Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เห็นมิตรสหายในเฟซบุ๊กหลายท่านชวนถกกันเรื่องผิวขาว-ผิวสีมากว่าอาทิตย์อันเนื่องมาจากโฆษณาไร้รสนิยมของผลิตภัณฑ์เกาหลียี่ห้อหนึ่ง ทำให้นึกสนุก สงสัยขึ้นมาว่า เคยมีที่ไหนบ้างในประวัติศาสตร์ของโลกที่ Colorism เดินไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ กล่าวคือมีที่ไหนบ้างที่ Dark skin wins ?

เท่าที่สืบค้นดูคร่าวๆตามวิกิและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ก็ไม่ผิดความคาดหมายไปสักเท่าไหร่ เพราะแม้โทนสีผิวจะมีความนิยมที่ต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรมและช่วงเวลา และแม้ว่าบางชนเผ่าในอัฟริกา เช่น ชาวมาไซ จะนิยมสีผิวที่มืดมากกว่าผิวสว่าง และเห็นว่าผิวที่ซีดขาวนั้นเกิดจากการต้องคำสาป แต่ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของโลก เชื่อมโยงผิวสว่างและผิวขาวในฐานะอุดมคติของสีผิว และมักผูกโทนสีอุดมคติดังกล่าวไว้กับเพศหญิง

ที่น่าสนใจคือ ในเอเชียตะวันออก ผิวสว่างขาวในฐานะสีผิวอุดมคติ ครองอำนาจมาตั้งแต่บุพกาล ก่อนที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพล ในประเทศอย่างเช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น White supremacy ไม่ได้มีดีกรีที่ยิ่งหย่อนไปกว่าโลกตะวันตกแต่อย่างใด ผิวขาวบ่งบอกถึงฐานันดรของชนชั้นที่เหนือกว่าทางสังคมและเศรษฐกิจ ถูกใช้เพื่อแบ่งแยกระหว่างชาวพื้นราบที่ศิวิไลซ์กับชนเผ่าตามป่าเขา พวกราชสำนักกับบ้านนอก เท่าๆกับบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของความงามของผู้หญิง อุดมคติว่าด้วยผิวขาวผ่อง ยังคงเหนียวแน่นและดำเนินมาจวบจนปัจจุบัน ทั้งยังถูกพาข้ามน้ำข้ามทะเลไปตั้งรกรากในหมู่ชุมชนอพยพชาวเอเชียในโลกตะวันตกอีกด้วย

แม้แต่ในอินเดียที่ประชากรมีเฉดสีผิวต่างๆไล่เรียงตั้งแต่น้ำตาลอ่อนไปจนหมึกเข้ม สีผิวก็ยังถูกนำมาใช้ในการแบ่งแยกทางวรรณะ แน่นอนที่ว่าผิวสีที่เจือจางกว่า (Light skin) ของวรรณะที่ไม่ต้องตรากตรำทำงานหนัก ย่อมได้รับการเชิดชูให้อยู่เหนือกว่าเหล่าวรรณะที่ต่ำกว่าและผิวสีเข้ม และแม้เทพฝ่ายชายจะมีผิวสีเข้มเป็นส่วนใหญ่ เทพที่ได้รับการยกย่องในฝ่ายสตรี ต่างก็มีผิวสีจางทั้งสิ้น การเข้ามาของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ได้ตอกย้ำให้ผิวที่ขาวผ่อง กลายเป็นสีผิวของผู้เจริญและศิวิไลซ์ไปโดยปริยาย

สีผิว และ การเหยียดสีผิว (Colorism) ในทางประวัติศาสตร์ จึงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ และความสัมพันธ์ทางเพศอย่างไม่ต้องสงสัย

ในสังคมที่ไม่ได้มีวัฒนธรรม political correctness ดังเช่นโลกตะวันตก การถือเอาความเป็นอุดมคติของความขาวเป็นตัวแทนของสีผิวก็ดำเนินไปอย่างโจ่งแจ้ง และทึกทักเอาว่าเป็นธรรมชาติตามอำเภอใจจนบางครั้งก็น่าฉงน บริษัทผลิตดินสอสีเครยองแห่งหนึ่งในอินเดียติดป้ายเรียกชื่อดินสอที่มีสีลูกพืชว่า “skin” หรือสีผิว ก่อให้เกิดเสียงคัดค้าน ที่นำไปสู่การรณรงค์ของกลุ่มปัญญาชนในอินเดียให้เปลี่ยนชื่อเรียกสีดังกล่าวเสีย กลุ่มคัดค้านนี้ต่อมาได้รวมตัวกันตั้งเป็นองค์กรที่เรียกตัวเองว่า “Brown n’ Proud” เพียงเรียกร้องให้ผู้คนหันมาภาคภูมิใจในสีผิวตนเอง แต่ดูเหมือนความพยายามดังกล่าวจะฝ่าคลื่นความนิยม “ขาว” ที่ถึงขั้นobsession ในอินเดีย โดยเฉพาะในวงการบันเทิงไปได้ยากอยู่สักหน่อย เพราะตลาดสีผิวในอินเดียนั้นคือความขาว ไม่เพียงดารานักแสดงที่ต่างก็แข่งขันเพื่อให้ผิวตนขาวผ่องเท่านั้น แต่การใช้กราฟฟิคเพื่อทำให้โทนผิวสว่างและขาวยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของเทคนิคการทำภาพยนต์ของบอลลีวูดอีกด้วย

ส่วนในเกาหลี ประเทศส่งออกอุดมคติผิวขาวอันดับต้นของเอเชีย สีผิวที่ขาวผ่อง เป็นสัญลักษณ์ของความสูงศักดิ์ สมบูรณ์ และบริสุทธิ์ของเพศหญิง ที่มีอิทธิพลครอบคลุมในทุกปริมณฑลมานับตั้งแต่ประวัตศาสตร์ และกินพื้นที่ตั้งแต่ภายในครอบครัวไปจนถึงวงการบันเทิงในปัจจุบัน การที่นักแสดงสาวผิวสี จะเบียดขึ้นมาอย่างยากเย็นในเวที K-pop ได้ จึงจำเป็นต้องหาจุดขายประเภทอื่น เช่น การขายความ Sexy หรือการเป็น Sex symbol ดังเช่นกรณีนักร้อง นักแสดง Lee Hyori เป็นต้น และแม้ว่าในโลกตะวันตก ตลาดของสีผิวจะเริ่มขยายตัวไปสู่ผิวสีประเภทต่างๆ อาทิ สีแทนที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ใหม่ของสุขภาพที่ดีและความเป็น outdoor ตลาดสีผิวในเอเชียกลับยังคงความ conservative ไว้อย่างค่อนข้างเหนียวแน่นและยากที่ผิวขาวจะลงจากแท่นความเป็นอุดมคติไปได้ง่ายๆ

สำหรับในไทย ในขณะที่เสียงก่นด่าวลีที่ว่า “แค่ขาวก็ชนะ” ทำเอาทั้งผู้ผลิตโฆษณา ทั้งพรีเซ็นเตอร์ กลายเป็นพวกเหยียดสีผิว จนแทบจะหาที่ยืนไม่ได้ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูรายการสัมภาษณ์ดาราชายขวัญใจสาวทุกวัย คุณธนากร โปษยานนท์ หรือคุณน้ารามแห่งละครตามรักคืนใจ ในรายการทีวีช่องหนึ่งที่พันทิปเอามาเผยแพร่เมื่อหลายวันก่อน เมื่อพิธีกร ถามคุณอู๋ (ผู้มีความหลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นอันมาก จนถึงกับเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นของตัวเองขึ้นมา และผู้เปิดเผยว่ายังโสด)ว่า ผู้หญิงในสเปคของคุณอู๋เป็นแบบไหน คุณน้ารามของเราตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “ชอบผู้หญิงขาวครับ”

ดิฉันไม่เห็นว่าชาวพันทิปท่านใดจะมีข้อกังขา หรือเป็นเดือดเป็นแค้นลุกขึ้นมาก่นด่าว่าคุณอู๋นั้นเหยียดสีผิวแต่อย่างใด มีแต่กรี๊ดกร๊าด ครางฮือเรียกน้ารามผู้อบอุ่นกันทุกคนไป โดยเฉพาะสาวๆ

ลัทธิการต่อต้าน Colorism ในไทยนั้นแท้จริงแล้วลักปิดลักเปิดเช่นนี้เอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net