Skip to main content
sharethis

สเตรทไทม์ของสิงคโปร์อ้างสื่อญี่ปุ่นว่าเครื่องบินลาดตระเวนรุ่น P-3C ของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นที่ปฏิบัติภารกิจต้านโจรสลัดที่โซมาเลียนั้น ระหว่างบินกลับจะถูกมอบหมายให้ลงจอดที่ฐานทัพของประเทศแถบทะเลจีนใต้อย่างเวียดนามหรือฟิลิปปินส์ด้วย โดยถือเป็นการปกป้องเสรีภาพการบินเหนือทะเลหลวงในห้วงที่จีนกำลังอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้

แฟ้มภาพเครื่องบินลาดตระเวนรุ่น P-3C Orion ของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ภาพถ่ายในเดือนตุลาคม 2552 (ที่มา: Toshi Aoki - JP Spotters/Wikipedia/CC BY-SA 3.0)

แผนที่ทะเลจีนใต้ แสดงแนว "เส้นประ 9 เส้น" (สีเขียว) ที่จีนอ้างว่ามีอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะและทะเลบริเวณดังกล่าว (ที่มา: Wikipedia)

 

11 ม.ค. 2559 สเตรทไทม์ของสิงคโปร์ รายงานเมื่อ 10 ม.ค. อ้างแหล่งข่าวในรายงานของสื่อญี่ปุ่น โยมิอูริ ชิมบุน ระบุว่า กระทรวงกลาโหม ญี่ปุ่น และกองกำลังป้องกันตนเอง (JSDF) ตัดสินใจที่จะให้เครื่องบินลาดตระเวน P-3C ซึ่งกำลังจะกลับมาจากการปฏิบัติภารกิจต่อต้านโจรสลัดชายฝั่งโซมาเลีย ให้มีภารกิจบินลงจอดในฐานทัพของประเทศแถบทะเลจีนใต้รวมทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนาม

เครื่องบินลาดตระเวน P-3C มีขีดความสามารถในการเฝ้าตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ และการตัดสินใจดังกล่าวก็เพื่อเพิ่มเที่ยวบินเข้ามาในพื้นที่ทะเลจีนใต้ บริเวณที่จีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตน

และความเคลื่อนไหวนี้ก็จะเป็นการปกป้องเสรีภาพในการบินเหนือทะเลหลวง (freedom of over flight) และช่วยให้ญี่ปุ่น สามารถสนับสนุนภารกิจลาดตระเวนของสหรัฐอเมริการอบๆ เกาะเทียมที่จีนถมทะเลขึ้นจากเกาะปะการังและสันดอนในทะเลจีนใต้

สำหรับเครื่องบินลาดตระเวน P-3C ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น (MSDF) ใช้ปฏิบัติการร่วมกับหลายชาติเพื่อต่อต้านโจรสลัดชายฝั่งโซมาเลีย ในภูมิภาคแอฟริกา โดยเครื่องบินดังกล่าวเดินทางจากแอฟริกากลับมาญี่ปุ่นทุกๆ สามเดือน

โดยก่อนหน้านี้ เครื่องบินดังกล่าวพักเติมน้ำมันในฐานทัพซึ่งอยู่ห่างไกลจากทะเลจีนใต้อย่างสิงคโปร์และไทย ขณะที่เส้นทางบินในอนาคตจากญี่ปุ่นไปแอฟริกาอาจจะเป็นเส้นทางเดิม แต่ในเส้นทางบินกลับ เครื่องบินดังกล่าวจะมุ่งเติมน้ำมันในฐานทัพบริเวณทะเลจีนใต้ อย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

และในประเทศที่เครื่องบินของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นไปเยือน ก็จะมีแผนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านกลาโหมกับประเทศที่ไปเยือนนั้นๆ ด้วย

โดยแผนการที่วางไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ สเตรทไทม์อ้างว่าในเดือนกุมภาพันธ์ เครื่องบิน P-3C จะจอดที่ฐานทัพคัม รานห์ (Cam Ranh) ประเทศเวียดนาม และจะร่วมฝึกปฏิบัติเพื่อมิตรภาพที่นั่นด้วย

ทั้งนี้ระหว่างการเยือนเวียดนามของ เก็น นากะทะนิ รัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 มีข้อตกลงร่วมกันให้เรือของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น (MSDF) เยือนฐานทัพคัม รานห์ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับด้านกลาโหม

ขณะเดียวกันมีการพิจารณาสถานที่จอดเครื่องบินที่ฐานทัพเรือของฟิลิปปินส์ที่เกาะปาลาวัน ใกล้หมู่เกาะสแปรตลี และเกาะลาบวน ของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ตอนใต้ของทะเลจีนใต้

ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ยึด "เส้นประ 9 เส้น (nine-dash line หรือ 南海九段线) ในทะเลจีนใต้ว่ามีอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณที่เส้นประ 9 เส้นครอบคลุมอยู่ โดยเป็นการอ้างตามที่รัฐบาลจีนคณะชาติอ้างไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2490 โดยเป็นการอ้างหลังการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งสอง ต่อมาในยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดแผ่นดินใหญ่ได้ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2492 จีนก็ยังคงอ้างกรรมสิทธิ์ตามเส้นประ 9 เส้น และต่อมามีการสร้างเกาะเทียมจากการถมทะเลขึ้นมาจากเกาะปะการัง และสันดอนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งวางกำลังทางทหารในพื้นที่ด้วย

ขณะที่สหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดีบารัก โอบามา พยายามยับยั้งความเคลื่อนไหวของจีน โดยในเดือนตุลาคม 2558 สหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือพิฆาตชั้น Aegis ชื่อ USS Lassen เข้ามาลาดตระเวนภายในเส้น 12 ไมล์ทะเลของสันดอนซูบี (Subi Reef)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net