Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลมองเศรษฐกิจโลกปี 2559 จะมีปัญหาถ้าหาก TPP ผ่านการพิจารณา ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐในประเทศสมาชิกถูกฉกฉวยผลประโยชน์จากบรรษัทข้ามชาติโดยไม่สามารถทำอะไรได้

Empfang Joseph E. Stiglitz im Rathaus Köln-1485
โจเซฟ สติกลิตซ์
© Raimond Spekking / CC BY-SA 4.0 (via Wikimedia Commons)

11 ม.ค. 2559 โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขียนบทความถึงเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) กับระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2559 โดยที่สติกลิตซ์มองว่า TPP เป็นสัญญาความตกลงทางเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

สติกลิตซ์ระบุว่าในปีที่แล้ว (2558) เป็นปีที่มีเรื่องน่าจดจำเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องที่น่าผิดหวังเท่านั้นแต่ยังมีการเปลี่ยนในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องข้อตกลงโลกร้อนในการประชุมที่กรุงปารีสเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เป็นข้อบ่งชี้ว่าโลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่เศรษฐกิจแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เน้นการลงทุนแบบสีเขียวซึ่งหวังว่าจะสามารถถ่วงดุลกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานถ่านหินที่เป็นนักล็อบบี้ได้

ประเด็นต่อไปที่สติกลิตซ์ระบุถึงคือการที่จีนจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่โดยกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้) รวมถึงธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สหรัฐฯ พยายามคัดค้าน อย่างไรก็ตามสติกลิตซ์ก็วิจารณ์เรื่องที่สหรัฐฯ มือถือสากปากถือศีลในการประชุมเจรจาองค์การการค้าโลก (WTO) กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งทั้งทางสหรัฐฯ และยุโรปต้องการใช้ยุทธศาสตร์ "แบ่งแยกและปกครอง" (divide-and-conquer) ในสนามทางการค้า

สติกลิตซ์อธิบายในประเด็นดังกล่าวต่อไปว่าประเทศสมาชิก WTO จึงพยายามควบคุมการค้าในแถบภูมิภาคแอตแลนติกและภูมิภาคแปซิฟิกผ่านการทำข้อตกลงที่มีกฎซับซ้อนและมีความขัดแย้งในตัวเองกับหลักการพื้นฐานของการค้าเสรีอย่างเรื่องประสิทธิภาพในการทำให้สินค้าไหลเวียนอย่างอิสระ

ในตอนที่เผยแพร่บทความนี้ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ยังคงรอผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งสติกลิตซ์ชี้ว่า TPP มีปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับ "การลงทุน" ที่มีการกีดกันไม่ให้มีการควบคุมดูแลจากภาครัฐในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาวะ ความปลอดภัยและแม้กระทั่งด้านการเงิน การกีดกันเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค เนื่องจาก TPP ระบุให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้โดยอ้างว่าการควบคุมดูแลของรัฐบาลแทรกแซงการลงทุนของพวกเขาถึงแม้ว่าจะเป็นการควบคุมดูแลเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนในประเทศก็ตาม

"ในขณะที่ (สัญญาของ TPP) ใช้ภาษาที่ซับซ้อน มันได้ส่งเสริมให้บรรษัทที่มีอำนาจมากฟ้องร้องรัฐบาลที่มีอำนาจการเงินน้อยถึงแม้ว่ารัฐบาลเหล่านั้นจะมีการควบคุมดูแลเพื่อให้เป็นการปกป้องโลกจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกพวกเขาก็ยังเสี่ยงจะถูกฟ้อง" สติกลิตซ์ระบุในบทความ

สติกลิตซ์นำเสนอในบทความต่อไปว่าทั้งนี้ในข้อกำหนดที่มีการระบุถึง "ชาติซึ่งเป็นที่โปรดปรานมากที่สุด" (most favoured nation) เป็นการเอื้อต่อบรรษัทให้ได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากประเทศที่ร่วมลงนามในความตกลงนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นการ "พากันดิ่งลงเหว" ถือเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาสัญญาไว้

และถึงแม้โอบามาจะโฆษณาว่า TPP จะเป็นการช่วงชิงอำนาจการวางกฎเกณฑ์การค้าที่สหรัฐฯ จะใช้สู้กับจีน แต่สติกลิตซ์ก็แย้งในบทความว่าสัญญาทางการค้าที่ถูกต้องควรเป็นไปในรูปแบบที่รับฟังเสียงจากประชาชนทุกภาคส่วนและมีความโปร่งใส แต่สัญญา TPP เป็นสัญญาที่เอื้อประโยชน์ต่อบรรษัทสหรัฐฯ เท่านั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้สำหรับผู้มีหลักการประชาธิปไตย

ทั้งหมดนี้ทำให้สติกลิตซ์หวังว่าในปี 2559 จะมีการยกเลิก TPP และเริ่มต้นยุคใหม่ที่กำหนดสัญญาการค้าในแบบที่ไม่เอื้อผลประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจและไม่ทำร้ายคนที่อ่อนแอกว่า โดยสติกลิตซ์ยกตัวอย่างว่าข้อตกลงจากการประชุมโลกร้อนที่กรุงปารีสเป็นแนวทางที่ดีในการดำรงไว้ซึ่งความร่วมมืออย่างแท้จริงในระดับโลกได้
 

เรียบเรียงจาก

In 2016, let's hope for better trade agreements - and the death of TPP, Joseph Stiglitz, The Guardian, 10-01-2016
http://www.theguardian.com/business/2016/jan/10/in-2016-better-trade-agreements-trans-pacific-partnership

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net