Skip to main content
sharethis

เหตุระเบิดหลายครั้งกลางกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนกระทั่งมาถึงข่าวการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ที่ จ.นราธิวาส ทำให้เกิดความหวาดวิตกว่ากลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ISIS ได้ขยายแนวคิดการใช้ความรุนแรงเข้ามาถึงในประเทศไทยแล้ว หลังจากได้เข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายแดนภาคใต้หรือไม่อย่างไร

ต่อไปนี้เป็นสัมภาษณ์ 2 นักวิชาการชายแดนใต้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ ดร.อับดุลรอนิง สือแต อาจารย์ประจำแผนกวิชาตะวันออกกลางศึกษา ภาควิชาอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ผศ.ดร.ศรีสมภพ ชี้คนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ยังไม่มีเงื่อนไขขานรับ ISIS

ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้ให้สัมภาษณ์แก่ ทีมข่าวพลเมืองภาคใต้ ดังนี้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ ยืนยันว่าคนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ยังไม่มีเงื่อนไขมากพอที่จะหันมานิยมใช้ความรุนแรง หรือตอบรับ ISIS อย่างที่หลายฝ่ายกังวลใจว่าจะมีความคิดเห็นที่ตอบรับกับแนวคิดนี้ เนื่องจากพวกเขายังได้รับโอกาสทางการศึกษา รวมถึงการแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนา-ชาติพันธุ์ของตนเองได้อย่างเสรีในประเทศไทย แม้ว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสจะขยายความเกลียดชังต่อมุสลิมมากขึ้นก็ตาม ขณะเดียวกันการขานรับแนวคิดแบบ ISIS ของคนรุ่นใหม่บางส่วนจากบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อยู่บนพื้นฐานที่ต่างจากวัฒนธรรมของมุสลิมชายแดนใต้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

จากการเคลื่อนไหวของ ISIS ต่อการเปิดรับข้อมูลข่าวสารเรื่องอุดมการณ์การใช้ความรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ก็อาจจะมีคนบางส่วนที่หันเหไปทางนี้ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมจะไม่เอื้อให้ขยายตัวออกไป ซึ่งต่างจากกรณีของอินโดนีเซียที่มีข่าวการตอบรับขบวนการจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปร่วมที่ซีเรีย หรือร่วมกับ ISIS ที่ Abu Sayyaf ประกาศจัดตั้งหน่วยของ ISIS ประจำพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นั่นก็ยังคงเป็นเงื่อนไขที่แตกต่างจากภาคใต้ของไทย

เนื่องจากในพื้นที่ชายแดนใต้เองมีลักษณะพิเศษที่ต่างออกไป เพราะมีการใช้ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าสิบปีที่มา ทำให้คนส่วนมากรู้สึกเบื่อหน่ายกับความรุนแรง จึงต้องการให้เกิดแนวทางสันติภาพ เพราะในปีสองปีที่มีกระบวนการสันติภาพ ได้ผลในแง่ของการสร้างบรรยากาศใหม่ ความรู้สึกใหม่ และเห็นโอกาสที่จะแก้ปัญหามากขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในสังคมและเศรษฐกิจก็ย่อมมีการปรับตัวในทางที่ดีขึ้นด้วย ฉะนั้นคนรุ่นใหม่ที่จะหันเหไปใช้ความรุนแรงก็มีโอกาสน้อย แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะมีบางส่วนก็ตาม

นอกจากนี้แนวคิดเรื่องศาสนาอิสลามในพื้นที่ที่รับมาโดยส่วนมากจะรับมาจากสำนักคิดของอีหม่ามชาฟีอี ซึ่งค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมและโดยสารัตถะแล้วก็ไม่มีแนวทางการใช้ความรุนแรง ขณะที่แนวคิดที่พัฒนามาตอนหลังก็เข้ามาแบบผสมผสานกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งก็ไม่นิยมใช้ความรุนแรงด้วยเช่นกัน

สำหรับอุดมการณ์การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นและมีอยู่แล้วอย่างกลุ่ม BRN หรือ PULO หรือกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เองก็จะไม่ใช่แนวแบบ ISIS ด้วยองค์ประกอบทางแนวความคิดที่มีน้ำหนักไปทางด้านชาตินิยม ชาติพันธุ์ และเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์เสียมากกว่า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดทางศาสนาก็มีส่วนด้วยแต่ไม่ใช่องค์ประกอบหลักสำคัญของอุดมการณ์ หากพิจารณาจากสิ่งที่แสดงออกมาจะเป็นชาตินิยมมากกว่า

ดังนั้นแนวคิดด้านศาสนาที่สุดโต่งจึงไม่มีอิทธิมากในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่แม้จะมีแนวความคิดเรื่องศาสนาแบบเก่าแต่ก็ไม่ได้มีเรื่องของการสนับสนุนการใช้ความรุนแรง รวมถึงคนที่เชื่อในแนวทางใหม่เองก็จะให้คุณค่ากับการใช้เหตุผลนิยมและยึดหลักทางสายกลาง เพราะฉะนั้นแนวทางการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้จึงไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด นี่อาจเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะเชิงวัฒนธรรมด้วยที่คนในพื้นที่ไม่ได้มีรากของวัฒนธรรมที่ใช้ความรุนแรง และไม่ได้ถูกกดดันและปิดกั้นทางความคิดมาก

ด้วยเหตุนี้หากพิจารณาจากพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม อิทธิพลของสื่อใหม่ที่เข้ามาสื่อสารจะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากก็ต่อเมื่อมีปัญหาจากภายใน หมายถึงว่ามีแรงจูงใจมีเงื่อนไขภายในที่ถูกกดดันให้ใช้ความรุนแรง หรือมีความผิดหวังต่อสังคม ซึ่งกรณีนี้เห็นได้จากคนรุ่นใหม่ในสังคมยุโรป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในฝรั่งเศสที่ขาดโอกาสและการจัดการเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนาที่มีปัญหาเดิมอยู่แล้ว ทำให้หันเหไปสู่ความรุนแรงสุดโต่งในที่สุด

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขสำหรับบริบททางชายแดนใต้ของไทย การที่รัฐบาลที่ผ่านๆ มารวมถึงรัฐบาลปัจจุบันมีแนวโน้มที่พยายามเปิดและให้โอกาสในการพัฒนาต่างๆ ทั้งการศึกษา การส่งเสริมอาชีพและการสร้างรายได้ รวมถึงโอกาสการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มากขึ้นด้วย และด้วยความพยายามที่หลีกเลี่ยงใช้นโยบายความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ด้วยวิธีการสันติวิธี ทั้งการพูดคุยและรณรงค์เรื่องสันติภาพ ตนมองว่าช่วยลดเงื่อนไขที่จะใช้ความรุนแรงได้มาก

ขณะเดียวกันในส่วนของกลุ่มขบวนการหรือกลุ่มเห็นต่างจากรัฐเอง ตนเชื่อว่าไม่ได้ต้องการใช้ความรุนแรง ถ้าหากว่ายังมีโอกาสในการดำเนินกระบวนการสันติภาพ จากการพูดคุยสันติภาพในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา (ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ) มีผลอย่างมากที่จะลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรง และการพูดคุยสันติภาพก็ได้สร้างทางเลือกและทางออกที่นำไปสู่การเปิดพื้นที่ทางการเมืองและพื้นที่กลางให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมใน Dialogue หรือการพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนทางความคิด ดังนั้นคนบางส่วนที่นิยมใช้ความรุนแรงจึงจะไม่ได้รับการยอมรับภายใต้บรรยากาศเหล่านี้ที่กระบวนการสันติภาพยังเป็นตัวหลักในการคลี่คลายปัญหา

ดร.อับดุลรอนิง สือแต เตือนอย่ากระตุ้นให้มีเงื่อนไขทางศาสนา

ดร.อับดุลรอนิง สือแต อาจารย์ประจำแผนกวิชาตะวันออกกลางศึกษา ภาควิชาอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า บริบทการต่อสู้ของ ISIS กับขบวนการต่อสู้กับรัฐบาลไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นแตกต่างกันมาก แม้ว่ารูปแบบการใช้ความรุนแรงอาจเหมือนอยู่บ้างก็ตาม แต่โอกาสที่คนในพื้นที่จะเข้าไปร่วมกับต่อสู่กับ ISIS ยังมีน้อย เพราะปัจจัยต่างๆที่เอื้อยังไม่มี

ดร.อับดุลรอนิง สือแต อาจารย์ประจำแผนกวิชาตะวันออกกลางศึกษา ภาควิชาอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

“ยกเว้นว่ามีปัจจัยหรือเงื่อนไขใหม่ที่กระตุ้นให้คนในพื้นที่เข้าร่วม หรือคนในพื้นที่เกิดอารมรมย์ร่วมกับมุสลิมส่วนใหญ่ในต่างประเทศขึ้นมา คือปัจจัยทางศาสนาอย่างที่นักวิชาการส่วนใหญ่กังวล เพราะการเกิดขึ้นของ ISIS มาจากปัจจัยทางศาสนา แต่คิดว่าคงไม่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่รัฐเองก็ต้องไม่ยั่วยุด้วยเช่นกัน เช่น การสร้างพุทธมณฑล” ดร.อับดุลรอนิง กล่าว

ดร.อับดุลรอนิง กล่าวต่อไปว่า แนวทางในการป้องกันก็คือ 1.ต้องขจัดสิ่งที่จะเป็นเงื่อนไขทั้งหมดออกไป 2.ต้องป้องกันปัจจัยจากคนนอกที่จะเข้ามา เพราะในพื้นที่ยังไม่มีคนที่เกี่ยวข้องกับ ISIS ซึ่งต่างจากในมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่มีเชื้อจากข้างในอยู่แล้ว และ 3.ต้องสร้างความเข้มแข็งในกับคนใน โดยเฉพาะคนในชุมชนเพื่อให้สามารถตรวจสอบกันเองได้ ต้องมีการพูดคุยหารือกันในชุมชนอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของ ISIS ก็สามารถเกิดขึ้นในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาวที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่ต้องผ่านการจัดตั้งก็คือรับความคิดแล้วเข้าร่วมเลย ยิ่งมีสิ่งมากระตุ้นมากก็ยิ่งเข้าร่วมได้เร็วขึ้น ซึ่งต่างจากนักศึกษาที่ผ่านการจัดตั้งหรือเข้าร่วมกิจกรรมเช่น กลุ่มหรือชมรมต่างๆ มักจะไม่หลุดจากกรอบขององค์กร แม้จะเป็นกลุ่มองค์กรชาตินิยมมลายูในพื้นที่เองก็ตาม ซึ่งก็เป็นผลดีอีกอย่าง

เมื่อถามว่า ทำไมข่าวเกี่ยวกับ ISIS จึงเกิดขึ้นในช่วงนี้และเกี่ยวกับกรณีพุทธมณฑลปัตตานีหรือไม่ ดร.อับดุลรอนิง กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องพุทธมณฑลปัตตานี แต่เป็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ของ ISIS จากเดิมที่จำกัดพื้นที่คือ อิรักกับซีเรียมาสู่ยุทธศาสตร์การไม่จำกัดพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าควบคุมยากมากกว่า เห็นได้จากการเกิดเหตุระเบิดหลายที่ในประเทศต่างๆในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลไทยเองสอดส่องดูแลอยู่แล้ว

“ถามว่าทำไมต้องป้องกันการเข้าร่วมกับกลุ่ม ISIS โดยส่วนตัวมองว่า วิธีการหลายอย่างของ ISIS ขัดกับหลักการอิสลามจึงคิดว่าเป็นอันตรายหากเข้ามาในพื้นที่ แต่ ISIS ก็ต้องการที่จะให้ปรากฏชื่อในที่ต่างๆด้วยการก่อเหตุรุนแรงขึ้นมา” ดร.อับดุลรอนิง กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net