Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อครั้งแรกที่ได้ฟังเรื่องราวของนักศึกษาช่วงนั้นช่วงนี้ที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผ่านสารคดีชิ้่นหนึ่ง ผมรู้สึกเหมือนกำลังฟังนิทานหรือพงศาวดารอภินิหารอะไรสักอย่าง เพราะผมไม่ได้โตมากับเยาวชนที่ดูจะมีวี่แววไปทำอะไรแบบนั้น พวกเขาในสารคดีชิ้นนั้นดูเหมือนจะมาจากอีกมิติหนึ่ง

ผมโตมากับเด็กๆ ที่โดนจุกนมอุดปากเอาไว้ให้เป็นแต่เด็กมาแต่ไหนแต่ไร และไม่กระด้างกระเดื่องแม้กับโรงเรียน (ไม่นับที่อารมณ์ขึ้นแล้วจะต่อยกับครูเป็นคนคนไป แต่หมายถึงนักเรียนไม่กระด้างกระเดื่องต่อนโยบายการบริหาร ค่าเทอม  ความยุติธรรม ฯลฯ) ทำหน้าที่ดูด ดม อม เลียและเรียนตามสั่งไปเรื่อยมาแต่ไหนแต่ไร แต่มันเกิดอะไรขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เด็กบ้าพวกนี้ทยอยกัดพ่นจุกทิ้ง กระด้างกระเดื่องสารพัด และออกมาเรียกร้องจะเอาโน่นเอานี่จากผู้ใหญ่กันเต็มไปหมด โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา?

เริ่มที่ผมทรงนักเรียน

ปลายปี 2012 แฟนเพจ “ต่อต้านผมเกรียน" และกระแสการเรียกร้องให้ยกเลิกผมทรงนักเรียนเกิดขึ้นด้วยความโวยวายของ เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล กับสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย 

“ต่อต้านผมเกรียน” ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักต่อเนื่องจนทั้งปี 2013 ครั้งสำคัญที่สุดคือการปรากฏตัวของเนติวิทย์คู่กับสรยุทธ สุทัศนะจินดา1 ถัดมาในปีเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการสมัยพงศ์เทพ เทพกาญจนาอนุญาตให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรง ไม่จำเป็นต้องตัดผมเกรียน นักเรียนหญิงให้ไว้ผมยาวหรือสั้นก็ได้ แต่ต้องรวบให้เรียบร้อย2

เป็นความจริงที่นโยบายที่ออกมาจะสอดคล้องกับข้อเรียกร้องอยู่บ้าง แต่ผมไม่เห็นว่าเป็นการสนองความต้องการของกลุ่มดังกล่าว เนื้อหาของการบังคับควบคุมทรงผมยังคงอยู่แบบเดิม แค่เพียงเปลี่ยนรูปแบบของทรงไปเท่านั้น ร้ายกว่านั้นคือการหลอกกันให้ตายใจ หลังจากนั้นก็ไม่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องทรงนักเรียนอีก ทั้งๆ ที่ก็ยังไม่มีใครได้หัวคืนเป็นของตน

แต่สถานการณ์ใดก็ตามที่ทำให้รัฐบาลต้องหันมาสนใจเสียงเคล้ากลิ่นน้ำนมของเด็กไม่กี่คน ไม่ว่าจะสนใจแบบใดก็เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองการศึกษาและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีนัยสำคัญ

ไม่นานแฟนเพจต่อต้านผมเกรียนและสมาพันธ์ที่ว่าก็ทยอยเงียบยุบลงไป แต่ภายในช่วง 2013-2015 เกิดการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ในทำนองเดียวกันเกิดขึ้นมากมาย จนดูเหมือนจะลงตัวอยู่ที่กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทซึ่งก็ยังคงอยู่ในแวดวงเครือข่ายเดิม กลุ่มการศึกษาความเป็นไทที่ว่านี้และสมาชิกในฐานะปัจเจกมีบทบาทต่อวัฒนธรรมเด็กเปรตมากในเวลาถัดมา

กลุ่มนี้เป็นตัวแสดงหลักที่สร้างความเคลื่อนไหวของเยาวชนโดยเฉพาะในระดับมัธยมให้สังคมไทยเห็นบนพื้นที่สื่อ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มได้ส่งผลต่อประเด็นสาธารณะเกี่ยวกับการศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะการดึงหัวข้อต่าง ๆ ที่อยู่ในที่มืดขึ้นมาอยู่บนสื่อที่แจ้ง และตั้งคำถาม เช่นเรื่อง เครื่องแบบ การกราบไหว้ ปัญหาจริยธรรมในโรงเรียน ฯลฯ ส่วนมากแล้วเป็นการถามและเสนอจากมุมของปรัชญาการศึกษาแบบเสรีนิยม (liberal education) ผมเรียกประเด็นเหล่านี้ร่วมกันว่า "คำถามแบบกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท"

เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ณัฐนันท์ วรินทรเวช และพริษฐ์ ชิวารักษ์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทรุ่นแรกถึงรุ่นปัจจุบันตามลำดับ ทั้งสามมีอีกชีวิตหนึ่งเป็นตัวละครเยาวชนบนสื่อที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาไทยในฐานะเดียวกับตัวละครผู้ใหญ่ หมายความว่า ไม่ได้ถูกเกณฑ์มาร้องเพลงประสานเสียง หรือรับคำสั่งมาให้แสดงกิริยาอย่างเด็กน่ารักบนโทรทัศน์ แต่พวกเขาพูดด้วยเสียงของพวกเขาเองเหมือนผู้ใหญ่ และทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดบางประเภทโดยสมบูรณ์ หากเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เป็นสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ทำลายมายาคติ ทั้งสามคนดังกล่าวก็แบกรับบทบาทตัวแทนของวัฒนธรรมเด็กเปรต ผู้ดื้อดึงต่อต้านต่อกฎระเบียบของผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อิงขั้วการเมืองระดับชาติอย่างชัดเจน เช่น การชูป้ายถามนายกฯ หรือการปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร ที่เกิดขึ้นในภายหลัง มีพื้นที่บนสื่อขึ้นมาได้อย่างไม่น่าประหลาดใจ เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ไม่ว่าเป็นเยาวชนหรือไม่ก็ต้องได้รับความสนใจ แต่ประเด็นเหล่านี้ก็เป็นแรงส่งที่ทำให้การนำเสนอคำถามแบบกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทส่งถึงความรับรู้ตระหนักของรัฐและสังคม

และเรื่องแค่นี้บนสื่อสำคัญอย่างไร? หากอธิบายด้วยกรอบของทฤษฎีสื่อสารมวลชน การปรากฏตัวของเยาวชนกลุ่มนี้และคำถามแบบกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้ทำลาย “ชายขอบเงียบ” หรือ Spiral of Silence (Noelle-Neumann, 1984) โดยการแสดงให้เยาวชนในรุ่นเดียวกันเห็นว่ามีคนตั้งคำถามคล้ายกันเกี่ยวกับประเด็นการศึกษาอยู่บนพื้นที่สื่อ กระทั่งส่งผลให้การแสดงความคิดเห็นของเยาวชนกลุ่มนี้และประเด็นเยาวชนอื่น ๆ สะเทือนได้ถึงระดับชาติ และมีความคิดเห็นในทำนองเดียวกันที่เคยเงียบและเชื่อว่าตนเป็นคนชายขอบกลับกล้าแสดงออกเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ

กล่าวคือรถที่อยู่ของมันอยู่แล้วตรงนั้น ได้ถูกสตาร์ทขึ้นแล้ว

จากการต่อต้านผมเกรียนบนโซเชียลเน็ตเวิร์คสู่สื่อโทรทัศน์กระแสหลัก รวมทั้งแรงส่งจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนกลุ่มดังกล่าว ทำให้การเดินทางของวัฒนธรรมเด็กเปรตเริ่มต้นขึ้น กระจัดกระจาย แต่ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในแรงกระเพื่อมบนเครือข่ายเดียวกันที่สนับสนุนกันและกันในการเติบโต


นักเกรียน

สถาบันการศึกษาแต่ละสถาบันกำลังถูกก่อกวนด้วยแฟนเพจที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันนั้นๆ ด้วยลีลาล่อบาทา และยิ่งน่าหมั่นไส้มากขึ้นเมื่อไม่รู้ว่ามันเป็นใคร แต่รู้อีกทีก็มีคนไปเชื่อฟังมันเยอะเหลือเกิน

แฟนเพจลักษณะนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2011 “นักเกรียน สวนกุหลาบ”  เป็นแฟนเพจที่ผลิตเนื้อหาตลก (จะเรียกขบขันหรือชวนหัวก็ช่าง) ชวนตั้งคำถามกับคุณธรรมจริยธรรมความถูกต้องตามแบบแผนที่โรงเรียนต่าง ๆ กำหนด เสนอเนื้อหาในรูปแบบหยาบคาย แฟนเพจเหล่านี้เชื่อว่าคำสุภาพที่โรงเรียนยัดปากให้ใช้ แสดงถึงความไม่จริงใจ เพราะไม่ใช่ภาษาปกติที่นักเรียนใช้กัน4 ทั้งเสียดสี ประชดประชัน และดูจะไม่มีวันเชื่อง

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทกับกลุ่มนักเกรียน แม้จะเป็นเอกเทศจากกัน แต่ก็มีอิทธิพลต่อกัน ข้อเสนอในด้านคุณธรรมจริยธรรมของนักเกรียนมีหลากหลาย และยังมีความขัดแย้งในตัวเอง ไม่สามารถนับเป็นแบบใดแบบหนึ่งได้ทั้งหมด แต่ส่วนมากก็แล้วจะเป็นเสรีนิยม (liberalism) สัมพัทธนิยม (Relativism) มักแสดงตนว่าไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม จารีตนิยม ระบบอาวุโส ฯลฯ และไม่เอาด้วยกับการตัดสินตามกฏเกณฑ์โดยไม่ดูบริบท ซึ่งมีความคล้ายคลึงสอดคล้องกับคือการตั้งคำถามแบบกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท จนเห็นชัดที่สุดเมื่อต้นปีนี้ที่เกิดโครงการ “นักเกรียนเปลี่ยนโลก”5 โดยสมัชชาปฏิรูปการศึกษาร่วมกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทและเครือข่ายอื่นๆ เพื่อคัดเลือกโครงการที่มีลักษณะ “เกรียน” และมีความต้องการจะเปลี่ยนโลกไปให้ความสนับสนุน แสดงให้เห็นชัดว่าวิธีคิดแบบนักเกรียนและกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทนั้นไปด้วยกันได้ สอดคล้องกันมาก

แฟนเพจแบบนักเกรียนทรงอิทธิพลในวัฒนธรรมเยาวชนมากที่สุดครั้งแรกภายในปี 2013 สื่อในเวลาดังกล่าวนำเสนอการตั้งคำถามกับระเบียบวินัยและจริยธรรมในโรงเรียนมากขึ้นดังที่กล่าวไปในบทก่อน โรงเรียนต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นจะต้องโฆษณาสรรพคุณของตนมากขึ้นเป็นพิเศษเพื่อช่วงชิงคำตอบที่ถูกต้องกลับเป็นของตน นำมาซึ่งการต่อสู้กลับของกลุ่มนักเกรียน จากนักเกรียนสวนกุหลาบที่มีมาก่อนแล้วและตามด้วยโรงเรียนในเครือจตุรมิตร (สวนกุหลาบ, เทพศิรินทร์, กรุงเทพคริสเตียน, อัสสัมชัญ) การผลิตเนื้อหาตามแนวทางนี้ได้รับความนิยมจนเกิดเป็นตัวละครนักเกรียนประจำโรงเรียนต่าง ๆ อย่างแพร่หลายอยู่ช่วงหนึ่ง ปัจจุบันสถาบันการศึกษาก็แทบจะมีแฟนเพจทำนองนี้เป็นของตัวเองเป็นปกติ และแฟนเพจเหล่านั้นก็ส่งความเคลื่อนไหวจนถึงระดับนโยบายได้เป็นบางครั้ง

อาจเป็นเพราะกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับตัวละครนักเกรียนขาดแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครต่อต้านกลับ หรือมีครูและระเบียบวินัยของทางโรงเรียนร่วมต่อต้านอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลให้ต้องสร้างสื่อขึ้นมาอีก ทำให้เนื้อหาของตัวละครกลุ่มนักเกรียนเข้าถึงกระแสหลักของเยาวชนและผู้ชมบนโซเชียลเน็ตเวิร์คได้มากกว่าฝ่ายโรงเรียนและชนะในทางการเมืองพื้นที่สื่อ กรณีการกราบผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบที่เข้าสู่ความสนใจของสื่อกระแสหลัก ก็เริ่มขึ้นจากการนำเสนอของนักเกรียนสวนกุหลาบ6 และครองประเด็นไว้เองเป็นเวลานานจนกระทั่งเมื่อกลับไปสัมภาษณ์ ผอ. ก็แทบจะไม่มีผลอะไรอีกต่อไปไม่ว่าอะไรจะเป็นความจริง

แต่เพราะกลุ่มแฟนเพจดังกล่าวก็มีการโฆษณากิจกรรมของนักเรียนอยู่บ่อยครั้ง และมีการออกตัวในจุดประสงค์ของการวิจารณ์ว่าวิจารณ์เพื่อสถาบัน ผมจึงเห็นว่าภาพรวมของตัวละครจำพวกนักเกรียนก็ยังคงอยู่ในกรอบของความรักสถาบันการศึกษาของตน (หรือใช้ความรักในสถาบันการศึกษาเป็นฐานสร้างความชอบธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์) ต้องการเห็นความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่มีการแสดงออกที่ขัดกับวัตรจรรยามารยาททั่วไปของโรงเรียนไทยเท่านั้น


ฮอร์โมนส์พลุ่งพล่าน

ตั้งแต่ 2013 ที่กระแสวัฒนธรรมเด็กเปรตเริ่มเดินทาง ข่าวความอยุติธรรมเกี่ยวกับครูและนักเรียนมีมิติมากขึ้นกว่าเพียงความรุนแรงทางกายที่ฉาบฉวย แต่เป็นการปะทะทางความคิดที่มีความต่อเนื่องด้วย เช่นกรณีรองผู้อำนวยการโรงเรียนเสิงสางทำร้ายร่างกายนักเรียนผู้นำประท้วงคนหนึ่ง7 ก็ไม่ได้เป็นประเด็นเพียงการทำร้ายร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่นำมาซึ่งคำถามถึงความถูกต้องในนโยบายของโรงเรียนและราชการในภายหลัง

พลวัตดังกล่าวของสื่อข่าวที่หันมาสนใจเยาวชนรวมทั้งคำถามแบบกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทมากขึ้น ทำให้ทุนสื่อบันเทิงเช่นกันที่เล็งเห็นโอกาสในการทำกำไรกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกของเยาวชน ดังที่แสดงในกราฟว่าตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมาจนถึงปี 2015 มีการก้าวกระโดดขึ้นของจำนวนสื่อบันเทิงที่มีเรื่องราวใด ๆ เกิดขึ้นในฉากหลังที่เป็นโรงเรียน นักเรียนเป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง

ผมเรียกสื่อบันเทิงที่มีลักษณะทำนองเดียวกันนี้ว่า “สื่อโลกเยาวชน” โดยสื่อโลกเยาวชนที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ไม่ใช่แบบเดียวกันกับภาพยนตร์ แฟนฉัน หรือตุ๊กแกรักแป้งมาก ที่ทำขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใหญ่รำลึกความหลังโดยนำเสนอวัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่เข้าใจ แต่เป็นสื่อที่ทำขึ้นให้เยาวชนรุ่นปัจจุบันเข้าใจ

หมายเหตุ: บันทึกเมื่อ 16 ธันวาคม 2015

ในปี 2013 เกิดพลวัตที่น่าสนใจขึ้นในละครชุดเรื่องน้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ที่อยู่ในกรอบวัฒนธรรมความดีแบบไทยมายาวนาน ละครชุดดังกล่าวได้กล่าวถึงชื่อสมาพันธ์นักเรียนเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยในช่วงเดียวกับที่เนติวิทย์ถูกเชิญไปออกรายการโทรทัศน์กับสรยุทธ สุทัศนะจินดา โดยตัวบทได้แสดงความคิดเห็นว่าข้อเสนอของสมาพันธ์ฯ มีนักเรียนเห็นด้วย แต่ครูไม่เห็นด้วย8

ถัดมาการใส่เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การศึกษา จารีต และคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียน ที่ไม่มีปรากฏอย่างชัดเจนในสื่อบันเทิงที่ทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2007 จนถึงปี 2012 กลับปรากฏอย่างชัดเจนขึ้นในปี 2013 ในละครชุดฮอร์โมนส์ที่เกี่ยวกับวัยเรียน และภาพยนตร์ตั้งวงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย หลังจากนั้นโวหารวลีเด็ดต่าง ๆ ในฮอร์โมนส์ได้พัฒนาเป็นอินเทอร์เน็ตมีม (meme) รักษาความเป็นที่ถกเถียงได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสามปี (2013-2015) ตั้งแต่เปิดประเด็นช่วงแรก เช่นการตั้งคำถามกับการแต่งชุดนักเรียน ความรักระหว่างนักเรียนกับครู นโยบายในโรงเรียน มาจนถึงสถาบันครอบครัว

ฮอร์โมนส์มีการวางตัวละครให้ผู้ชมเลือกข้างคล้อยตามได้อย่างน่าสนใจ ประโยคหนึ่งจากฤดูกาลที่สาม ว่าด้วยนักเรียนหญิงคนหนึ่งที่คัดค้านการสอนของครูในคาบเรียน ความว่า “หนูไม่ได้บอกว่าตัวเองฉลาดค่ะ หนูแค่บอกว่าครูแปลผิด” โดยมีการกำกับและการผลิต (directing and production) แสดงให้เห็นว่าครูผิดและนักเรียนเป็นถูก ฉากนี้และโดยเฉพาะประโยคนี้ ได้รับความนิยมจนถูกทำเป็นมีมภาพและแฮชแท็ก (#) ในขณะที่ภาพของครูที่ถูกนำเสนอว่าเป็นครูที่ดี น่าคล้อยตามเอาใจช่วย คือครูรุ่นใหม่อย่างครูตาลในฤดูกาลที่สาม ผู้ไม่เว้นระยะห่างเชิงอำนาจกับนักเรียนมาก แต่ปฏิบัติตนเป็นเหมือนเพื่อนที่ปรึกษา

ในกระแสวัฒนธรรมเด็กเปรต ภาพยนตร์ ละคร และสื่อกระแสหลักเหมือนจะเห็นความเป็นมนุษย์และมิติของความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่มากขึ้น หลายครั้งแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ ครู คิดผิดทำผิดได้มากกว่าเป็นแค่ผู้ชี้ทาง แบบเก่า ละครชุดกลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ ให้พ่อสอนกระทั่งชื่อเรื่อง การปรากฏตัวของน้องพลับ ที่ร้องเพลง “คุณครูครับ” เที่ยวทำของเสียหายไปทั่วและขายความผิดที่น่ารักแบบเด็ก ๆ เป็นแค่เกร็ดความบันเทิงให้ผู้ใหญ่มาหัวเราะเอ็นดูเด็กเท่านั้น แต่ตัวละครอย่างส้มส้มและพ่อของเธอที่เป็นเกย์ในฮอร์โมนส์ฤดูกาลที่สาม เริ่มแสดงให้เห็นว่าไม่รู้ใครกันแน่ที่ผิด ระหว่างพ่อที่เป็นเกย์ หรือลูกที่รับไม่ได้และแสดงกิริยาก้าวร้าว หรือครูอ้อในฤดูกาลที่หนึ่งที่ดูจะมีวินัยมีหลักการและเหตุผลในช่วงแรก แต่ก็เผยให้เห็นความนอกลู่นอกทางเสียเองในช่วงหลัง


หมดฮอร์โมนส์

อาจดูเหมือนว่าการคิดเชิงวิพากษ์ของเยาวชนในสื่อและคำถามแบบกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทส่อแววว่ากำลังเกิดขึ้นโดยทั่วไปและมีพื้นที่สื่อจำนวนมาก กลายเป็นมีมและปรากฏบนสื่อกระแสหลักอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง (หรือตั้งแต่แรก) คำถามแบบกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทบนสื่อก็มีการเดินทางของมันเอง ไม่อาจควบคุมได้โดยผู้ประพันธ์ หรือใคร

สื่อไทยมักผลิตซ้ำแต่สิ่งที่ขายได้อยู่แล้ว ไม่นิยมพาคำถามใหม่เข้าสู่กลุ่มผู้ชม แต่จะพัฒนาสิ่งที่ผู้ชมนิยมเพียงด้านเดียวไปเรื่อย ๆ จนไม่สนใจประเด็นอื่นเลยอย่างน่าสิ้นหวังในบางครั้ง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าแนวทางของสื่อโลกเยาวชนพ่วงคำถามแบบกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทที่เกิดขึ้นมาบนข้อยกเว้นในช่วงแรก ๆ ทั้งหมดนั้น ก็กำลังจะพบชะตากรรมเดียวกันในอนาคต คือจะถูกผลิตซ้ำออกขายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ประเด็นต่าง ๆ ในเนื้อหาของสื่อเหล่านั้นจะถูกลดทอนลงไปตามความนิยมของตลาด ซึ่งอาจให้ความสนใจกับการนำเสนอภาพลักษณ์ความน่ารักของนักแสดง และประเด็นความรัก มากกว่าการรักษาประเด็นเชิงวิพากษ์ในตัวบท ละทิ้งประเด็นที่อยากจะตั้งคำถามหรือทำอะไรกับสังคมออกไป ตัวอย่างเช่น ฝากไว้ในกายเธอ หรือ เมย์ไหนไฟ..แรงเฟร่อ ที่ผลิตออกมาจากค่ายเดียวกัน ชุดนักแสดงเดียวกันกับละครชุดฮอร์โมนส์ ก็เป็นการสืบทอดต่อยอดความสำเร็จจากละครชุดดังกล่าว แต่ไม่ได้มีประเด็นวิพากษ์สังคมแบบที่ฮอร์โมนส์มีอีกแล้ว ส่วนเลิฟซิคจากจากค่ายอื่นที่สร้างขึ้นมาในกระแสความสำเร็จของฮอร์โมนส์ ก็จำลองโลกคล้ายกันขึ้นมา แต่ตัวบทก็เลือกไปเพียงประเด็นคู่จิ้น หรือความรักของวัยรุ่นเควียร์ (queer) เท่านั้น

 


[1] ดู เจาะข่าวเด่นสรยุทธ ปิดฉากกฎเหล็กทรงผมนักเรียน ยกเลิกหัวเกรียนสั้นเสมอหู. (2015). สืบค้นเมื่อ 2015, จาก https://www.youtube.com/watch?v=E50y8TwTVdg
[2] ดู เลิกเกรียน! ศธ.ออกระเบียบ นร.ชายรองทรง หญิงยกเลิกสั้นเสมอหู. (2556). สืบค้นเมื่อ 2015, จาก http://news.sanook.com/1163310
[3] ชนะชัย มานุจำ. (11 พฤศจิกายน 2015). ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์การศึกษาเเห่งชาติโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และ OSK 132. สัมภาษณ์.
[4] นักเกรียนอัสสัมชัญ. (17 พฤศจิกายน 2015). ผู้ดูแลหน้านักเกรียนอัสสัมชัญ. สัมภาษณ์
[5] ดู ผอ.โรงเรียนดังแจง ภาพเด็กกราบต้อนรับ แค่จัดฉากถ่ายรูป. (2558). สืบค้นเมื่อ 2015, จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1447308453 และ [6] ต้นฉบับ ดู นักเกรียนสวนกุหลาบ. (2558). สืบค้นเมื่อ 2015, จาก https://www.facebook.com/GreanSUAN/photos/pb.
20700539335919.-2207520000.1450288606./1111877425519888/?type=3&theater

[7] ดู ไทยรัฐออนไลน์. (2558). วิจารณ์แซ่ด! รองผอ.โรงเรียนดังโคราช ตบหัวนักเรียน ปมเรียนฟรี 15 ปี. สืบค้นเมื่อ 2015, จาก http://www.thairath.co.th/content/519990
[8] เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล. (18 พฤศจิกายน 2015). ผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติการศึกษาไทย และกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท. สัมภาษณ์.

ทฤษฎีที่อ้างถึง
Noelle-Neumann, E. (1984). The spiral of silence: Public opinion, our social skin. Chicago: University of Chicago Press.


***หากต้องการรายละเอียดและตารางของสื่อที่กล่าวถึง ติดต่อ varisli.mail@gmail.com***
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net