ศาลอุทธรณ์อังกฤษชี้กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานและเสรีภาพสื่อ

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมาสำนักข่าวดิอินเตอร์เซฟต์รายงานว่าศาลอุทธรณ์ของอังกฤษได้ตัดสินให้กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายของอังกฤษเป็นกฎหมายที่ล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจากคดีการจับกุมและยึดข้อมูลของเดวิด มิแรนดา คนรักของเกลน กรีนวัลด์ ผู้สื่อข่าวเดอะการ์เดียนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดโปงโครงการสอดแนมของรัฐบาลสหรัฐฯ กับอังกฤษ

เหตุการณ์จับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2556 มีเจ้าหน้าที่ทางการอังกฤษเข้าจับกุมตัวมิแรนดาที่สนามบินและกักกันตัวเขาไว้เป็นเวลา 9 ชั่วโมงในขณะที่มิแรนดากำลังจะนำข้อมูลที่รั่วไหลเรื่องการสอดแนมประชาชนโดยหน่วยงานความมั่นคงไปให้กับกรีนวัลด์ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มาจากผู้เปิดโปงคือเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ซึ่งเคยทำงานในหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ มาก่อน

จากเมื่อปีที่แล้ว (2558) ศาลสูงกรุงลอนดอนยกฟ้องกรณีที่มีการกล่าวหาว่าการจับกุมมิแรนดาเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมโดยอ้างความชอบธรรมเรื่องความมั่นคงของชาติ แต่เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์ตัดสินไปในทางตรงกันข้ามคือตัดสินว่าถึงแม้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมมิแรนดาจะกระทำไปโดยอ้างกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย แต่กฎหมายฉบับนี้เองก็มีปัญหาจากการที่ไม่มีการป้องกันไม่ให้เกิดการนำไปอ้างใช้แบบตามอำเภอใจอีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ขัดกับมาตราที่ 10 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของยุโรป (European Convention on Human Rights) ซึ่งระบุให้ประชาชนมีสิทธิที่จะ "ได้รับและสื่อสารข้อมูลกับแนวคิดโดยไม่มีการแทรกแซงจากทางการเจ้าพนักงานรัฐไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่พรมแดนใดก็ตาม"

ลอร์ด ไดสัน เอ็มอาร์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ของคดีนี้กล่าวว่าเหตุที่มีความจำเป็นต้องคุ้มครองตามมาตราที่ 10 ของอนุสัญญาฯ เนื่องจากการรักษาความลับ (confidentiality) ของนักข่าวและแหล่งข่าวมีความสำคัญ ซึ่งการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้แหล่งข่าวและนักข่าวไม่มั่นใจในเรื่องการรักษาความลับ อาจจะทำให้เกิดการเซนเซอร์ตัวเองและไม่นำเสนอเรื่องที่อ่อนไหวต่อสาธารณะได้ ทำให้การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่ผิดมาตราที่ 10 ในอนุสัญญาฯ

การขออุทธรณ์ของมิแรนดาได้รับการสนับสนุนจากองค์กรด้านเสรีภาพสื่อหลายองค์กร โดยองค์กรอาร์ติเคิล 19, สมาคมนักเขียนอังกฤษ และกลุ่มริเริ่มคุ้มครองสื่อ ร่วมกันเสนอคำฟ้องต่อศาลว่าการที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อมิแรนดาถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากต่อการคุ้มครองแหล่งข่าวและผู้ที่ให้ความช่วยเหลือต่องานสื่อที่มีความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชน

มิแรนดา เป็นคนเชื้อสายบราซิล เขาถูกจับขณะอยู่ในเขตขนส่งผ่านเขตแดนระหว่างกรุงเบอร์ลินและรีโอเดจาเนโร หลังจากได้พบกับลอว์รา พอยแทรส ผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีส่วนร่วมในการเปิดโปงเอกสารลับของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ โดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ในวันที่เกิดเหตุ มิแรนดาได้นำไฟล์ข้อมูลเข้ารหัส โดยรวมถึงฮาร์ดไดร์ฟเชื่อมต่อภายนอกซึ่งบรรจุเอกสารลับของหน่วยงานข่าวกรองอังกฤษไว้ 58,000 ฉบับ ซึ่งทางการอังกฤษทำการจับกุมและยึดข้อมูลเหล่านี้โดยอ้างว่าการเผยแพร่เอกสารลับจำนวน 58,000 ฉบับจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของชาติ อีกทั้งยังอ้างว่าเป็นการกระทำในเชิงก่อการร้าย

เคท กูลด์ ทนายความของมิแรนดากล่าวว่าการตัดสินโดยศาลอุทธรณ์ล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องการตีความกฎหมายก่อการร้ายตามสภาพความเป็นจริงเพื่อไม่ให้มีการลิดรอนเสรีภาพสื่อที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนจากการใช้อำนาจเข้มงวดเกินเหตุ นอกจากนี้กลุ่มผู้สนับสนุนเสรีภาพสื่อยังมองว่าคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญ

มิแรนดา โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์แสดงความยินดีต่อคำตัดสินของศาล อีกทั้งยังเปิดเผยว่า "เป้าหมายของฉันคือการแสดงให้เห็นว่ากฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของอังกฤษล่วงละเมิดต่อหลักการเสรีภาพสื่อ และการทำข่าวก็ไม่ใช่ 'การก่อการร้าย' พวกเราชนะแล้ว!"

ทางฝ่ายรัฐบาลอังกฤษยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ในชั้นศาลฎีกาหรือไม่ อย่างไรก็ตามโฆษกของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอังกฤษแถลงยืนยันหลังมีการตัดสินจากศาลอุทธรณ์ในเชิงปกป้องการกระทำของเจ้าหน้าที่ว่าจำเป็นต้องควบคุมตัวมิแรนดาเพื่อความมั่นคงในชาติแต่ก็ยอมรับฟังเรื่องที่ศาลตัดสินว่ากฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่ใช้ในตอนนั้นไม่ได้ระบุชัดเจนถึงเรื่องการคุ้มครองการตรวจสอบวัตถุดิบที่ใช้ในงานข่าวมากพอ และทางรัฐบาลกำลังทำงานเพื่อให้มีการใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ

 

เรียบเรียงจาก

U.K. COURT, IN DAVID MIRANDA CASE, RULES TERRORISM ACT VIOLATES FUNDAMENTAL RIGHTS OF FREE PRESS, The Intercept, 19-01-2016

https://theintercept.com/2016/01/19/miranda-appeal-uk-terrorism-fundamental-rights-violated/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท