บอร์ด สปสช. ลงมติสวนผลตีความกฤษฎีกา ชี้ให้ รพ. ดำเนินการตามปกติ พร้อมเตรียมอุทธรณ์

“นิมิตร” เผยมติการประชุม บอร์ด สปสช. หลัง คกก.กฤษฎีกา ตีความการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ โดยมีมติยื่นอุทธรณ์การตีความ พร้อมลงมติให้ รพ. ดำเนินการตามปกติ

4 ม.ค. 2559 วันนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)  ได้มีการนำผลการตีความของ คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าสู่การพิจารณาของ บอร์ด สปสช. ในกรณีการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้ ในเดือน ก.ย. 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือ เรื่อง “การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”  ภายหลังจากมีการเข้ามาตรวจสอบของ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งได้มีการชี้ข้อสรุปว่า สปสช. มีการดำเนินการใช้เงินผิดประเภท ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายระบุ

ต่อมา ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งผลการตีความการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ตามหนังสือที่ นร 0901/163 ลงวันที่ 30 พ.ย. 2558 โดยมีความเห็นไปเป็นในทางเดียวกันกับ คตร. มีการจัดสรรเงินผิดวัตถุประสงค์ใน 4 ประเด็นคือ 1.การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข 2.หน่วยบริการนำเงินเหมาจ่ายรายหัวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายประจำ อาทิ ค่าจ้างลูกจ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตอบแทนบุคลากร เป็นต้น 3.สปสช.สาขาจังหวัด ใช้จ่ายเงินกองทุนงบบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในการพัฒนาบุคลากรของหน่วยบริการ และ4.สปสช.จ่ายค่าตอบแทนเกี่ยวกับการล้างไตผ่านช่องท้อง

ล่าสุด นิมิตร เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพ เผยว่า มติที่ประชุมเห็นว่าควรมีการทักท้วง และส่งเรื่องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้มีการตีความใหม่ทั้งหมด เพราะหากเป็นไปตามการตีความขอคณะกรรมการกฤษฎีกา จะส่งผลกระทบต่อบริการด้านสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากเป็นการตีความที่ไม่เข้าใจหลักการกฎหมาย ขณะเดียวกันได้มีมติให้ หน่วยบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังคงดำเนินการไปตามปกติ ดังที่เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้ จนกว่าจะมีข้อยุติ พร้อมทั้งยังมีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด โดยมีน.พ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน มีหน้าที่ในเรื่องการดูแล ปรับแก้ไขระเบียบ เพื่อไม่ให้เกิดความตัดขัดในการดำเนินการของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งจะมีการจัดทำข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีทั้ง สธ. สปสช. และผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ รวมทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)

เมื่อถามต่อว่า ในระหว่างช่วงที่มีการอุทธรณ์การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ผู้รับบริการ และผู้ให้บริการจะได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร นิมิตรตอบว่า

“วันนี้ถึงมีมติว่า ทุกอย่างให้มีการดำเนินการไปตามปกติ เหมือนที่เคยดำเนินการ และบอร์ดจะรับผิดชอบร่วมกัน เพราะเห็นว่าทุกอย่างเคยมีการดำเนินการ เป็นไปตามขอบเขตอำนาจที่กรรมการกำหนดได้ เช่นในมาตรา 3 ที่อำนาจสำหรับการซื้อบริการ ว่าสามารถซื้อบริการใดได้บ้าง ซึ่งในวงเล็บ (12) กำหนดว่า ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นเพื่อการบริยการสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการกำหนด” นิมิตรกล่าว

นิมิตรกล่าวต่อไปถึงต้นสายปลายของปัญหาดังกล่าวว่า ตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารจัดการประเทศ ได้มีการ คตร. โดยมีหน้าที่เข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยชี้ผลออกมาว่า สปสช. มีการดำเนินการเกินขอบเขตที่กำหนด เช่นการจัดซื้อยาเองไม่สามารถทำได้ ต้องให้เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาล หรือการใช้จ่ายเงินก็จะต้องเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อเป็นค่าบริการด้านสุขภาพโดยตรงกับบุคคลเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าใช้จ่ายประจำของโรงพยาบาล เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาของเจ้าหน้าที่ ค่าตอบแทนภาระงาน

เขากล่าวต่อว่า เมื่อ คตร. ชี้ว่ามีการทำผิดกฎหมาย จึงได้มีการส่งเรื่องให้ นายกรัฐมนตรี จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขในขณะนั้นคือ น.พ.รัชตะ รัชตะนาวิน หลังจากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยคณะกรรการเข้าตรวจสอบดูว่า สิ่งที่ คตร. ชี้ว่าผิด ความจริงแล้วเป็นอย่างไร สรุปว่ามีความเห็นแย้งกับ คตร. โดยคณะกรรมการเห็นว่า สิ่งที่สำนักงานหลักประกันประกันสุขภาพ ดำเนินการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว จากนั้นจึงได้มีการทำมติเสนอกลับไปที่นายกรัฐมนตรี เมื่อเห็นว่าข้อมูลสองชุดที่ขัดแย้งกัน จึงมีการสั่งให้มีการระงับการดำเนินการต่างๆ ไว้ก่อน และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ที่สุดแล้วได้มีการตีความออกมาตามที่เห็น คือเป็นไปทางเดียวกับ คตร.

ท้ายสุด นิมิตร ให้ความเห็นด้วยว่า การตีความดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในหลักการเรื่อง personal health และ public health โดยเห็นว่าเป็นการตีความที่แคบเกินไป ที่มองเห็นค่าใช้จ่ายด้านการบริการสุขภาพเป็นเพียงแค่ ค่าบริการโดยตรงเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท