“พวกดิฉันจะไม่ยอมรับมติอัปยศของป.ป.ช.” ญาติผู้เสียชีวิต 2553 ประกาศลุกขึ้นสู้ครั้งใหม่

“พวกดิฉันจะไม่ยอมรับมติอัปยศของป.ป.ช. จะบอกไว้เลยว่าวันนี้จะเป็นวันเริ่มต้นการต่อสู้ของดิฉันใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากหยุดการต่อสู้มานาน คุณเป็นผู้ที่เริ่มให้ดิฉันลุกขึ้นมาต่อสู้กับคุณ และดิฉันจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อทำให้สังคมได้รับรู้สิ่งที่พวกคุณกระทำไว้กับคนตาย คนที่เจ็บ คุณใส่ร้ายป้ายสีพวกเรามาเยอะแล้ว มันถึงเวลาแล้ว ดิฉันยอมไม่ได้อีกต่อไป” พะเยาว์ อัคฮาด กล่าวที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในเวลาประมาณ 19.00 น.วันที่ 6 ม.ค.2559

เธอกล่าวประโยคนี้หลังจากเธอ และลูกชายอีกคนณัทพัช อัคฮาด , พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และ วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ รวมแล้ว 4 คน นัดหมายทำกิจกรรม “บอกกล่าววิญญาณผู้เสียชีวิต” ที่วัดปทุมวนารามวรมหาวิหาร กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีที่ ป.ป.ช. เพิ่งมีมติไม่รับคำร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสั่งใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อเม.ย.-พ.ค.2553 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ด้าน ผุสดี งามขำ หญิงเสื้อแดงที่ได้รับสมญาว่า "เสื้อแดงคนสุดท้าย" เนื่องจากมีภาพเธอปรากฏอยู่ท่ามกลางเวทีร้างหลังแกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมหลังทหารโอบล้อมเพื่อสลายการชุมนุม วันที่ 19 พ.ค.2553 ก็ได้กล่าวความรู้สึกเคียงข้างพะเยาว์ว่า

"ถ้าดิฉันเป็นมนุษย์ เห็นเพื่อนมนุษย์ตายเหมือนหมูเหมือนหมาแล้วดิฉันไม่ทำอะไร ดิฉันก็ต่ำชั้นกว่าหมา เพราะฉะนั้นการต่อสู้ดิฉันก็จะสู้กับญาติเขา จบก็คือ ตาย หรือ ฆาตรกรต้องขึ้นศาลเพื่อแถลงความจริงทั้งหมดว่ามันทำอะไรกับคนไทยไว้”

การเดินเท้าของ 4 คนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพวกเขามาถึงที่นัดหมายคือวัดปทุมวนารามในเวลาประมาณ  15.33 น.ท่ามกลางนักข่าวที่รอทำข่าวอยู่หลายสิบคน ก่อนหน้านักข่าว มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายสิบนายรออยู่ก่อนแล้ว

ทั้ง 4 คนเดินทางมาถึงวัดปทุมวนาราม จุดธูปไหว้ดวงวิญญาณผู้เสียชีวิต

เดินทางออกจากวัดปทุมวนาราม มุ่งหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

ระหว่างการเดินเท้า มีสื่อมวลชน นักกิจกรรม ตลอดจนตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบติดตามการเดินดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 16.00 น. เมื่อทั้ง 4 คนขึ้นสะพานลอยบริเวณหน้าหอศิลป์เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กันไม่ให้คนอื่นๆ ติดตามขึ้นไป และมีการเข้าเจรจากับพะเยาว์และพันธ์ศักดิ์เพื่อขอให้เปลี่ยนเส้นทางการเดินเนื่องจากมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากจึงกลายเป็นการเดินและการชุมนุมทางการเมือง แต่ทั้งสองยืนยันจะเดินต่อ พร้อมชี้แจงว่าการเดินครั้งนี้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกและประชาชนที่เสียชีวิต เป็นการประท้วง ป.ป.ช.

ขณะเดียวกันเว็บไซต์มติชนได้รายงานคำให้สัมภาณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงเรื่องการเดินเท้าเรียกร้องความเป็นธรรมของ 4 คนนี้ว่า หากเขามีความคิดเห็นเช่นนั้นจะให้ทำอย่างไร แต่เราต้องชี้แจง ส่วนตัวไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหว ตอนนี้ไม่ต้องเคลื่อนไหว รอให้มีรัฐบาลที่ชัดเจน เพราะขณะนี้เราทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ อยู่ ซึ่งเป็นปัญหาจากอดีต เราทำทุกเรื่องให้เกิดความยั่งยืน เราแก้ปัญหาปัจจุบัน และเตรียมปฏิรูปในอนาคต 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะจะปล่อยให้ประเทศเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเป้าหมายคงไม่ใช่แล้ว

เวลาประมาณ 17.00 น. ผู้สื่อข่าวว่า ทั้ง 4 คนรวมถึงผู้ร่วมเดินในกิจกรรมนี้เดินทางมาถึงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ท่ามกลางกองทัพสื่อที่ยังคงมาดักรอทำข่าว พะเยาว์และพันธ์ศักดิ์อ่านแถลงการณ์ (ดูล้อมกรอบด้านล่าง) และตอบคำถามผู้สื่อข่าว

ชายสูงวัยที่เข้าร่วมกิจกรรมหลั่งน้ำตาระหว่างจุดเทียนไว้อาลัยผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ปี 2553

ต่อกรณีการตัดสินของ ป.ป.ช. พะเยาว์กล่าวว่า ป.ป.ช. ชุดที่นำโดยนายวิชา มหาคุณ มองข้ามความเป็นจริงของกระบวนการ คล้ายกับเป็นการก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม เพราะคดีของ 6 ศพวัดปทุมวนาราม นั้นศาลได้ชี้ในขั้นตอนไต่สวนการตายแล้วว่าเป็นการตายที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องนี้ควรจะเป็นหน้าที่การตัดสินของศาลในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ป.ป.ช. ไม่ควรมีอำนาจในการเข้ามาชี้ขาดตั้งแต่ต้น

“ในกรณีของปี 2553 ป.ป.ช. ไม่ควรที่จะแตะต้องคดีนี้ อย่างของคดีเราที่ศาลโยนมาให้ ป.ป.ช. ดิฉันบอกเลยว่าเราไม่ได้ฟ้องผิดศาล และนี่ไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. หน้าที่ของคุณมีเพียงแค่ตรวจสอบนักการเมืองว่าใครทุจริต ไม่ใช่ชี้ว่าคนนี้รอด คนนี้ไม่รอด แต่ที่เราฟ้องคือ คดีฆ่า กระบวนการยุติธรรมเท่านั้นที่จะชี้เป็นชี้ตายได้ว่า นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และบิ๊กป๊อก จะมีความผิดหรือไม่ เรื่องนี้ต้องเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ ป.ป.ช” พะเยาว์กล่าว

ด้านพันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าคดีที่เป็นที่สนใของคนทั้งประเทศ เพราะมีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 100 ราย และบาดเจ็บกว่า 1,400 กว่าราย ทำไมจึงมีเพียงแค่การออกเอกสารเพียงแค่ 2 ชิ้นเพื่อบอกว่า ทั้ง 3 คน บริสุทธิ์ เรื่องนี้ถือว่าผิดทำเนียมปฎิบัติ อย่างน้อยก็ต้องมีการจัดแถลงข่าวให้ผู้สื่อข่าวได้ซักถาม

พะเยาว์เสริมต่อว่า ก่อนหน้าที่ ป.ป.ช. จะตัดสิน ไม่ได้มีการเรียกผู้เสียหายเข้าไปให้ปากคำเลย แล้วเอาหลักฐานส่วนไหนมาลงมติว่าทั้ง 3 คนไม่ผิด ในด้านกลับกันกลับมีเพียงการเรียกนายสุเทพ นายอภิสิทธิ์ และอนุพงษ์ เข้าไปให้ปากคำ

ต่อกรณีที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณออกมาบอกว่าช่วงนี้ยังไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหว หากจะเคลื่อนไหวให้รอให้มีการเลือกตั้งหรือมีรัฐบาลพลเรือนก่อน พะเยาว์ กล่าวว่า เรื่องที่ตนพบเจอเป็นเรื่องของการไม่ได้รับความยุติธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่รอไม่ได้

“เหตุการณ์ที่ดิฉันโดนเกี่ยวข้องอะไรกับการปฏิรูป คุณจะปฏิรูปประเทศคุณก็ปฏิรูปไป คุณจะทำอะไรคุณก็ทำไป แต่ในกรณีนี้คือเรื่องของความยุติธรรม ฉันเป็นแม่แล้วมาโดนแบบนี้ ฉันถามว่าถ้าเป็นคุณบ้างล่ะ ถ้าลูกคณตายบ้างล่ะ คุณจะยอมไหม ฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกัน คุณจะปฎิรูปก็เรื่องของคุณ แต่นี่เป็นคดีของฉัน ฉันจะทำให้ถึงที่สุดในฐานะที่ฉันเป็นแม่ ฉันจะไม่ยอมให้ลูกฉันตายฟรี ฉันจะไม่ยอมให้คนอื่นตายฟรี” พะเยาว์กล่าว

ด้านพันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในความเป็นจริงแล้วทางกลุ่มญาติก็รอการตัดสินของศาลหรือการดำเนินการใดๆ ก็ตามในรัฐพลเรือนแต่ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นเสียก่อน

“จริงๆ แล้วเราก็รอการตัดสินที่จะเกิดในรัฐบาลพลเรือน แต่พลเอกประวิตรกับพวกไม่ได้รอ กลับทำการรัฐประหารเสียก่อน ทำให้เราไม่มีรัฐบาลพลเรือน ฉะนั้นถ้าจะมาขอให้เรารอรัฐบาลพลเรือน เราก็ต้องถามพลเอกประวิตรว่าทำไมตอนนั้นคุณไม่รอบ้าง” พันธ์ศักดิ์กล่าว

จากนั้นมีการจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553 ก่อนผู้ชุมนุมทั้งหมดจะแยกย้ายไปในเวลาประมาณ 18.30 น.

 

แถลงการณ์กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553
ต่อกรณีมติอำมหิตอัปยศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 

กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติต่อคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากว่ารับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผล และมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปนั้น

กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ขอแสดงความไม่เห็นด้วยต่อมติของ ป.ป.ช. ดังกล่าว เนื่องจาก

1. กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ไม่ชัดเจน กระบวนการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงไม่โปร่งใส ไม่มีการเรียกพยานหลักฐานไปให้ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านหรือไม่ และไม่มีการเรียกพยานจากทางผู้เสียหายไปให้ปากคำ ฯลฯ

2. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมาจากนโยบายรัฐบาลโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลไม่ใช่ “ความรับผิดเฉพาะตัว” โดยมีปัจจัยประกอบ ดังต่อไปนี้

2.1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นำไปสู่การใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อสลายการชุมนุม

2.2 การใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม

2.3 การเข้าสลายการชุมนุมในยามวิกาล

2.4 กระบวนการการป้ายสีผู้ชุมนุมว่าเป็นพวกล้มเจ้าและสมควรตาย ส่งผลให้ทหารในสังกัดและประชาชนที่สนับสนุนเห็นชอบต่อการสลายการชุมนุมด้วยกำลังอาวุธ ด้วยการแสดงผังล้มเจ้าและนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งภายหลัง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ได้ยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นความเท็จ

2.5 การให้ข้อมูลเท็จว่ากลุ่มผู้ชุมนุม มีกองกำลังติดอาวุธในนามชายชุดดำ และทหารที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน เกิดจากน้ำมือของชายชุดดำ

2.6 การจัดวางพลซุ่มยิงตามพื้นที่ด่านเข้มแข็ง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก กระจายกันในหลายพื้นที่ และผู้เสียชีวิตล้วนแต่ถูกยิงที่จุดสำคัญ

2.7 การปฏิเสธที่จะเจรจา/ต่อรองโดยสิ้นเชิง

3. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการที่ ป.ป.ช.อ้างอยู่หลายครั้งว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากลนั้นเป็นข้อวินิจฉัยที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง

เนื่องจากปฏิบัติการดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักสากลที่กล่าวอ้าง เป็นการใช้อำนาจและกำลังเกินกว่าเหตุ ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่รัฐไทยเป็นภาคี

ดังมีข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุมที่ขัดกับหลักสากลเกิดขึ้น ต่อไปนี้

3.1 ไม่มีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมและผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม

3.2 การใช้กระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนยางอย่างไม่ได้สัดส่วน และไม่แยกแยะ

3.3 การสลายการชุมนุมยามวิกาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

3.4 การอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมทั้งสองครั้ง (10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม)

3.5 การวางพลซุ่มยิง (Sniper) บนพื้นที่สูง โดยมีเป้าหมายที่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ และเป็นการเล็งไปยังจุดสำคัญของร่างกาย เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตด้วยการซุ่มยิงจำนวนมาก

3.6 การประกาศ “เขตการใช้กระสุนจริง” ในหลายพื้นที่ เสมือนเป็นใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กระสุนจริงโดยขาดวิจารญาณ ต่อเมื่อถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโจมตีอย่างหนัก จึงมีการปลดป้ายออกจากพื้นที่

3.7 การขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตเพราะหน่วยแพทย์อาสาไม่สามารถเข้าทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะทหารไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ รวมทั้งการยิงสกัด อีกทั้งหน่วยแพทย์อาสาหน่วยต่างๆเองก็ถูกข่มขู่คุกคาม ทำร้ายจนเสียชีวิตจำนวน 6 ราย แม้จะมีการแต่งกายและใส่เครื่องหมายที่ชัดเจนก็ตาม

4. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าข้อกล่าวอ้างของ ป.ป.ช. ว่าการที่ ศอฉ.ปรับเปลี่ยนรูปแบบปฏิบัติการทำให้สามารถลดความสูญเสียได้เป็นจำนวนมากนั้นเป็นเท็จ เพราะเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 ศอฉ.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการด้วยการมีคำสั่งจัดตั้งด่านแข็งแรงรอบพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 6 จุด มาตรการดังกล่าว นำไปสู่

4.1 มีการวางพลซุ่มยิง (Sniper) บนพื้นที่สูง

4.2 มีการประกาศ “เขตการใช้กระสุนจริง” ในหลายพื้นที่ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันแนวร่วมเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม

4.3 มีการขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์

4.4 มีการสลายการชุมนุมยามวิกาล ด้วยอาวุธสงครามและกระสุนจริงทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม รวม 58 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก

5. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าข้อวินิจฉัยของ ป.ป.ช. นอกจากจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงแล้ว ยังปราศจากบรรทัดฐานของความยุติธรรมหากเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. เองต่อกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 โดยมีมติชี้ว่าสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวกมีความผิด ทั้งที่กรณีการสลายการชุมนุม นปช. ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กับพวก มีความรุนแรงหนักหน่วงอย่างต่อเนื่องต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

จากประมวลข้อเท็จจริง(บางส่วน) ที่กลุ่มญาติผู้เสียหายฯได้รวบรวมมา จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ให้คำร้องต่อการถอดถอนนายอภิสิทธิ์และพวกตกไปนั้นไม่ได้ยืนอยู่บนหลักฐานข้อเท็จจริงตามที่ ป.ป.ช.ได้แถลงไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ซึ่งนอกจากจะไม่โปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้แล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือให้อาชญากรในการสั่งการสังหารหมู่ประชาชนให้พ้นผิด บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เข้าข่ายการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วยเช่นกัน

สิ่งที่น่าเสียใจคือ กรณีดังกล่าวเป็นทั้งความอัปยศขององค์กรอิสระที่มีรากมาจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็นทั้งความอำมหิตของการใช้อำนาจรัฐในการช่วยเหลือเกื้อกูลให้พ้นผิด เห็นดีเห็นงามกับการสังหารประชาชนและทิ้งเรื่องราวและลืมความขัดแย้งไว้เบื้องหลัง โดยมิพักจะทำความเข้าใจและหาสาเหตุไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กลุ่มญาติผู้เสียหายฯจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ความจริงปรากฏ และนำอาชญากรที่มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ประชาชนในทุกระดับมาลงโทษ เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้ขึ้นอีกในอนาคต

 

กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553
วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท