ศึกษาความสำเร็จการเป็นผู้นำเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนของเกาหลีใต้

คิมซังยัง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากสำนักสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ เขียนบทความเรื่องการที่ประเทศเกาหลีใต้เริ่มกลายเป็นผู้นำโลกในด้านการสร้าง การพัฒนาและส่งออกเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นกำลังสำคัญในการเติบโตเชิงยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมในอนาคตได้

3 ม.ค. 2559 บทความระบุว่าถึงแม้ข่าวในช่วงปลายปีที่แล้วของเกาหลีใต้จะเน้นนำเสนอในเรื่องการเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีที่เพิ่มมากขึ้น แต่การเติบโตของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในเกาหลีใต้ก็เป็นเรื่องที่ควรกล่าวถึงเช่นกัน โดยการเติบโตในด้านนี้ได้อานิสงส์มาจากโครงการริเริ่ม "การเติบโตสีเขียว" (Green Growth) ของประธานาธิบดี ลีเมียงบัค ในปี 2551 ซึ่งเป็นโครงการที่พยายามลดการใช้พลังงานจากซากดึกดำบรรพ์หรือพลังงานฟอสซิลในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตามหลังจากประธานาธิบดี ปาร์คกึนเฮ ชนะการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2556 ก็เริ่มตีตัวออกห่างจากโครงการริเริ่มนี้ในช่วงแรกๆ แต่ต่อมาก็มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการเติบโตสีเขียวในสังกัดนายกรัฐมนตรีขึ้นเพื่อสานต่อในโครงการของลีเมียงบัค ซึ่งมีการพูดถึงเรื่องนี้ในการประชุมประเด็นโลกร้อนที่กรุงปารีสเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2558 โดยที่ปาร์คกึนเฮพูดถึงแผนการ 5 ปีของโครงการเติบโตสีเขียวโครงการสอง (ปี 2557-2561)

บทความของคิมซังยังยกตัวอย่างผลงานสำคัญจากโครงการนี้ เช่น การทดลองสร้างโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเกาะเชจู ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ได้ในวงกว้างจากการผสมผสานกับเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสารกับโครงข่ายพลังงานไฟฟ้า ทำให้บริษัทภายในประเทศของเกาหลีใต้สามารถทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ได้ก่อนที่จะมีการส่งออกไปในตลาดภายนอกประเทศ

นอกจากนี้ ในเดือน ต.ค. 2557 รัฐบาลเกาหลีใต้ร่วมมือกับบริษัทการไฟฟ้าและพลังงานของรัฐบาลเกาหลีใต้ (KEPCO) สามารถสร้างแหล่งทดลองโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (microgrid) ได้เป็นผลสำเร็จบนเกาะคาซา ซึ่งโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กเป็นเทคโนโลยีที่มีบริษัทในเกาหลีใต้สนใจทำเป็นเทคโนโลยีส่งออกไปนอกประเทศ

คิมซังยังชี้ว่าความสำเร็จของโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นผู้นำตลาดในการสร้าง ประกอบการ และการส่งออกระบบพลังงาน เช่น บริษัทแอลจีเคมีคอล ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้สามารถไล่ตามบรัษัทพานาโซนิค ได้กระชั้นชิดในการเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้กับบริษัทรถยนต์ชั้นนำของตะวันตก โดยที่มีการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้เองด้วย

ในทางการนำเสนอนโยบายต่อนานาชาติ รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้ใช้แนวทางจากโครงการของลีเมียงบัค ที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาหลายโครงการ อาทิ โครงการของธนาคารนำเข้า-ส่งออกของเกาหลี (KEXIM) ที่มีการออก 'พันธบัตรด้านภูมิอากาศ' (Climate Bond) เป็นวงเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมให้เร่งการใช้เทคโนโลยีจากพลังงานสะอาด เป็นต้น

แต่ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีอุปสรรคจากกลุ่มผลประโยชน์ที่ยังต้องการใช้พลังงานแบบเดิมอยู่ทางการเกาหลีใต้สามารถพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมาไกลขนาดนี้ได้อย่างไร

คิมซังยังตอบคำถามนี้ในบทความว่า มีอยู่ 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยแรกคือการปรับเปลี่ยนแนวคิดปรัชญาความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับเป้าหมายการพัฒนาเสียใหม่ทำให้เกิด 'การพัฒนาโดยยึดหลักสิ่งแวดล้อม' (developmental environmentalism) ปัจจัยต่อมาคือประสิทธิภาพในการประสานงานโดยมีรัฐบาลเป็นศูนย์กลาง และปัจจัยสุดท้ายมาจากการที่เกาหลีใต้เองก็เล็งเห็นว่าพวกเขาต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิลจึงเป็นแรงจูงใจให้พวกเขาหันไปหาการเติบโตสีเขียว ซึ่งไปกันได้กับแนวทางความมั่นคงด้านพลังงานโลก กลายเป็นบทเรียนความสำเร็จที่สำคัญอีกบทเรียนหนึ่ง

เรียบเรียงจาก

South Korea doubles down on Green Growth, Sung-Young Kim, East Asia Forum, 25-12-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/12/25/south-korea-doubles-down-on-green-growth/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท