Skip to main content
sharethis

'ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม' วิเคราะห์กรณีเลขาธิการ OIC พบมาร่าปาตานีและนายกรัฐมนตรีไทย เพราะต้องสนใจในฐานะที่มีมุสลิมชนกลุ่มน้อยในประเทศ ชี้ความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพขึ้นอยู่กับความจริงใจและเปิดเผยระบุตอนนี้มาร่าปาตานีมีเครดิตสูง แต่โจทย์คือไทยดูแลมุสลิมภาคใต้อย่างไร ด้าน 'ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ' ผอ.สถาบันสมุทรรัฐฯ ชี้ OIC มองความเป็นประชาชาติมุสลิมมากกว่ารัฐ ไม่ควรมองเป็นการยกระดับสู่สากล

การเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซียและไทยของนายอิยาด อามีน มาดานี เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ระหว่าง 9 - 12 มกราคม 2559 เป็นที่สนใจของผู้ติดตามกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีอย่างมาก เพราะเขาได้พบปะกับกลุ่มมาร่าปาตานี (MARA Patani) และตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมจาก3 จังหวัดชายแดนใต้ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนจะไปเยี่ยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่กรุงเทพมหานครโดยมีประเด็นในการหารือคือเรื่องกระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้

ในโอกาสนี้โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้มีโอกาสสัมภาษณ์ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง OIC และยังเคยเข้าร่วมประชุมกับ OIC ด้วยหลายครั้ง และ ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ต่อกรณีดังกล่าว ทั้ง 2 คนจะมีมุมมองอย่างไรติดตามอ่านได้ดังนี้

.ดร.จรัญ มะลูลีม: OICเน้นสันติ ไม่หนุนแบ่งแยกดินแดน

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม กล่าวว่า หนึ่งในกฎบัตรของ OIC คือเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และในอิสลามก็เน้นสันติเหมือนกัน OIC เน้นมาตลอดก็คือ 1.ไม่สนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดน 2.สนับสนุนให้มุสลิมมีเศรษฐกิจดี มีการศึกษาดี

“ในสมัยนายซาเยสกัสเซมอัลมัสรี่ซึ่งเป็นทูตพิเศษของ OIC ได้มาตรวจสอบคดีตากใบ และเคยมาถึง2 ครั้ง แล้วก็กลับไปประชุมกับ OIC หลายครั้ง ก็พบว่า OIC ไม่สนับสนุนความแตกแยกหรือความรุนแรง แต่เป็นไปได้ที่ OIC จะใช้วิธีการของตัวเอง เช่น ไปคุยกับกลุ่มขบวนการที่จะเข้าร่วมพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย”

ศ.ดร.จรัญ กล่าวต่อว่า ก่อนที่ไทยจะได้เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของ OIC ในการประชุมทุกครั้งของOIC มีการเชิญตัวแทนกลุ่ม PULO เข้าร่วมประชุมด้วยในสมัยที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ

แต่เนื่องจากกฎบัตรของ OIC ที่ชี้ชัดว่าต้องช่วยเหลือชนกลุ่มน้อย และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศไทยก็มีจำนวนมาก เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย ซึ่ง OIC ก็เหมือนหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ แต่มีหน้าที่ช่วยเหลือมุสลิมเน้นสันติ เน้นให้อยู่ร่วมกันได้ในประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอต่างๆ ด้วย

ตัวอย่างเช่น OIC เคยเสนอให้ทบทวนการตั้งด่านทหารหรือจุดตรวจที่สะบ้าย้อย จะนะ นาทวี เทพา จ.สงขลา เพราะมองว่าการมีด่านตรวจเยอะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้น OIC ยังส่งเสริมในเรื่องของศึกษาด้วย

ควรมองการมาของ OIC ให้เป็นประโยชน์

“การมาของ OIC ควรมองให้เป็นประโยชน์ เพราะเราสามารถเข้าถึงตลาดของ OIC ได้เพื่อช่วยเศรษฐกิจของเราในปัจจุบัน เช่น สินค้าฮาลาลที่จะสามารถช่วยพัฒนาประเทศได้เยอะ และการสมาชิก OIC ก็มีผลประโยชน์หลายอย่าง ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลามของ OIC ที่สนับสนุนทุนการศึกษาต่อให้นักศึกษามุสลิมมาแล้วมากมาย”ศ.ดร.จรัญกล่าว

ศ.ดร.จรัญกล่าวอีกว่า การเป็นผู้สังเกตการณ์ของOIC เป็นได้ในกรณีที่เป็นชนกลุ่มน้อยโดยผ่านเสียงโหวต 2 ใน 3ของประเทศสมาชิกเช่นประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงแม้ประเทศนั้นมีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยแต่ถ้ามีผู้นำประเทศเป็นมุสลิมก็สามารถเป็นประเทศสมาชิก OIC ได้ เช่น ประเทศอูกันดาที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์แต่มีผู้นำเป็นมุสลิมจึงได้เป็นสมาชิก OIC

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา OIC มีการแก้ไขปรับปรุงกฎบัตรอยู่เรื่อยๆ ครั้งล่าสุดที่แก้ไขคือปี 2008

OIC มีผลงานทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว

กล่าวด้วยว่า ความสำเร็จของ OIC ที่ผ่านมามีหลายอย่างเช่น สนับสนุนวัฒนธรรม ส่งเสริมให้มุสลิมได้รับการศึกษามากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ แต่ก็ไม่ได้สำเร็จไปทั้งหมด เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าปัญหาของประเทศมุสลิมเองOIC ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เช่น สงครามระหว่างอิรักกับอิหร่าน สงครามระหว่างคูเวตกับอิรัก ล่าสุดคือความขัดแย้งในประเทศซีเรียก็แก้ปัญหาไม่สำเร็จ

“แต่โดยทั่วไป OIC เป็นเสมือนปากเสียงของมุสลิม เพราะว่าเป็นองค์ของมุสลิมที่ใหญ่ที่ดีและดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา” ศ.ดร.จรัญ กล่าว

OIC กับสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

ศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า สิ่งที่คนไทยสนใจก็คือการที่ OIC ไปพูดคุยกับกลุ่มมาร่าปาตานี (MARA Patani) เท่าที่สังเกตเห็นว่าการพูดคุยไม่มีปัญหาใดๆ แต่พูดคุยกันอย่างไรนั้นตนไม่อาจทราบได้ แต่หากจะพูดว่าการเจรจาสันติภาพก้าวหน้าต่อเนื่องก็สามารถพูดได้ เพราะการเจรจาสันติภาพไม่มีรูปแบบตายตัว เช่น อิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่คุยกันได้ก็เป็นการคุยอย่างลับๆ โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศนอร์เวย์เป็นคนกลาง หากการพูดคุยถูกเปิดเผยก็จะโดนวิพากษ์วิจารณ์ทันที

“อย่างกรณีจังหวัดชายแดนใต้เมื่อมีข้อเสนอจากฝ่ายที่พูดคุยสันติภาพกับรัฐไทยก็มีข้อวิจารณ์ต่างๆ ออกมาว่าขัดรัฐธรรมของไทยหรือไม่ยอมรับการพูดคุยตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งต่างจากที่อาเจะห์ (ประเทศอินโดนีเซีย) ที่การพูดคุยเป็นไปอย่างเปิดเผยและมีคนอื่นหรือองค์กรต่างๆ เข้าร่วม หรือกรณีมินดาเนา (ประเทศฟิลิปปินส์) ก็มีหลายกลุ่มที่เข้าร่วม หลังจากขัดแย้งกันมายาวนานถึง 40 ปี สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จได้”

ตัวอย่างความสำเร็จคือต้องจริงใจและเปิดเผย

ศ.ดร.จรัญ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นคือเราจะเอาโมเดลไหนเป็นแบบอย่าง เช่น เรายอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ไม่ยอมให้มีส่วนร่วมในการเจรจา ในขณะคู่เจรจากับรัฐบาลไทยอาจจะรู้สึกขาดที่พึ่ง อย่างน้อยถ้าเจรจาเสร็จ คู่เจรจาก็จะได้คุยกับประเทศที่เข้ามามีส่วนร่วมได้บ้าง กระบวนการสันติภาพก็จะประสบความสำเร็จได้

ศ.ดร.จรัญ ยกตัวอย่างว่า ความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพมินดาเนาก็มีมาเลเซีย สหภาพยุโรปซาอุดีอาระเบียและอีกหลายฝ่ายเข้าร่วม ซึ่งมีการเปิดเผยบนฐานของความจริงใจ จึงทำให้ค่อยๆ แก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยาวนานถึง 40 ปีได้สำเร็จ

ตอนนี้หลายฝ่ายให้การยอมรับมาร่าปาตานี

“ผมเห็นว่าว่ากลุ่มมาร่าปาตานี เป็นกลุ่มที่คนให้การยอมรับสูงในขณะนี้ เพราะก่อนหน้านี้หลายครั้งที่มีการพูดคุยกันมักจะโดนวิจารณ์ว่าเป็นการพูดคุยกับกลุ่มที่ไม่มีส่วนร่วมหรือไม่มีบทบาทจริงๆในพื้นที่”ศ.ดร.จรัญ กล่าว

ศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า มาร่าปาตานี คือกลุ่มที่ฟังความเห็นของคนอื่น บางครั้งก็โทรศัพท์ไปพูดคุย บางครั้งก็เชิญไปพุดคุย เพราะฉะนั้นมาร่าปาตานีน่าจะถูกจริตกับการจะพูดคุยด้วย ทำให้ได้รับการยอมรับ ซึ่ง OIC เองก็คงรู้ได้ถึงเรื่องนี้จึงไปพูดคุยด้วย

“ก่อนหน้านี้ OIC ก็เคยไปพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ในกัวลาลัมเปอร์มาแล้ว ดูภายนอก OIC เป็นเสมือนนักการทูตแต่ขณะเดียวกันก็เข้าถึงหรือไปพูดคุยโดยตรงกับขบวนการต่อสู้กับรัฐไทยพอเวลามาเมืองไทยเขาก็บอกว่าดีใจที่รัฐบาลไทยมาถูกทางแล้ว OIC ยืนยันว่ามาประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของมุสลิม”

ประเทศไทยจะดูแลมุสลิมภาคใต้อย่างไร

ศ.ดร.จรัญ เล่าด้วยว่า จากประสบการณ์ที่เคยไปร่วมประชุม OIC ทุกครั้งที่มีการประชุมจะมีคนของขบวนการเอาเอกสารไปวางไว้ บางครั้ง OIC มาคุยกับเราก่อนแล้วว่าจะคุยประเด็นอะไรบ้างแต่เมื่อถึงเวลากลับเปลี่ยนไปพูดประเด็นอื่น เพราะมีบางกลุ่มจากในพื้นที่เอาข้อมูลใหม่ไปยื่นให้ก่อนประชุม บางครั้งเจ้าหน้าที่ไปดึงเอกสารออกมาก็มี

ศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า ขบวนการต่อสู้จริงๆ เขาก็คงเหนื่อยบ้างแล้ว เพราะใช้เวลามายาวนานและไม่มีผลงานที่ออกมาอย่างชัดเจน แต่ถ้ามีข้อเสนอดีๆ ให้เขา เช่น ให้เขาอยู่อย่างมีความสุข มีสิทธิเท่าเทียมกันก็น่าจะทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ดีขึ้นได้แต่ตนก็ไม่ทราบว่าตอนนี้กระบวนการเจรจามีความคืบหน้าเพียงใด

“กฎบัตร OIC มี 2 อย่าง คือ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาภายในของประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันต้องเข้าไปส่งเสริมชนกลุ่มน้อยให้มีสภาพที่ดีขึ้น ดังนั้นเขาจะเน้นมากในกรณีปาเลสไตน์กับแคชเมียร์ และในประเทศไทยเองก็มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่ง OIC เคยกล่าวไว้ว่า การที่ประเทศไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโลกอาหรับขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยดูแลคนมุสลิมภาคใต้อย่างไร”ศ.ดร.จรัญ กล่าวทิ้งท้าย

ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ : OIC ต้องสนใจมุสลิมในไทย

ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ

ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ กล่าวว่า OIC เป็นองค์กรของมุสลิมที่ต้องช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมตามกฎบัตรของ OIC แต่ถามว่า การมาเยือนครั้งนี้จะมีผลมากน้อยเพียงใดนั้น คิดว่าทำให้สะเทือนวงการสันติภาพอยู่พอสมควร เพราะ OIC มายุ่งเกี่ยวด้วยย่อมดีกว่าไม่มาสนใจเลย

“การข้าวของ OIC ครั้งนี้ ถือเป็นพันธรกิจหนึ่งเนื่องจากพื้นที่นี้มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เพราะฉะนั้น OIC ต้องให้ความสนใจ”

ผศ.ดร.สามารถ กล่าวต่อไปว่า แม้ส่งผลสะเทือนอยู่ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลลัพธ์ต่อตัวกระบวนการสันติภาพมากนัก เพราะ OIC จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ เพียงแต่สะท้อนให้เห็นว่า OIC ให้ความสำคัญกับพื้นที่แห่งนี้ ไม่ได้ทอดทิ้งชุมชนมุสลิมในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม

เป็นการยกระดับการเจรจาสู่สากลหรือไม่?

ผศ.ดร.สามารถ กล่าวว่า ตนไม่ถือว่าเป็นการยกระดับสู่สากล คนมีวิสัยทัศน์กว้างไกลจะไม่มองว่าเป็นการยกระดับสู่สากล เพราะ OIC เน้นความเป็นประชาชาติเป็นหลักในการดำเนินงาน เพราะที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติมุสลิม ใครจะมองอย่างไรก็มองได้ รัฐบาลไทยเองก็ควรมองถึงความเป็นประชาคมหรือประชาชาติมุสลิมด้วย

“แต่ OIC ก็มีขอบเขตหรือบรรทัดฐานของตนเอง คือจะไม่แทรกแซงจนทำให้เกิดความปั่นป่วนต่อประเทศนั้นๆ แต่หากมองว่าเป็นการยกระดับเป็นอย่างอื่นก็ถือว่าอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะ OIC เข้ามาเพื่อจะพัฒนา หาก OIC ไม่สนใจเลยก็ถือว่าบกพร่องต่ออามานะห์ (ความรับผิดชอบ) ที่จะต้องดูแลมุสลิม แต่ไม่ได้ยกระดับให้ยิ่งใหญ่ในระดับสากล”ผศ.ดร.สามารถ กล่าว

มองความเป็นประชาชาติหมายความว่าอย่างไร?

ผศ.ดร.สามารถ กล่าวว่า คือมองที่คน ไม่ได้มองที่ตัวรัฐ เพราะถ้ามองที่ตัวรัฐก็จะต้องสร้างความเข้าใจให้กับรัฐ แต่หากในรัฐนั้นมีตัวแสดงที่เข้าใจมุสลิมหรือมีผู้มีอำนาจที่เป็นมุสลิม เช่น มีรัฐมนตรีมุสลิมหรือมีมุสลิมมีอำนาจในรัฐบาล เช่น ประเทศไทยเคยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรี หรือนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรัฐมนตรีก็สามารถเชื่อมโยงกับมุสลิมได้เลย และยังมีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปนั่งในเวทีระดับนานาชาติได้ จึงสามารถนำประเทศเข้าไปเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ หรือมีโอกาสเป็นประเทศสมาชิก OIC ได้ด้วยซ้ำ หากมีผู้นำประเทศเป็นมุสลิม

“หากในรัฐบาลมีคณะบริหารที่เป็นมุสลิมและเข้าใจมุสลิม OIC ก็จะมีวิสัยทัศน์อีกแบบที่เกี่ยวข้องกับความเป็นประชาชาติ ตัวอย่างคือหากไทยมีรัฐมนตรีที่เป็นมุสลิมทั้งที่ไทยไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม รัฐมนตรีมุสลิมคนนั้นสามารถสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมุสลิมให้กับรัฐได้ ดังนั้นต้องแยกให้ออกระหว่างตัวตนของปัจเจกบุคคลกับตัวตนของรัฐ แต่ไม่ได้หมายความว่าหากไม่มีมุสลิมอยู่ในคณะบริหารของประเทศไทยแล้ว OIC จะไม่ดูแลมุสลิม”ผศ.ดร.สามารถ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net