Skip to main content
sharethis

สายการบินจีน 2 ลำ ทดสอบเที่ยวบินโดยร่อนลงจอดในสนามบินซึ่งสร้างจากการถมทะเลในหมู่เกาะสแปรตลี กลางทะเลจีนใต้ พื้นที่พิพาทซึ่งหลายชาติอาเซียนอ้างกรรมสิทธิ์ ด้านเวียดนาม-ฟิลิปปินส์ประท้วงว่าจีนรุกล้ำอธิปไตย เช่นเดียวกับญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกาที่เห็นว่าคุกคามต่อเสถียรภาพ ในขณะที่วิศวกรกู้ภัยทางทะเลของจีนมองว่าสนามบินแห่งนี้จะสร้างความปลอดภัยสำหรับการเดินเรือและการบรรเทาภัยพิบัติ

ลูกเรือของเที่ยวบินของสายการบินพลเรือนจีน 2 ลำ ถ่ายรูปร่วมกันเมื่อ 6 ม.ค. 59 หลังเที่ยวบินจากเมืองไหโข่ว เกาะไหหลำ เดินทางมาถึงสนามบินสร้างใหม่ที่เกาะหยงชู หรือไฟเออรี ครอส รีฟ ในหมู่เกาะสแปรตลี กลางทะเลจีนใต้ พื้นที่ทางทะเลซึ่งหลายชาติในอาเซียนต่างอ้างกรรมสิทธิ์ (ที่มาของภาพประกอบ: Xiahua/News.cn)

เครื่องบินแอร์บัส 319 ของสายการบินไชน่าเซาท์เทิร์น ซึ่งบินมาจากสนามบินเม่ยหลัน เมืองไห่โขว่ บนเกาะไหหลำ มาถึงสนามบินที่สร้างจากการถมทะเลที่เกาะปะการัง ไฟเออรี ครอส รีฟ หรือเกาะหยงชู ในหมู่เกาะสแปรตลี กลางทะเลจีนใต้ เมื่อ 6 ม.ค. 59 (ที่มาของภาพประกอบ: Xiahua/News.cn)

 

8 ม.ค. 2559 เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นี้เครื่องบินของสายการบินพลเรือนจีน 2 ลำ ประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินระหว่างท่าอากาศยานเม่ยหลัน เมืองไหโข่ว บนเกาะไหหลำทางใต้ของจีน ไปยังสนามบินซึ่งสร้างขึ้นด้วยการถมทะเลที่เกาะปะการัง ไฟเออรี ครอส รีฟ (Fiery Cross Reef) ซึ่งจีนเรียกว่าเกาะหยงชู (Yongshu Jiao) (พิกัด 9.549167, 112.889167) ในทะเลจีนใต้ อยู่ในหมู่เกาะหนานชา หรือหมู่เกาะสแปรตลี

นับเป็นสนามบินที่ตั้งอยู่ตอนใต้สุด ในพื้นที่ซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ โดยอยู่ห่างจากชายฝั่งเวียดนามราว 550 กม. และห่างจาก จ.ตราด ไปทางทิศตะวันออกราว 1,1000 กม.

แผนที่แสดงที่ตั้งของสนามบินซึ่งจีนสร้างขึ้นจากการถมทะเลที่เกาะปะการัง ไฟเออรี ครอส รีฟ หรือที่จีนเรียกว่าเกาะหยงชู ในหมู่เกาะสแปรตลี กลางทะเลจีนใต้ (ที่มา: Googlemaps)

เกาะปะการัง ไฟเออรี ครอส รีฟ หรือที่จีนเรียกว่าเกาะหยงชู ซึ่งฝ่ายจีนถมทะเลและปรับปรุงให้กลายเป็นสนามบิน (ดูพิกัด) (ที่มา: Googlemaps)

ในรายงานของสำนักข่าวซินหัว ของทางการจีน เผยแพร่ภาพอากาศยาน 2 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส 319 ของสายการบิน ไชน่าเซาท์เทิร์น (China Southern Airline) และ เครื่องบินโบอิ้ง 737 ของสายการบินไหหนาน (Hainan Airline) บนรันเวย์ของสนามบิน โดยใช้เวลาบินจากเกาะไหหลำ 2 ชั่วโมง จากนั้นได้บินกลับท่าอากาศยานเม่ยหลันในช่วงบ่าย

โดยการทดสอบเมื่อวันพุธเป็นการทดสอบครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ ขณะที่เมื่อวันเสาร์ (2 ม.ค.) มีการทดสอบการบินเช่นกัน แต่เป็นการทดสอบรันเวย์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานการบินพลเรือนหรือไม่ ทั้งนี้ตามคำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน

โดยเมื่อวันที่ 2 ม.ค. สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ฮวา ชุนอิ๋ง ระบุว่าจีนได้ก่อสร้างสนามบินบนเกาะหยงชูเสร็จเรียบร้อยแล้ว และย้ำด้วยว่าสิ่งก่อสร้างนี้ "อยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน"

"จีนมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะหนานชาและน่านน้ำใกล้เคียงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ จีนจะไม่ยอมรับข้อกล่าวหาเลื่อนลอยของฝ่ายเวียดนาม" ฮวา ชุนอิ๋ง กล่าว

 

ฟิลิปปินส์-เวียดนาม-ญี่ปุ่นแถลงคัดค้านจีน สหรัฐอเมริกาเรียกร้องทุกประเทศยุติการบุกเบิกเกาะในทะเลจีนใต้

สำหรับปฏิกิริยาจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นนับตั้งแต่มีข่าวทดสอบการบินของเครื่องบินพลเรือนจีนในทะเลจีนใต้มาตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ชาร์ลส์ โฮเซ่ ระบุว่า การกระทำของจีนเป็นการเพิ่มความตึงเครียดและความไม่แน่นอนขึ้นในภูมิภาค แลรัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาประท้วงจีน

ขณะที่รัฐบาลเวียดนามเองก็ประท้วงเช่นกันโดยถือว่าเป็นการฝ่าฝืนอธิปไตยเวียดนาม

ด้าน ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวในระหว่างแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (4 ม.ค.) ว่าเที่ยวบินของจีนดังกล่าว เท่ากับว่าต้องการทำให้เกาะที่ถูกสร้างขึ้นนั้นเป็นการรุกล้ำอย่างแท้จริง "ญี่ปุ่นกังวลอย่างยิ่งต่อการกระทำของจีน ซึ่งเป็นการกระทำฝ่ายเดียวที่ต้องการเปลี่ยนสถานภาพของปัจจุบัน"

ในส่วนของสหรัฐอเมริกา จอห์น เคอบี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การทดสอบเที่ยวบินของจีน "สร้างความตึงเครียดและคุกคามเสถียรภาพของภูมิภาค" เขายังเรียกร้องประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เกี่ยวข้องกับหมู่เกาะสแปรตลี "ยุติการบุกเบิกและพัฒนาสิ่งก่อสร้าง ตลอดจนการเคลื่อนกำลังทางทหารเข้ามาในป้อมสังเกตการณ์ของพวกเขา"

 

วิศวกรกู้ภัยทางทะเลของจีนเชื่อว่าสนามบินจะช่วยสร้างความปลอดภัยในทะเล-บรรเทาภัยพิบัติ

ในรายงานของ สำนักข่าวซินหัว เมื่อ 4 ม.ค. สัมภาษณ์ ปัง เว่ย หัวหน้าวิศวกรทีมช่วยชีวิตและกู้ภัย ภายใต้กระทรวงคมนาคมจีน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางทะเลที่สำคัญเชื่อมต่อจีนกับส่วนอื่นของโลก เป็นระเบียงทางทะเลระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

ความขาดแคลนอย่างหนักของสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ ทั้งหน่วยกู้ภัยฉุกเฉิน และอุปกรณ์สำหรับจัดการน้ำมันรั่วไหลในทะเลจีนใต้ ล้วนแต่ขัดขวางความมั่นคงปลอดภัยของการเดินเรือ และการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่

เขาระบุด้วยว่า ประภาคารบนเกาะหัวหยาง (Huayang Jiao) หรือเกาะควาเทอรอนรีฟ (Cuarteron Reef) (ดูพิกัด 8.863889, 112.827778) และเกาะฉีกัว (Chigua Jiao) หรือเกาะจอห์นสัน รีฟ (Johnson South Reef) (ดูพิกัด 9.715, 114.287) เปิดใช้งานมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2558 ได้เติมเต็มให้กับการอำนวยความสะดวกด้านการเดินเรือของพลเรือน และปรับปรุงความปลอดภัยการเดินเรืออย่างมีนัยสำคัญในทะเลจีนใต้

หัวหน้าวิศวกรทีมกู้ภัยผู้นี้กล่าวด้วยว่า ในฐานะประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จีนจะเดินหน้าส่งเสริมการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินและการกู้ภัย เป็นการแบกรับภาระระหว่างประเทศในด้านปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย ปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ป้องกันและลดภัยพิบัติ ตลอดจนความปลอดภัยของการเดินเรือในทะเลจีนใต้

ร้อยละ 40 ของมูลค่าการค้าโลกจะต้องผ่านทะเลจีนใต้ โดยมีเรือสัญจรผ่านทะเลจีนใต้ถึง 40,000 ลำต่อปี ขณะที่ผืนน้ำรอบหมู่เกาะหนานชา หรือหมู่เกาะสแปรตลี เต็มไปด้วยเส้นทางการเดินเรือ และการประทง แต่เนื่องจากพื้นที่นี้ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ การตอบสนองอย่างทันท่วงทีต่อเหตุเรือล่ม ภัยธรรมชาติ หรือการโจมตีของโจรสลัดก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปกป้องผู้ที่ตกอยู่ในอันตราย หรือช่วยเรือและอากาศยานในบริเวณนี้ สนามบินที่เกาะหยงชูจะช่วยลดเวลาการเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังหมู่เกาะหนานชา หรือหมู่เกาะสแปรตลีอย่างมีนัยยะสำคัญ และเป็นที่เติมน้ำมันสำหรับเรือเพื่อการขนส่งและการกู้ภัย ปัง เว่ย ระบุ

 

หมู่เกาะสแปรตลีพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ และการอ้างกรรมสิทธิ์ 6 ชาติ

ทั้งนี้ จากข้อมูลใน วิกิพีเดีย หมู่เกาะสแปรตลี ซึ่งประกอบไปด้วยเกาะ อะทอลล์หรือเกาะซึ่งเกิดจากปะการัง สันดอน และหินโสโครกกว่า 750 แห่ง กินพื้นที่ 4.25 แสนตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลจีนใต้ โดยมีเกาะ และอะทอลล์ ราว 45 แห่ง ที่ถูกครอบครองด้วยสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ รวมทั้งที่ตั้งทางทหาร ทั้งจากจีน ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียทับซ้อนกัน รวมทั้งบรูไนที่ไม่ได้มีก่อสร้างในพื้นที่ของหมู่เกาะสแปรตลีย์ แต่ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษจำเพาะเอาไว้

โดยจีนเรียกหมู่เกาะสแปรตลีซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทว่า หมู่เกาะหนานชา โดยจัดการปกครองอยู่ในระดับอำเภอ ขึ้นอยู่กับจังหวัดซานชา มณฑลไหหลำ ซึ่งจังหวัดซานชานี้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2555 แบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ คือ (1) อำเภอซีชา หรือหมู่เกาะพาราเซล (2) อำเภอหนานชา หรือหมู่เกาะสแปรตลี และ (3) อำเภอจงชา ซึ่งรวมเอาเกาะปะการังแมคเคิลส์ฟิลด์แบงค์ (Macclesfield Bank) และสันดอนสกาโบโร โชล (Scarborough Shoal)

สำหรับเมืองใหญ่สุดของจังหวัดซานชา อยู่ที่เกาะย่งชิง หรือเกาะวู้ดดี้ (Woody Island) ซึ่งเป็นเกาะทางตอนใต้ถัดจากเกาะไหหลำ มณฑลไหหลำของจีน

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Second test flights performed at Nansha Islands, Li Xiaokun, China Daily, 2016-01-07 http://www.chinadaily.com.cn/china/2016-01/07/content_22967019.htm

China conducts successful test flights at newly-built airfield in South China Sea, Xinhua, 2016-01-06 http://news.xinhuanet.com/english/photo/2016-01/06/c_134984133.htm

New airfield to boost public service in South China Sea: Chinese official, 2016-01-05 http://news.xinhuanet.com/english/2016-01/05/c_134979522.htm

China's test flight to Yongshu Jiao "within sovereignty": FM, English.news.cn 2016-01-03 http://news.xinhuanet.com/english/2016-01/03/c_134972186.htm

China Completes Additional Test Flights in South China Sea, By TE-PING CHEN, WSJ, Jan. 6, 2016 http://www.wsj.com/articles/china-completes-additional-test-flights-in-south-china-sea-1452088683

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net