Skip to main content
sharethis
วอนขอความร่วมมือชาวสวนยาง ไม่กดดันรัฐบาล ไม่ชุมนุม ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย ไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริง มีมาตรการชัดเจนตั้งวันที่ 7 ม.ค. ที่ให้หลายกระทรวงรวบรวมความต้องการยางผลิตในระยะแรกส่งภายในวันจันทร์ 11 ม.ค. นี้ เพื่อที่จะกำหนดปริมาณได้ว่า รัฐบาลจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับซื้อยาง เอามาทำผลผลิตต่าง ๆ ในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง ด้านการเจรจาที่ ทุ่งสง ล่ม ผช.รมต.เกษตรฯ รับแค่ 1 ข้อเสนอชาวสวนยาง 
 
10 ม.ค. 2559 เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงานว่าเวลา 13.30 น. หน้าตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยราคายาง ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง และรู้สึกไม่สบายใจหากพี่น้องเกษตรกรจะออกมาชุมนุมกดดันรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และไม่ใช่หนทางที่แก้ปัญหาได้จริง
 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องยางพารา ได้ติดตามปัญหาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2559 ได้มีการประชุมที่กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งได้ข้อยุติของตัวแทนทุกฝ่ายที่มาร่วมประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นแนวทางที่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจน แม้ว่าอาจจะทำให้เป็นที่ไม่ถูกใจทั้งหมด แต่ก็ถือว่าช่วยทำให้ปัญหาทั้งหลายผ่อนจากหนักเป็นเบา ซึ่งสรุปได้ว่า สิ่งที่ได้นัดหมายได้ข้อตกลงยุติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2559 คือทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อยางจากพี่น้องเกษตรกรตกลงกันจะไม่ซื้อยางให้ราคาตกกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ โดยยอมรับในข้อตกลงร่วมกัน ยังไม่พูดถึงเรื่องข้อกฎหมาย เพราะว่าในที่ประชุมเราเห็นว่า สิ่งไหนที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระพี่น้องเกษตรกรได้ ก็ยังไม่อยากพูดถึงเรื่องข้อกฎหมาย เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของทุกฝ่ายเห็นพ้องตกลงร่วมกันว่าจะไม่ซื้อยางที่ราคาต่ำไปกว่านี้แล้ว และจะยกระดับราคาให้สูงขึ้นเท่าที่จะทำได้ในเวลาที่เหมาะสม ประการที่ 2 ที่ได้ข้อยุติจากวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2559 คือ จากวันนี้ จนไปถึงวันที่ปิดกรีด อีกประมาณ 3 เดือน ประมาณการกันว่าน่าจะมียางออกมาสู่ตลาดประมาณ 8 แสนตัน ถ้าเอา 3 เดือน หาร 8 แสนตัน ก็จะอยู่ประมาณ 9 พันตัน ซึ่งตรงนี้ผู้ซื้อยางทุกส่วนยอมรับในกฎกติกาว่า จะแบ่งสันปันส่วนกันตามยอด เพื่อจะได้ซื้อยางทั้งหมด จะไม่มียางตกค้าง สัดส่วนเท่าไหร่คงไม่ต้องบอกรายะเอียดกัน เพราะทุกคนมีตัวเลขกันอยู่แล้ว ก็จะดำเนินการไปตามนั้น อันที่ 3 ก็คือมาตรการที่เคยมีมาทั้ง 16 มาตรการของรัฐบาลนี้ ตั้งแต่แรกมา คงไม่ลงรายละเอียดว่า 16 มาตรการมีอะไรบ้าง คงรับทราบกันอยู่แล้ว เช่น การเพิ่มความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกร ซื้อยางเพื่อจะเก็บ stock ลักษณะอย่างนี้เป็นต้น 16 มาตรการนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป นี่คือข้อสรุป ในวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2559 และเราก็มั่นใจว่าทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนของทุกภาคส่วนคงจะนำเรื่องนี้ไปเรียนชี้แจงกับพี่น้องเกษตรกรที่เกี่ยวข้องรับทราบแล้ว นี่คือความห่วงใย ข้อแรกที่ท่านนายกรัฐมนตรีห่วงใย เรื่องที่สองในการที่แก้ไขปัญหา ต้องยึดถือเหตุและผล ปัญหาคือในขณะนี้ ทุกคนรับทราบดีอยู่ว่าเราก็มั่นใจว่าพี่น้องเกษตรกรรับทราบแล้วในขณะนี้ ว่าราคาโลกกำลังตก ปริมาณล้นตลาด นี่คือสิ่งที่ทุกคนรับทราบดีอยู่แล้ว แต่ว่าจะถูกหรือไม่ ต้องมาดูเหตุและผลกัน นายกรัฐมนตรีไม่อยากให้กดดันรัฐบาลด้วยการออกมาชุมนุม และทำผิดกฎหมาย เพราะว่าปัจจุบันนี้การชุมนุมถือว่าเป็นเรื่องกระทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลไม่อยากพูดถึงเรื่องของกฎหมาย เพราะว่ายอมรับตามความเป็นจริงว่า คนที่เดือนร้อนอยู่คือพี่น้องเกษตรกร เขาเดือดร้อนแล้วเราเอาตัวกฎหมายไปพูด จะบั่นทอนกำลังใจและความรู้สึก เราเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเกษตรกร เพราะฉะนั้นเราถึงไม่อยากพูดถึงเรื่องของกฎหมาย แต่ต้องเรียนไว้ว่า ไม่อยากให้ท่านทำเลย เพราะกฎหมายเขาห้ามเอาไว้ที่จะไม่ให้ทำ แต่ถ้าจะรวมกันเพื่อที่จะชุมนุมจะสรุปข้อมูลทั้งหลายของท่าน และจะยื่นข้อมูลทั้งหลายให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เรายินดีรับฟัง ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ติดตามข้อมูลและรับทราบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ส่วนต่าง ๆ ว่า ได้รับทราบปัญหาทุกเรื่องมาบ้างแล้วว่าเกษตรกรอยากให้รัฐบาลแก้ไขอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของกระแสเงินสด ที่เขาอาจจะมีปัญหา เวลาที่ลูก ๆ เข้าเรียนเปิดเทอม เป็นต้น หรือแม้กระทั้งเรื่องหนี้สินที่มีอยู่เรื่อง 1,500 บาท ที่อยากให้เร่งรัดการจ่ายให้เร็วขึ้น เรื่องของบอร์ดการยางที่ยังล่าช้าอยู่ ทั้งหลายนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี รับทราบหมดแล้ว แต่ก็อาจจะมีบางประการ มีบางประเด็นที่มีปัญหาเพิ่มเติม ถ้าท่านอยากรวมกันเพื่อจะสรุปปัญหาและส่งปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นไร แต่ถ้าท่านจะปิดถนน กดดันด้วยการเดินขบวน หรือเดินทางมาที่กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริง เราต้องพูดด้วยเหตุและผล ต้องแก้ให้ถูกว่าเหตุเกิดจากอะไร และก็ต้องแก้ไปตามนั้น
 
วันนี้ ความคืบหน้าที่นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามและฝากมาเรียนคือ เรื่องของบอร์ดที่ขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามเอาเข้าที่ประชุมให้ได้ ถ้าอังคารที่ 12มกราคม 2559 ไม่ทัน ก็น่าจะเป็นสัปดาห์ถัดไป ซึ่งเมื่อบอร์ดชัดเจน เรียบร้อยลงตัว เป็นไปตามกฎหมาย กฎกติกาเรียบร้อย กลไกทั้งหลายจะเดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือเรื่องที่หนึ่ง ที่มีความก้าวหน้าขึ้น เรื่องที่สองตามที่ได้ตกลงกันไว้ในวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2559 ที่เกิดจากการประชุมว่า จะรับซื้อยางไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว วันนี้เขาก็มีการวางกลไกกันตรวจสอบชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การยาง ในระดับจังหวัด หรือสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ ที่มีคณะกรรมการยางประจำจังหวัดอยู่ ท่านผู้ว่าเขาจะตรวจสอบทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดกลางที่มีอยู่ 12 ตลาด หรือตลาด 108 คือตลาดที่เล็กลงมากกว่าตลาดกลาง มีอยู่ประมาณ 108 แห่ง รวมถึงตลาดนอกระบบ เขาจะมีส่วนต่าง ๆ ไปตรวจสอบว่ามีใครที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาที่เราคุยกันไว้ ถ้ามีจะติดต่อเป็นรายบุคคลว่า ทำผิดจากข้อตกลง เป็นการเตือน ถ้าประพฤติปฏิบัติสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงอยู่ ต้องว่ากันด้วยเรื่องของกฎหมาย ซึ่งจริง ๆ เราไม่อยากพูดถึงเรื่องของข้อกฎหมายเพราะเป็นยาแรง เราก็รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการของยาง ร่วมมือกันน่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ถ้าให้ยกราคาให้สูงขึ้นตามที่ปรารถนาคงเป็นเรื่องยาก เพราะทุกคนคงทราบราคาโลกแค่ไหน อย่างไร ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ขายข้าวมันไก่หน้าโรงเรียน ทุกร้านขายข้าวมันไก่หมดยังไงก็ไปไม่รอด ต้องเปลี่ยนขายข้าวขาหมูบ้าง ขายอย่างอื่นบ้าง เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาลเตรียมขอให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่ไปกับมาตรการทั้งหลายที่ได้ชี้แจงให้ทราบไปแล้ว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปปลูกพืชอย่างอื่น ไปเลี้ยงสัตว์เสริม ซึ่งรัฐก็มีแนวทางชัดเจนว่ามีการอุดหนุนเงินไปในระบบเพื่อให้ท่านสามารถจะกู้ยืมเงิน เอาไปปรับพฤติกรรมการทำการเกษตร เพราะฉะนั้นมาตรการทั้งหลายนี้จะรวมมา
 
นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงจริง ๆ สองกรณี คือ ทำอย่างไรถึงจะแบ่งเบาภาระ ซึ่งวันนี้มาตรการก็มีความชัดเจนตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2559 มาตรการเฉพาะหน้า มาตรการระยะกลาง มาตรการระยะยาว ที่เพิ่มเติมขึ้นมา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงกลาโหม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ จะต้องรวบรวมความต้องการยางผลิตในระยะแรกให้ได้ ภายในวันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2559 เพื่อที่จะกำหนดปริมาณได้ว่า รัฐบาลจะช่วยให้หน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องรับซื้อยาง เอามาทำผลผลิตต่าง ๆ ในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง ทั้งหมดที่เล่าให้ฟัง ยืนยันได้ว่ารัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ เป็นห่วงพี่น้องเกษตรกร และวิงวอนขอร้องอย่าทำในลักษณะที่กดดันรัฐบาล ซึ่งการกดดันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าเราคุยกันด้วยเหตุผลยอมรับว่าราคาไปได้แค่ไหน อย่างไร วิธีการอย่างไรที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ให้ราคาทรุดไปกว่านี้ วิธีการใดที่สามารถทำให้รับซื้อถึงฤดูปิดกรีดให้ครบทั้งหมด แบ่งสันปันส่วน มีความชัดเจนทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นวิงวอนในวันที่ 12 มกราคม 2559 ที่มีข่าว อย่าทำเลย แต่ถ้าจะรวมกันเฉย ๆ เพื่อที่จะรวบรวมประเด็นปัญหา สรุปให้ครบทุกเรื่อง และยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ไปดู สิ่งไหนเป็นปัญหาเพิ่มเติมให้รวบรวมปัญหามา
 
ชาวสวนยางภาคเหนือหนุน ตั้งบอร์ด กยท.ทบทวนสัญญา
 
เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 ม.ค. นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกยางภาคเหนือ และอดีตกรรมการสำนักงาน กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เปิดเผยกับเดลินิวส์ออนไลน์กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้นำเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ที่ยังไม่แล้วเสร็จ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันอังคาร 12 ม.ค.นี้ว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะเวลานี้คณะกรรมการขับเคลื่อนของ กยท.มีเฉพาะบอร์ดที่เป็นข้าราชการที่เป็นโดยตำแหน่งเท่านั้น ฉะนั้นองค์ประกอบของบอร์ดยังไม่ครบ คือจะขาดกรรมการที่เป็นตัวแทนเกษตรกร และ ประธานบอร์ด 1 คน และผู้ว่าการฯ 1 คน เมื่อคณะกรรมการบอร์ดไม่ครบองค์ประกอบการพิจารณาหรืออนุมัติโครงการต่าง ๆ ของ กยท.ก็ไม่สามารถทำได้ ส่งผล กระทบต่อโครงการต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนก็ยังทำให้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ่ายเงินชดชเยชาวสวนยางตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางอัตราไร่ละ 1,500 บาท เพราะต้องขอนุมัติจากบอร์ด หรือแม้แต่ที่มีข่าวว่า กยท.ไปเซ็น MOU กับบริษัทไซโนแคม ประเทศจีน ก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่ผ่านการพิจารณาจากบอร์ด ฉะนั้นเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ กยท.ก็จะได้นำเอาเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมบอร์ดให้บอร์ดอนุมัติหรือพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
 
เมื่อถามว่า การที่ กยท.ไปเซ็น MOU กับบริษัทไซโนแคม ประเทศจีน มองว่าเกษตรกรชาวสวนยางได้ประโยชน์หรือไม่ นายณกรณ์ กล่าวว่า การเซ็นสัญญาถ้าเป็นไปโดยปกติ จะเห็นว่า เกษตรกรชาวสวนยางสามารถระบายยางออกไปได้ 2 แสนตัน เพียงแต่ในรายละเอียดของสัญญาต้องทำความเข้าใจกันมากกว่านี้ คือ ในสัญญา กยท.จะได้ราคาพิเศษกว่าราคายางอยู่ 3 หยวนต่อ 1 กิโลกรัม แต่ว่าในสัญญายังมีรายละเอียดย่อยอีก แม้ว่าเราจะได้ราคาพิเมียม หรือ ราคาพิเศษมา 3 หยวนต่อกิโลกรัม แต่ในสัญญาระบุว่าเราจะต้องจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 17 เปอร์เซ็นต์ กยท.ต้องรับผิดชอบค่าระวางเรือ ค่าประกัน ค่าขนส่งต่าง ๆ เมื่อคิดแล้วประมาณ 600 ล้านบาท ปรากฎว่า ค่าใช้จ่ายตรงนี้มากกว่าที่ได้ราคาพิเศษ 3 หยวนต่อกิโลกรัมเสียอีก ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่า ใช่ราคา 3 หยวนหรือไม่ จึงยังไม่รู้ว่าการยางจะได้ประโยชน์หรือเสียผลประโยชน์จากการเซ็นสัญญาในครั้งนี้
 
นายณกรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในสัญญายังมีการะบุถึงการซื้อ 90 เปอร์เซ็นต์จากผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ ซึ่งระบุมาเลยว่า ต้องมาจาก 7 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด 3.บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด 4.บริษัทไทยฮั้ว ยางพารา จำกัด (มหาชน) 5.บริษัททองไทย รับเบอร์ จำกัด 6.บริษัท บีไรท์ รับเบอร์ จำกัด และ 7.บริษัทเต็กบี้ห้าง (ยางไทยปักษ์ใต้) ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์มาจากสถาบันเกษตรกร นั่นเป็นคำถามที่สถาบันเกษตรกรไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงจะต้องเอาจากตัวของผู้ผลิตรายใหญ่ทั้ง 5 ราย ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทำไมไม่เอาจากสถาบันเกษตรกร เพราะจริง ๆ ถ้าดูตามปริมาณการผลิตจากสถาบันเกษตรกรทั้ง 11 แห่ง ก็มีกำลังการผลิตได้ แต่เป็นไปได้ว่าในสัญญาอาจจะเป็นห่วงในเรื่องของมาตรฐานสินค้า แต่ถ้ามองกลับไปว่าเป็นห่วงมาตรฐานสินค้าทำไมไม่ซื้อตรงไปยัง 7 บริษัทดังกล่าวไปเลย เพราะค่าพรีเมียมหรือค่าพิเศษที่ได้ กยท.ก็ไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นเมื่อมีคณะกรรมการ กยท.แล้วต้องมองในประเด็นดังกล่าวให้ชัดว่า การเซ็นสัญญาเราได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์
 
ที่ผ่านมา มีเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรหลายคนให้เปิดสัญญาเพื่อดูรายละเอียด ที่ผ่านมาผมได้เห็นแต่ร่างของสัญญา แต่ไม่เห็นในรายละเอียด จึงมีคนเรียกร้องขอดูว่าทำไมถึงไปเซ็นสัญญาที่เราเสียเปรียบ แต่ถ้ามีการเปิดสัญญาให้ดูในตอนนี้ก็สามารถแก้ไขได้ทันเพราะยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของบอร์ด เพราะตอนที่นำเรื่องเข้าบอร์ดคณะกรรมการไม่ครบจึงยังไม่ผ่านบอร์ด แต่ถ้าเรื่องนำเข้าบอร์ดแล้วก็จะได้ช่วยกันพิจารณาทบทวนตรวจสอบในรายละเอียดให้เกิดการรัดกุมมากขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าหากสัญญามีผลจริง กยท.จะต้องส่งมอบยางให้กับ บริษัท ไซโนแคม ในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากเซ็นสัญญา ซึ่งถ้าเซ็นต์วันที่ 4 ธ.ค.2558 ก็ต้องส่งมอบล๊อตแรก 16,000 ตัน ในวันที่ 4 มี.ค.2559 แต่สัญญาตัวนี้ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาบอร์ด ฉะนั้นจะต้องนำสัญญานี้กลับมาให้บอร์ดได้พิจารณาเพื่อดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทต้องเข้าบอร์ดเพราะเกินอำนาจของผู้ว่า กยท.จึงต้องให้บอร์ดมาช่วยพิจารณากลั่นกรองในเรื่องนี้จึงจะเร่งรัดให้เกิดขึ้น” ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกยางภาคเหนือกล่าว
 
′ถาวร′ ขอบคุณ รบ. ควักงบซื้อยาง ยันไม่เคลื่อนไหวแน่นอน กังวล พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
มติชนออนไลน์รายงานว่านายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่โฆษกรัฐบาลออกมาระบุว่านายกฯสั่ง 8 กระทรวงควักงบรับซื้อยาง ว่า ก็ดี ทำให้สบายใจขึ้น เพราะเราไม่เคลื่อนไหวอยู่แล้ว แต่ต้องการให้รัฐบาลเขาแก้ไขปัญหา เมื่อเขาดำเนินการแก้ไขปัญหาก็ต้องขอบคุณ แต่การนัดประชุมในวันที่ 12 มกราคมนี้นั้น ก็ยังมีการประชุมเหมือนเดิม ไม่มีการยกเลิก เพราะเป็นการประชุมเพื่อระดมความเห็นเพื่อเสนอต่อรัฐบาล เราอาจมีวิธีการที่ดีกว่า ถูกต้องกว่าก็ได้ ส่วนการเคลื่อนไหวนั้นเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนตีความไปเอง เพราะในขณะนี้มี พ.ร.บ.ห้ามชุมนุมในที่สาธารณะ เราไม่กล้าที่จะไปดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่แล้ว  
 
เจรจาที่ ทุ่งสง ล่ม ผช.รมต.เกษตรฯ รับแค่ 1 ข้อเสนอชาวสวนยาง 
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 15.15 น. ของวันนี้ (10 ม.ค.) กรณีม็อบชาวสวนยางพาราชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขราคายางตกต่ำที่ว่าการอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยยื่น 4 ข้อเสนอในการเรียกร้อง หากไม่ได้ครบทั้ง 4 ข้อ ยืนยันจะยังชุมนุมยืดเยื้อต่อไป ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช การเจรจาระหว่างนางจินตนา ชัยยวรรณการ ผช.รมต.เกษตรฯ กับ 10 แกนนำม็อบเกษตรกรชาวสวนยางพารา หลังจากเจรจาอย่างเคร่งเครียดอยู่นานกว่า 2 ชม. ทาง นางจินตนา ยอมรับข้อเสนอจากแกนนำผู้ชุมนุมได้เพียง 1 ข้อ จากที่ขอไป 4 ข้อ 
 
สำหรับสิ่งที่ยินดีจะแก้ไขปรับปรุงคือ ข้อ 2 "ขอให้ทบทวนปรับลดขั้นระเบียบหลักเกณฑ์การเข้าถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งของชาวสวนยาง ให้เข้าถึงการช่วยเหลือโดยเร็วตามความเดือดร้อน" ซึ่งข้อนี้ทางรัฐบาลสามารถทำได้ทันที ส่วนข้ออื่นๆ อีก 3 ข้อ จะนำไปพิจารณาต่อไป ทำให้แกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง ยังไม่พอใจ พยายามเรียกร้องให้ทาง ผช.รมต. ยอมรับข้อเสนอทั้งหมด 4 ข้อ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมา นางจินตนา เริ่มเห็นว่าการเจรจายิ่งยืดเยื้อออกไป ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ทำให้นางจินตนาไม่พอใจ ลุกขึ้นหนีออกจากห้องประชุมแบบกะทันหันแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำให้คณะที่เดินทางมาด้วยต้องเดินตามออกมาจากห้องประชุม การเจรจาจึงต้องยุติกลางคัน ทำให้บรรดาแกนนำสวนยางที่นั่งในห้องประชุมนึกไม่ถึงว่า ผช.รมต. จะลุกขึ้นหนีออกจากห้องประชุมแบบกะทันหัน
 
ต่อมา แกนนำชาวสวนยางรายหนึ่งได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ว่า การเดินทางมาของ ผช.รมต.ในครั้งนี้ ไม่คุ้มค่ากับการเดินทางมารับข้อเสนอเพียงข้อเดียวเท่านั้น เจรจายังไม่ทันเสร็จก็ลุกหนีแบบดื้อๆ ไม่ยอมรับฟังปัญหาที่เป็นประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยาง
 
จากนั้นทางแกนนำได้เดินทางมาขึ้นเวทีหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งสง บอกผลการเจราจากับ ผช.รมต. ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่อย่างไรก็ตามจะยังรอเกษตรกรชาวสวนยางมาร่วมสมทบ และชุมนุมต่อจนถึงเวลา 22.00 น. วันเดียวกัน เพราะได้ขออนุญาตกับทางตำรวจไว้จนถึงเวลา 22.00 น.
 
อนึ่งตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1. ขอแก้ไขปัญหาราคาน้ำยางสดที่ 60 บาท 2.ขอให้ปรับลดระเบียบหลักเกณฑ์การเข้าถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งของชาวสวนยาง ให้เข้าถึงการช่วยเหลือโดยเร็วตามความเดือดร้อน 3.ขอให้พิจานาการทำงานด้านนโยบายและมาตราการแก้ไขของรัฐมนตรีและคณะทำงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาแต่ละประเด็นตรงตามบริบทที่แท้จริงและ 4. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักรในการแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบ และต้องหาแหล่งทุนในการขายฝาก หรือรับจำนำให้เกษตรกร 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net