Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพประกอบจาก ไทยรัฐ

1 . ขณะผมเข้าเรียนเป็นนักศึกษา มอ.ปัตตานี ปี 2545 ซึ่งขณะนั้นนักศึกษามุสลิมยังมีจำนวนน้อยมาก แทบกล่าวได้ว่าเรารู้จักเกือบทั้งหมด ถึงจำชื่อได้ไม่หมด แต่ก็จำหน้าได้ ขณะบังอาซีเป็นประธาน“ชมรมมุสลิม” ที่นักศึกษามุสลิมทุกคนรู้จักดีและคุ้นหน้าคุ้นตา เพราะทำงานด้านกิจกรรมตลอด นั้นคือการรู้จักอย่างเป็นทางการครั้งแรก

2 . บังอาซีกับผมเวลาคุยกัน จะสนทนาเป็นภาษาปักษ์ใต้ ส่วนใหญ่ก็มาชวนผมให้ไปละหมาดที่มัสยิด หรือไม่ก็มักชวนผมเป็นการส่วนตัวกับเพื่อนอีกคน ให้ถือศีลอดทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี ของสัปดาห์ สำหรับบังอาซีรุ่นพี่ปีสี่ มาคุยกับผม ด้วยท่าทีและบุคลิกภาพที่ให้เกียรติ เหตุเพราะผมไม่ค่อยฟังพวกรุ่นพี่ปีสองและดื้อไม่ค่อยตอบสนองต่อเรื่องต่างๆ

3 . มีอยู่เหตุการณ์หนึ่ง ระหว่างผมนั่งคุยกับเพื่อน และบังอาซีเดินเข้ามาหา เพื่อนได้ยกน้ำให้ดื่ม ซึ่งเป็นน้ำโค้ก บังอาซีขอบคุณและยิ้มนั่งคุยด้วยกัน ระหว่างคุยบังอาซี ได้รินน้ำโค้กออกหมดล้างด้วยน้ำเปล่าไม่ให้เหลือร่องรอยน้ำโค้ก ทันทีก็เทน้ำเปล่าใส่ครึ่งแก้ว และบอกกับผมว่า เราไม่สนับสนุนสินค้ายิว หลังจากนั้นแกกับมิตรสหาย ก็ชวนผมออกไปร่วมแจกใบปลิว เพื่อต่อต้าน KFC ที่จะมาเปิดในปัตตานี แต่ที่ประทับใจคือ ด้วยความสุภาพและมีรอยยิ้มตลอด

4 . ระหว่างปี 2547-2548 ได้มีการบุกค้นจับกุมนักศึกษาจำนวนมากขึ้นและมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดจำนวนมาก นักศึกษาที่ได้เดินทางมาจากส่วนกลางจำนวนมากก็เริ่มทยอยกลับ ย้ายที่เรียน หรือไม่ก็ระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ และเหตุกาณ์ในปี 2548 ได้มีหมายจับ บังอาซี คดีสังหารนายรพินทร์ เรือนแก้ว ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี คดีสังหารนายดุษฎีบุญ ฤทธิสุนทร นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สังหารนายมนูญ คชอ่อน ครูโรงเรียนปะกาฮารัง ยิงนายอารายิ ยูซง อบต.บาราเฮาะ และคดีสังหารเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายคดีในจังหวัดปัตตานี ฯลฯ

5 . ระหว่างทาง ขณะผมขับจักรยานยนต์กับเพื่อนสนิท อยู่ในจังหวัดปัตตานี ก็ได้ยินเสียง กล่าวสลาม (สวัสดี)แล้วถอดหมวกกันน็อคที่ปิดคลุมทั้งใบ พร้อมส่งยิ้มแต่มีสีหน้าเคร่งเครียด ผมชิงถามว่าสบายดีไหม แกบอกว่าสบายดีและบอกว่าต้องรีบไป พร้อมกล่าวส่งท้ายบอกให้ตั้งใจเรียน

6. กลางปี 2548 ผมจำฉากตอนที่ภาพข่าวทีวี ขณะที่นักข่าวได้จับภาพไปยังบังอาซี ได้ยินเสียงตะโกนระหว่างการควบคุมตัวว่า “ผมไม่เชื่อระบบกระบวนการยุติธรรมไทย และผมขอให้ทนายความมุสลิม มาเป็นทนาย” ซึ่งขณะนั้นบังอาซีกำลังถูกควบคุมตัวไปศาลอาญา ที่ทางเจ้าหน้าที่ขอให้ศาลระงับการประกันตัว

7. ต้นปี 2549 ผมได้เจอบังอาซี (มะอาซี) ครั้งสุดท้ายที่เรือนจำ ระหว่างถูกคุมขังในห้วงระหว่างรอคำตัดสินของศาลชั้นต้น ผมจำบทสนทนาสั้นๆได้ดี ผมได้มีโอกาสไถ่ถามถึงความเป็นอยู่ในเรือนจำ บังอาซีบอกกับผมว่า อยู่ที่นี้สบายดีและได้มีโอกาสปฎิบัติศาสนามากขึ้น เพื่อนในเรือนจำหลายคนให้เกียรติมุสลิม ไม่ค่อยมีปัญหาในการละหมาดและถือศีลอด(การอดอาหาร) ระหว่างการสนทนากับบังอาซี แกมีรอยยิ้มและสายตาที่มีความหวัง และยังไม่ลืมฝากบอกผมให้ขอพร(ดุอาฮฺ) ให้กันและกัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือว่า คำพิพากษาศาลฎีกา สั่งจำคุกตลอดชีวิต มะอาซี บุญผล (บังอาซี) ฐานเป็นผู้สนับสนุนฆ่าผู้อื่นและก่อการร้าย ด้วยหลักฐาน เห็นว่า (1) โจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย (2) ได้ตรวจสอบข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ด ที่ยึดได้จากเหตุการณ์ระเบิดรถจักรยานยนต์ใน จ.ปัตตานีและเหตุการณ์คนร้ายยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เมื่อปี 2547 ซึ่งทราบว่าจำเลยดังกล่าวได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกัน (3) กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมพวกจำเลยเป็นเวลานาน 1 เดือนเศษ ก็ถือว่าสิ้นสุดการพิจารณาคดี

คำถามคือว่า สังคมการเมืองไทยแบบใด ที่จะพอมีที่ทางให้คนที่จะต่อสู้ในทางสันติวิธีมีที่ยืนในสังคม หากไม่ใช่สังคมที่มีความเป็นธรรม ที่เปิดพื้นที่ให้คนที่คิดเห็นจากรัฐไม่ลุกขึ้นไปจับอาวุธและห่ำหั่นกัน เว้นแต่ว่า “รัฐเป็นฝ่ายอธรรม” ก็ไม่สามารถยุติความรุนแรงได้

แต่สิ่งที่ผมเขียนข้างต้นเพื่อจะให้เห็นชีวิตของคนสามัญชนที่ชื่อ มะอาซี ซึ่งเป็นพี่ชายที่เป็นต้นแบบในเรื่องบุคลิกภาพ ความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน และผมก็ไม่เห็นด้วยและมิอาจจะสามารถยอมรับได้ในการใช้ความรุนแรงไม่ว่าด้วยนามศาสนาและอุดมการณ์การเมืองใดอะไรก็ตาม

แล้วผมจะกลับไปเยี่ยมและสนทนากันอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่า เราจะใช้สันติวิธีเพื่อสู้กับรัฐอธรรม แม้จะมองไม่เห็นชัยชนะก็ตาม แต่ก็จะทำต่อไป

ด้วยดุอาฮฺ วัสลาม

ลี่


๐๐๐๐

ข้อสังเกตเเบื้องต้น กับ  เบอร์ซาตู (Bersatu) 

เป็นที่น่าสังเกตจากคำพิพากษาของศาล โจทย์ฟ้องจำเลยว่า เป็นสมาชิกองค์การทางการเมืองชื่อ "ขบวนการเบอร์ซาตู" อันเป็นกลุ่มคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์แบ่งแยกดินแดน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อ.สะเดา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ออกจากการปกครองของประเทศไทย ก่อตั้งเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง เรียกว่ารัฐปัตตานี หรือปัตตานีดารุสสลาม ฯลฯ http://news.coj.go.th/document/30122015114928besatu.pdf ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “ขบวนการเบอร์ซาตู” เป็นองค์กรก่อการร้าย หากยึดสำนวนการพิจารณาคดี 

หากทว่าในทางกลับกันเมื่อไม่นานมานี้ ดร.วันอับดุลกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานองค์กรเบอร์ซาตู ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย และได้บรรยายสาธารณะเกี่ยวกับปัญาหาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า นี้คือนโยบายการเปิดพื้นที่ให้มีการพุดคุยเพื่อสร้างความใว้วางใจ ของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ที่ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกพื้นที่

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความสับสน ย้อนแย้ง ต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคำว่า เบอร์ซาตูต่อไปข้างหน้าจะอยู่ในฐานะใด จากคำนิยามของรัฐ แต่สำหรับประชาชนในพื้นที่ องค์กรเบอร์ซาตูนั้นไม่มีอีกแล้ว
 

๐๐๐๐

เกี่ยวกับผู้เขียน ปัจจุบัน เอกรินทร์ ต่วนศิริ  เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เอกรินทร์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศตุรกี

เอกรินทร์เป็นผู้ก่อตั้ง ปาตานีฟอรั่ม PATANI FORUM เป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นผู้เขียนรายงานผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้หลายชิ้นเช่น

รายงาน: มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อสู่ แกนนำ RKK

๐๐๐๐

หมายเหตุ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระที่ติดตามเรื่องปัญหาชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง ได้ให้ข้อสังเกตุต่อการพิจารณาคดี มะอาซี บุญพล ดังนี้

"ดูเหมือนว่าเมื่อวานความสนใจจะมุ่งไปที่คดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตรซึ่งนับเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สำคัญของสังคมไทย ศาลฎีกาได้ตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งคือการใช้โทรศัพท์ติดต่อกันซึ่งมากถึง 75 ครั้ง และตามรายงานข่าวพิกัดการสื่อสารอยู่ในเส้นทางเดียวกับการเดินทางของทนายสมชายตลอดวัน แต่ศาลพิจารณาว่าหลักฐานไม่สมบูรณ์เพราะเป็นเพียงสำเนา ไม่มีการเซนต์รับรองจากผู้เชี่ยวชาญของบริษัทที่ให้บริการ (อ่านคำพิพากษาได้ที่นี่ http://news.coj.go.th/document/30122015082042somchai.pdf)

แต่ในวันเดียวกัน ศาลฎีกาได้พิพากษาอีกคดีหนึ่งเป็นคดี "ก่อการร้าย" ซึ่งมีผู้ต้องหา 5 คนเช่นกัน โดยผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการ "ก่อการร้าย" ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการยิงนายตำรวจคนหนึ่งเสียชีวิตในปัตตานีเมื่อปี 2547 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้อง แต่ศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษา โดยหลักฐานสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินจำคุกผู้ต้องหาทั้งหมดคือข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ด (ดู http://www.thairath.co.th/content/555909)

คุณกิจจา ฮาลีอิสเฮาะ ทนายความจากชมรมนักกฎหมายมุสลิมได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า "ขอตั้งข้อสังเกตว่าในคดีอุ้ม นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่หายตัวไปนั้น หลักฐานในคดีเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ติดต่อ ไม่ค่อยมีน้ำหนักให้รับฟังในชั้นศาล ซึ่งต่างไปจากคดีนี้ แต่ก็เคารพคำพิพากษาของศาล"

สองคดีนี้มีความเหมือนและแตกต่างกันในหลายๆ อย่าง

1 เหตุการณ์ทั้งสองเกิดขึ้นในปี 2547 เหมือนกัน

2 ข้อมูลการใช้โทรศัพท์เป็นหลักฐานสำคัญในทั้งสองคดี

3 คดีแรกจำเลยเป็นนายตำรวจ 5 คน ส่วนคดีที่สองเป็นชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ 5 คน

4 ในคดีแรกศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกฟ้องนายตำรวจทั้งหมด ส่วนคดีหลังศาลฎีกากลับคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งหมด โดยหนึ่งในนั้นจำคุกตลอดชีวิต

คำถามที่เกิดขึ้นในใจก็คือคดีทั้งสองนี้ใช้เกณฑ์เหมือนกันหรือไม่ในการพิจารณา ดูเหมือนสองคดีนี้อาจจะตอกย้ำข้อกังขาในเรื่อง "สองมาตรฐาน" อีกครั้งหนึ่ง แม้ไม่ได้อยู่ในบริบทความขัดแย้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็ตาม "

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net