Skip to main content
sharethis
กรธ.เตรียมเขียนนิรโทษกรรม คสช. ที่ทำรัฐประหาร อ้างป้องกันความวุ่นวาย ส่วนมาตรา 7 ยังอยู่แต่ได้ย้ายไปอยู่ในหมวดหมู่ที่เหมาะสม

16 ม.ค. 2559 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จ.เพชรบุรี  นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ล่าสุด กรธ.ได้พิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทั้ง 13 หมวดเสร็จแล้ว โดยในวันที่ 17 ม.ค.นี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.จะให้กรรมการฯ แต่ละคนมาพูดคุย สรุปกันอีกครั้งว่าเนื้อหาที่ได้คุยกันทั้งหมด 13 หมวด กรรมการคนใดยังติดใจเนื้อหา อยากให้มีการปรับหรือแก้ในส่วนไหนบ้าง  โดยเนื้อหาในบทเฉพาะกาลจะยังไม่มีการพูดคุย คงจะนำไปหารือกันในการประชุมที่กรุงเทพฯ

เมื่อถามว่าตามปกติ การร่างรัฐธรรมนูญในมาตราสุดท้ายจะมีการเขียนนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารด้วย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ควรจะเป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า คงจะต้องมี แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเขียนอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้เขียนอะไรลงไป แต่มีบางคนบอกอาจจะเหมือนในรัฐธรรมนูญ ปี2550 มาตรา 309 ที่ระบุว่าการกระทำตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นให้ถือว่าชอบธรรมด้วยกฎหมาย โดยหลักการก็ควรมี ไม่อย่างนั้นก็วุ่นวาย เพราะสังคมเรายังมีคนเห็นต่างทางการเมือง หากไม่ทำก็จะไม่ปรองดอง สำหรับกรอบในการเขียนบทเฉพาะกาลควรจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1.สิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 2.การเปลี่ยนผ่านขององค์กรอิสระที่ใช้อำนาจก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญจะยังมีผลบังคับใช้แล้วว่าควรจะให้องค์กรเหล่านั้นดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร หรือไม่ 3.การเขียนอธิบายในส่วนที่ได้นิรโทษกรรมต่อคณะรัฐประหาร

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ว่า พยายามที่จะทำให้ทุกส่วนที่เป็นผู้มีอำนาจในรัฐธรรมนูญมามีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่งที่มีเสียงข้างมากแล้วจะแก้ไขได้ ส่วนผู้ที่มีอำนาจเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ได้แก่ 1.คณะรัฐมนตรี 2.ส.ส.เข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนของ ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 3.ส.ส.และส.ว.เข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และ 4.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกระทำในรัฐสภา แบ่งเป็น 3 วาระ ได้แก่ 1.วาระรับหลักการ หากรัฐสภาจะลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อเมื่อเสียงเห็นด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่อยู่ของทั้ง 2 สภา ซึ่งจะลงมติด้วยวิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล โดยกรณีนี้จะต้องมีส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

นายมีชัย กล่าวต่อว่า 2.วาระการพิจารณาเรียงลำดับเป็นรายมาตรา ในขั้นตอนนี้จะต้องมีการจัดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแสดงความคิดเห็น และการออกเสียงเห็นชอบในรายมาตรานั้นจะตัดสินด้วยเสียงข้างมาก อีกทั้งจะต้องมีเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกเกิน 10 คน อย่างน้อยร้อยละ 10 เช่น ถ้ามีสมาชิก 100 คน ต้องมีสมาชิกเห็นด้วย 10 คน ถ้ามีสมาชิก 10 คน ต้องมีคนเห็นด้วย 1 คน ส่วนพรรคการเมืองที่มีไม่ถึง 10 คน ก็ให้พรรคที่มีไม่ถึง 10 คนไปรวมกันแล้วถ้าได้ถึง 10 คน ก็ให้คิดตามร้อยละ 10 เช่นถ้ารวมกันได้ 20 คน ก็คิดร้อยละ 2 และ 3.รัฐสภาลงมติเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รัฐสภาจะลงมติในวาระที่ 3 นั้นจะต้องให้พ้นเวลา 15 วันนับตั้งแต่รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 2 เสร็จสิ้นก่อนรัฐสภาถึงจะพิจารณาลงมติในวาระที่ 3 ได้ ซึ่งการลงคะแนนในวาระที่ 3 จะใช้วิธีเรียกชื่อเป็นรายบุคคลและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเห็นชอบให้บังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่อยู่ของทั้งสองสภา และภายหลังที่รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

เมื่อถามว่าขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นมีกี่มาตรา นายมีชัย กล่าวว่า เบื้องต้นมีประมาณ 261 มาตรา ซึ่งยังตัวเลขมาตรานี้ยังไม่นิ่ง เพราะอาจมีการตัดหรือโยงบางมาตราเข้าด้วยกันประมาณ 10 มาตรา โดยในคืนนี้จะให้กรธ.ทุกคนไปสรุปเนื้อหาภาพรวมว่าขาดหรือต้องการเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ ซึ่งในวันที่ 17 ม.ค. จะมาดูเพิ่มเติมอีกครั้งแล้วจะไปพิจารณาต่อที่รัฐสภา รวมถึงจะเริ่มพิจารณาในบทเฉพาะกาลต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรธ.กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อมีเหตุวิกฤติ ผู้ที่จะชี้คำตอบคือศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นผู้พิจารณารัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยกรธ.เขียนไว้ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญว่า กรณีที่จะตัดสินคดีใดทั้งปวง ให้ดำเนินการตัดสินไปตามกฎหมาย ถ้าตัวบทกฎหมายไม่ชัดเจนให้ตัดสินไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่หากกฎหมายไม่ชัดเจนและหาเจตนารมณ์ไม่ได้ ก็ให้ไปตัดสินตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เท่ากับว่า มาตรา 7 ยังคงอยู่แต่ได้ย้ายไปอยู่ในหมวดหมู่ที่เหมาะสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net