สัมภาษณ์: โอไอซี คุยอะไรกับมาราและภาคประชาสังคม จาก 3 จว.ชายแดนใต้ ที่มาเลเซีย?

คุยกับ รอมฎอน ปันจอร์ ภาคประชาสังคมจากชายแดนใต้ไทย ที่เดินทางไปร่วมโต๊ะพูดคุยกับ องค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี และ ขบวนการปลดแอกเอกราชปาตานี ที่กัวลาลัมเปอร์ เขาคุยอะไรกัน โอไอซีมีท่าทีอย่างไร และ ทิศทางกระบวนการสันติภาพจะเป็นอย่างไรต่อไป
 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (10 ม.ค. 59) อิยาด อามีน มาดานิ เลขาธิการองค์กรความร่วมมืออิสลาม โอไอซี พบปะอย่างไม่เป็นทางการกับมารา ปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มของขบวนการปลดแอกเอกราชสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี จำนวน 10 คน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพ ระหว่าง มารา กับ รัฐบาลไทย และยังพูดคุยกับตัวแทนภาคประชาสังคมอีกห้าคนด้วย โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพบกันครั้งนี้ 
 
เนื่องจากการพบกันครั้งนี้เป็นแบบไม่เป็นทางการและมีความละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยกับมาเลเซีย จึงไม่มีข่าวเกี่ยวกับผลของการพูดคุยมากนัก มีเพียงว่า เลขาธิการโอไอซีแสดงความสนใจและอยากให้การสนับสนุนการเจรจา ในขณะที่ฝ่ายมารานั้นมิได้เรียกร้องให้โอไอซีมาเป็นผู้สังเกตการณ์หรือตัวกลางในการเจรจา เพียงแต่อยากเห็นการสนับสนุนอย่างจริงจังเท่านั้น 
 
อย่างไรก็ตาม ประชาไท ได้คุยถึงรายละเอียดการพบปะกันครั้งนี้กับ รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch และนักวิชาการด้านความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งในห้าภาคประชาสังคมซึ่งไปร่วมพูดคุยกับโอไอซีในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อนึ่ง นี่เป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประเทศมาเลเซีย
 
รอมฎอน ปันจอร์
 
ไปร่วมพูดคุยกับโอไอซีได้อย่างไร 
 
ตอนแรกได้รับการติดต่อจากอาบูฮาฟิซ อัลฮากีม สมาชิกมารา ว่าทางมารากำลังจะมีการพบกับเลขาฯ โอไอซี เป็นคำเสนอจากโอไอซี ว่าอยากเจอภาคประชาสังคมที่ไม่ใช่มารา อยากฟังคนอื่นด้วย ตามแผนเดิมจะเจอกัน แล้วแยกกันคุยเป็นสองวง มารามีรายชื่อไว้จำนวนหนึ่ง แล้วส่งให้โอไอซีเลือก โอไอซีเลือกมา 10 คนแต่มีคนตกลงมาแค่ห้าคน อีกสี่คนก็ทำงานด้านการพัฒนา เป็นโต๊ะครู และผู้ทำงานด้านการศึกษา 
 
พบกันอย่างไร
 
กำหนดการการพบกันเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตอนแรกวางแผนว่าจะเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย พอเจอกันจริงๆ ก็มีเวลาจำกัดมาก ทำไปทำมา ผมและภาคประชาสังคมอีกสี่คนจึงได้คุยกับทีมโอไอซีตอนรับประทานอาหารเที่ยง ซึ่งเป็นการทานอาหารเที่ยงร่วมกับมาราด้วย บรรยากาศนั้นเป็นไปอย่างสบายๆ ไม่มีโปรโตคอลอะไร ตัว อิยาด อามีน มาดานิ เองก็ให้ความเป็นกันเองสูง แซว ปล่อยมุข กับพวกเราอย่างเป็นกันเอง ช่วงทานอาหารเที่ยงรวมกับที่คุยกับภาคประชาสังคมใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง
 
ระหว่างทานอาหาร เลขาธิการโอไอซีถามพวกเราว่า จะสามารถช่วยอะไรกับกระบวนการสันติภาพได้บ้าง และสามารถหนุนเสริมข้อเสนอของภาคประชาสงคมได้อย่างไร แต่ละคนก็นำเสนอไป ก็มีข้อเสนอเรื่องการยอมรับประวัติศาสตร์ของปาตานี การให้ความยุติธรรมกับชาวมลายู และการพัฒนา เป็นต้น 
 
ส่วนของผมเอง นอกจากเอกสารสี่หน้าที่ผมเตรียมไป ซึ่งก็เล่าสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ บรรยากาศในพื้นที่ และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม และพลวัตรของภาคประชาสังคมที่ เพิ่มมากขึ้น ผมก็มีข้อเสนอต่อบทบาทของโอไอซี 
 
ผมสนับสนุนให้โอไอซี ให้มีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ชี้ให้เขาเห็นถึงความกังวลของตัวแสดงในเวทีนี้ นั่นคือ ในขณะที่ทางการไทยกังวลบทบาทของตัวแสดงต่างชาติ มาราก็กังวลถึงความต่อเนื่องของการเจรจาและการได้รับการยอมรับสถานภาพ ส่วนภาคประชาสังคมก็อยากส่งเสียงและมีส่วนร่วม โอไอซีต้องมองเห็นสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจน แล้วจึงเข้ามามีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ การเข้ามาต้องมีความหมายและมีคุณค่าจริงๆ และควรมีความจริงจังด้วย ก็จะช่วยให้การเจรจายั่งยืนและมั่นคงยิ่งขึ้น 
 
โดยข้อเสนอของผมมีรายละเอียดสองข้อคือ 
 
หนึ่ง ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทำให้โอไอซีเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงไม่ได้ แต่ควรเข้ามามีบทบาทผ่านบทบาทของมาเลเซีย โดยการให้องค์ความรู้ และอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้ประชาคมโลกรับรู้และเข้าใจความขัดแย้งนี้ ผ่านเวทีระหว่างประเทศ และหนุนบทบาทของมาเลเซียในเวทีระหว่างประเทศด้วย  
 
สอง โอไอซีสามารถทำงานกับคนในได้ เป็นบทบาทเชิงรุกที่สร้างสรรค์ จากประสบการณ์ผมเอง เห็นว่าองค์กรต่างประเทศสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ได้หลายจุด เช่น หนุนเสริมความรู้ด้านวิชาการ งานองค์ความรู้ ผ่านสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ และใช้สถาบันเหล่านั้นเป็นตัวเชื่อมต่อไปยังตัวเล่นต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ได้ทั้งความรู้ และบรรยากาศในการสร้างสันติภาพ โอไอซีสามารถเข้ามาให้คุณค่าและความรู้แบบอิสลาม เอามาหนุนหาทางออก นี่เป็นบทบาทที่องค์กรระหว่างประเทศสามารถทำได้ มีความสร้างสรรค์และยุติธรรมกับทุกฝ่าย 
 
ข้อเสนอของผมก็แตกต่างจากข้อเสนอของคนอื่นๆ เขาก็ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษและถามถึงรายละเอียดว่า ควรทำอย่างไร 
 
พอทานอาหารเที่ยงเสร็จ ก็เป็นช่วงที่โอไอซีพูดคุยกับมารา 
 
สมาชิก มารา ปาตานี พูดคุยกับ เลขาธิการโอไอซี ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ 10 ม.ค. 59
 
ฝ่ายโอไอซีมีใครมาบ้าง 
 
ฝ่ายโอไอซี นอกจากตัวเลขาฯ แล้วก็มีผู้ช่วยมาอีกหลายคน ผู้ช่วยสำคัญสามคนคือ Syed Qasim al-Masri ซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของโอไอซีด้านกิจการในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย, ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการชนกลุ่มน้อยมุสลิมของโอไอซี และผู้แทนโอไอซีประจำประเทศมาเลเซีย ดูจากคนที่มาประชุมด้วย ก็จะเห็นว่า โอไอซีให้ความสำคัญกับการหารือครั้งนี้มากเลยทีเดียว 
 
นอกจากมาราแล้ว มีใครอีกบ้างไหมที่ได้เข้าไปคุยกับโอไอซี อย่างเช่น บีอาร์เอ็น ปีกที่ไม่ได้อยู่ในมารา
 
เขาคุยกับมารา ในฐานะในองค์กรร่ม ไม่ได้คุยกับบีอาร์เอ็น หรือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แล้วก็ยังมีทีมผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย (Joint working group for the peace dialogue process: JWG-PDP) อีกประมาณ 10 คน ซึ่งเป็นทีมที่รวมเอาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ ไว้ด้วยกัน  
 
ทราบไหมว่า มาราคุยอะไรกับโอไอซีบ้าง
 
เท่าที่ทราบ มาราก็หยิบยกสถานการณ์และข้อเรียกร้องให้ฟัง ดูเหมือนว่า ทางโอไอซีจะให้ความสนใจและให้ความสำคัญแค่สองข้อของมารา คือ การยอมรับสถานะมาราว่าเป็น ปาร์ตี้บี และการให้ยกเว้นภาระการรับผิด (immunity) ส่วนประเด็นการยกการเจรจาเป็นวาระแห่งชาตินั้นได้รับความสนใจน้อยกว่า เขามองว่า สองข้อนี้จะทำให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้ เขาเห็นว่า การให้ความสำคัญกับคู่สนทนาเป็นเรื่องใหญ่ ตัวแสดงบนโต๊ะเจรจาต้องมีสถานะและความมั่นคง ส่วนอีกข้อ หากมาราได้รับยกเว้นการรับผิด มาราก็จะสามารถขยายงานการเมืองได้ เพราะเมื่อพวกเขามีความปลอดภัยมากพอ การทำงานสันติภาพก็สามารถขยายตัวได้ แต่ถ้าขยายงานสันติภาพไม่ได้ ตัวกระบวนการสันติภาพก็จะเปราะบาง พร้อมจะถูกทำลาย สองข้อนี้ จะช่วยให้กระบวนการมีความหมายและมีความมั่นคง ท้ายสุดแล้ว ก็เป็นประโยชน์ต่อสองฝ่าย
 
ทิศทางกระบวนการสันติภาพหลังจากนี้จะเปลี่ยนไปไหม อย่างไร และ การพบปะกันครั้งนี้เป็นผลดี ผลเสียกับใคร
 
ไม่ว่าไทยจะรับฟังข้อเสนอแนะของโอไอซีหรือไม่ การเข้ามามีส่วนร่วมของโอไอซีครั้งนี้ก็จะส่งผลให้การเจรจาสันติภาพบนโต๊ะนั้นมีน้ำหนักขึ้น ทั้งต่อผู้ที่ยังสงสัยเคลือบแคลงการเจรจา และต่อเวทีประชาคมโลกด้วย นี่ถือว่า โอไอซีบรรลุข้อเสนอที่เคยมีต่อรัฐบาลไทยที่เสนอไว้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน นั่นคือเสนอให้มีการเจรจา ตอนนั้นโอไอซีพยายามจะยกปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดสู่เวทีนานาชาติด้วย รัฐบาลไทยไม่พอใจและพยายามล็อบบี้อย่างหนัก แต่วันนี้เกิดการพูดคุยบนโต๊ะเจรจาขึ้นมาแล้ว ถือเป็นความก้าวหน้า การเข้ามาของโอไอซีครั้งนี้คือเข้ามาการันตีกระบวนการการเจรจา ทำให้ฐานะของการเจรจาและกระบวนการสันติภาพโดยรวมได้รับการยอมรับมากขึ้น 
 
นอกจากนี้ ยังเป็นผลดีกับมารา คนที่เคยกังขากับบทบาทของมาราคงต้องทบทวนเสียใหม่ เพราะตอนนี้มารามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น อาจเป็นผลให้เสียงที่เคยแตกในฝั่งขบวนการ รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น เมื่อฝ่ายขบวนการเข้มแข็งขึ้น ก็อาจมองได้ว่าเป็นแง่ลบต่อฝ่ายไทย แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพโดยรวม เมื่อการหาทางออกอย่างสันติวิธีมีน้ำหนักมากขึ้น การต่อสู้แบบจับอาวุธก็มีน้ำหนักน้อยลง ซึ่งไทยควรมองว่านี่คือผลดี และเป็นประโยชน์ ก้าวต่อไปคือ ไทยควรไคร่ครวญข้อเสนอโอไอซีอย่างจริงจัง 
 
มารา ปาตานี กับการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ 27 ส.ค. 58
 
ใช้ภาษาอะไรในการพูดคุยกับโอไอซี 
 
สำหรับตัวผม ผมพูดภาษาอังกฤษ แต่สำหรับภาคประชาสังคมคนอื่น ใช้ภาษามลายู และมีสมาชิกมาราที่ใช้ภาษาอาหรับได้ดี ช่วยแปลมลายูเป็นอาหรับ ก็จะเห็นว่า ไม่ได้มีความเป็นทางการอะไร 
 
ได้คุยนอกรอบกับมาราบ้างหรือไม่
 
ก็มีการจัดให้ได้พบปะกัน คุยกัน เพื่อทำความรู้จัก เรียนรู้กันและกันเยอะพอสมควร ผมก็เล่าให้พวกเขาฟังถึงพลวัตรในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป 
 
คิดว่า มาเลเซียทำเกินหน้าที่ในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือไม่ ในการจัดการพบกับโอไอซีครั้งนี้ 
 
เท่าที่ทราบ นี่เป็นความคิดริเริ่มของโอไอซีเอง ที่อยากพูดคุยกับมารา แต่รัฐบาลไทยคงไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่มาเลเซียต้องไปอธิบายกับไทยต่อไป
 
คุณมีความกังวลบ้างไหมจากการไปมาเลเซียครั้งนี้ เช่น จะถูกมองว่า ไม่เป็นกลาง
 
ไม่กัวลมาก แต่ภาคประชาสังคมที่ไปด้วยกันก็กังวลอยู่ คือผมมีจุดยืนที่ชัดเจน จริงๆ ผมเองก็เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็น คณะกรรมการประสานงานระดับพื้นที่ของ กอ.รมน. ก็จะเห็นว่า ผมเองก็ถูกดึงตัวจากทั้งสองฝ่าย นี่แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายต้องการทำงานกับภาคประชาสังคม อยากฟังและแลกเปลี่ยนกับภาคประชาสังคมมากขึ้น 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท