคลื่อนไหวอย่างถ้วนทั่วและสม่ำเสมอ การเชิญไปพูดคุยในค่ายทหารก็ยังคงมีเป็นระยะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ปีหน้า คสช.อาจต้องรองรับความไม่พอใจที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากสภาพทางเศรษฐกิจที่ยิ่งตกต่ำ แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เพื่อล้ม คสช. เพราะยังไม่เห็นวี่แววการเคลื่อนไหวใหญ่ของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ หรือแม้แต่ นปช.เพื่อกดดันเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญหรือเร่งรัดการเลือกตั้งอย่างจริงจัง จะมีก็เพียงการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจบ้างในรายประเด็นเท่านั้น คนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ เองก็อยู่ในจังหวะซุ่มซ่อนรอคอย (การเลือกตั้ง)

ดังนั้น ปี 2559 การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน คสช. จึงยังคงเป็นเหมือนปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนของกลุ่มย่อยๆ โดยอาจมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ที่น่าจับตาเห็นจะเป็นกลุ่มอย่างพลเมืองโต้กลับ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง มีการสื่อสารในช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ กลุ่มนี้จะสามารถขยายตัวได้หรือไม่ แกนนำจะยังไปต่อไหวไหมในเมื่อแต่ละคนก็มีคดีความติดตัวไว้เกือบครบทุกคนแล้ว

4. จัด “ระเบียบ" โลกออนไลน์

ย้อนไปตั้งแต่ต้นปี มีเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นความพยายามในการเข้ามาควบคุมการสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตหลายเรื่องตั้งแต่เรื่องระดับระบบปฏิบัติการจนถึงข้อมูลที่ประมวลผลออกมาเป็นตัวหนังสือที่เราอ่านได้

- ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล
หลังเปิดทำงานหลังปีใหม่ ปี 2558 มาไม่นาน ครม.พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติหลักการร่างกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวดเดียว 8 ฉบับ โดยต่อมา มีการนับรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเรียกรวมๆ กันเป็น ชุดร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล 10+3 ฉบับ (ขณะนั้น ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว 10 ฉบับ และยังรอพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ อีกอย่างน้อย 3 ฉบับ) และแม้ว่ารัฐบาล คสช. จะโปรโมทเรื่องการก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจากกลไกของร่างกฎหมายเหล่านี้ แต่ก็มีเสียงท้วงจากเครือข่ายพลเมืองเน็ตที่ออกมาเปิดประเด็นว่า ชุดกฎหมายเหล่านี้ไม่ใช่กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล หากเป็นชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัลมากกว่า เพราะให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีร่างกฎหมายใหม่และแก้ไขเพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ฉบับ (ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-มั่นคงไซเบอร์-ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์-ปราบปรามสิ่งยั่วยุ-วิธีพิจารณาความอาญา) ที่อนุญาตให้รัฐค้น ยึด อายัด ขอ เข้าถึง และดักรับข้อมูลได้ โดยไม่มีกลไกการพิจารณาตรวจสอบใดๆ จากหน่วยงานตุลาการที่เชื่อถือได้ หรือหากมี ก็ไม่ชัดเจนพอ ประเด็นเหล่านี้นำมาซึ่งความกังวลและการต่อต้านจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง หลายร่าง พ.ร.บ.ถูกหยิบมาชำแหละจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จนสุดท้าย กระบวนการผ่านกฎหมายค่อยๆ ชะลอความเร็วลง กระนั้นก็ตาม ปี 2559 ที่จะถึงนี้ยังต้องจับตากันต่อไปเพราะร่างกฎหมายเหล่านั้นส่วนใหญ่อยู่ในการทบทวนของกฤษฎีกา

- ยันด้วยเอกสาร รัฐไทยจะสอดแนม? 
เมื่อเดือนกรกฎาคม เว็บไซต์วิกิลีกส์ ปล่อยเอกสารที่แสดงให้เห็นการติดต่อระหว่างหน่วยงานรัฐของไทย 3 แห่ง คือ กรมราชทัณฑ์ กองทัพบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ แฮกกิ้งทีม บริษัทสัญชาติอิตาลีซึ่งขายอุปกรณ์สอดแนม เจาะระบบดิจิทัล ขณะที่กองทัพบกออกมาปฏิเสธไม่ทราบว่ามีการซื้อดังกล่าว

- Single gateway = Thai Great Firewall?
ปุ่ม F5 บนแป้นคีย์บอร์ดกลายเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทำซิงเกิลเกตเวย์ของรัฐบาล คสช. หลังมีการเปิดเผยเอกสารข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีถึง 4 ครั้ง โดยอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 ให้กระทรวงไอซีทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแชร์ข้อความบอกแผนการ "โจมตี" ด้วยการเรียกหน้าเว็บรัวๆ บ้างก็ใช้เว็บที่มีฟังก์ชันนี้ช่วย เพื่อให้เว็บเป้าหมาย ซึ่งคือเว็บของหน่วยงานรัฐต่างๆ เข้าใช้งานไม่ได้ไปพักใหญ่

แม้คนในรัฐบาลทหารจะดาหน้าออกมาปฏิเสธว่ายังเป็นแค่แนวคิด แต่ ดอน สัมพันธ์ธารักษ์ ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาค วารสาร Telecomasian ที่ติดตามในประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งข้อสังเกตในงานสัมมนาประจำปีของเครือข่ายพลเมืองเน็ตเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ซิงเกิลเกตเวย์ทำงานแล้ว แต่มีบริบทจำนวนมาก เช่น การที่ประธานสภาความมั่นคงไปนั่งบอร์ด CAT กรณี พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ บอกว่าน่าจะทำได้ภายในไม่เกินต้นปีหน้า และตัวดอนเองก็ยังเคยถูกทาบทามไปร่วมทีมประมูลโครงการซิงเกิลเกตเวย์ด้วย (อ่านเพิ่มเติม)

- ขอบเขตที่ "ไร้พรมแดน" ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
นับแต่การประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มา จะพบการนำกฎหมายนี้ไปใช้ในลักษณะผิดวัตถุประสงค์หลายครั้ง เช่น ใช้มาตรา 14 (1) ซึ่งพูดถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ไปฟ้องควบคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาทของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งที่เจตนารมณ์ของมาตรานี้มีขึ้นเพื่อใช้กับอาชญากรรมออนไลน์ เช่น ปลอมแปลงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่การ "หมิ่นประมาทออนไลน์" ล่าสุด มีการตีความการกดไลค์และกดแชร์ข้อมูลที่เข้าข่ายผิดกฎหมายในโซเชียลมีเดียให้เป็นความผิดด้วย พร้อมนำมาใช้ควบคู่กับมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยหลังกระแสการตั้งคำถามเรื่องการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยสูตรดังกล่าวแล้ว (เท่าที่ทราบ) 3 ราย

นอกจากนี้ ยังมีบรรทัดฐานใหม่จากคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทถูกฟ้องด้วยมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยศาลพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จีรนุช มีความผิดจากการลบกระทู้ 1 กระทู้ในเว็บบอร์ดช้าไป 20 วัน โดยชี้ว่า จีรนุชไม่ได้ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนอย่างเพียงพอ โดยไม่ได้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ที่โพสต์ข้อความที่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ ให้ก่อน โดยไม่ต้องร้องขอ แม้ว่าตามกฎหมาย เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการใช้อำนาจเรียกข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ก็ตาม

- ปฏิรูป (?!) สื่อออนไลน์
นอกจากการใช้กลไกตามกฎหมายและโครงสร้างที่มีอยู่เดิมแล้ว หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ก็น่าจับตาไม่น้อย โดยในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้นมีการแต่งตั้งอนุกรรมาธิการด้านสื่อออนไลน์ขึ้นด้วย โดยมี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ อดีตผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นั่งเป็นประธาน ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าวออกมาให้ข่าวถึงแนวทางที่จะเสนอให้ คสช. ใช้อำนาจพิเศษอย่าง มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเข้ามาจัดการสื่อออนไลน์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน หรือกระทบความมั่นคงของชาติ รวมถึงเห็นความพยายามพูดคุยกับโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการในต่างประเทศ เพื่อหาวิธี "แก้ปัญหา" จากการใช้สื่อออนไลน์ร่วมกันด้วย โดยระบุว่า ในเดือนมกราคม จะเริ่มพูดคุยกับหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล ไลน์ หรือเฟซบุ๊ก ซึ่งเราน่าจะได้เห็นความชัดเจนกันหลังจากนั้น

5.การเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ ความจริงใจของคสช. ที่ต้องรอดูในปีหน้า

ปี 2558 เป็นปีที่มีความคืบหน้าในกระบวนการสันติภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี เป็นอย่างมาก รัฐบาลทหารไทยได้ดำเนินการเจรจาสันติภาพกับขบวนการปลดแอกเอกราชปาตานีอีกครั้ง แต่มิได้เป็นการสานต่อการพูดคุยที่เคยมีมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 หากแต่เป็นการล้มของเดิม และเริ่มใหม่หมด การเจรจาในสมัย คสช. จึงได้ชื่อว่าเป็น “ไดอะล็อก 2” ในขณะที่การเจรจาสมัยยิ่งลักษณ์ได้ชื่อว่า “ไดอะล็อก 1”

เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับไดอะล็อก 2 ฝ่ายขบวนการซึ่งประกอบด้วยหลายกลุ่ม รวมตัวจัดตั้งองค์กรร่มชื่อว่า “มาร่า ปาตานี” ซึ่งประกอบด้วย บีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี และ จีไอเอ็มพี ต่างจากในสมัยไดอะล็อก 1 ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เลือกที่จะเจรจากับ บีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นขบวนการที่มีกำลังนักรบในพื้นที่มากที่สุด หรือพูดง่ายๆ คือ เป็นกลุ่มที่ควบคุมการก่อเหตุในพื้นที่โดยตรง อย่างไรก็ตาม มาร่าก็เผชิญกับวิกฤติภายใน เมื่อสมาชิกบีอาร์เอ็นออกมาพูดดิสเครดิตมาร่าผ่านสื่ออยู่เนืองๆ ตัวแทนบีอาร์เอ็นในมาร่าก็ปฏิเสธจะตอบคำถามสื่อว่า พวกเขาได้ฉันทานุมัติจากสภาของบีอาร์เอ็นให้มาร่วมกับมาร่าหรือไม่ นักวิเคราะห์มองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับบีอาร์เอ็นที่มีลักษณะเป็นองค์กรใต้ดิน และใช้ความลึกลับคลุมเครือเป็นยุทธศาสตร์ตลอดมาจะเดินเกมสองทางเช่นนี้ และยังตั้งข้อสังเกตว่า บีอาร์เอ็นคงเลี่ยงไม่ร่วมมาร่าไม่ได้ เพราะโดนบีบจากมาเลเซียซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา ด้วยเกมของบีอาร์เอ็นและความใหม่ของมาร่า ทำให้ประชาชนในสามจังหวัดมีข้อกังขากับมาร่าว่าพวกเขาเป็นผู้มีความชอบธรรมที่จะมาเป็นตัวแทนในการเจรจาหรือไม่

อย่างไรก็ตามเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว ที่การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทย กับ มาร่า ปาตานี องค์กรร่มของขบวนการปลดแอกเอกราชปาตานีไร้ความคืบหน้า ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ตื่นตัวกับการพูดคุยเท่าไรนัก การเจรจาที่เป็นไปแบบปิด และยังไม่เป็นทางการ เริ่มดูจะหยุดนิ่งเมื่อฝ่ายมาร่ายื่นข้อเสนอสามข้อต่อรัฐบาลทหารไทย ซึ่งได้แก่ 1. ยอมรับ “มาร่า ปาตานี” ในฐานะคู่เจรจาอย่างเป็นทางการ (ในขณะนี้ ในเอกสารเกี่ยวกับการเจรจาใช้ว่า “ปาร์ตี้ บี” โดยไม่ได้ระบุเจาะจงไปว่าเป็นมาร่า) 2. ให้รัฐสภาไทยรับรองการเจรจาสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้รัฐบาลต่อๆ ไปต้องสานต่อ 3. ยกเว้นการรับผิดตัวแทนมาร่า เพื่อให้สามารถเข้าประเทศไทยมารับฟังความเห็นของประชาชนได้ มาร่ากล่าวว่า หากทั้งสามข้อยังไม่ได้รับการตอบสนอง การเจรจาอย่างเป็นทางการก็จะไม่เริ่ม และข้อตกลงต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น และการพบปะกันระหว่างนี้ก็จะถือเป็นเพียงการสร้างความคุ้นเคยและความมั่นใจระหว่างผู้แทนเจรจาเท่านั้น

ในระหว่างที่ข้อเสนอสามข้อยังไม่ได้รับการตอบสนอง ฝ่ายทหารไทยปล่อยข่าวว่า ได้บรรลุข้อตกลงกับมาร่าในเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งหมายถึง เขตพื้นที่ที่จะไม่มีเหตุความรุนแรงในที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย โรงเรียน วัด มัสยิด เป็นต้น และกลุ่มประชาสังคมหลายกลุ่มก็รับลูกเรื่องนี้ หากแต่มาร่าก็ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้อย่างทันควัน โดยย้ำว่า ข้อตกลงจะเกิดขึ้นได้ เมื่อรัฐบาลไทยยอมรับสามข้อของมาร่าเสียก่อน แหล่งข่าวกล่าวว่า การปล่อยข่าวดังกล่าวมาจากความแตกแยกภายในของทีมเจรจาฝ่ายไทย ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการโชว์ผลงานว่าสามารถบรรลุข้อตกลงได้ โดยไม่ต้องทำตามข้อเสนอสามข้อ  

สิ่งที่ต้องจับตาในปีหน้า คือ รัฐบาลทหาร คสช. จะตอบรับข้อเสนอสามข้อหรือไม่ นี่คือตัวชี้วัด ความจริงใจและความจริงจังของคสช. ที่ประชาชนสามจังหวัดและฝ่ายขบวนการรอดู แต่มันก็ดูเป็นไปได้ยาก เมื่อรัฐบาล คสช.กำลังเจอวิกฤติความชอบธรรมจากข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต และพิษเศรษฐกิจที่แก้ไม่ตก ในที่สุดแล้ว อนาคตของสันติภาพในชายแดนภาคใต้ก็อาจจะต้องหลีกทางให้ปัญหาการเมืองที่กรุงเทพฯ เหมือนดังที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่การเจรจาหยุดชะงักหลังจากเจอผู้ชุมนุมประท้วงต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง นับเป็นการตอกย้ำกลายๆ ว่า ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ ชะตากรรมของชาวมลายูมุสลิมที่อยู่ห่างไกลออกไปนั้นต้องรอก่อนเสมอ

6.ภาคประชาสังคม หลากหลายปัญหายังคาราคาซัง

เรื่องที่ดูจะเป็นประเด็นร้อนแรงแห่งปี เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องเยาวชนนักข่าวพลเมืองซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พร้อมด้วยทีมงานรายงานนักข่าวพลเมืองของสถานนีโทรทัศน์ทีพีบีเอส โจทก์คือ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หลังจากเยาวนคนดังกล่าวรายงานข่าวการจัดค่ายเยาวชนและรายงานผลกระทบในพื้นที่ ผ่านรายการนักข่าวพลเมือง ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 

แม้ล่าสุดจะมีการเสนอจากบริษัทว่าจะถอนฟ้องเยาวชน หากเดินทางไปขอโทษ แต่เด็กสาววัย 15 ปี กลับยันยืนในจุดยืนว่าจะไม่ขอโทษเพราะตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า สถานพินิจฯ จ.เลย ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายในการอนุญาติการฟ้องร้องเด็กและเยาวชนจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร ในส่วนของทีมงานไทยพีบีเอส บริษัทได้เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปก็จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่เยาวชนนักข่าวพลเมืองรายงานเป็นการใส่ร้ายบริษัทหรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่

อีกเรื่องร้อนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คือเรื่องสุขภาพ ล่าสุดมีการออกมาพูดถึงการร่วมจ่ายในโครงการหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า (เรียกกันติดปากว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ไม่ทันไร นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ก็ออกมายืนยันว่าจะไม่มีการเลิกล้มโครงการนี้แน่นอน เพียงแต่ต้องการทำให้เกิดความยั่งยืน โดยคาดว่าเมื่อเริ่มต้นปี 2559 จะมีการตั้งคณะทำงานที่มีความหลากหลายเพื่อศึกษาดูความเป็นไปได้ว่าจะจัดการอย่างไรในสภาวะที่เป็นจริงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยยึดหลักว่าการแก้ปัญหาหนึ่งต้องไม่ทำให้เกิดอีกปัญหาหนึ่ง

ในเรื่องของปัญหาที่ดินที่ทำกินก็ยังน่าจับตา ภายหลังจากคสช. ออกคำสั่ง ฉบับที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินให้เป็นที่ราชพัสดุ  เพื่อเปิดทางให้เอกชนยื่นขอเช่าใช้ประโยชน์เพื่อการลงทุน ปรากฏว่าที่ดินหลายส่วนที่ถูกสั่งเพิกถอนอย่างฉับพลันโดยคำสั่งนั้น มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ ในขณะที่กระบวนการตรวจสอบสิทธิในการอยู่อาศัยยังไม่เสร็จสิ้น พวกเขาเหล่านั้นอาจจะต้องถูกไล่รื้อออกจากพื้นที่ เพื่อเปิดทางรับการลงทุน ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตาต่อไปในปีหน้าว่ารัฐจะมีท่าทีต่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้อย่างไร

7.เศรษฐกิจทรุดยาว คาดส่งออกยังติดลบ บัณฑิตใหม่หางานยาก 

ปีที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ระบุว่าการส่งออกของไทยติดลบใกล้เคียง 5.5% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบราว 3% โดยอธิบายว่าเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกมาคาดการณ์มูลค่าการส่งออกปี 2559 ต่อว่าจะยังไม่ฟื้นตัวเช่นเดิม

วีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ออกมาคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปีหน้าว่า จะมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ การทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2559 จะขยายตัว 3.6%  จากปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.1% รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในปี 2559 เริ่มจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีน ปี 2559 จะขยายตัว 6.3 %จากปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัว 6.8 %

จาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า ปี 2559 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.5% ต่ำกว่าประมาณเดิมเล็กน้อยที่ 3.7% ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลงโดยเฉพาะจีนและเอเชีย

ส่วนการว่างงานนั้นเสี่ยงที่จะสูงขึ้น โดยประเด็นนี้ ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ระบุว่า เนื่องจากปี 2558 ภาคธุรกิจกำลังการผลิตเหลืออยู่ประมาณ 30-35% โดยภาพที่สะท้อนออกมาคือการจดทะเบียนเลิกกิจการคาดว่าประมาณ 16,800 ราย สูงสุดในรอบ 3 ปีโดยเฉพาะตัวเลขในช่วงครึ่งปี ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการว่างงานซึ่งน่าจะสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยอัตราการว่างงานปี 2558 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.916 แม้อาจดูว่าเป็นอัตราต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่มีคนตกงานประมาณ 3.49 แสนคน ที่น่าสนใจคือในจำนวนนี้มีถึงประมาณ 1.81 แสนคนที่เคยเป็นผู้ทำงานมาก่อน

ดร.ธนิต ระบุด้วยว่า เมื่อกลับไปดูตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างพบว่าปี 2558 มีจำนวนผู้ถูกเลิกจ้างสูงถึง 82,700 คน เทียบกับปีที่แล้วสูงขึ้นถึงร้อยละ 23 สอดคล้องกับตัวเลขผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของประกันสังคม ซึ่งตัวเลขเฉลี่ยพุ่งขึ้นมาเดือนละ 121,215 คนหรือมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 10.8 นับเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงเพราะแรงงานที่จะจบใหม่และเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ในช่วงปีหน้าอาจหางานได้ยากขึ้น คาดว่าในปี 2559 แรงงานที่จะจบออกมาใหม่อาจมี 583,712 คน ขณะที่ภาคเกษตรก็อยู่ในสภาวะอ่อนแอไม่สามารถซึมซับการตกงานจำนวนมากๆ เหมือนในอดีตได้

8.ภัยแล้งหนักขึ้น น้ำน้อยยิ่งน้อยลง

สถานการณ์หนึ่งที่ต้องจับตาปีหน้าคือภัยแล้งอันเนื่องมาจากปรากฏารณ์เอลนีโญ ซึ่งเกิดขึ้นในรอบ 5-6 ปี โดยรอบนี้เอลนีโญที่เกิดขึ้นตลอดปี 2558 อาจจะกินเวลายาวไปจนถึงเดือนมีนาคม-เมษายน 2559 ซึ่งจะทำให้เป็นปีที่เกิดภัยแล้งต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 2 และสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นโดยสิ่งบ่งชี้หนึ่งคือ หลังฤดูมรสุมปีนี้ เขื่อนในภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2557 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หากปี 2559 เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงหรือฤดูมรสุมเกิดขึ้นล่าช้าเช่นเดียวกับปี 2558 ย่อมทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 ส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น สำหรับสถานการณ์ระดับน้ำล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 เขื่อนหลัก ยังคงกักเก็บน้ำได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2557

เขื่อนภูมิพล ที่ อ.สามเงา จ.ตาก มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 13,462 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 มีปริมาตร 37% โดยปริมาตรใช้การได้จริงถือว่ามีอยู่ 8% เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปี 2557 ปริมาตรใช้การได้จริงมีมากกว่าปีนี้สองเท่า

เขื่อนสิริกิติ์ ที่ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 9,510 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 มีปริมาตร 50% โดยปริมาตรใช้การได้จริงถือว่ามีอยู่ 20% เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปี 2557 ปริมาตรใช้การได้จริงมีอยู่ 32%

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 960 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 มีปริมาตร 54% โดยปริมาตรใช้การได้จริงอยู่ที่ 54% เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปี 2557 มีปริมาตรใช้จริงอยู่ 80%

เขื่อนอุบลรัตน์ ที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีความจุความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 2,431 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 มีปริมาตรใช้การได้จริง 6%  เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปี 2557 มีปริมาตรใช้การได้จริง 25%

ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2558  ระบุข้อมูลสมดุลน้ำระหว่างวันที่ 14 - 20 ธันวาคม 2558 ว่ามีแนวโน้มที่เกิดสภาวะแล้งทางด้านเกษตรในระยะต่อไป ส่วนในพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรราย 3 เดือน ระหว่างธันวาคม 2558 ถึง กุมภาพันธ์ 2559 ของกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศไทยตอนบน ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ปริมาณน้ำระเหยประกอบกับฝนที่ตกมีน้อย และแนะนำเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรมีน้ำสำรองเอาไว้ให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโตโดยเฉพาะในช่วงที่ผลิดอกออกผลเป็นช่วงที่พืชต้องการน้ำมาก หากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลง ถ้าขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

9. กลุ่มรัฐอิสลาม ISIS และอิทธิพลต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 


แฟ้มภาพอดีตหัวหน้าแผนกข้อมูลข่าวสารของปีกเยาวชนพรรคอิสลามมาเลเซีย (PAS) สาขารัฐเคดาห์ ลอฟติ อะริฟฟิน (Lotfi Ariffin) โพสต์รูปในเฟซบุ๊กเป็นภาพของเขากับนักรบในเขตปกครองของ ISIS ในปี 2557 เขาถูกพรรค PAS ขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 โดยพรรคระบุว่าไม่สนับสนุนขบวนการติดอาวุธ ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2557 ลอฟติเสียชีวิตหลังได้รับบาดเจ็บในการสู้รบ ลอฟติเป็นหนึ่งในชาวมาเลเซียหลายสิบคนที่เดินทางไปร่วมกับกลุ่ม ISIS ในซีเรีย-อิรัก ขณะที่ในรอบปี 2558 ทางการมาเลเซียจับกุมและดำเนินคดีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ISIS อย่างน้อย 36 ราย

ในช่วงสงครามกลางเมืองในซีเรีย กลุ่ม ISIS ได้ยึดพื้นที่สำคัญหลายเมืองในซีเรียและขยายพื้นที่ยึดครองไปสู่อิรัก และได้ประกาศตั้งรัฐกาหลิบ (Caliphate) โดยมีผู้นำคือ อะบู บะกา อัล-บักดาดี (Abu Bakr al-Baghdadi) ตั้งแต่ 29 มิถุนายน 2557 สาเหตุความสำเร็จหนึ่งของกลุ่ม ISIS ก็คือ สามารถระดมนักรบได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลกให้มาเข้าร่วมการต่อสู้กับ ISIS ในซีเรีย-อิรัก และภูมิภาคหนึ่งก็คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้นำสิงคโปร์เริ่มส่งเสียงเตือนต่อภูมิภาคแห่งนี้ โดยในที่ประชุมสิงคโปร์ซัมมิท เมื่อเดือนกันยายนปี 2557 [ชมคลิป]  ลี เซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้กล่าวว่า 2 สิ่งที่เขานึกถึงก่อนนอน คือ หนึ่ง กระแสชาตินิยมในเอเชีย และปรากฏการณ์ที่ชาติต่างๆ ขัดแย้งกันเพราะพิพาทดินแดน และสอง กลุ่ม ISIS เพราะไม่ได้เป็นปัญหาของตะวันออกกลาง แต่มีคนทั่วโลกถูกชักชวนให้เข้าร่วม มีคนจากอเมริกา ยุโรป รวมทั้งคนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซียไปเป็นนักรบที่นั่น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากเมื่อพวกเขากลับมายังประเทศบ้านเกิด

ต่อมาเมื่อ 29 พฤษภาคม 2558 ลี เซียนหลง ยังกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่ง (อ่านปาฐกถา) ในที่ประชุมแชงกรี-ลา ไดอะล็อก (Shangri-La Dialogue) ซึ่งเป็นการประชุมนานาชาติเรื่องความมั่นคง จัดที่ประเทศสิงคโปร์ ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นศูนย์กลางสำหรับการเกณฑ์นักรบของ ISIS ชาวอินโดนีเซียกว่า 500 คนเข้าร่วมกลุ่ม มีคนมาเลเซียเป็นสิบไปร่วม และมีการตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า "หน่วยรบแห่งหมู่เกาะมลายู" (Katibah Nusantara) นอกจากนี้ยังมีคนที่อพยพไปเพื่อตั้งครอบครัวอาศัยอยู่ในสังคมภายใต้การปกครองของ "กาหลิบผู้ศรัทธา"

ขณะที่ อะบู บะกา บาชี (Abu Bakar Bashir) ผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ (Jemaah Islamiyah) หรือเจไอ ซึ่งปัจจุบันถูกทางการอินโดนีเซียจำคุก แต่ยังสามารถเผยแพร่ภาพถ่ายที่เขาและสมาชิกกลุ่มทำพิธีสาบานตนแสดงความภักดีต่อกลุ่ม ISIS

ลี เซียนหลง ระบุด้วยว่า สมาชิกกลุ่มก่อการร้ายหลายร้อยคนที่ถูกทางการอินโดนีเซียจำคุกนั้นจะได้รับการปล่อยตัวในอีกสองสามปีข้างหน้า

เขายังกล่าวด้วยว่า ISIS แสดงเจตนาที่จะก่อตั้ง วิลายัต หรือจังหวัดหนึ่งภายใต้การปกครองของรัฐกาหลิบ ขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแม้ว่าสิ่งดังกล่าวจะดูเป็นฝันใหญ่โตที่ไม่น่าจะเป็นจริงได้ แต่สิ่งที่ไม่ไกลเกินจริงก็คือ ISIS มีความสามารถที่จะตั้งฐานปฏิบัติการขึ้นสักที่แห่งหนึ่งในภูมิภาค ซึ่งในทางภูมิศาสตร์เขาสามารถควบคุมพื้นที่ได้อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในซีเรีย-อิรัก หรือมีดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในบางพื้นที่ซึ่งห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจรัฐ หรืออำนาจรัฐไม่สามารถทำงานได้ในพื้นที่นั้น โดยลี เซียนหลง ยังมองว่ามีสถานที่เช่นว่าไม่กี่แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถ้า ISIS ทำได้ นั่นก็จะเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระบุว่าแม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมที่รักสันติและผสานรวมกับสังคมสิงคโปร์ แต่ก็มีปัจเจกบุคคลที่มีความคิดสุดโต่ง โดยเจ้าหน้าที่สิงคโปร์ได้ควบคุมตัวคนหนุ่มอายุ 17 ปี และ 19 ปีไว้ได้ ก่อนที่พวกเขาจะออกจากประเทศไปเข้าร่วมกับ ISIS ซึ่งในรายของเด็กหนุ่มอายุ 19 ปี ลี เซียนหลง อ้างว่า เขาวางแผนจะกลับมาลอบสังหารผู้นำสิงคโปร์ด้วยนั่นคือทั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ รวมทั้งตัวเขาที่เป็นนายกรัฐมนตรี

นอกจากการเดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อไปร่วมเป็นนักรบกลุ่ม ISIS ในซีเรีย-อิรักแล้ว กลุ่มติดอาวุธอิสลามท้องถิ่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายกลุ่มก็ประกาศสาบานตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐกาหลิบของ ISIS ด้วย โดยที่ นอกจากการสาบานตนของ อะบู บะกา บาชี (Abu Bakar Bashir) ผู้นำกลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ ที่ถูกทางการอินโดนีเซียจองจำแล้ว  เมื่อ 23 กรกฎาคม 2557 หรือ 1 เดือนหลังกลุ่ม ISIS ตั้งรัฐกาหลิบ กลุ่มอาบู ซายาฟ (Abu Sayyaf หรือ ASG) กลุ่มนักรบอิสลามซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฟิลิปปินส์ บริเวณเกาะโจโล บาซิลัน และซูลู ได้สาบานตนแสดงความภักดีต่อกลุ่มรัฐอิสลาม ISIS ด้วย และนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2557 กลุ่มได้เริ่มก่อเหตุในนามกลุ่ม ISIS

โดยตลอดปี 2558 นั้น ในเดือนพฤษภาคมกลุ่มอะบู ซายาฟ ข้ามมาลักพาตัวชาวมาเลเซีย 2 คน ที่เมืองซันดากัน รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย ส่วนที่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว และต่อมาในเดือนพฤศจิกายนได้ปล่อยตัวชาวมาเลเซีย 1 คน และตัดศีรษะชาวมาเลเซียที่ไม่ยอมจ่ายค่าไถ่ 1 คน

ในเดือนพฤษภาคมเช่นกัน มีการลักพาตัวเจ้าหน้าที่รักษาชายฝั่งของฟิลิปปินส์ 2 นาย จากเกาะอะลิกวย เมืองซัมโบอันกาเหนือ โดยเจ้าหน้าที่ถูกตัดศีรษะ 1 ราย ส่วนอีกรายหนีรอดมาได้ หลังจากกองกำลังของรัฐบาลฟิลิปปินส์ปะทะกับกลุ่มอะบู ซายาฟ จนทำให้สมาชิกกลุ่มเสียชีวิต 15 ราย

และในเดือนกันยายน นักท่องเที่ยว 4 คน เป็นชาวแคนาดา 2 คน ชาวนอร์เวย์ 1 คน และพลเมืองฟิลิปปินส์ 1 คน ถูกลักพาตัวจากรีสอร์ทในเมืองดาเวาเหนือ บนเกาะมินดาเนา เกาะใหญ่ทางใต้ของฟิลิปปินส์ โดยล่าสุด (30 ธ.ค. 58) ทั้งหมดยังคงถูกกลุ่มอะบู ซายาฟควบคุมตัว

และนอกจากการเคลื่อนไหวเพื่อสถาปนาเขตการปกครองโพ้นทะเลของ ISIS โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ปฏิบัติการก่อการร้ายต่างแดนโดย ISIS แบบที่เพิ่งเกิดขึ้นในปารีสเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2558 หรือแม้แต่เหตุก่อการร้ายประเภทหมาป่าเดียวดาย (lone-wolf attacks) ที่ผู้ก่อเหตุกระทำเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ISIS โดยที่ไม่มีการบังคับบัญชามาจาก ISIS อย่างที่เคยเกิดเหตุจับตัวประกันในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ก็อยู่ในข่ายที่ต้องจับตาและเฝ้าระมัดระวังในปี 2559 เช่นกัน

10. ยังคงมีเรื่องสำคัญอีกหลายเรื่อง บางเรื่องสำคัญมากแต่ไม่อาจอภิปราย

หมายเหตุ มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาบางจุด -  4 ม.ค.2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท