Skip to main content
sharethis

ร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราวันที่ 3 ยันหลัการเดิม 200 ส.ว. ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และไม่เอาเครือญาตินักการเมือง ส่วนเลือก ส.ส. ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม พร้อมบล็อค 17 คุณสมบัติห้ามลงสมัคร ส.ส.

13 ม.ค. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งสรุปรายมาตราต่อเนื่องเป็นวันที่สามว่า เมื่อวานนี้(12 ม.ค. 59) ที่ประชุมได้พิจารณาหมวด 6 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งมีจำนวน 12 มาตรา ครบถ้วนแล้ว อาทิ กำหนดให้รัฐพึงปลูกฝังให้ประชาชนยึดมั่นในเกียรติภูมิ อุดมการณ์และผลประโยชน์ของชาติมีจิตสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อ ประเทศและสังคมส่วนรวม รัฐพึงอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ ขณะที่มาตรา 71 เรื่องการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่หรือวงโคจร ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ซึ่ง กรธ. เห็นว่าคลื่นความถี่ถือเป็นสมบัติของรัฐ ดังนั้น ในการจัดสรรคลื่นความถี่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และของชาติเป็นสำคัญ โดยมอบหมายให้องค์กรที่เป็นอิสระทำหน้าที่ในการจัดสรร รวมถึงรัฐต้องป้องกันไม่ให้มีการใช้การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ตลอดจนมาตรา 72 ได้กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ทำให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ชาติชาย กล่าวต่อไปว่า กรธ. เห็นว่าปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปทำให้กฎหมายบางอย่างไม่จำเป็น ดังนั้นต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นลดภาระของรัฐ จึงกำหนดมาตรา 77 ให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น และพึงยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตหรือประกอบอาชีพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ส่วนกำหนดระยะเวลาหรือลำดับการแก้ไขกฎหมายนั้น ไม่สามารถกำหนดในรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากอยู่ที่ความสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ จึงให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดทำแผนพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย แต่อาจมีการกำหนดกฎหมายที่จำเป็นกับการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ในบทเฉพาะกาล

อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้านี้ที่ประชุมอยู่ระหว่างการพิจารณาในหมวด 7 รัฐสภา ซึ่งจะประกอบด้วย ส่วนที่ 1 บททั่วไป ส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร ส่วนที่ 3 วุฒิสภา ส่วนที่ 4 บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง และส่วนที่ 5 การประชุมร่วมกันของรัฐสภา พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ในเรื่องระบบเลือกตั้ง ส.ส. นั้น กรธ. ยังคงยึดหลักการเดิมคือ กำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว มีจำนวน ส.ส. 500 คน แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต จำนวน 350 คน และ แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน ขณะที่คุณสมบัติต้องห้าม ไม่ให้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้วางคุณสมบัติไว้ 17 ข้อ อาทิ ห้ามบุคคลที่ถูกหรือเคยถูกสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามผู้เคยต้องคำพิพากษากระทำการเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม ห้ามผู้อยู่ในระหว่างห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ด้านเดลินิวส์ออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 15.00 น. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ แถลงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างรัฐ ธรรมนูญรายมาตราว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ หมวด 7 รัฐสภา มีรายละเอียด คือ กำหนดหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบของรัฐสภาที่ประกอบด้วยวุฒิสภาและ สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงกำหนดหลักการของการประชุมของรัฐสภา หน้าที่และอำนาจของประธานและรองประธานรัฐสภา โดยต้องวางตัวเป็นกลาง รวมถึงกำหนดหลักการเกี่ยวกับกระบวนการตราพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างพ.ร.บ.ด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุมกรธ.ยังได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกของ ส.ส. และ ส.ว.หากกระทำผิดต่อหน้าที่ โดยสมาชิกของแต่ละสภาจำนวน 1 ใน 10 สามารถยื่นเรื่องต่อประธานสภาของตนเอง เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง ส.ส. หรือ ส.ว. คนดังกล่าวจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที และหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามีความผิด ก็ให้พ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

ชาติชาย กล่าวอีกว่า ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. นั้น กำหนดให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คนมาจากวิธีการเลือกกันเองจากกลุ่ม 20 กลุ่มอาชีพ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ อำเภอ จังหวัด และประเทศใช้วิธีการเลือกตั้งแบบไขว้กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีตัวสำรองไว้กลุ่มละประมาณ 10-20 คน เผื่อไว้ เพื่อนำมาแทนที่ ส.ว. ที่ทำหน้าที่แล้วพ้นจากตำแหน่งไป สำหรับคุณสมบัติของ ส.ว. นั้น กรธ. ได้เปลี่ยนแปลงไม่ให้บุพการี คู่สมรส บุตรของ ส.ส. ข้าราชการการเมืองที่หมายรวมถึงกรรมการองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น จะมาสมัคร ส.ว. ในคราวเดียวกันไม่ได้

ซึ่งสาเหตุที่ กรธ. เปลี่ยนแปลงห้ามเครือญาตินักการเมืองมาลงสมัคร ส.ว. นั้น เนื่องจาก กรธ. ได้ศึกษางานวิจัยและสภาพสังคมของประเทศไทยที่เป็นระบบอุปถัมภ์ และมีความเกรงใจกันสูง ประกอบกับผลการที่ กรธ. ได้สำรวจความคิดเห็นของความเห็นประชาชนซึ่งพบว่ากว่าร้อยละ 60 ไม่ต้องการ "สภาผัวเมีย" จึงทำให้ กรธ. กลับมาแก้ไขให้สอดรับกับความต้องการของสังคม

นอกจากนี้ กรธ. กำหนดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ว. ไว้ 5 ปี เป็นได้ครั้งเดียวตลอดชีวิต ต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือฝักใฝ่พรรคการเมือง หากใครมีพฤติกรรมดังกล่าวก็อาจจะถูกยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้ พ้นจากตำแหน่งได้

เมื่อถามว่าคุณสมบัติที่ กรธ. กำหนดนี้จะมีผลย้อนไปถึงอดีต ส.ว. ไม่ให้ลงสมัคร ส.ว. หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ หรือไม่ ชาติชาย กล่าวว่า จะไม่มีผลย้อนหลัง ทุกคนสามารถลงสมัครได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net