Skip to main content
sharethis

18 ม.ค. 2559 รายงานข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่า วันที่ 19 มกราคม 2559 เวลา 09.30 น. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษเตรียมแถลงข่าวความคืบหน้าคดีบริษัท ฟิลลิป มอริส เลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ ระหว่างปี 2546-2552 รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 พนักงานอัยการอนุญาตนายทรอย เจ มอดลิน ตัวแทน บริษัท ฟิลลิปมอริส มอร์ริส เลื่อนเข้ารายงานตัวต่ออัยการสูงสูด เพื่อสั่งฟ้องฐานร่วมกันเลี่ยงภาษีศุลกากร หรือสำแดงเท็จในการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศออกไปเป็นวันที่ 19 มกราคม ตามที่ผู้ต้องหาได้ส่งทนายความร้องขอ เนื่องจากติดภารกิจที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีหลักฐานจากกรมแรงงานอินโดนีเซียมายืนยัน

คดีบริษัท ฟิลลิป มอริส เลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่เข้าสู่กระบวนการทางคดีเมื่อกันยายน 2552 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดซึ่งต่อมามีมติสั่งฟ้องเมื่อปี 2556 ทั้งนี้ หากนับรวมเวลาที่ตรวจพบการกระทำความผิดตั้งแต่ปี 2546  จนถึงปัจจุบันคดีนี้ผ่านมานานถึง 9 ปีแล้ว  และล่าสุดพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีคำสั่งให้เตรียมสั่งฟ้องกับผู้ที่เกี่ยวข้องในความผิดดังกล่าว รวม 8 คน ประกอบด้วย บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ไทยแลนด์ ในฐานะนิติบุคคล และบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นชาวไทยอีก 7 คน ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานอัยการ เพื่อสั่งฟ้องคดีไปแล้วก่อนหน้านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เครือข่ายนักวิชาการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในเดือนกันยายน 2556 อัยการสูงสุดในขณะนั้นมีความเห็นสั่งฟ้อง บริษัท ฟิลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กับผู้ต้องหารวม 12 คน เป็นชาวต่างชาติ 4 รายและเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย ซึ่งชาวต่างชาติ 4 รายล้วนเป็นผู้บริหารและพนักงานบริษัทได้หลบหนีการจับกุมไปแล้ว โดยอัยการฝ่ายคดีพิเศษได้เคยทำหนังสือเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหาช่วงปลายปี 2556 แต่อัยการได้เลื่อนสั่งคดีออกไปช่วงกลางเดือนมกราคม 2557

นายไพศาล แสดงความกังวลว่า เกือบสองปีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นส่งฟ้องแต่ยังไม่ยื่นฟ้องต่อศาลด้วยผู้ต้องหายังไม่มารายงานตัว เกรงว่าคดีจะขาดอายุความ เพราะคดีเเพ่งจะหมดอายุความภายใน 10 ปี นับจากวันที่สามารถใช้สิทธิเรียกร้อง หรือวันที่รู้ว่ามีการหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ทราบการตีความของกรมศุลกากร แต่คาดว่าน่าจะหมดอายุความภายในปี 2559 ส่วนอายุความทางอาญา คือ 15 ปี นับอายุความ ปี 2549 ส่วนกรณีที่อ้างว่าไม่สามารถฟ้องคดีได้ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติที่ยังไม่สามารถติดตามตัวได้ อัยการสามารถสั่งฟ้องคดีกรรมการบริษัทไทยก่อนเเละประสานงานต่างประเทศให้ส่งผู้ต้องหาชาวต่างชาติผ่านขบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามเเดนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net